Skip to main content
sharethis

นักเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ 'ยูเอฟโอ' ของสหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ทางการสหรัฐฯ มักจะศึกษาเรื่องเหล่านี้ครึ่งๆ กลางๆ และเน้นมองมันในมุมของข่าวกรองกับความมั่นคงของชาติเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถไขปริศนาได้เต็มที่ เสนอให้มองในมุมที่เป็นวิทยาศาสตร์แทนความมั่นคง ทำการค้นคว้าในระยะยาว เผื่อว่ามันจะไขปริศนาทางฟิสิปก์ดาราศาสตร์อื่นๆ ได้ด้วย

สหรัฐอเมริกาทำการศึกษาค้นคว้าเรื่องวัตถุประหลาดบนท้องฟ้าที่เรียกว่า "ยูเอฟโอ" มาเป็นเวลานานกว่า 80 ปีแล้ว  นับย้อนไปได้ตั้งแต่สมัยที่เรียกว่า "จานบิน" ในยุคแรกๆ เมื่อปี 2490 ในตอนนั้นนักธุรกิจจากไอดาโฮที่โดยสารเครื่องบินอยู่ใกล้กับภูเขาเรเนียร์รายงานว่าพบวัตถุประหลาดคล้ายจานส่องแสงสว่างเคลื่อนที่ผ่านท้องฟ้าด้วยความเร็วสูงมาก

เรื่องที่ภูเขาเรเนียร์ไม่ใช่ครั้งแรกที่มนุษย์เราพบเห็นวัตถุประหลาดบนท้องฟ้า ไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น มีนักบินสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่บินอยู่เหนือยุโรปรายงานว่าเขาถูกลูกบอลเรืองแสงสีเขียวไล่ตามพวกเขาเรียกมันว่า "ฟู ไฟเตอร์ส" แต่ตัวที่จุดประกายให้ผู้คนหันมาสนใจยูเอฟโอได้เป็นครั้งแรกคือ "จานบิน" ปี 2490 และยังคงเป็นที่สนใจมาจนถึงทุกวันนี้

ในยุคสมัยนั้น ช่วงยุคต้นๆของสงครามเย็น เพนทากอน ได้เปิดตัวโครงการ 3 โครงการติดต่อกันคือ PROJECT SIGN. GRUDGE และ BLUE BOOK ทั้ง 3 โครงการนี้ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วโดยที่ยังไม่เคยแก้ไขปริศนาเกี่ยวกับยูเอฟโอได้แต่อย่างใด หน่วยงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ หรือซีไอเอ ก็เคยมีคณะกรรมการลับที่ทำการศึกษาในเรื่องนี้เมื่อคริสตทศวรรษที่ 1950s ในยุค 60s ก็เคยมีการประชุมไต่สวนในเรื่องนี้ที่สถาคองเกรส และมีความพยายามอื่นๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปริศนาได้เช่นกัน

แม้กระทั่งในช่วงยุคสมันไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ก็มีโครงการลับของเพนทากอนช่วงยุค 2000s-2010s ที่ได้รับการสนับสนุนโดย แฮร์รี รีด และดำเนินการโดยนักธุรกิจยักษ์ใหญ่แห่งลาสเวกัส โรเบิร์ต บิเกโลว์ ในชื่อโครงการว่า "โครงการประยุกต์ระบบอาวุธทางการบินและอวกาศขั้นสูง" (AAWSAP) มีการพูดถึงโครงการนี้เป็นครั้งแรกในหน้าสื่ออเมริกันเมื่อปี 2560

