Skip to main content
sharethis

'พิธา' ประกาศ 'ก้าวไกล' พร้อมชนะกว้าง-ชนะลึก เตรียมสู้ศึก อบจ. ชู 3ข ขยับ-ขยาย-แข่ง ภูมิใจคะแนนเลือกตั้งอุดรธานีเพิ่มขึ้นมีนัยสำคัญ หวังเก็บชัยเลือกตั้ง อบจ.อุดรรอบนี้ ชี้ประเทศไทยต้องกระจายอำนาจ งบประมาณ-บุคลากร-ภารกิจ เพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน - 'ชัยธวัช' ร่วมวงรับฟังปัญหาเกษตรกร จ.สกลนคร ขาดแคลนแหล่งน้ำทำเกษตร พบหลายโครงการจัดสรรไม่ตอบโจทย์พื้นที่-ประชาชนใช้การไม่ได้จริง

ทีมสื่อพรรคก้าวไกลแจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางเยือนจังหวัดอุดรธานี ร่วมเวทีบรรยาย “ก้าวต่อไป อุดรท้องถิ่น” จัดขึ้น ณ โรงแรมสยามแกรนด์ โดยมี ณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ สส.อุดรธานี เขต 1 พร้อมด้วยสมาชิกพรรคก้าวไกล จังหวัดอุดรธานี และประชาชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังการบรรยายกว่า 400 คน

ช่วงต้นของการบรรยาย พิธา กล่าวว่า พรรคก้าวไกลไม่เสียกำลังใจและมีสมาธิพร้อมทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน คะแนนเลือกตั้งที่พี่น้องชาวอุดรธานีมอบให้ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ เริ่มต้นที่ 140,000 คะแนน จนมาถึงพรรคก้าวไกล ช่วงเลือกตั้งนายก อบจ. เมื่อปี 2563 เพิ่มเป็น 180,000 คะแนน และ 220,000 คะแนนจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เชื่อว่าเลือกตั้ง อบจ.รอบนี้ จะเก็บคะแนนเพิ่มและคว้าชัยชนะแน่นอน

ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังกล่าวถึง “3ข.” ได้แก่ “ขยับ” เนื่องจากพรรคก้าวไกลมี สส.เขต และ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานกรรมาธิการที่ดินฯ ก็เป็นของก้าวไกล จึงพร้อมเดินหน้าผลักดันและขยับเพื่อชาวอุดรธานี ต่อมาคือ “ขยาย” พรรคต้องขยายฐานสมาชิกให้มากขึ้น ขยายอาสาสมัครและแนวร่วมให้มากขึ้น เมื่อขยายแล้วจึงพร้อม “แข่ง” โดยไม่ต้องรอถึง 4 ปีในการเลือกตั้งใหญ่ เพราะยังมีการเลือกตั้ง อบจ. ที่ต้องแข่งขันในระดับท้องถิ่น

พิธากล่าวถึงการเลือกตั้ง อบจ. ที่จะมาถึงว่า พรรคก้าวไกลต้องการชนะในหลายจังหวัด เพื่อขยายผลจากการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา จากข้อมูลจะพบว่ามีประมาณ 40 จังหวัดทั่วประเทศ ที่คะแนนของพรรคก้าวไกลมาเป็นอันดับ 1 แต่ยังเหลืออีก 20-30 จังหวัด ที่คะแนนพรรคมาเป็นอันดับ 2 ดังนั้นต้องเดินหน้ารณรงค์เต็มที่ โดยในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ พรรคก้าวไกลไม่ได้ส่งตัวแทนผู้สมัครลงเลือกตั้งครบทุกจังหวัด แต่อุดรธานีเป็นหนึ่งในจังหวัดที่เราส่ง และตนจะเดินทางมาหาเสียงที่อุดรธานีด้วยตัวเองอย่างแน่อน มั่นใจว่าจะปักธงที่อุดรธานีได้ เนื่องจากมีคนทำงานท้องถิ่นอยู่แล้ว มี สส. พรรคก้าวไกลที่ทำงานอย่างแข็งขันและคะแนนของพรรคก็โตขึ้นโดยตลอด ภายในระยะเวลา 1 ปี ตนมั่นใจว่าจะสามารถชนะได้

