Skip to main content
sharethis

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ....

23 ต.ค. 2566 เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่าสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. .... ซึ่งนายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ เป็นผู้เสนอ โดยมีหลักการเพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน คือ พระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและออกข้อกำหนดต่าง ๆ ที่อาจมีผลจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเกินสมควรแก่เหตุ และให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการใช้บังคับข้อกำหนด โดยได้รับการละเว้นการตรวจสอบถ่วงดุลโดยสภาผู้แทนราษฎรและองค์กรตุลาการเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ในทางปฏิบัตินายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสามารถประกาศและขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปโดยไม่มีองค์กรอื่นใดคัดค้านได้ และพนักงานเจ้าหน้าที่ใช้บังคับข้อกำหนดจนส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างเกินความจำเป็น สมควรต้องกำหนดมาตรฐานในการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจดังกล่าวให้สอดคล้องกับหลักการแบ่งแยกอำนาจตามรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สำหรับประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น อาทิ เห็นด้วยหรือไม่กับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้ใช้บังคับตลอดระยะเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 30 วันนับแต่วันประกาศ เห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องดำเนินการให้ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ภายใน 7 วันนับแต่วันประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยต้องเสนอแผนการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เหตุผล มาตรการและข้อกำหนดต่อสภาผู้แทนราษฎร เห็นด้วยหรือไม่ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องขยายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนดให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ต้องดำเนินการให้ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขยายระยะเวลาออกไปอีกเป็นคราว ๆ ละไม่เกิน 3 วัน เห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามร่างพระราชบัญญัตินี้ให้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดระยะเวลาในการควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยตามประกาศในร่างมาตรา 11(1) โดยสามารถควบคุมตัวได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง และเห็นด้วยหรือไม่ที่การจับกุมและควบคุมตัวบุคคลดังกล่าว จะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของญาติที่จะได้เข้าเยี่ยมบุคคลนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเห็นว่า พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีปัญหาในทางปฏิบัติหรือไม่ และเห็นว่าการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด
        
ทั้งนี้ ประชาชนผู้สนใจสามารถร่วมแสดงความเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ ผ่านเว็บไซต์ www.parliament.go.th หมวดการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net