ในปัจจุบัน ทั้งประชาชนทั่วไปและนักการเมืองต่างก็หันกลับมาสนใจเรื่องปรากฏการณ์ยูเอฟโออีกครั้งหลังจากที่มีการเผยแพร่เรื่อง AAWSAP ทำให้ทางเพนทากอน หน่วยข่าวกรองตางๆ และนาซ่า ก็หันกลับมาทำการศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้อีกครั้งแบบไม่ค่อยเต็มใจนัก โดยในครั้งนี้เปลี่ยนจากการเรียกว่ายูเอฟโอ มาเป็น "ยูเอพี" หรือ "ปรากฏการณ์ประหลาดที่ไม่สามารถระบุได้" เป็นคำที่ฟังดูเคร่งขรึมจริงจังขึ้นเมื่อเทียบกับยูเอฟโอ รวมไปถึงยังเป็นการเล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ว่ายูเอฟโอทุกตัวอาจจะไม่ได้กำลังบินหรือเป็นวัตถุทางกายภาพไปเสียทั้งหมดก็ได้

สิ่งที่ชวนให้รู้สึกย้อนแย้งคือ มันเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่มีการรีแบรนด์เปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ให้กับสิ่งนี้ ก่อนหน้านี้หน่วยงานอย่าง GRUDGE กับ BLUE BOOK ก็มีส่วนในการทำให้คำว่า "ยูเอฟโอ" เป้นที่นิยม เพราะต้องการลดความขี้เล่นของคำว่า "จานบิน" ลง และจูงใจให้คนที่พบเห็นอยากเปิดเผยถึงสิ่งที่ตัวเองพบเจอมากขึ้น

แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลการพบเจอยูเอฟโอในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาแล้ว จะพบว่ายูเอฟโอจำนวนมากสามารถระบุตัวตนที่แท้จริงของมันได้หรือไม่ก็ถูกตีตกไปได้ง่ายๆ ว่าไม่เกี่ยวอะไรกับมนุษย์ต่างดาว เช่น บางกรณีเป็นเรื่องของปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ทั่วไป (เช่นมีอยู่หลายครั้งมากที่พอดาวศุกร์โคจรใกล้โลกมากขึ้นแล้วคนนึกว่าเป็นยูเอฟโอ) บ้างก็เป็นปรากฏการณ์การบินทั่วๆ ไป (เช่น กรณีเครื่องบินบินตั้งแถวเป็นขบวนในตอนกลางคืนแล้วดูเหมือนกับยานบินสามเหลี่ยมขนาดยักษ์) หรือในรายงานของหน่วยงานข่าวกรองเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่ามันเป็น "คลัสเตอร์" หรือเศษขยะทางอากาศ

แต่ถึงแม้จะมีหลายกรณีที่ปฏิเสธได้ว่าไม่ใช่ยูเอฟโอก็ตาม มันก็ยังมีการพบเจอยูเอฟโอและยูเอพีอีกจำนวนมากที่เป็นเพียงแค่ปรากฏการณ์ทั่วไปหรือเป็นเรื่องเทคโนโลยีมีกรณีที่ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่ามันคืออะไรกันแน่ และมีอยู่ราวร้อยละ 5-20 ของปรากฏการณ์ทั้งหมดเป็นกรณีที่ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าสิ่งที่พวกเขาพบเห็นคืออะไรกันแน่ ซึ่งตัวเลขร้อยละนี้ขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลมาจากยุคสมัยไหนด้วย

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปรากฏการณ์ที่อธิบายไม่ได้เหล่านี้ทำให้เรียกมันว่าเป็นยูเอฟโอหรือยูเอพี (สิ่งที่ระบุแน่ชัดไม่ได้) แบบตรงตามตัวอักษร เป็นปริศนาที่ยังไขไม่กระจ่าง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในการไต่สวนในสภาคองเกรสของสหรัฐฯ มีเจ้าหน้าที่กลาโหมและนักบินนาวีให้การว่าพบเจอกับยานเหาะประหลาดหรือปรากฏการณ์ประหลาดที่ดูฝืนความรู้ทางฟิสิกส์เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นเทคโนโลยีที่ดูก้าวล้ำเกิดความเข้าใจของสหรัฐฯ