'ชัยธวัช' ร่วมวงรับฟังปัญหาเกษตรกร จ.สกลนคร ขาดแคลนแหล่งน้ำทำเกษตร พบหลายโครงการจัดสรรไม่ตอบโจทย์พื้นที่-ประชาชนใช้การไม่ได้จริง พร้อมใช้กลไก กมธ.ติดตามงบฯ 

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2566 ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมรับฟังปัญหาประชาชนในภาคเกษตร ที่บ้านเม่นใหญ่ ต.อากาศ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร โดยประชาชนได้ร่วมนำเสนอปัญหาแก่หัวหน้าพรรคก้าวไกลในหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องความต้องการระบบชลประทานเพื่อให้สามารถทำนาปรังได้

หลังการรับฟังปัญหา ชัยธวัชได้กล่าวสรุปว่าพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างนครพนมและสกลนคร มีงบประมาณในการทำแหล่งน้ำตามงบประมาณประจำปี 2566 รวมกันสองจังหวัดถึง 1.2 พันล้านบาท เป็นของนครพนม 800 ล้านบาท สกลนคร 400 ล้านบาท ซึ่งจากการตรวจสอบของพรรคก้าวไกล พบว่าโครงการจำนวนมากถูกจัดสรรลงไปในพื้นที่ที่ไม่มีความต้องการน้ำจริง หรือลงไปในพื้นที่ที่ต้องการน้ำแต่กลับใช้งานไม่ได้จริง โดยมีโครงการที่กำลังถูกตรวจสอบจาก ป.ป.ช. ถึงประมาณ 190 โครงการ

วันนี้ตนตั้งใจมารับฟังปัญหาจากประชาชนเพื่อนำไปสู่การทำงานร่วมกันในอนาคต โดยปัญหาเฉพาะหน้าสำคัญที่สุดก็คือเรื่องน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับเกษตรกรทั้งประเทศ เนื่องจากพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ของประเทศนี้ไม่มีระบบชลประทาน แม้ตามแผนของรัฐบาลเดิมจะวางไว้ว่าภายใน 15 ปีจะต้องมีโครงการชลประทานครอบคลุม 40% ของพื้นที่เพาะปลูก แต่ต่อให้ทำสำเร็จภายใน 15 ปี พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ของประเทศก็จะยังไม่มีน้ำอยู่ดี นี่คือปัญหาของวิธีการจัดการน้ำโดยส่วนกลาง ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ตอบโจทย์ประชาชน เป็นโครงการในรูปแบบเดียวกันที่เอื้อต่อการทุจริตหรือใช้การไม่ได้จริง

ในระยะเฉพาะหน้า พรรคก้าวไกลแม้จะเป็นฝ่ายค้าน แต่ก็จะใช้ทุกกลไกที่มีในการผลักดันแก้ปัญหาให้ประชาชนให้มากที่สุด รวบรวมนำเสนอต่อรัฐบาล ตรวจสอบฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะในการใช้งบประมาณ ซึ่งพรรคก้าวไกลเองมี สส. เป็นประธานคณะกรรมาธิการติดตามการใช้งบประมาณฯ จะทำงานผ่านกลไกนี้ รวมทั้งการใช้กรรมาธิการการจัดการน้ำ ซึ่งเป็นกรรมาธิการใหม่ ที่แม้ สส.พรรคก้าวไกลจะไม่ได้เป็นประธานแต่ก็มีสมาชิกที่จะส่งเสียงแทนประชาชนได้ ระหว่างนี้ทำอะไรได้ก็จะทำกันเต็มที่ ทีมงานพรรคก้าวไกลในพื้นที่จะทำงานอย่างต่อเนื่องกับประชาชน

