Skip to main content
sharethis

นักวิชาการแนะไทยและอาเซียนควรกำหนดฐานะทางยุทธศาสตร์ต่อ APEC - เกิดภาวะเงินเฟ้อลดลง (Disinflation) ทั่วทั้งเอเชียและไทย ไม่ใช่สัญญาณของเศรษฐกิจถดถอย แต่เป็นผลจากนโยบายการเงินเข้มงวด Moody ปรับแนวโน้นอันดับเครดิตสหรัฐฯ - ไทยควรเร่งยกระดับขีดแข่งขันเพื่อเติบโตอย่างยั่งยืน

13 พ.ย. 2566 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย   เปิดเผยว่า การเข้าร่วมประชุมเอเปค (APEC) หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย แปซิฟิกของผู้นำอาเซียนและผู้นำไทยจะไม่ได้ประโยชย์เต็มที่นักหากไม่กำหนด “ฐานะทางยุทธศาสตร์” (Strategic Position) ในการเจรจาหารือของกลุ่มอาเซียนและของไทยให้ดีเสียก่อน เนื่องจากลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเปคเป็นการรวมตัวแบบหลวมๆระหว่างประเทศ ไม่ใช่เวทีในการเจรจาการเปิดเสรี การเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาและเศรษฐกิจที่เป็นทางการ ประเทศไทยเคยให้ความสำคัญกับเอเปคอย่างมาก และเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคถึง 3 ครั้ง แต่ไทยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการประชุมได้ไม่เต็มศักยภาพ สหรัฐอเมริกาเองมุ่งความสนใจไปที่เวที TPP (Trans Pacific Partnership) มากกว่า ขณะที่จีนก็มุ่งความสนใจไปที่ เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific) ที่พยายามกันให้ สหรัฐอเมริกา อยู่นอกเวทีความร่วมมือ ญี่ปุ่นก็มุ่งไปที่ CTPPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnerships) หลังจากสหรัฐอเมริกาออกจากข้อตกลง TPP ในยุครัฐบาลโดนัล ทรัมป์ แล้วพอในยุครัฐบาลโจ ไบเดนดูเหมือนสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญต่อเอเชีย แปซิฟิก เพิ่มขึ้น รวมทั้ง CTPPP (หรือ TPP เดิม) แต่ทว่า ผู้นำสหรัฐอเมริกาเองก็ไม่ได้มาร่วมการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2565 การตัดสินใจของสหรัฐอเมริกาในการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี พ.ศ. 2566 นั้นเป็นผลจากข้อเสนอของบรรดากลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจและเศรษฐกิจ รวมทั้งทีมที่ปรึกษามากกว่าศูนย์กลางอำนาจในทำเนียบขาว เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯได้เสนอยุทธศาสตร์ต่อเอเชียแปซิฟิกผ่าน กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิกเพื่อความมั่งคั่ง (IPEF) ซึ่งมีสมาชิก 14 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย สี่เสาหลักความร่วมมือ ได้แก่ เสาความร่วมมือทางด้านการค้า เสาความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทาน เสาความร่วมมือเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เสาความร่วมมือเพื่อเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

ประเทศไทยและอาเซียนโดยรวมยกเว้นสิงคโปร์ และ เวียดนาม ยังขาดยุทธศาสตร์ชัดเจนต่อ APEC และ ข้อตกลงทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกอื่นๆ การประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อปีที่แล้ว ประเทศไทยได้บรรลุเป้าหมายลอยๆกว้างๆเบื้องต้น 3 ข้อที่รัฐบาลเศรษฐา สามารถสานต่อเพื่อทำให้เกิดรูปธรรมและรายละเอียด  ได้แก่ 1. การผลักดันให้เอเปคทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกในบริบทหลังโควิด-19 โดยในการประชุมเอเปคที่สหรัฐอเมริกาครั้งนี้ ไทยควรใช้เวทีเอเปคหารือประเด็นขัดแย้งหรือเห็นต่างในเรื่องความร่วมมือทางการค้า การบริหารห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสร้างความเป็นธรรมในการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างทุนข้ามชาติ (บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่) ทุนชาติทุนท้องถิ่น และ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน 2. ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การเชื่อมต่อกันทางด้านโทรคมนาคมและการขนส่ง การฟื้นฟูการเดินทางข้ามพรมแดนที่สะดวกปลอดภัย และการพัฒนาระบบ กลไกและแนวทางในการรับมือกับความท้าทายจากการแตกขั้วของประเทศในภูมิภาคและการแตกขั้วของโลกาภิวัตน์ (Geo-Economic Fragmentation) 3. ผลักดันให้เกิดความคืบหน้าของ “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว” ซึ่งได้มาประกาศเอาไว้ในการประชุมครั้งที่แล้ว พัฒนาให้เป็นเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนฉบับแรกของ เอเปค โดยเน้นเป้าหมายหลัก 4 ข้อ ได้แก่ การจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน การบริหารจัดการทรัพยากรยั่งยืน และการลดและจัดการของเสียอย่างยั่งยืน

จากการประเมินภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศล่าสุด พบว่า อัตราการขยายของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะอยู่ที่ 4.6% ในปีนี้และอัตราการขยายทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเล็กน้อยสู่การเติบโตในระดับ 4.2% ในปีหน้า โดยมีสัญญาณของการเกิดภาวะเงินเฟ้อลดลง (Disinflation) อย่างชัดเจนในหลายประเทศในภูมิภาครวมทั้งประเทศไทยอันเป็นผลจากการดำเนินนโยบายเข้มงวดทางการเงินและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและกำลังซื้ออ่อนแอลง แม้น ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคที่เผชิญภาวะเงินเฟ้อลดลง (Disinflation) มากกว่าภูมิภาคอื่นแต่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีกว่าภูมิภาคอื่น จึงไม่ได้มีความเสี่ยงภาวะเงินฝืด (Deflation) แต่อย่างใด รวมทั้ง การที่ล่าสุด สถาบันจัดอันดับเครดิตระดับโลก Moody ได้ปรับแนวโน้มความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯจากมี “เสถียรภาพ” มาเป็น “แนวโน้มเชิงลบ” แต่ยังคงอันดับเครดิตของสหรัฐฯไว้ที่ระดับ Aaa ต่อไป คาดการณ์ว่า การปรับแนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดการเงินภูมิภาคเล็กน้อย ยังไม่มีนัยยสำคัญต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯในระยะสั้น สหรัฐอเมริกานั้นประสบปัญหาหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูงมาก การขาดดุลงบประมาณเรื้อรังและต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะและการขาดดุลเพิ่มอีก จึงเกิดความไม่มั่นใจต่อความสามารถในการชำระหนี้ของสหรัฐอเมริกา ก่อนหน้านี้ บริษัท ฟิทซ์ เรทติ้ง หรือ Fitch ได้ปรับลดอันดับเครดิตของสหรัฐฯจาก AAA เหลือ AA+ อันดับเครดิตลดลงหนึ่งอันดับจากปัญหาฐานะการคลังและความสามารถในการชำระหนี้ 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่าการดำเนินนโยบายสาธารณะแบบทวิวิถี (Dual -Track Development Policy) ของรัฐบาลไทย โดยผสมผสานระหว่าง ยุทธศาสตร์กระตุ้นเศรษฐกิจภายในผ่านการบริโภคและการลงทุน เป็น Domestic Demand-led Growth จะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือความท้าทายจากอัตราการขยายของภาคส่งออกที่อ่อนกำลังลงเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2565 มาตรการต่างๆในการดูแลและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในมีความจำเป็นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกอาจชะตัวลงในปีหน้า ไม่ว่า นโยบายพักหนี้เกษตรกร มาตรการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท โครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อสถาบันการเกษตร การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและขึ้นเงินเดือนข้าราชการ แจกเงินดิจิทัล จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจและชดเชยการอ่อนตัวลงของอุปสงค์ภายนอกได้ระดับหนึ่ง   

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยมีระดับการเปิดประเทศเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ ทำให้ไทยอยู่ในอันดับ 3 ในมิติระดับการเปิดประเทศในภูมิภาคอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้น ระดับการเปิดประเทศที่สูง ย่อมหมายถึง ความถดถอยหรือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในมาก จากการคำนวณล่าสุด พบว่า ไทยมีระดับการเปิดประเทศอยู่ที่ 114-115%  อัตราทางการค้าไทยปรับตัวลดลง เพราะ ราคาสินค้าส่งออกเทียบกับราคาสินค้านำเข้าปรับตัวลดลงต่ำกว่า 100 ต่อเนื่อง หลายประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤติจากความผันผวนของการค้าโลกและเศรษฐกิจโลก ล้วนเป็นประเทศที่ไม่สามารถจัดการกับการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจได้ดีพอ มิใช่การที่ประเทศเหล่านั้นมีระดับการเปิดประเทศมากหรือน้อยเกินไป นอกจากนี้ระบบเศรษฐกิจและระบบการเมืองในประเทศต้องมีกลไกในการบริหารความขัดแย้ง (Conflict Management Institution) เพื่อให้มีการปรับตัวของเศรษฐกิจมหภาคตามความผันผวนของโลกาภิวัตน์ได้ ประเทศไทยนั้นอาจมีลักษณะการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศที่ไม่ได้ทำให้สวัสดิการโดยรวมของสังคมหรือของประชาชนดีขึ้นมากขึ้นได้ ซึ่งในทางหลักวิชาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า เป็น Immiserizing Growth เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อการขยายตัวทางการค้า ทำให้อัตราการค้าแย่ลง และ อัตราการค้าที่แย่ลงนี้แย่ลงมากกว่าผลบวกจากการค้าที่นำมาสู่ความมั่งคั่ง ทำให้สวัสดิการโดยรวมของสังคมลดลง ประเทศต้องซื้อสินค้านำเข้าในราคาสูง ขณะที่ต้องลดราคาสินค้าส่งออกลงอย่างมากเพื่อให้ขายได้ ระบบเศรษฐกิจไทยที่ต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศอย่างมาก ดังนั้นอัตราการค้าที่ตกต่ำจึงมีผลให้สวัสดิการของประเทศลดตามไปด้วย ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้น การกระจายรายได้แย่ลง การขยายตัวของการค้าภายใต้การเปิดเสรีทางการค้าของไทยในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ผลประโยชน์จากการค้าไม่กระจายตัวมายังคนส่วนใหญ่ 80% ของประเทศ ผลประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศยังคงกระจุกตัวอยู่กับคนรวยที่มีรายได้สูงสุด 20% ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และความมั่งคั่งของไทยจึงยังคงอยู่ในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จากงานวิจัยของ ศ. ดร. ปราณี ทินกร พบว่า กลุ่มประชากรร้อยละ 20 ที่มีรายได้สูงสุด มีส่วนแบ่งรายได้อยู่ที่ 49.2% และ กลุ่มประชากรร้อยละ 20 ที่มีรายได้สูงสุด มีส่วนแบ่งรายได้คิดเป็น 8 เท่าของกลุ่มร้อยละ 20 ที่มีรายได้ต่ำสุด ในปี พ.ศ. 2518/2519 และ มีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้น 57.7% รายได้สูงสุด 20% แรกสูงกว่าต่ำสุด 20% ล่างประมาณ 15 เท่า ในปี พ.ศ. 2543 

จากการวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุด พบว่าในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโควิด 19  ปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นและเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบไม่เท่าเทียมเป็นรูปตัว K และ ความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้กลุ่มรวยสุด 10% แรกกับกลุ่มรายได้ต่ำสุด 10% ล่าง อยู่ที่ประมาณ 19.29 เท่า กลุ่มคนรวยสุดร้อยละ 10 ถือครองรายได้รวมประมาณ 35.3% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ สัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคของรายได้ (Gini Coefficient) อยู่ที่ 0.453 ในปี พ.ศ. 2560 (ข้อมูลล่าสุดที่มีการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ) การมีมาตรการทางเศรษฐกิจมุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือคนระดับฐานรากรายได้น้อยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า การเปลี่ยนสถานะประเทศไทย เป็นประเทศที่มีรายได้สูงปี พ.ศ. 2575-2580 จะต้องทำทั้งมิติการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ให้เกิดการกระจายของรายได้ ทรัพย์สินและความมั่งคั่ง และต้องเร่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจในองค์รวม ความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและภาคเกษตรกรรม แปรรูปสินค้าไทยให้มีมูลค่าสูงขึ้น มีความสามารถในการแข่งขันและการขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้นจะทำให้คนไทยมีรายได้โดยเฉลี่ยสูงขึ้น การที่เราจะก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศรายได้สูงนั้น ประชาชนต้องมีรายได้ต่อหัวต่อปีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 12,695-13,205 ดอลลาร์ต่อปี หรือ ประมาณ 488,585 บาทต่อปี ต้องเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีของคนไทยให้ได้อีก 1 เท่าตัว หรือ 108% ในระยะ 9-14 ปีข้างหน้า 

การประกาศมาตรการเพิ่มขีดความสามารถภายใต้งบ 1 แสนล้านบาทจึงเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น เพื่อผลักดัน 13 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งระบบของไทยต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาทเป็นอย่างต่ำในระยะสี่ปีข้างหน้า การกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายก็ควรศึกษาวิจัยในเชิงลึกเสียก่อนว่า อุตสาหกรรมที่เลือกให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายเลือกได้ถูกต้องหรือไม่ นอกจากควรพิจารณาโครงสร้างของอุตสาหกรรมดังกล่าวในตลาดโลกด้วย ต้องพิจารณาว่าเรามีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบหรือไม่ อย่างไร ขีดความสามารถในการแข่งขันและส่วนแบ่งในตลาดโลกเป็นอย่างไร มีโอกาสและความเป็นไปได้ในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดหรือไม่ อย่างไร นอกจากนี้มีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดหรือไม่ มีทรัพยากรมนุษย์ มีเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจสนับสนุนแค่ไหน ระบบการศึกษาสามารถผลิตแรงงานทักษะตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานหรือไม่  มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และงานวิจัย รวมทั้งลงทุนทางด้านนวัตกรรมมากน้อยแค่ไหนอย่างไร อย่างไรก็ตาม งบลงทุน 1 แสนล้านบาทเพื่อขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ  เช่น เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาบุคคลากรทางการศึกษา เป็นต้น  การที่รัฐบาลจะใช้กองทุนนี้ในการดึงดูดผู้มีความสามารถให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องที่ดี บางเรื่องอาจไม่ต้องใช้เงินงบประมาณ เพียงแค่ผ่อนคลายกฎระเบียบบางอย่าง หรือ เปลี่ยนวิธีการงบประมาณใหม่โดยไม่ต้องใช้เม็ดเงินเพิ่ม ส่วนเงิน 1 แสนล้านบาทนั้นหากทำการปฏิรูประบบความสามารถในการแข่งขันทั้งระบบนั้นไม่เพียงพออย่างแน่นอน  
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net