การมองเรื่อง 'ยูเอฟโอ' ด้วยแว่นของประเด็นความมั่นคงในชาติ ฉุดรั้งการค้นคว้า

สื่อโปลิติโคระบุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องหน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐฯ ทั้งความมั่นคงและข่าวกรองควรจะทำการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังมากกว่านี้ แต่ที่ผ่านมากองทัพ, รัฐบาล และหน่วยงานข่าวกรอง มักจะทำเรื่องนี้แบบลวกๆ มีการลงงบประมาณในเรื่องนี้น้อยและไม่ให้ความสำคัญ ไม่มีการให้ทรัพยากรการสำรวจทางวิทยาศาสตร์หรือทรัพยากรในการสืบสวนสอบสวนตามที่หน่วยงานต่างๆ ร้องขอ

นอกจากนี้งบประมาณจากนาซ่าและรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ที่ให้กับเรื่อง "การค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลก" ยังน้อยมากในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา แทบจะเรียกได้ว่า น้อยกว่าราคาเครื่องบินเจ็ทลำหนึ่งด้วยซ้ำ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่านักการเมืองในสภาไม่ได้สนใจจักรวาลของเราเลย

เรื่องนี่ทำให้ แกร์เร็ตต์ เอ็ม กรัฟฟ์ นักข่าวผู้เคยเข้าชิงรางวัลพูลิตเชอร์, นักประวัติศาสตร์ และผู้เขียนเรื่องยูเอฟโอและเรื่องคดีวอเตอร์เกท ได้เสนอให้รัฐบาลใช้แนวทางใหม่ๆ ในการศึกษาเรื่องยูเอฟโอ

แนวทางที่ 1 คือ เลิกใช้แนวทางในการศึกษายูเอฟโอว่าเป็นเรื่องทางการทหารและการข่าวกรอง ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีที่ยังไม่ค้นพบอาจจะมีส่วนนับเป็นเรื่องทางความมั่นคงของชาติได้ แต่มันก็เป็นเรื่องคำถามทางวิทยาศาสตร์และความเข้าใจโลกรอบตัวเราด้วยเช่นกัน

ในขณะที่ทัศนะของเพนทากอนต่อยูเอฟโอตลอด 80 ปีที่ผ่านมาตั้งอยู่บนคำถามที่ว่า "นี่นับเป็นภัยคุกคามหรือไม่" คำถามนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยต้นยุคสงครามเย็นแล้วและครอบงำการค้นคว้าในเรื่องนี้มาโดยตลอด เช่น คำถามที่ว่าจริงๆ แล้วยูเอฟโอคือยานบินลับของโซเวียตที่สร้างขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์ที่พวกเขาลักพาตัวมาจากพวกนาซีใช่หรือไม่ แต่พอกองทัพค้นพบแล้วว่าไม่ใช่เรื่องจริง พวกเขาก็เลิกสนใจที่จะหาคำตอบความเป็นไปได้อื่นๆ ในเรื่องยูเอฟโอไปเลย

แนวทางที่ 2 ที่ควรเปลี่ยนคือ การที่สหรัฐฯ มักจะทำให้เรื่องยูเอฟโอดูเหมือนเป็นเรื่องที่มีแต่สหรัฐฯ ที่คลั่งไคล้และสนใจ แต่ในความเป็นจริงแล้วยูเอฟโอปรากฏในที่อื่นๆ ทั่วโลกและมีอะไรหลายอย่างที่เราเรียนรู้ได้จากรายงานและการพบเห็นในที่อื่นๆ ของโลกนอกเหนือจากสหรัฐฯ

ควรละทิ้งมุมมองจากยุคสงครามเย็นเสียที หันมาใส่ใจเครื่องตรวจวัดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์

