Skip to main content
sharethis

มติพรรคประชาธิปัตย์เลือก 'เฉลิมชัย ศรีอ่อน' เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ด้วยคะแนนเสียง 88.5% หลัง 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' ถอนตัวและลาออกจากสมาชิกพรรค ส่วน 'วทันยา บุนนาค' คุณสมบัติไม่ครบ


เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9

9 ธ.ค. 2566 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ พรรคประชาธิปัตย์ จัดประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 3 เพื่อเลือก หัวหน้าพรรค และคณะกรรมการ (กก.บห.) พรรคชุดใหม่ เป็นไปอย่างคึกคัก โดยแกนนำและสมาชิกพรรค ต่างทยอยมาร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายชวน หลีกภัย, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรคฯ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าและรักษาเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. ในฐานะผู้สมัครหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 นายนราพัฒน์ แก้วทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา และสมาชิกพรรค เป็นต้น

'วทันยา' ลั่นสู้ถึงที่สุด เพื่อฟื้นอุดมการณ์พรรค

ในช่วงเช้า น.ส.วทันยา บุนนาค หรือมาดามเดียร์ ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. และแคนดิเดตผู้สมัครหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมวิสามัญ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ว่า มาถึงจุดนี้มันเกินสิ่งที่คิดว่าจะแพ้หรือชนะ มันคือการสู้ให้ถึงที่สุดและทำให้ดีที่สุด เพื่อเอาจิตวิญญาณของพรรคประชาธิปัตย์กลับมาให้ได้ ส่วนตัวไม่ทราบว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร คิดแค่ว่าทำให้ดีที่สุด แล้วผลออกมาอย่างไรก็จะพร้อมน้อมรับ เพื่อไม่ให้ค้างคาใจตัวเองและสมาชิกพรรคที่อยากเห็นอุดมการณ์ที่เป็นความภาคภูมิใจมาตลอด 77 ปีและประชาชนเคยศรัทธาได้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อถามว่าได้พูดคุยกับผู้ใหญ่บ้างไหม นางสาววทันยา ปฏิเสธว่าไม่ได้คุยอะไรเลย ทั้งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าพรรค หรืออดีตหัวหน้าพรรค นายชวน หลีกภัย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ทราบว่านายชวนจะเสนอนายอภิสิทธิ์หรือไม่ แต่เชื่อว่าผู้ใหญ่ทุกคนมีเหตุผล และไม่อาจก้าวล่วงได้ การทำหน้าที่ตรงนี้ก็เป็นการตัดสินใจส่วนตัว ไม่ได้เกี่ยวว่าคุยกับผู้ใหญ่ หรือ สส. คนไหน แต่ในสภาพแบบนี้ที่ สส. ของพรรคลดลงเหลือแค่ 25 คน สมาชิกพรรคคงเกิดคำถามถึงอนาคตของพรรคที่อยู่บนทางสองแพร่งว่าจะกลับไปอยู่ในระบบอุปถัมภ์ พ่ายแพ้ต่ออำนาจ หรือเราจะเรียกคืนจิตวิญญาณกลับมาได้

เมื่อถามต่อว่าถ้าหากแพ้การเลือกตั้งจะทำงานร่วมกับพรรคต่อไหม นางสาววทันยา กล่าวว่า ต้องขอประเมินอีกครั้งว่าอุดมการณ์ที่เธอเชื่อและศรัทธาพรรคประชาธิปัตย์จนทำให้ตัดสินใจเข้ามาทำงานที่นี่ แต่ถ้าวันใดที่พรรคจะเปลี่ยนวิถีอุดมการณ์ไปในอย่างที่เธอไม่ศรัทธา มันก็ต้องพิจารณาว่าเรายังเหมาะสมกับพรรคนั้นหรือไม่ พร้อมยืนยันว่ายังพร้อมทำงานกับพรรค แต่ต้องอยู่บนอุดมการณ์ที่เราเชื่อ แต่ถ้าหากผู้ชนะเชิญไปร่วมทำงานเป็นกรรมการบริหารพรรค นางสาววทันยายืนยันว่ายังไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ จนกว่าจะมั่นใจว่าวิถีอุดมการณ์ของพรรคจะไม่เปลี่ยนไป

พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่มีการวางตัวเลขาธิการพรรคไว้ก่อน เพราะอยากเห็นการเมืองที่ซื่อตรง จริงใจ ก้าวข้ามระบบอุปถัมภ์ ไม่เกรงกลัวต่ออำนาจ และนำไปสู่แสงสว่างในอนาคต เธอไม่ได้ตัดสินใจลงสมัครเพราะรวบรวมเสียงข้างมากได้ แต่ตัดสินใจเพราะต้องการฟื้นฟูอุดมการณ์พรรค

“ความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ภายในพรรคประชาธิปัตย์ ความที่สมาชิกมีเสรีภาพในทางความคิด สมาชิกพรรคที่ไม่เกรงกลัวอำนาจ จะยังคงมีจิตวิญญาณเช่นนั้นหลงเหลืออยู่ในตัวทุกคน และจะได้แสดงออกมาให้ประชาชนได้เห็น” น.ส.วทันยา กล่าว

ส่วนการขอยกเว้นขอบังคับการประชุมด้วยเสียง 3 ใน 4 ให้ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค นางสาววทันยา ยอมรับว่าไม่มั่นใจว่าเธอจะได้รับคะแนนเสียงให้ยกเว้นข้อบังคับนั้นไหม แต่เธอจะเดินหน้าสู้ไปเกินจุดนั้นแล้ว เธอสู้ในสิ่งที่เชื่อ สู้ในสิ่งที่หวัง และอยากจะลงมือทำ อยากเห็นพรรคกลับมามีจิตวิญญาณและอุดมการณ์อีกครั้ง พร้อมยืนยันว่าไม่ได้เป็นตัวแทนนายอภิสิทธิ์ หรือตัวแทนของใคร

“เดียร์มาที่นี่ด้วยความตั้งใจว่าอยากทำงานระยะยาว ไม่ได้อยากเป็นนักการเมืองที่เปลี่ยนการเลือกตั้งทุกครั้งก็เปลี่ยนพรรคไปเรื่อยๆ เพราะเรามาด้วยอุดมการณ์ ไม่ได้มาด้วยผลประโยชน์ สิ่งที่เดียร์สู้เพราะเราอยากเห็นพรรคที่ยืนหยัดด้วยอุดมการณ์แบบนี้ ไม่ได้คิดว่าอยากจะย้ายพรรคไปไหน แต่ถ้าวันนึงพรรคเปลี่ยนไปก็เป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจ” น.ส.วทันยา กล่าว

'ชวน' เสนอชื่อ 'อภิสิทธิ์' ร่วมชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ต่อมาในที่ประชุมฯ นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีผู้รับรอง 169 คน โดยนายชวน กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ไม่ด้อยผู้นำพรรคคนไหนในประเทศนี้ เพื่อฟื้นฟูพรรค เป็นคนรอบรู้ เป็นคนมีความสามารถ ตนเชื่อว่า นายอภิสิทธิ์ สามารถทำให้การเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน นำพาพรรคเราไปสู่ความก้าวหน้า ความสำเร็จได้

“ท่านอภิสิทธิ์ แนวทางการทำงานการเมืองในหลักธรรมาภิบาล หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักการมีส่วนร่วม หลักการตรวจสอบได้ หลักความรับผิดชอบ หลักความคุ้มค่า หลักความไม่เกรงใจที่จะไม่ยอมทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง” นายชวน กล่าว

'อภิสิทธิ์' ถอนตัวชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมลาออกจากพรรค

ต่อมา นายอภิสิทธิ์ ได้ลุกขึ้นเปิดใจ กล่าวว่า กราบขอบพระคุณ อดีตหัวหน้าชวน ที่กรุณาไม่เพียงแต่เสนอชื่อตน แต่กรุณาให้การสนับสนุนพูดถึงคุณสมบัติหลายต่อหลายอย่าง ก็เกรงใจท่านมาก เพราะว่า หลายท่านอาจจะไม่ทราบ คำอภิปรายของท่านในสภา เมื่อปี 2518 ตอนอายุ 11 ขวบทำให้ตนตัดสินใจมาเป็นนักการเมืองในนามประชาธิปัตย์ ตั้งแต่มาอยู่พรรค ท่านเคยเสนอชื่อตนในที่ประชุมครั้งเดียว ให้เป็นเลขาฯพรรค วันนั้นตนก็ลุกขึ้นมาถอนตัว จำได้แม่น

