Skip to main content
sharethis

นักวิชาการศาสนาอิสลาม เผย 3 ปัจจัยสุกงอมฮามาสบุกอิสราเอล เพราะความฮึกเหิมของชาวยิว การต่อสู้จากนี้จะไม่เหมือนเดิม หวั่นสงครามบานปลาย ให้จับตาทหารรับจ้างจากยุโรป VS นักรบชาฮีดจากโลกมุสลิม แนะฟื้นแนวทางสองรัฐ (Two State Solution) ที่อิสราเอลไม่เคยทำตาม เผยมีความหวังขอเจรจาปล่อยตัวประกันไทย แต่ให้ระวังการกระทบกระทั่งระหว่างคนไทยด้วยกันเอง

ฆอซาลี เบ็นหมัด นักวิชาการศาสนาอิสลามซึ่งติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์มาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนกัลยาณชนรังสรรค์มูลนิธิ มัสยิดบ้านเหนือ ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และอนุกรรมการวิชาการและกองทุนวากัฟเพื่อการศึกษา คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย วิเคราะห์ปัญหาความขัดแย้งจากกรณีกลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และทิศทางการต่อสู้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

3 ปัจจัยสุกงอมฮามาสบุกอิสราเอล

ฆอซาลี กล่าวว่า การบุกอิสราเอลครั้งนี้ของกลุ่มฮามาส ถือเป็นความสุกงอมของสถานการณ์ทั้งหมด ในช่วง 2-3 ปีหลังมามีแรงกดดันหนักมาก รวมถึงความพร้อมของฮามาสที่มีมากกว่าในอดีต เมื่อ 2 ส่วนนี้มาผสมกันทำให้ระเบิดขึ้นมา โดยแรงกดดันล่าสุดมาจาก

1. ชาวปาเลสไตน์ถูกศาลอิสราเอลพิพากษายึดที่ดินในหลายเมืองมาก มีบ้านหลังแล้วหลังเล่าถูกยึดไปโดยทำอะไรไม่ได้ แม้ต่างประเทศมองว่าเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบธรรมก็ตาม แต่ก็เป็นอำนาจสูงสุดของประเทศอิสราเอล

ชาวปาเลสไตน์ถูกยึดบ้านมาตั้งแต่อาหรับแพ้สงคราม 6 วันต่ออิสราเอล (ค.ศ.1967) ทำให้โดนยึดไปทั้งประเทศซึ่งชาวปาเลสไตน์ยังไม่ลืม แม้สหประชาชาติมีมติให้คืนดินแดนของชาวปาเลสไตน์หลายครั้ง แต่อิสราเอลก็ไม่คืน แต่ก็ทำอะไรไม่ได้

2.  มีการทำร้ายชาวปาเลสไตน์ เฉลี่ยมากกว่าเดือนละ 100 ครั้ง ทั้งโดยเจ้าหน้าที่และผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิว ซึ่งเป็นมาหลายปีแล้ว ในลักษณะเหมือนมีการกระทำอย่างเป็นระบบและมีตัวเลขเป้าหมาย  ปี 2022  มีการทำร้าย 1,614 ครั้ง   และอพยพละทิ้งถิ่นที่อยู่ 1,100 ราย และในครึ่งปีแรกของปี 2023 ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวทำร้ายชาวปาเลสไตน์มากกว่า 4 พันครั้ง  มีผู้เสียชีวิตราวๆ 200 ราย "

ข้อมูลนี้มาจากการรวบรวมของหลายองค์กร เช่น องค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชน Al-Haq ซึ่งได้รวบรวมสถิติการทำร้ายรายเดือน รายปี ตัวเลขชัด ตายปีละกี่คน เจ็บกี่คน ใครเป็นคนทำ สถานที่ไหนบ้าง

รวมทั้ง ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปาเลสไตน์ หรือ The Palestinian Information Center และจากการให้สัมภาษณ์ของครูและนักข่าวชาวปาเลเสไตน์ชื่อ Refaat Alareer แก่สำนักข่าว BBC ที่ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการกระทำอย่างเป็นระบบ 

3. มีการบุกเข้าไปในมัสยิดอัลอักซอของฝ่ายอิสราเอล เพราะอิสราเอลต้องการจะแบ่งเวลาและสถานที่ให้ชาวยิวเข้ามาปฏิบัติศาสนกิจ แต่ฝ่ายมุสลิมไม่ยอมเนื่องจากสหประชาชาติมีมติให้เป็นพื้นที่ของมุสลิมอยู่ภายใต้การดูแลของประเทศจอร์แดน โดยให้จอร์แดนจัดการและวางแผนเรื่องนี้

เพราะความฮึกเหิมของชาวยิว

ฆอซาลี เผยว่า 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ทางอิสราเอลใช้ผู้ตั้งถิ่นฐานหัวรุนแรงบุกเข้าไปในมัสยิด โดยมีกองกำลังรักษาความมั่นคงผู้ดูแล ตรงไหนที่ชาวปาเลสไตน์กำลังละหมาดอยู่ก็จะขับไล่ออกไปจนเกิดการกระทบกระทั่งกัน ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยมากเพราะเป็นช่วงวันสำคัญทางศาสนาของชาวยิว โดยเฉพาะวันที่มีการจัดคอนเสิร์ตเฉลิมฉลองตรงกับวันสถาปนารัฐอิสราเอลในอดีตในยุคท่านนบีสุไลมาน