แนวทางที่ 3 ที่ควรเปลี่ยน เกี่ยวข้องกับแนวทางที่ 2 คือการสืบสวนยูเอฟโอจะต้องมีความโปร่งใส การมองเรื่องนี้ด้วยแนวความคิดแบบให้มันความลับของรัฐบาลและการเมืองระหว่างประเทศแบบที่ตกค้างมาจากสมัยสงครามเย็น เป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้มีการแก้ไขปริศนาการค้นพบที่น่าทึ่งเหล่านี้ได้ เช่น ปรากฏการณ์เปโตรซาวอดสค์เมื่อปี 2520 ที่มีวัตถุคล้ายแมงกระพรุนเรืองแสงบนท้องฟ้า ซึ่งต่อมามีการระบุโดยกองทัพอเมริกันว่าเป็นขีปนาวุธของโซเวียตที่แอบทดลอง ซึ่งโซเวียตปิดเรื่องนี้เป็นความลับจากประชาชนตัวเองทำให้ไม่มีใครในโซเวียตไขปริศนาได้

แนวทางที่ 4 ที่ต้องเปลี่ยนแปลงคือควรต้องมีการศึกษาค้นคว้าโดยให้ความสำคัญกับข้อมูลและเครื่องมือ ข้อมูลการพบเห็นยูเอฟโอก่อนหน้านี้รวมถึงรายงานของมันมักจะทิ้งๆ ขว้างๆ ขาดๆ เกินๆ  และผลิตซ้ำได้ยาก เรื่องนี้มีการเสนอในที่ประชุมสภาคองเกรสเมื่อช่วงกลางปี 2566 มีการขอให้การศึกษายูเอฟโอหันมาเน้นใช้เครื่องมือตรวจจับมากขึ้นเพื่อให้ข้อมูลมีความเป็นวัตถุวิสัยมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

มีคนทำโมเดลตามข้อเสนอที่ว่านร่ขึ้นมาเมื่อไม่นานนี้ คือโครงการกาลิเลโอ ของประธานดาราศาสตร์ฮาร์วาร์ด อาวี โลบ ที่ทำการศึกษาโดยเน้นข้อมูลแผนที่การท้องฟ้าอย่างครอบคลุมเพื่อหารูปแบบของปรากฏการณ์เพื่อที่จะชี้ว่าเรื่องไหนแปลก เรื่องไหนไม่แปลก และเมื่อไม่นานนี้ก็มีการเปิดตัวหอสังเกตการณ์บนอาคารดาราศาสตร์ฮาร์วาร์ดที่ใช้สำหรับตรวจสอบเรื่องยูเอพีโดยเฉพาะ โลบเชื่อว่าข้อมูลที่ตรวจวัดได้มีประโยชน์มากกว่าคำพูดจากปากคน

เน้นศึกษาในระยะยาว ไม่ทิ้งๆ ขว้างๆ

แนวทางที่ 5 ที่ต้องเปลี่ยนคือ การทำให้การศึกษาเรื่องนี้มีความยั่งยืนและเป็นไปได้ในระยะยาว ตลอด 80 ปีที่ผ่านมา กิจกรรมเกี่ยวกับ เซติ หรือ การค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากต่างดาว กับยูเอฟโอนั้นล้มเหลวเพราะมันทำในสเกลที่เล็กเกินไป และพึ่งพิงคนสำคัญๆ ไม่กี่คน มีการเปลี่ยนแปลงไปๆ มาๆ ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายที่ให้ความสำคัญ เงินงบประมาณ และบุคลากร พวกเขาไม่ควรจะต้องการให้ได้คำตอบโดยเร็ววันและไม่ควรจะเลิกล้มความสนใจเพียงเพราะยังไม่ได้คำตอบในช่วงปีสองปีแรก

แล้วการค้นคว้ามีประโยชน์อะไร?