“ผมเจอคำถามนี้มาตลอดระยะเวลาหลายเดือน ไม่เพียงแต่จากพวกเราในห้องนี้ แต่จากทุกคนในสังคม ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ที่มีความเชื่อว่าผมจะมาแก้ไขปัญหา กอบกู้พรรคของเรา กราบเรียนว่า ถ้าจะพูดถึงการอยากจะเป็น ผมไม่เคยคิดว่าอยากจากความต้องการส่วนตัว ทุกครั้งที่จะต้องมีการตัดสินใจ ผมมองถึงอนาคตส่วนรวมมากกว่า กล้าพูดสิ่งนี้ได้ เพราะว่า วันนี้ต้องพูดข้อเท็จจริงหลายเรื่อง เพราะ 4 ปีที่ผ่านมา ถูกกล่าวถึง พาดพิง หลายเรื่อง”

อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า 4 ปีที่ผ่านมา หลังจากแสดงจุดยืนชัดเจนซึ่งไม่ตรงกับพรรค ในการร่วมรัฐบาล หรือสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตนระมัดระวังบทบาทตัวเองมาตลอด พรรคเรา มีปัญหาหลายครั้ง อย่างน้อย 2 ครั้ง เข้าชื่อ เพื่อเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรค มีคนลงชื่อเพื่อเปลี่ยนแปลงให้เลือกหัวหน้าใหม่ 2-3 คน มาบอกว่า ถ้าตนรับเป็นหัวหน้าพรรคเขาจะลงชื่อ ตนปฏิเสธ เพราะถือว่าพรรคตัดสินใจในเส้นทางของพรรคที่จะดำเนินไป หลายครั้งที่เกิดสถานการณ์ทางการเมือง เพื่อนส.ส.ก็มาถามว่า ถอนตัวจากรัฐบาลดีไหม ตนไม่เคยแสดงความเห็น แม้ไม่ได้เห็นด้วยตั้งแต่ต้น แต่ตนบอกว่ามีแนวทางพรรคชัดเจน ก็บอกว่า เลขาฯ พรรค จะทำงานอย่างไร ถ้าเราตัดสินใจถอนตัว

“ถามผมวันนี้ มีเหตุผลอะไรไหม ที่ต้องกลับมาเป็นหัวหน้าพรรค และไม่มีตำแหน่งทางการเมืองอะไรเลย ผมต้องตอบว่า แทบไม่มีเหตุผลอะไรที่จะตอบรับ แต่ก็คิดเช่นเดียวกับอดีตหัวหน้าชวน ว่าผมก็เป็นหนี้บุญคุณประชาธิปัตย์ และมีคนคาดหวัง ไม่น่าเชื่อว่า มีคนโทรมา บางคนบอกว่า ผมเห็นแก่ตัวที่ไม่เข้ามากอบกู้พรรค ผมต้องอธิบายให้เข้าใจว่าพรรคประชาธิปัตย์มีกระบวนการที่ใครนึกว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้แล้วกำหนดกันได้ คนนอกไม่เข้าใจ พรรคเราเป็นพรรคเดียวที่เลือกหัวหน้าทุกครั้ง เป็นการแข่งขันกันจริงๆ ตามกระบวนการประชาธิปไตย”

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หลายเดือนที่ผ่านมา สิ่งที่ทำให้สะเทือนใจคือ เราในห้องนี้ตระหนักแค่ไหนว่า พรรคอยู่ในภาวะที่ยิ่งกว่าวิกฤต ตนอาจมีประสบการณ์น้อยกว่า ตนก็บอกว่าการเมืองมีขึ้นมีลง แต่มีลงไม่ได้แปลว่าจะมีขึ้น ถ้าเราไม่เรียนรู้ ถ้าไม่สรุปบทเรียนชัดเจน

