Skip to main content
sharethis

ทีมประกันสังคมก้าวหน้า เปิดตัวสมาชิก และนโยบายสู้ศึกเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม หวังเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม สร้างสังคมเสมอภาค องค์กรประกันสังคมอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ยันชัยชนะนี้จะเป็นก้าวแรกสู่การสร้างรัฐสวัสดิการ

 

7 ธ.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊ก "คณะก้าวหน้า" ถ่ายทอดสดวันนี้ (7 ธ.ค.) ผ่านช่องทางออนไลน์ เมื่อเวลา 10.00 น. ที่อาคารอนาคตใหม่ ชั้น 7 ทีมประกันสังคมก้าวหน้า นำโดย รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี สมาชิกประกันสังคมก้าวหน้า และอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงเปิดตัวรายชื่อสมาชิก และแถลงนโยบายสู้ศึกเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน เพื่อเป็นคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 ธันวาคม 2566

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวเปิดแถลงข่าวก่อนแนะนำผู้สมัครเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ว่า เบื้องต้น ในการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้ คณะก้าวหน้าได้เป็นพันธมิตรกับทีมประกันสังคมก้าวหน้า แต่ก่อนพูดถึงเหตุผลความร่วมมือ เขาขอเกริ่นถึงประวัติศาสตร์การก่อตั้งระบบประกันสังคมโดยคร่าว

ประธานคณะก้าวหน้า ระบุว่า การก่อตั้งกองทุนประกันสังคม ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยอย่างมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ มีการเสนอตั้งระบบประกันสังคมตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม สมัย 2 ปี 2495 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ในปี 2505 แต่ไม่เคยสำเร็จ โดยสฤษดิ์ ยังเคยให้เหตุผลว่า เพราะว่าการตั้งระบบประกันสังคมจะสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน นายจ้าง และราคาสินค้าจะสูงขึ้น

กว่าประกันสังคมจะผ่านเป็นกฎหมาย ต้องรอจนกระทั่ง 2533 ในสมัยรัฐบาลประชาธิปไตย โดยองค์กรแรงงานหลายกลุ่มได้มีการรณรงค์อย่างแข็งขัน และตั้งระบบกองทุนประกันสังคมขึ้นมาได้ วันนั้น ถึงแม้วุฒิสภาจะมีมติไม่รับรองด้วยคะแนน 105 ต่อ 66 แต่ สส. ได้รับรองกฎหมายประกันสังคมให้ผ่าน และสามารถบังคับใช้ได้

กองทุนประกันสังคมเติบโตขึ้น จนเกิดการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 มีการยกเลิกตัวแทนของคนงานที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมผ่านสมาชิกสหภาพแรงงาน แต่ในปี 2566 วันนี้ถือเป็นโอกาสดีอีกครั้ง และเป็นครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ของกองทุนประกันสังคม ที่สัดส่วนของแรงงานจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของผู้ประกันตน ผู้ใช้แรงงานทุกสาขาอาชีพหวังเข้าถึงสิทธิประโยชน์อย่างเท่าเทียม อย่างไรก็ตาม ปัญหาของประกันสังคมตอนนี้ไม่ครอบคลุมทุกสาขาวิชาชีพ และมีมาตรฐานหลากหลาย ทำให้การเข้าถึงสิทธิประโยชน์ตกหล่น เข้าถึงได้ยาก โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดหนักเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น การเลือกตั้งบอร์ดคณะกรรมการประกันสังคม จะเป็นกลไกช่วยพัฒนากองทุนประกันสังคม วางรากฐานรัฐสวัสดิการ และสวัสดิการที่เท่าเทียมให้กับแรงงานทุกกลุ่มอย่างครอบคลุม

ธนาธร ระบุต่อว่า ทีมประกันสังคมก้าวหน้า และทีมคณะก้าวหน้า ได้จับมือเป็นพันธมิตร เนื่องจากแนวนโยบายและคุณค่าที่คล้ายคลึงกัน เช่น ความเสมอภาคเท่าเทียม คุณค่าประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของประชาชน ไปจนถึงการเน้นถึงการธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

ทีมประกันสังคมก้าวหน้า ถือเป็นทีมที่มีความหลากหลายทางด้านอาชีพ และช่วงอายุ และยังมีสมาชิกที่ต่อสู้เรียกร้องเพื่อการปกป้องประชาธิปไตยอีกด้วย สิทธิมนุษยชน และกลุ่มผู้คนที่เปราะบางในสังคม อีกด้วย ดังนั้น เขาเชื่อว่าการเสนอสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม 

