Skip to main content
sharethis

องค์กรผู้บริโภค ประกาศ ยื่น ป.ป.ช. ให้ถอดถอน กสทช. ทั้งคณะ จากการปฏิบัติหน้าที่ ฐานไม่สามารถกำกับกิจการโทรคมนาคม จนเกิดการผูกขาด ละเมิดสิทธิผู้บริโภค

เพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานว่าเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภคพร้อมทั้งเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ ได้มีความเห็นร่วมกันที่จะนำเรื่องขึ้นเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ขอให้ทำการถอดถอนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (คณะกรรมการ กสทช.) ออกจากตำแหน่งทั้งคณะ เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ที่อาจเข้าข่ายบกพร่องและไม่กำกับดูแล ได้สร้างผลกระทบร้ายแรงต่อผู้บริโภค ด้วยการมีมติในสองวาระ ที่เปิดทางให้เกิดการผูกขาดในกิจการโทรคมนาคม โดยให้มีการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ในเดือน ต.ค. 2565 และ การควบรวมครั้งที่สอง ระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทในเครือเอไอเอส (AIS) และบริษัท ทริปเปิลทีบรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (3BB) ในวันที่ 10 พ.ย. 2566 รวมทั้งไม่สามารถประชุมและไม่สามารถกำหนดวาระการประชุมที่เป็นประโยชน์ได้ แบ่งเป็นฝักฝ่าย ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามวัตถุประสงค์และภารกิจตามกฎหมายที่ต้องรับผิดชอบ

นอกจากนี้ องค์กรผู้บริโภค ยังเปิดแถลงข่าว “ความล้มเหลวของ กสทช. ในการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม” จากผลพวงที่ กสทช. ไฟเขียวควบรวม ทรู-ดีแทค ได้สร้างผลกระทบต่อผู้บริโภค ต้องใช้บริการที่แพง แต่คุณภาพลดลง  การที่อ้างว่า กสทช. มีเงื่อนไขให้เอกชนลดราคา  12 เปอร์เซ็นต์ หลังควบรวม มันสวนทาง ดังที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดรับข้อมูลจากผู้บริโภค ตั้งแต่ วันเริ่มต้น  9 พ.ย. จนภึงล่าสุด 16 พฤศจิกายน 2566  มีกว่า 2 พันรายที่ส่งข้อมูลเข้ามา นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า พบปัญหา ค่าบริการแพง  สวนทางคุณภาพที่ลดลง ปัญหาเกิดจาก กสทช.  ไม่ให้เอกชน แจ้งต่อ ผู้บริโภค อย่างเปิดเผย ไม่เคยเห็นมาตรการประชาสัมพันธ์ เช่น ส่วนลดค่าบริการ หรือ การตรวจสอบแพคเกจ จากการเข้าหารือกับ กสทช.  บอกว่า เอกชน ได้แก้ไขครบถ้วน  แต่ทำไมปัญหานี้ยังคงอยู่ ดังนั้น  จะรวบรวมปัญหาที่เป็นเสียงสะท้อนของผู้บริโภค ที่สิ้นสุดวันที่ 23 พ.ย. นี้ เพื่อส่งต่อให้ กสทช. จัดการแก้ไข

ข้อมูลความเดือดร้อนของผู้บริโภค หลังการควบรวมเครือข่ายโทรคมนาคม  มีความเห็นจาก นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง เกี่ยวกับงานวิจัย บอกข้อมูลงานวิจัยว่า หลังการควบรวมทรู-ดีแทค  ทำให้ตลาดกระจุกตัวสูงมาก เพราะมีผู้ให้บริการใหญ่แค่ 2 เจ้า เป็นความเสี่ยงที่รับไม่ได้ ประเมินผลกระทบ ราคาเพิ่ม 7-10 เปอร์เซ็นต์ สูงสุดถึง 20 เปอร์เซ็นต์ อาจมีการฮั้วแบบแค่มองตา ไม่จำเป็นต้องมีเอกสาร เช่น แพคเกจแพง  คุณภาพแย่ เห็นชัดเจน ณ ปัจจุบัน   ราคาลดลงเล็กน้อยของค่ายมือถือ แต่คุณภาพ และ บริการ ก็ลดเช่นกัน  ที่สำคัญ ไม่ได้ลด 12 เปอร์เซ็นต์  ตามที่ กสทช. กำหนด แถม สงครามราคาหายไป  โดยเฉพาะ ซิมเทพ หรือ ซิมรายปี แพงขึ้น  ต่อมา ก็ควบรวม เอไอเอส กับ 3 บีบี อินเตอร์เน็ตบ้าน  กสทช.ประเมินค่าบริการเพิ่ม 45 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาคือพื้นที่ไม่มีคู่แข่ง มีผลกระทบมาก ดังนั้น  จึงขอเสนอให้ กสทช.เพิ่มเงื่อนไขควบคุมเอกชน  โดยเฉพาะพื้นที่ให้บริการเพื่อลดข้อกังวลของประชาชน  
 
ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค  ชี้ว่า  คณะกรรมการ กสทช. ล้มเหลว ปล่อย ทรู - ดีแทค ควบรวม  ไม่ทำหน้าที่ในการพิจารณา  แต่แค่ รับทราบ  จนเกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางกับผู้บริโภค  การอนุญาตควบรวม โดยไม่มองบริบท ทำให้เหลือแค่ 2 เจ้าใหญ่ เท่ากับ ย้อนหลังไปหลายสิบปี  มาตรการคุ้มครองผู้บริโภค มองไม่เห็นจริง  แถมสร้างภาระให้ผู้บริโภคต้องตรวจสอบปัญหาคุณภาพให้บริการ ดังนั้น ในเมื่อ กสทช.ไม่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ก็ควรพิจารณาตัวเองด้วยการลาออกไป  จะได้หาคนใหม่ มาคุ้มครองผู้บริโภค  

สอดคล้องกับ  เภสัชกรหญิงชโลม เกตุจินดา  หน่วยงานเขตพื้นที่ภาคใต้ สภาผู้บริโภคบอกว่า 7  กสทช.  ชุดใหม่ ไม่เคยทำงานรับฟังความเห็นจากผู้บริโภค ไม่มี OPEN  DATA  ให้สังคม ได้เห็น   โดยเฉพาะ ประธาน กสทช. ทั้งที่ ได้รับเลือกเป็น กสทช.ฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภค แต่กลับถือข้างเอกชน ขอประกาศไว้ตรงนี้ว่า ผู้บริโภค จะรวมพลัง ถอดถอน กสทช. ตามกฎหมายที่มีอยู่
 
ขณะที่ สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรกมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค  ในฐานะอดีต กสทช. ยังชี้ว่า  ผลงานของ กสทช. ปัจจุบัน ทั้ง 7  คน ได้ทำให้กิจการโทรคมนาคม ถดถอยหลายทศวรรษ ไม่เคยเห็นเสียงสะท้อนที่จะออกมาปกป้องผู้บริโภค กลายเป็นความหวังริบหรี่ใกล้มอด อีกทั้ง ภาวะความขัดแย้งดำดิ่ง ใน กสทช.ชุดนี้  ทำให้สาธารณะมองไม่เห็นประโยชน์สาธารณะ กลายเป็น  แดนสนธยา  ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สังคมตั้งคำถาม ทั้งตัวประธาน  และ กสทช.  ถึงธรรมาภิบาล และ การใช้กฎหมายที่ขัดหลักนิติธรรม หรือ ประโยชน์สาธารณะ  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net