Skip to main content
sharethis

กมธ.การสาธารณสุข วุฒิสภา ติดตามปัญหาการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัย และ รพ.สต. ไปยัง อบจ. หลังพบหลายแห่งไม่พร้อมทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณ แนะกระทรวงสาธารณสุขชะลอการถ่ายโอนบางแห่งไว้ก่อน และเร่งหารือกับคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา

เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2566 ว่านายแพทย์เจตน์  ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข วุฒิสภา เป็นประธานการประชุม กมธ. โดยมีวาระพิจารณาร่างรายงานการพิจารณาของอนุคณะอนุ กมธ. ติดตามการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เรื่อง “การติดตามการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัย (สอน.)/ รพ.สต. ไปยัง อบจ.” พบว่า จากประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์ปกปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปยัง อบจ. ประกอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 พบว่า รพ.สต. บางแห่งไม่มีการดำเนินการตามกฎหมายฉบับดังกล่าว เช่น การจัดทำข้อมูลระบบสุขภาพ การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคระบาด เนื่องจากกระบวนการถ่ายโอนไม่ได้แสดงถึงความพร้อมที่แท้จริงของ อบจ. ในการรับถ่ายโอน รวมทั้งไม่มีการเตรียมความพร้อมก่อนถ่ายโอนจึงส่งผลต่อการดำเนินงานของ รพ.สต. เช่น ด้านบุคลากร รพ.สต. บางแห่งไม่มีบุคลากรถ่ายโอนไปด้วยบางแห่งมีบุคลากรถ่ายโอนไปจำนวนน้อย ทำให้ไม่สามารถให้บริการได้ ส่วนด้านงบประมาณไม่สามารถจัดสรรงบประมาณได้เต็มตามกรอบที่กำหนด ระบบการจัดสรรของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่สามารถแยกเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (Out-patient: OP) และงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับประเทศ (National priority program and central procurement: PP) ได้ ทำให้เกิดปัญหาในการเบิกจ่ายงบประมาณนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล คลินิก ร้านยา โรงพยาบาลเอกชน และระบบอื่น ๆ

นพ.เจตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากปัญหาดังกล่าว อนุ กมธ. ได้พิจารณาจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย อาทิ ปัญหาความไม่พร้อมของการถ่ายโอน ซึ่งต้องการความพร้อมในการดำเนินการ หากยังไม่สามารถดำเนินการได้ ควรชะลอการถ่ายโอนไว้ก่อน ส่วน รพ.สต. ที่มีการถ่ายโอนไปแล้ว กระทรวงสาธารณสุขควรช่วยเหลือสนับสนุน รพ.สต.ไปพลางก่อน และคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ ที่กำหนดหลักเกณฑ์ควรหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ ควรพัฒนาและเร่งรัดให้เกิดระบบสุขภาพปฐมภูมิในชุมชนหรือพื้นที่ และควรให้เทศบาล หรือ อบต. นำระบบ Telemedicine มาใช้ในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนเวชศาสตร์ครอบครัว รวมทั้งคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ ซึ่งมีนายก อบจ. เป็นประธาน แต่การบริหารจัดการด้านสาธารณสุขในพื้นที่ควรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยงานในภูมิภาค และเป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net