Skip to main content
sharethis

วันที่ 24 ธ.ค. 2566 ตามประกาศของกระทรวงแรงงาน ถือเป็นวันเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม หรือเรียกชื่อเล่นว่า 'บอร์ดประกันสังคม' ทั้งฝั่งตัวแทนนายจ้าง และฝั่งผู้ประกันตน (ลูกจ้าง) เพื่อเข้าไปทำหน้าที่เสนอความเห็นและนโยบายในการดูแลจัดการบริหารกองทุนประกันสังคม กว่า 2.3 ล้านล้านบาท เพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้แรงงาน 

นอกจากนี้ นี่ยังเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี หลังจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 เลื่อนการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมมาตั้งแต่ปี 2558 และเป็นการเลือกตั้งใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากฐานข้อมูลผู้ประกันตน มาตรา 33 มาตรา 39 และ มาตรา 40 ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม มีผู้สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้จำนวนทั้งสิ้นราว 20 ล้านคน  

ด้วยความสำคัญข้างต้น 'ประชาไท' ช่วยสรุปว่าบอร์ดประกันสังคมเป็นใคร มาจากไหน มีอำนาจหน้าที่อย่างไรตามบทบัญญัติกฎหมาย และประชาชนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 39 และ 40 จะเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างไรบ้าง 

คณะกรรมการประกันสังคม เป็นใคร และมาจากไหน

คณะกรรมการประกันสังคม มีทั้งสิ้น 20 คน โดยแบ่งเป็นจากหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 6 คน ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้ประกันตน ฝั่งละ 7 คน มีวาระการดำรงตำแหน่งทั้งหมด 2 ปี  

ตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการฯ

ปลัดกระทรวงแรงงาน

ตำแหน่ง กรรมการ

  1. ผู้แทนกระทรวงการคลัง 
  2. ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 
  3. ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย 
  4. ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข 
  5. ผู้แทนสำนักงบประมาณ 
  6. ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง 7 คน (มาจากการเลือกตั้ง)
  7. ผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน 7 คน (มาจากการเลือกตั้ง)

หน้าที่ของบอร์ดประกันสังคม

สำหรับบทบาทหน้าที่ของบอร์ดประกันสังคม จะสามารถเสนอความเห็นและนโยบายต่อรัฐมนตรี เกี่ยวกับการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม 

ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวถือเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยเงินลงทุนสะสมในกองทุนฯ เมื่อปี 2565 อยู่ที่ 2,271,818 ล้านบาท และในปี 2566 ณ 30 มิ.ย. 2566 อยู่ที่ 2,345,347 ล้านบาท หรือคิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของ GDP 

นอกจากนี้ คณะกรรมการประกันสังคม ยังมีบทบาทหน้าที่ในเสนอนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ เปรียบเสมือนที่ปรึกษารัฐมนตรี สามารถเสนอความเห็นและนโยบายต่อรัฐมนตรี แต่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจออกกฎหมาย หรือมาตรการ ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนประกันสังคม

  1. เสนอต่อรัฐมนตรีนโยบายและมาตรการในการประกันสังคม
  2. เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการตรา พ.ร.ก. กฎกระทรวง และระเบียบต่างๆ
  3. วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังต่อการรับเงิน จ่ายเงิน และเก็บรักษาเงินของกองทุน 
  4. วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังต่อการหาผลประโยชน์ของกองทุน
  5. พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุนและรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของสำนักงานในส่วนที่เกี่ยวกับการประกันสังคมตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม
  6. ให้คำปรึกษาและแนะนำแก่คณะกรรมการอื่นหรือสำนักงาน

ไทม์ไลน์การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม

13-31 ตุลาคม 2566 ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม

25-31 ตุลาคม 2566 เปิดรับสมัครผู้ลงสมัครเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ทั้งฝ่ายนายจ้าง และผู้ประกันตน 

10 พฤศจิกายน 2566 ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 

21 พฤศจิกายน 2566 ประกาศรายชื่อ-หมายเลข ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน และผู้แทนฝ่ายนายจ้าง

24 ธันวาคม 2566 วันหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง ตามเขตที่ได้เลือกไว้ 

เงื่อนไข ผู้มีสิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม

  • ผู้มีสัญชาติ .ไทย" 
  • เป็นผู้ประกันตน ม.33 ม.39 และ ม.40 (ฐานข้อมูลมีจำนวน 20 ล้านคน)
  • ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนเดือนที่ประกาศจัดวันเลือกตั้ง (เดือน มี.ค. 2566)
  • จ่ายสมทบประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนเดือนที่ประกาศจัดวันเลือกตั้ง (เดือน มี.ค. 2566)
  • ต้อง "ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง" 

วิธีการลงทะเบียน 

  1. ผู้ประกันตน มาตรา 33 39 และ 40 หากต้องการใช้สิทธิเลือกตั้ง สามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ https://sbe.sso.go.th/sbe/ (หรือสแกนคิวอาร์โค้ดบนภาพกราฟิก)
  2. คลิกที่ช่อง "ผู้ประกันตน" 
  3. กรอกข้อมูลส่วนบุคคล 
  4. เลือกพื้นที่ใช้สิทธิ์ (เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ จังหวัด เขต/อำเภอ)

สามารถเช็กพื้นที่เลือกตั้งได้ที่โพสต์เฟซบุ๊ก iLaw ที่ได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้แล้ว

https://www.facebook.com/iLawClub/posts/pfbid02A3fbQkvM1SejhaPVr58y1neqNAshPChbtxo9tekYyzSpCvfVCg4o6e4Yka3EY1ZXl

* คำเตือน เมื่อเลือกจังหวัด, เขต/อำเภอแล้วจะไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ โปรดเลือกพื้นที่ที่สะดวกเดินทางไปลงคะแนน

** ต้องใช้ลงทะเบียนก่อนวันที่ 31 ต.ค. 2566 ถึงจะสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมได้ 

*** ลูกจ้าง 1 คน สามารถลงคะแนนเลือกโดยการ “เขียนหมายเลข” ผู้สมัครเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ได้ไม่เกิน 7 หมายเลข

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net