Skip to main content
sharethis

‘ณัฐชา’ สส.ก้าวไกล มองรัฐบาลยังไม่มีสภาพคล่อง ชี้ ‘กู้เงินได้ กู้เงินเป็น’ เหมือนรัฐบาล ‘ประยุทธ์’ ถามเงินกู้ 5 แสนล้านไม่มีที่มาชัดเจน แต่ไม่เห็นด้วยถ้าให้ศาล รธน.ชี้ขาด - 'จุรินทร์' รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุไหนบอกจะไม่กู้ สุดท้ายกลืนน้ำลายตัวเอง ทำนายอีกไม่นานจะล้มละลายทางความน่าเชื่อถือ ชี้ดิจิตอลวอลเล็ตกลายเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับพรรคการเมืองที่มุ่งแต่จะหาเสียงแบบประชานิยม

12 พ.ย. 2566 มติชนออนไลน์ รายงานว่าณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายการดิจิทัล วอลเล็ต ว่าแนวโน้มน่าจะออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อมาใช้กับโครงการดังกล่าวว่า ขณะนี้สภาพคล่องของรัฐบาลไม่สู้ดี โดยตั้งแต่การคิดโครงการมาหาเสียงไม่ได้มองรอบด้านว่าเอาเงินมาจากไหน ถ้าในวันหาเสียงพรรคเพื่อไทย บอกประชาชนว่าจะกู้เงินเพื่อเอามาแจก ตนไม่แน่ใจว่าประชาชนจะให้การยอมรับหรือไม่ แต่วันนี้ประชาชนถามหาที่มาของเงิน รัฐบาลบอกเดี๋ยวไปกู้มา ตนเชื่อว่าประชาชนหลายคนถ้ารู้ว่ากู้มาโดยไม่หาช่องทางรายได้เข้ามา ก็จะให้การยอมรับไม่ได้แน่นอน ในช่วงหาเสียงบอกว่าเป็นรัฐบาลที่ “หาเงินเป็น หาเงินได้” แต่วันนี้เป็นแบบ “กู้เงินได้ กู้เงินเป็น” ซึ่งไม่ต่างกับรัฐบาลสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีที่แจกเงินแล้วประชาชนด่ากันทั้งประเทศ

“วันนี้รัฐบาลเศรษฐาเข้ามากำลังทำเหตุการณ์เดียวกับรัฐบาลประยุทธ์ เปลี่ยนเพียงแค่นายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นตนไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้แน่นอน” ณัฐชา กล่าว

เมื่อถามว่านโยบายดังกล่าวสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงตามที่รัฐบาลประกาศไว้หรือไม่ ณัฐชา กล่าวว่าวันนี้ยังไม่ได้เริ่มต้นโครงการ ฝั่งสนับสนุนก็บอกว่าถ้าโครงการนี้สำเร็จจะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินดิจิทัล วอลเล็ตนั้นไม่ต่างจากแจกเช็ก 2,000 บาท ในอดีต ซึ่งหลายคนมองว่านโยบายนี้ทำอะไรไม่ได้ เพียงแค่แจกเงินให้ประชาชนจับจ่ายเพื่อหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งเดียวเพื่อให้เศรษฐกิจเคลื่อนเป็นวงล้อ ซึ่งเป็นการประเมินทั้งสิ้น

ส่วนของเรามองว่าวันนี้ประชาชนเพิ่งผ่านสถานการณ์โควิดมา ดังนั้นสิ่งที่ประชาชนต้องการในตอนนี้คือ การใช้หนี้คืน การแบ่งภาระลดดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นต้องทำอย่างไรก็ได้ให้เงินดิจิทัล วอลเล็ตเป็นเงินสด เพื่อเอาเงินสดไปใช้จ่ายคืนหนี้ที่จ่ายไปสมัยโควิด ตนเองเป็น ส.ส.เขตลงพื้นที่ ประชาชนก็บอกว่าอยากใช้หนี้ ผ่อนบ้าน ผ่อนรถที่ค้างอยู่ คำตอบคือ ดิจิทัล วอลเล็ต ใช้งานไม่ได้