ธนาธร ทิ้งท้ายว่า ทางคณะก้าวหน้ามีความยินดี และภูมิใจอย่างยิ่งในการจับมือเป็นพันธมิตรกับประกันสังคมก้าวหน้า และเชิญชวนให้ประชาชนกว่า 8 แสนรายที่ลงทะเบียนใช้สิทธิการเลือกตั้ง ออกไปใช้สิทธิในวันที่ 24 ธันวาคม เวลา 8 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น ณ หน่วยเลือกตั้งสำนักงานประกันสังคมที่ได้ลงทะเบียนไว้ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตย และสะท้อนเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง

นับหนึ่งรัฐสวัสดิการ

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี สมาชิกประกันสังคมก้าวหน้า ระบุว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว กองทุนประกันสังคมมีเงินสะสมมากมายมหาศาล และมีเงินเข้ากองทุนปีละแสนล้านบาท แต่เรายังเห็นผู้ประกันตนประสบปัญหาต่างๆ เช่น แม่ยังต้องกู้เงินนอกระบบเพื่อมาเป็นค่านมบุตร พ่อยังต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อมาเป็นค่าคลอดให้ภรรยา ผู้ป่วยโรคไตที่ต้องการรักษาหรือฟอกไตต้องสำรองจ่ายเงินก่อนทั้งที่เขาไม่มีเงิน การรักษาพยาบาลของผู้ป่วยมะเร็งมีเพดานรักษา 5 หมื่นบาทต่อปี คนแก่ไม่สามารถเกษียณได้ เพราะเงินบำนาญไม่เพียงพอ หรืออื่นๆ

ษัษฐรัมย์ ระบุต่อว่า สาเหตุปัญหาสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนตกต่ำ เนื่องจากการทำรัฐประหาร 3 ครั้ง (พ.ศ. 2535 2549 และ 2557) โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 2557 ผู้ที่เข้าเป็นคณะกรรมการประกันสังคมมาจากการแต่งตั้งของคณะอำนาจนิยม และทำให้ประกันสังคมเมื่อ 30 ปีที่แล้วที่เคยก้าวหน้า กลายเป็นล้าหลังมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ การลงทุนขาดความโปร่งใส และเป็นแหล่งอุปถัมภ์อำนาจนิยม แต่การเลือกตั้งปีนี้ การเข้ามาของทีมประกันสังคมก้าวหน้า จะเป็นก้าวแรกของการสร้างรัฐสวัสดิการให้ประเทศไทย และจะไม่คุกเข่าหรือยอมให้กับกลุ่มทุนผูกขาดและเผด็จการอำนาจนิยม

"พวกเราคือตัวแทนของกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ที่ปรารถนาสังคมเสมอภาค ไม่เคยคุกเข่าค้อมหัวให้กับกลุ่มทุนผูกขาด และอำนาจเผด็จการ เชื่อมั่นในประชาธิปไตยแบบถอนราก เชื่อมั่นในการสร้างรัฐสวัสดิการ ประกันสังคมก้าวหน้าจะเป็นตัวอย่างการพิสูจน์ให้เห็นถึงก้าวแรกของความเป็นไปได้ ของการสร้างรัฐสวัสดิการในประเทศนี้" ษัษฐรัมย์ กล่าว

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี (ที่มา: ไลฟ์สด คณะก้าวหน้า)

แนะนำทีมประกันสังคม หลากหลายทั้งวิชาชีพ และอายุ

หลังจากนั้น ษัษฐรัมย์ จากทีมประกันสังคมก้าวหน้า ได้แถลงแนะนำสมาชิก ประกอบด้วย 

  • หมายเลข 27 รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี พนักงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนและรัฐสวัสดิการ
  • หมายเลข 28 ศิววงศ์ สุขทวี ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ หรือ MWG และนักเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิแรงงานข้ามชาติ 
  • หมายเลข 29 ชลิต รัษฐปานะ ตัวแทนจากกลุ่มสหภาพคนทำงาน และเป็นตัวแทนของพนักงานออฟฟิศ
  • หมายเลข 30 ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน ตัวแทนจากกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง 
  • หมายเลข 31 นลัทพร ไกรฤกษ์ บรรณาธิการสื่อ thisable.me และนักรณรงค์เพื่อสิทธิของผู้พิการ
  • หมายเลข 32 ลักษมี สุวรรณภักดี ประธานสหภาพแรงงานมอลลิเก้ เฮลท์ แคร์ 
  • หมายเลข 33 ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนจากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ปัจจุบัน ยังอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ เรื่องคุณสมบัติการรับสมัครเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม

นโยบายเพิ่มสิทธิลาคลอด ผู้พิการ การเข้าถึงที่อยู่อาศัย

นลัทพร ไกรฤกษ์ แถลงถึงนโยบายของทีมประกันสังคมก้าวหน้า จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือนโยบายด้านสิทธิประโยชน์ และการปรับโครงสร้างให้เป็นประชาธิปไตย โปร่งใส และมีความมั่นคงมากขึ้น 