“เราไม่ได้มาถึงจุดนี้ เพราะข้อบังคับพรรค เราไม่ได้มาถึงจุดนี้เพราะพรรคเราจน ผมอยู่กับพรรคมา 30 ปี ยืนยันว่า การสนับสนุนผู้สมัครพรรค การสนับสนุนพรรค ไม่มียุคใดทำได้มากเท่ายุคเลขาฯ เฉลิมชัย ศรีอ่อน แต่กลับมาพร้อมกับความพ่ายแพ้ทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ต้องยอมรับว่า ที่เรามาถึงจุดนี้ เพราะประชาชนมองไม่เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืน หรือเป็นตัวแทนของความคิดอะไร เขาบอกการเมืองแบ่งเป็น 2 ขั้ว ขั้วหนึ่งอนุรักษ์ ประชาธิปัตย์ก็ไม่ใช่คำตอบ คำตอบเขาคือ พล.อ.ประยุทธ์ ฝ่ายประชาธิปไตย พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ใช่คำตอบ เพราะเราร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ ทางเดินจึงเป็นเรื่องการค้นหาจิตวิญญาณ ว่าที่ยืนของเราจะเป็นตัวแทนทางความคิดให้ประชาคนกลุ่มไหนในเรื่องใด”

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่เรามี หรือเคยมี และพรรคอื่นไม่มี มีหลายประการ 1.องค์กรเราใหญ่กว่าบุคคลเสมอ อดีตหัวหน้า 8 ท่าน จะอยู่สั้น-ยาว ไม่เคยเป็นเจ้าของพรรค พรรคคืออุดมการณ์ 2.อุดมการณ์ของพรรค ที่เราเคยพูดว่าเป็นพรรคที่ต่อสู้กับประชาธิปไตย ต่อสู้กันมายาวนาน มีพาดพิงกันบ้าง กับการต่อสู้กับพรรคเพื่อไทย หรือพรรคของคุณทักษิณ อยากให้ตระหนัก ว่าไม่มีเรื่องความแค้น แต่เป็นการต่อสู้ความคิด และความถูกต้องของบ้านเมือง เราต่างกับพรรคการเมืองอื่นที่สำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือ ทุกยุคทุกสมัยที่เราไม่เคยกลัวเป็นฝ่ายค้าน หลายพรรคเป็นได้แค่เป็นพรรครัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล เราไม่ใช่ ถ้าเรารักษาแนวทางแบบนี้ เราก็อยู่ได้ สุดท้าย เราคือพรรคที่สร้างตัวเองมาเป็นสถาบัน มีกติกาให้สมาชิกมีส่วนร่วม ข้อบังคับพรรคต้องมีส่วนร่วมของพรรคการเมืองอย่างกว้างขวาง

“สุดท้ายได้ข้อสรุปตรงนี้ วันนี้ ผมลง ผมแพ้ ก็น่าจะมีปัญหา ผมลง ผมชนะ ยิ่งมีปัญหาเข้าไปใหญ่ เพราะกระบวนการหลายอย่างช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อนหลายคนจะยอมรับหรือไม่ก็แล้วแต่ หลายคนมาถามว่าทำไมไม่คุยกัน ต่อมาก็ไปพาดพิงต่อมาก็พาดพิงว่าผมไม่ยอมคุย ผมขอยืนยันว่าถ้าใครไปพูดอย่างนั้น ไม่จริง”

“หลายคนพยายามพูดว่าให้คุยกัน แต่ได้รับการปฏิเสธ ขอบคุณ คุณองอาจ คุณเจิมมาศ คุณวทันยา ที่พยายามไปพูดว่าคุยกันเถอะ ผมก็ไม่กล้าสอบถามเหตุผลถึงการปฏิเสธไม่พูดคุย แต่คำตอบชัดคือไม่คุย ฉะนั้นวันนี้เมื่อนายชวน เสนอชื่อผม ผมถามท่านรักษาการหัวหน้าพรรค พักการประชุมแล้วคุยกับผมหรือไม่ “ จากนั้น มีเสียงปรบมือดังขึ้นในห้อง