ชัยธวัชกล่าวต่อไป ว่าปัญหาของเกษตรกรทั้งประเทศมีหัวใจอยู่ที่แหล่งน้ำ ซึ่งถ้ายังจัดการลงทุนโดยใช้วิธีเดิมๆ เอางบกองไว้ที่กระทรวงแล้วให้แต่ละที่ทำโครงการขอมา กว่าจะได้รับพิจารณาก็ใช้เวลานานมาก ขึ้นอยู่กับว่าใครวิ่งงบเก่งกว่ากัน นำมาสู่การทุจริต เอาโครงการไปลงในพื้นที่ที่ไม่ต้องการจริง หรือมีโครงการมาลงในพื้นที่ที่มีความต้องการและใช้การได้จริงแต่มีการทุจริตมาก ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ตอบโจทย์จริงๆ ซึ่งพรรคก้าวไกลเสนอว่าในอนาคตจะต้องเปลี่ยนวิธีจัดการน้ำใหม่ เอางบประมาณมาที่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นเป็นคนตัดสินใจ

แต่ปัญหาสำหรับภาคเกษตรนั้น แก้ปัญหาเรื่องน้ำอย่างเดียวไม่จบ ต้องมีการแก้ไขทั้งระบบ ทั้งต้นทุนการผลิต ปุ๋ย ยา ทำอย่างไรให้เลิกผูกขาดกับบริษัทใหญ่ไม่กี่เจ้า การพัฒนาการผลิตด้วยการวิจัย พัฒนาสายพันธุ์ และเทคนิคการผลิตให้ดีกว่านี้ ให้ได้มากกว่าแค่ผลิตได้หลายรอบขึ้น แต่ให้ไปถึงขั้นทำเท่าเดิมหรือน้อยลงแต่ได้ผลผลิตมากขึ้น พัฒนาไปสู่การแปรรูปให้ขายได้ราคามากขึ้น

ชัยธวัชกล่าวต่อไป ว่าอีกปัญหาหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเกษตรกรทั้งประเทศก็คือเรื่องหนี้สินครัวเรือนที่เกษตรกรเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุด พรรคก้าวไกลเสนอว่าต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้เกษตรกรครั้งใหญ่เพื่อนำไปสู่การปิดหนี้ เช่น เกษตรกรอายุเกิน 60 ปีที่จ่ายหนี้จนเกินเงินต้นแล้วควรปิดหนี้ให้ได้เลย หรือลูกหนี้ที่ยังจ่ายหนี้ไม่เกินเงินต้น ก็ต้องมีการเข้าไปสนับสนุนให้เอาที่ดินมาบริหารจัดการ ให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นเพื่อนำไปสู่การปิดหนี้

เช่นเดียวกับเรื่องของสวัสดิการถ้วนหน้า สำหรับทั้งผู้สูงอายุ คนวัยทำงาน และเด็ก จากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว ประชากรวัยทำงานน้อยลง ประชากรเกิดใหม่น้อยลง การมีสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ และคนวัยทำงานในการดูแลลูก จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นในการช่วยลดภาระและส่งเสริมให้มีประชากรวัยทำงานมากขึ้น รวมทั้งการมีงบประมาณส่งเสริมคนทำงานดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน เพื่อให้เกิดงานที่มั่นคงและมีค่าตอบแทนอย่างเป็นมืออาชีพ

ชัยธวัชสรุปว่า ดังนั้น การแก้ปัญหาของเกษตรกรจะแก้แต่เรื่องน้ำอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องแก้ทั้งระบบ รวมถึงการทำให้มีทางเลือกงานนอกภาคเกษตรใหม่ๆ ในพื้นที่ อย่างที่พรรคก้าวไกลเสนอให้มีการสร้างอุตสาหกรรมจากปัญหาในชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น การทำน้ำประปาดื่มได้ ที่จะทั้งสร้างงานในพื้นที่และแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของประชาชนไปได้ด้วย รวมทั้งการกระจายอำนาจ เพื่อให้อำนาจและงบประมาณอยู่ใกล้ประชาชนให้มากที่สุด

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net