นลัทพร ไกรฤกษ์ (ที่มา: ไลฟ์สด คณะก้าวหน้า)

สำหรับนโยบายด้านสิทธิประโยชน์ ประกอบด้วย 1. เพิ่มวันสิทธิลาคลอด 180 วัน และเพิ่มเงินค่าคลอดบุตร จาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาทต่อครั้ง 2. เพิ่มค่าสงเคราะห์เด็ก 0-6 ปี จาก 800 บาท เป็น 1,000 บาท และอายุ 7-12 ปี เพิ่มเป็น 7,200 บาท เพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา และเป็นหลังพิงสำหรับครอบครัวเมื่อเกิดภาวะยากลำบากในครอบครัว

3. ชดเชยการลาไปดูแลคนในครอบครัว  วันละ 300 บาท สูงสุด 1,500 บาทต่อปี 4. เพิ่มประกันการว่างงานเป็น 9 เดือน เพื่อให้คนสามารถเปลี่ยนงานอย่างมีคุณภาพ และตรงกับศักยภาพของตัวเอง 5. สูตรคำนวณบำนาญใหม่ ที่เป็นธรรม เพื่อป้องกันการเสียประโยชน์ เมื่อ 60 เดือนสุดท้ายมีการเปลี่ยนแปลง สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 39 โดยมีเป้าหมายให้ได้รับบำนาญไม่ตำกว่า 3,000 บาทต่อเดือน 

6. เพิ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัยจาก 2 ล้านบาท เป็น 5 ล้านบาท โดยมีดอกเบี้ยคงเดิมที่ 1.99 เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับความต้องการของตัวเองได้

7. สำหรับผู้ประกันตนที่เป็นผู้พิการ เราต้องการเปลี่ยนนิยามที่ไม่ได้เป็นเรื่องของการใช้ชีวิตเท่านั้น แต่เป็นนิยามความพิการที่มองเห็นอาชีพและความต้องการ รวมถึงคนพิการภายหลัง และคนพิการตั้งแต่กำเนิด สามารถใช้สิทธิและสวัสดิการร่วมกับสวัสดิการอื่นได้ เพื่อให้คนพิการสามารถรักษาพยาบาลได้ทุกที่ ลดปัญหาการตีความ และไม่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

8. เพิ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้ผู้ประกันตน จากเดิม 2 ล้านบาท เป็น 5 ล้านบาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยคงเดิม คือ 1.99 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นหลักประกันให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงแหล่งที่อยู่อาศัยได้

9. สำหรับแรงงานอิสระ ต้องมีหลักประกันสังคมถ้วนหน้า เหมือนกับรัฐได้ซื้อประกันให้กับทุกคน ยืนพื้นให้กับคนวัยทำงานทุกคน

10. ด้านการรักษาพยาบาล เรารักษาพยาบาลด้วยบัญชียาเดียวกัน รักษามะเร็งได้ทุกที่โดยไม่กำหนดเพดาน และสิทธิทางทันตกรรม และประกันสังคม ต้องไม่น้อยกว่าสิทธิบัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค

โครงสร้างองค์กรประกันสังคม อิสระ โปร่งใส และเป็นธรรม

ธนพร วิจันทร์ กล่าวถึงนโยบายเชิงโครงสร้าง ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เลย ถ้าทีมประกันสังคมก้าวหน้าเข้าไปอยู่ในบอร์ดประกันสังคม

ธนพร วิจันทร์ (ที่มา: ไลฟ์สด คณะก้าวหน้า)

ธนพร กล่าวถึงนโยบายเชิงโครงสร้าง 1. การปรับเงื่อนไขบำเหน็จบำนาญ ซึ่งมีอยู่ 2 เงื่อนไข คือผู้ที่ได้รับบำเหน็จบำนาญ ต้องอายุ 55 ปี และต้องพ้นความเป็นลูกจ้าง แต่อย่างไรก็ตาม แรงงานข้ามชาติถ้าต้องการบำเหน็จ หรือบำนาญ ต้องกลับมาที่ประเทศไทยเท่านั้น ถึงจะได้รับเงิน ทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงสิทธิดังกล่าว ซึ่งทีมประกันสังคมก้าวหน้า มองว่าอันนี้เป็นแค่ระเบียบประกาศ สามารถแก้ไขได้เลยหากได้เข้าไปเป็นคณะกรรมการประกันสังคม

ธนพร ระบุต่อว่า 2. บอร์ดประกันสังคมจะงดเดินทางดูงานต่างประเทศใน 2 ปีแรกที่เราเข้าไปทำงาน เพื่อจะนำเอางบประมาณดูงานต่างประเทศมาดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน

3. คัดเลือกคู่สัญญาด้วยหลักการ "decent work" คือการลงทุนกับเอกชน หรือโรงพยาบาลต่างๆ ต้องคำนึงหลักการสิทธิแรงงาน และสิทธิมนุษยชน เช่น โรงพยาบาลเหล่านั้นต้องดูแลคุณภาพทั้งชีวิตหมอ พยาบาล คนไข้ หรือคนทุกคนในโรงพยาบาล เขาต้องไม่ถูกกดขี่ด้วยชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน หรือแม้แต่ค่าจ้าง เราต้องดูว่าโรงพยาบาลเหล่านั้นให้สิทธิเสรีภาพในการรวมตัว หรือเจรจาต่อรองหรือไม่ เราถึงจะนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุน หรือกรณีบริษัทเอกชน ก็ต้องดูว่าเขาส่งเสริมประชาธิปไตยในที่ทำงานไหม เขาส่งเสริมการรวมตัวเป็นสหภาพในที่ทำงานไหม เขาส่งเสริมให้มีการเจรจาต่อรองกับนายจ้างหรือไม่ เราจะคำนึงถึงบริษัทที่มีธรรมาภิบาล เราถึงจะใช้เงินกองทุนประกันสังคมเข้าไปลงทุน 

ธนพร ระบุต่อว่า 4. แรงงานข้ามชาติต้องมีสิทธิเลือกตั้ง และสมัครรับเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมได้ ซึ่งปีนี้ระเบียบประกันสังคมตัดสิทธิแรงงานข้ามชาติในฐานะผู้ประกันตนราว 9 แสนถึง 1 ล้านคน ไม่สามารถเลือกผู้แทนของเขา และไม่มีสิทธิลงรับสมัครเป็นผู้แทนคณะกรรมการประกันสังคม 

สมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน มองว่า ทุกคนควรมีสิทธิเลือกตั้ง และรับสมัครเป็นผู้แทนเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการประกันสังคมได้ เนื่องจากแรงงานข้ามชาติควรมีตัวแทนเข้าไปพูดปัญหาของพวกเขาในบอร์ดด้วย มันถึงจะสามารถแก้ไขปัญหาให้ถูกจุดได้ 

ธนพร กล่าวต่อว่า 5. เดินหน้าสู่แนวทางองค์กรอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และการตรวจสอบนี้ต้องเน้นการมีส่วนร่วมของคนทุกระดับ วันนี้องค์กรประกันสังคมยึดติดกับหน่วยงานราชการ การแก้ไข หรือการดำเนินการใดๆ ติดขัดกับระบบราชการทำให้เกิดความล่าช้า

สมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ระบุว่า 6. งบประมาณในการบริหาร จะถูกใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ประกันตนสามารถเสนอโครงการที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นระบบ และไม่ผูกติดกับกลุ่มอุปถัมภ์ อย่างกลุ่มแรงงานบางกลุ่ม หรือกลุ่มองค์กรบางกลุ่ม อย่างเข่น งบอบรมโครงการละ 2 หมื่นบาท ปีหนึ่งไม่ทราบว่ามีกี่พันโครงการ แต่คนที่เป็นผู้ประกันตนไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือเข้าถึงได้แค่บางคน หรืองบประมาณปฏิทินประกันสังคม เหล่านี้การใช้จ่ายในงบประมาณที่ไม่จำเป็น และจะต้องมีการบริหารจัดการใหม่

การเสนอโครงการของผู้ประกันตน โดยเฉพาะจากผู้ประกันตน มาตรา 33 39 และ 40 เขาต้องมีสิทธิเสนอโครงการในการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องอาชีพของพวกเขา โดยเฉพาะพี่น้องผู้ประกันตนมาตรา 40 เขาเป็นอาชีพอิสระ พ่อค้า แม่ค้า เขาควรจะมีโอกาสเสนอโครงการกองทุนประกันสังคม เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น

"ต่อไป ถ้าเลือกพวกเรา ทีมประกันสังคมก้าวหน้า ประเทศนี้จะมีประกันสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ก้าวแรกสู่รัฐสวัสดิการ และประกันสังคมจะเป็นของพวกเราทุกคน ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง" ธนพร กล่าว 

สำหรับวันที่ 24 ธันวาคม 2566 คูหาเลือกตั้งบอร์ดผู้ประกันตน ทั้งฝ่ายผู้ประกันตน และฝ่ายนายจ้าง จะเปิดตั้งแต่เวลา 8.00-16.00 น. บัตรเลือกตั้งจะเป็นสีเหลือง โดยเราสามารถลงคะแนน โดยการเขียนเป็นเลขอารบิก ได้ไม่เกิน 7 หมายเลข  
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net