ซึ่งนายเฉลิมชัย ลุกขึ้นกล่าวตอบว่า คนที่นายอภิสิทธิ์บอกว่าจะคุยก็คือตน และ ตนเองเป็นคนบอกว่าไม่มีอะไรจะคุย เพราะได้พูดไปแล้วว่าจะหยุด นี่คือเหตุผล ไม่เคยปฏิเสธความจริงในเรื่องนี้เลยสักครั้งเดียว ว่าสิ่งที่ตนพูดต้องรับผิดชอบ แต่ขอกราบเรียนว่า คนเราอยู่ดีๆ ไม่มีใครพูดส่งเดช มีที่มาที่ไปทั้งหมด และไม่เคยไม่พยายามที่จะพูด เพราะแน่นอนที่สุด เป็นความรับผิดชอบของตน และคิดว่า เมื่อถึงเวลาเท่านั้นที่จะพูด นี่คือเหตุผลส่วนตัว แต่บางครั้งสถานการณ์บางอย่าง ตนผูกพันกับปชป.มาตั้งแต่ 2518 ที่บ้านเป็นหัวคะแนนสำคัญของพรรค คือสายเลือด ตนเคยเป็นเลขาฯ ตอนท่านเป็นนายกฯ และก็ยึดหลักอุดมการณ์มาตลอด อะไรที่ทำให้พรรคเดินไปได้จะทำ ตนคุยกับคนเยอะ ตนพร้อมจะคุย จะได้รู้ว่าเป็นอย่างไร เราคุยกันตรงๆ

นายเฉลิมชัย ได้ถามนายอภิสิทธิ์ต่อว่า “แต่ท่านจะคุยกับผม 2 คนใช่ไหม๊ครับ”

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ ได้ตอบทันทีว่า “ผมกับท่านเราไม่เคยทะเลาะกันเลย เพราะรู้ว่าจะทะเลาะกันเราจะไม่คุยกัน จะมีพยานก็ได้”

นายเฉลิมชัย จึงบอกว่า ไม่ใช่มีเหตุผลอย่างอื่น แต่ผมกับหัวหน้าอภิสิทธิ์ เราเคยพูดว่ามองตารู้ใจ วันนี้เป็นแบบนั้น แต่บางเรื่องที่ไม่ได้พูด ไม่อยากจะพูด ก็จะได้พูดให้ฟัง ว่าคืออะไร ดีใจ ที่ครั้งหนึ่ง สักครั้ง ที่ผมอัดอั้นจะได้บอกคนที่ผมเคารพ จะได้รู้ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ให้ท่านเชื่อมั่น ผมอุดมการณ์เต็มร้อย ยืนยัน พรรคตนไม่เป็นพรรคอะไหล่ใคร และไม่มีวันยอม

หลังจากนั้น ที่ประชุมพรรคจึงได้พักการประชุมเป็นเวลา 10 นาที ก่อนที่นายอภิสิทธิ์ จะลุกขึ้นมาเปิดใจอีกครั้งกลางที่ประชุมว่า เป็นอย่างที่ ผมกับท่านเฉลิมชัย พูดกันว่าคุยกันนิดเดียวก็รู้เรื่อง เข้าใจตรงกันทุกอย่าง ท่านก็อธิบายว่าท่านมีแนวทางจะเดินหน้าอย่างไร ผมก็อธิบายว่า ผมมีความคิดอย่างไร ความจริงก็ขยายความไปเยอะก่อนหน้านี้ ได้เรียนกับนายเฉลิมชัยว่า ผมจะขอถอนตัวจากการเป็นผู้สมัคร