ต่อข้อถามว่าถ้ามีการเสนอกฎหมายเข้าสภาฯจะคัดค้านหรือไม่ ณัฐชา กล่าวว่าเงินกู้ 5 แสนล้าน เป็นเงินกู้ที่ไม่มีรายละเอียด 5 แสนล้านในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ ยังพอรู้ว่าเอามากู้วิกฤตโควิด แต่วันนี้ 5 แสนล้านของรัฐบาลเศรษฐา เป็น 5 แสนล้านที่ไม่ต้องการผิดคำพูด และเสียหน้าเท่านั้นเอง สุดท้ายส่งเข้าสภาฯมาทาง สว.จะให้ผ่านหรือไม่ ตนคิดว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่จะเข้าสภาฯมีหลายคนวิจารณ์ว่า พรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้หาเสียงนโยบายนี้ไว้ วันนี้กำลังตั้งหน้าตั้งตาทำนโยบายของพรรคเพื่อไทย แต่พรรคร่วมรัฐบาลจะลงมติอย่างไรกับการสนับสนุนที่เขาไม่ได้หาเสียงไว้

เมื่อถามว่าตอนนี้มีการพูดถึงให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด มองว่าเรื่องนี้จะไปถึงขั้นนั้นได้หรือไม่ ณัฐชากล่าวว่าถ้าไปถึงศาลรัฐธรรมนูญตนไม่เห็นด้วย และไม่อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งไม่ใช่อำนาจของฝ่ายตุลาการ แต่เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารถ้ามีเสถียรภาพพอ โดยฝ่ายนิติบัญัติและฝ่ายบริหารต้องพูดคุยกัน

'จุรินทร์' ระบุไหนบอกจะไม่กู้ สุดท้ายกลืนน้ำลายตัวเอง

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจะออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปแจกตามโครงการ ดิจิตอล วอลเล็ต ว่านอกจากจะแจกไม่ตรงปกแล้ว ที่เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยืนยันแข็งขันมาตลอดว่าจะไม่กู้ สุดท้ายก็กลับลำมากู้ ถึงขั้นเตรียมออก พ.ร.บ.เงินกู้ กลายเป็นกลืนน้ำลายตัวเอง และยังจะเป็นภาระหนี้ให้กับประเทศและประชาชนต่อไปในอนาคตอีกถึง 5 แสนล้านบาท เพียงเพื่อสนองนโยบายหาเสียง ซึ่งก็เหมือนกันกับเรื่องที่ออกมาตอกย้ำหลายรอบว่าจะฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง ถ้าไม่กลืนน้ำลายตัวเองก็คงไม่เกิดนักโทษ 2 มาตรฐาน ซึ่งตนขอเตือนให้ระวัง เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของการเดินไปสู่การล้มละลายทางความน่าเชื่อถือของรัฐบาล พูดอะไรออกไปต่อไปก็จะไม่มีใครเชื่อ

ส่วนที่หลายฝ่ายเกรงว่าการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทจะผิดกฎหมายหรือไม่นั้น จุรินทร์กล่าวว่า ถ้าเกิดผิดกฎหมายขึ้นมา ก็จะมาอ้างเป็นเหตุโทษคนอื่นไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่รัฐบาลที่จะต้องหาช่องทางอื่นที่ถูกต้องและถูกกฎหมาย

“มาถึงวันนี้ ดิจิตอล วอลเล็ตจึงกำลังกลายเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับพรรคการเมืองที่มุ่งแต่จะหาเสียงแบบประชานิยม ซึ่งหาก พรบ.นี้เข้าสภาได้ตนก็จะให้ความเห็นต่อไป” จุรินทร์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net