การค้นคว้าเกี่ยวกับยูเอฟโอและยูเอพีอาจจะฟังดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่กรัฟฟ์ก็บอกว่ามันมีประโยชน์ในแง่ที่ว่ามันอาจจะทำให้เราค้นหาคำตอบในระดับที่เปลี่ยนโลกได้โดยที่ไม่ต้องเดินทางข้ามอวกาศไกลโพ้นไปถึง 'อัลฟ่า เซนทอรี' ซึ่งเป็นระบบดาวที่ได้รับการประเมินว่ามีดาวเคราะห์ที่มีความเป็นไปได้ที่สิ่งชีวิตจะสามารถดำรงอยู่

นอกจากนี้กรัฟฟ์ยังระบุว่าการค้นคว้าเรื่องนี้จะช่วยให้แยกแยะได้ว่าอะไรคือความลับและอะไรคือเรื่องลึกลับที่เรายังไม่รู้ ช่วยให้ผู้คนมีความเข้าใจว่าปรากฏการณ์ยูเอฟโอไหนที่เป็นเทคโนโลยีลึกลับของมนุษย์ ปรากฏการณ์ไหนที่เป็นการมาเยือนของต่างดาว ปรากฏการณ์ไหนเป็นแค่ปรากฏการณ์พื้นๆ ทางฟิสิกส์, อุตุนิยมวิทยา และดาราศาสตร์ ที่เรายังไม่ได้ทำความเข้าใจพื้นฐานของมัน

ประโยชน์อีกเรื่องหนึ่งที่กรัฟฟ์ระบุถึง คือการศึกษาเรื่องวัตถุลึกลับอาจจะไขปริศนาได้แม้กระทั่งความรู้ต่างๆ บนโลกของเราเองเพราะความรู้วิทยาศาสตร์ใหม่ๆ จำนวนมากมนุษย์เราเพิ่งจะค้นพบเมื่อ 100-200 กว่าปีที่แล้วนี้เอง ยกตัวอย่างเช่นนักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะค้นพบลิงกอริลลาเมื่อราว 150 ปีที่แล้วนี้เองทั้งๆ ที่มันเป็นสัตว์ที่มีมานานแล้ว แต่ในยุคก่อนหน้านี้มันถูกกล่าวหาว่าเป็นสัตว์ประหลาดอย่างเยติ

หรือถ้าจะไปให้ไกลกว่านั้น กรัฟฟ์ระบุว่าการศึกษาในเรื่องยูเอฟโออาจจะถึงขั้นเปิดทางให้กับความรู้ทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์ใหม่ๆ ในระดับที่พูดถึงเรื่อง การข้ามมิติ, การข้ามเวลา, รูหนอน หรืออะไรที่แปลกไปกว่านั้น ซึ่งหลายอย่างเคยมีหรือยังคงมีแต่ในจินตนาการในนิยายวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ความรู้ความเข้าใจของทฤษฎีสัมพันธภาพ และกลศาสตร์ควอนตัม ที่เคยเป็นเหมือนจินตนาการกลับเป็นเรื่องที่นำมาพูดถึงในแวดวงเมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีที่ผ่านมา คิดดูว่าถ้าในอีก 500 ปีข้างหน้า มนุษย์เราอาจจะเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับอวกาศในระดับที่ลึกซึ้งกว่านี้อย่างเรื่องคลื่นความโน้มถ่วงหรือเรื่องหลุมดำมากกว่านี้ก็เป็นไปได้

"การกำหนดว่าเรื่องไหนเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ เรื่องไหนเป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ เป็นหัวใจสำคัญเสมอมาสำหรับการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับยูเอฟโอ" กรัฟฟ์ระบุในบทความ

เช่นเดียวกับที่ ฟิลิปส์ มอร์ริสัน หนึ่งในนักประดิษฐ์เกี่ยวกับเรื่องการค้นคว้าสิ่งมีชีวิตนอกโลก หรือ เซติ เคยพูดไว้ว่า "ไม่ว่ามนุษย์เราจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวในจักรวาลหรือไม่ก็ตาม ความเป็นไปได้ทั้งสองทาง ต่างก็น่าประหลาดใจทั้งสิ้น" ซึ่งเป็นคำพูดที่คล้ายกับของนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ อาเธอร์ ซี คลาร์ก


เรียบเรียงจาก
We Have a UFO Problem. What We Don’t Have (Yet) Is a Serious Answer., 16-11-2023

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Proxima_Centauri_b
Arthur C. Clarke Quote, GoodReads

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net