“ผมขอถอนตัวจากการเป็นผู้สมัคร และขอลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีพรรคอื่น ไม่ไปพรรคอื่น กรีดเลือดออกมาเป็นสีฟ้า จนวันตาย เป็นลูกพระแม่ธรณี ที่จะเอาอุดมการณ์ประชาธิปัตย์ รับใช้บ้านเมืองต่อไป วันข้างหน้าถ้าพรรคคิดว่าผมจะเป็นประโยชน์มาช่วยได้ ก็ไม่ปฏิเสธ แต่วันนี้เพื่อให้ผู้ที่มีสถานะ ทำงานด้วยความสบายใจ เต็มที่ ไม่ต้องหวาดระแวง ขอลาออก และขอบคุณเพื่อนๆ ทุกคนที่อยู่ในห้องและไม่อยู่ และเจ้าหน้าที่พรรค ที่ทำงานให้การสนับสนุนตลอดมา หวังว่าผู้บริหารชุดใหม่ จะทำงานได้สำเร็จตามที่รักษาการหัวหน้าได้แจ้งสักครู่ ขอบคุณครับ” โดยมีเสียงปรบมือเต็มห้องประชุม และได้เดินออกจากห้องประชุมทันที

มติพรรคไม่อนุญาต 'วทันยา' ชิงหัวหน้า

ต่อมาเวลา 12.00 น. หลังจาก น.ส.วทันยา ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. ถูกเสนอชื่อชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงขอเสนอให้ที่ประชุมยกเว้นข้อกำหนดเปิดทางให้มีสิทธิชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

หลังจากนั้น ที่ประชุมจึงมีการโหวตลงมติ แต่คะแนนเสียงไม่ถึง 3 ใน 4 ขององค์ประชุม มีผู้ลงคะแนนให้เพียง 74 เสียง จากองค์ประชุมทั้งหมด ทำให้ น.ส.วทันยา ไม่มีสิทธิเข้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

น.ส.วทันยา กล่าวว่า แม้ตนเพิ่งจะเข้ามาในพรรคประชาธิปัตย์ แต่มาด้วยอุดมการณ์ ความหวัง และศรัทธาในพรรค หลังจากพรรคเหลือ สส. เพียง 25 คน สิ่งที่ทำให้ผิดพลาดในอดีต คือ พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถสร้างอุดมการณ์และจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเลือกตั้ง ตนจึงกลัวว่าอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์หลังจากนี้จะเป็นเช่นไร เมื่อพรรคยืนอยู่บนจุด 2 ทางแพ่ง คือ กลับมาฟื้นฟูอุดมการณ์พรรค หรือพรรคได้เปลี่ยนไปแล้ว

“ดังนั้น ตนเชื่อว่าทางรอดทางเดียวของพรรคประชาธิปัตย์ คือ การฟื้นจิตวิญญาณพรรคประชาธิปัตย์ในอุดมการณ์ และวิถีทางบริสุทธิ์ เหมือนในอดีตที่หัวหน้าพรรคทั้ง 8 ท่าน เคยปฏิบัติสืบมา” น.ส.วทันยา กล่าว

หลังจากนั้น น.ส.วทันยา ได้เดินทางออกจากที่ประชุมวิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้แคนดิเดตผู้สมัครหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เหลือเพียงนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคและรักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

'เฉลิมชัย' ผงาดหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9

เวลา 13.30 น. หลังการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 3 เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการพรรคชุดใหม่ โดยมีองค์ประชุมทั้งหมด 260 คน ได้ลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคแบบเข้าคูหาลงคะแนน

จากนั้นนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ กกต.ประจำพรรคฯ ได้ประกาศผลลงคะแนนว่าที่ประชุม เลือกนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ด้วยคะแนนร้อยละ 88.5 ถือว่านายเฉลิมชัย ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 

ก่อนหน้านี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม โดยระบุว่า ผมรู้ว่าการตัดสินใจในวันนี้มันเจ็บ มันทำลายสิ่งที่ผมสร้างมาทั้งชีวิต ผมได้คุยกับหัวหน้าอภิสิทธิ์ ผมก็พูดว่า ผมกรีดเลือดมาก็เป็นสีฟ้า ตลอดเวลาที่อยู่กับพรรคก็ยึดหลักการและอุดมการณ์ของพรรคไม่เปลี่ยนแปลง

"เมื่อพรรคให้โอกาสตนเองเป็นรัฐมนตรี ก็ขอยืนยันเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต กล้าพูดว่า ผมไม่มีมลทินเรื่องนี้ อยู่กระทรวงกล้าค้านข้าราชการ ผมไม่ได้ไปในนามตระกูลศรีอ่อนแต่ไปในนามพรรคประชาธิปัตย์" นายเฉลิมชัย กล่าว

ผมมีความจำเป็นต้องให้พรรคเดินไปข้างหน้า และให้พรรคยึดมั่นในอุดมการณ์พรรค และที่ได้คุยกับหัวหน้า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่ ตลอดเวลาที่ผมอยู่กับพรรคมา 22 ปี ที่ผ่านมาแม้พรรคจะเดินสะดุดก็จะพยายามทำทุกอย่างผมจะพยายามทำตรงนี้ให้ดีที่สุด และไม่มีวันทำลายหลัการและอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์

รายชื่อคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่

สำหรับคณะกรรมการบริหารพรรคและคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ มีรายชื่อดังนี้  

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
1. ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ประจำภาค)
2. ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (กรุงเทพมหานคร)
3. นายสมบัติ ยะสินธุ์ (ภาคเหนือ) 
4. นายประมวล พงศ์ถาวราเดช (ภาคกลาง)
5. นายไชยยศ จิรเมธากร (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
6. นายชัยชนะ เดชเดโช (ภาคใต้)

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ตามภารกิจ)
7. นายนริศ ขำนุรักษ์
8. นางสาวจิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร
9. พลตำรวจตรีสุรินทร์ ปาลาเร่
10. นายนราพัฒน์ แก้วทอง
11. นายธารา ปิตุเตชะ
12. น.ต.สุธรรม ระหงษ์
13. นายมนตรี ปาน้อยนนท์
14. นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์

เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
15. นายเดชอิศม์ ขาวทอง

รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ 
16. นางสาวสุพัชรี  ธรรมเพชร
17. นายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์
18. นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ
19. นายชนินทร์ รุ่งแสง
20. นายสมยศ พลายด้วง
21. นางกันตวรรณ ตันเถียร

เหรัญญิกพรรคประชาธิปัตย์ 
22. นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ

นายทะเบียนสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ 
23. นายวิรัช ร่มเย็น

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 
24. นายราเมศ รัตนะเชวง

หัวหน้าสาขาหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัด
25. นางขนิษฐา นิภาเกษม (ภาคเหนือ)
26. นางสาวน้ำฝน หอมชาลี (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
27. นายชวลิต รัตนสุทธิกุล (ภาคกลาง)
28. นายสุรศักดิ์ วงค์วนิช (ภาคใต้)
29. นายชยิน พึ่งสาย (กรุงเทพมหานคร)

ผู้แทนสมาชิกสภาท้องถิ่น
30. พันตำรวจเอกภิญโญ ป้อมสถิตย์
31. นายวงศ์วชิระ ขาวทอง

ผู้แทนผู้บริหารท้องถิ่น
32. นายไพเจน มากสุวรรณ์

กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ 
33. นายประกอบ รัตนพันธ์
34. นายเมฆินทร์  เอี่ยมสอาด
35. นายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร
36. นายสมชาติ ประดิษฐพร
37. ดร.ยูนัยดี วาบา
38. นางสาวพลอยทะเล ลักษมีแสงจันทร์
39. นางสาวปุณณ์สิริ บุณยเกียรติ
40. ดร.เจนจิรา รัตนเพียร

คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
1. นายนริศ ขำนุรักษ์
2. นายนราพัฒน์ แก้วทอง
3. นางกันตวรรณ ตันเถียร
4. นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์
5. นางสาวปุณณ์สิริ บุณยเกียรติ
6. นางสาวมรกต อิสระเสนารักษ์
7. นายเจริญไชย ไชยกอ
8. นายจิตติ เชิดชู
9. นายณัฎฐเดช แก้วเรือง
10. นายสัมพันธ์ ภูแป้ง
11. นายสุพัฒน์ ธรรมเพชร 


ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS | มติชนออนไลน์ | สำนักข่าวไทย [1] [2] [3] [4]




 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net