ช่วงนี้เองที่ชาวยิวรู้สึกฮึกเหิมที่จะเข้าไปในมัสยิดอัลอักซอ โดยคิดว่ากลุ่มฮามาสทำอะไรไม่ได้ และกลุ่มของประธานาธิบดีปาเลสไตน์ มะห์มูด อับบาส (จากองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ หรือ PLO ซึ่งปกครองเขตเวสแบงก์) ก็ทำอะไรไม่ได้เช่นกัน เพราะโลกอาหรับกำลังจะสถาปนาความสัมพันธ์กับอิสราเอลทั้งหมด

สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความเจ็บปวดแก่ชาวปาเลสไตน์ เพราะทำให้ไม่เห็นอนาคตว่าจะอยู่อย่างไร ผสมผสานกับความเดือดร้อนตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมาที่ถูกปิดล้อม(ตั้งแต่ปี 2007) จะออกมาข้างนอกก็ลำบาก จะทำมาหากินภายในก็ไม่ได้ จะเดินทางข้ามดินแดนภายในกันเองก็ยาก ต้องเข้าแถวต้องรอคิวต้องขออนุญาต อยู่เหมือนตายทั้งเป็น ไฟฟ้า ประปาช่วงไหนจะโดนตัดเขาก็ตัด มีความเดือดร้อนทุกอย่างประเดประดังเข้ามา ที่ทำให้พร้อมจะระเบิด

แต่สำหรับกลุ่มฮามาสก็มีความพร้อมทางอาวุธมากที่สุดเท่าที่มีมา สามารถผลิตอาวุธเองได้ มีตั้งแต่เครื่องยิงจรวด จรวดยิงเครื่องบิน สามารถยิงเครื่องบินตกไปแล้วหลายลำ นอกจากยังมีเครื่องร่อนติดอาวุธด้วย

เพราะฉะนั้นทั้งความพร้อมและความเจ็บใจจากสถานการณ์ที่เป็นมาหลายสิบปี ทำให้จำเป็นต้องตัดสินใจ แม้จะรู้ว่าอาวุธสู้ไม่ได้ แต่ไม่สู้ก็ตาย เพราะหมดหวังทุกอย่างแล้ว แม้แต่จะตั้งรัฐปาเลสไตน์ก็ไม่ได้ ส่วนอิสราเอลจะเอาอัลกุดส์(เยรูซาเล็ม) หรือ มัสยิดอัลอักซอไปตั้งเป็นเมืองหลวง โดยสหรัฐอเมริกาก็สนับสนุน แถมยังย้ายสถานทูตไปตั้งในอัลกุดส์อีก มันก็ยากที่จะเอาชนะ พูดง่ายๆ ก็เหมือนหมาจนตรอก ยังไงก็ต้องสู้

การต่อสู้จากนี้ที่จะไม่เหมือนเดิม

ฆอซาลี เล่าว่า ในอดีต หลังจากอิสราเอลใช้อาวุธถล่มปาเลสไตน์ หลายประเทศก็เข้าไปเจรจาสงบศึก แต่ปัจจุบันคิดว่าไม่น่าจะใช้วิธีนี้แล้ว มุสลิมหลายประเทศ เช่น ตุรกี ประธานาธิบดีแอร์โดอัน ประกาศชัดเจนว่า ถ้าอิสราเอลยังไม่หยุดทำร้ายคนอื่น อิสราเอลก็จะเป็นแค่แก๊งหนึ่ง ไม่ได้เป็นประเทศแล้ว 

การประกาศแบบนี้ไม่ใช่แค่การพูดลอยๆ เพราะตอนนี้หน่วยงานเอกชนของตุรกีก็ประกาศพร้อมที่จะสนับสนุนนักรบอาสาสมัครแล้ว แต่รัฐบาลทำไม่ได้เพราะมีกฎหมายระหว่างประเทศห้าม โดยเฉพาะการประกาศของ ส.ส.ที่เป็นประธานมิตรภาพตุรกี-ปาเลสไตน์

รัฐบาลประเทศมุสลิมจะส่งทหารเข้าไปช่วยเหลือไม่ได้ แต่สหรัฐอเมริกาส่งทหารไปช่วยอิสราเอลได้ ซึ่งก็ผิดกฎหมายระหว่างประเทศเช่นกัน

ถ้าประเทศหนึ่งถูกรุกรานก็สามารถขอความช่วยเหลือทางทหารได้ แต่ที่นั่นไม่ใช่ของอิสราเอล เพราะสหประชาชาติบอกว่าดินแดนนั้นเป็นของปาเลสไตน์ อิสราเอลจะต้องคืนให้ชาวปาเลสไตน์ สหรัฐอเมริกาไม่มีสิทธิ์ที่จะใช้กำลังเข้าไปช่วยอิสราเอล แต่เขากล้าเล่นเพราะถ้าขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ สหรัฐอเมริกาก็มีสิทธิ์วีโต้ เราทำอะไรไม่ได้เลย

แต่ถ้ามุสลิมเข้าไปช่วยในนามรัฐบาล เช่นตุรกีจะส่งเครื่องบินเข้าไปช่วยปาเลสไตน์ก็ทำไม่ได้ เพราะสหรัฐอเมริกาสามารถฟ้องศาลโลกได้ ทางออกภาคเอกชนตุรกีประกาศว่าถ้าอิสราเอลไม่หยุดก็จะรับสมัครทหารรับจ้างหรือทหารอาสาเข้าไปช่วยปาเลสไตน์ ซึ่งเขาพร้อมและมีคนที่จะสมัครอยู่แล้ว นี่คือสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต

เมื่อตุรกีนำ ทางอินโดนีเซียก็ประกาศตาม แม้แต่คนอาหรับที่เคร่งศาสนาก็มีเยอะพร้อมที่จะช่วย เพียงแต่ไม่มีแกนนำ ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะรัฐบาลไม่เล่นวิธีนี้

จับตาทหารรับจ้างจากยุโรป VS นักรบอาสาเพื่อเป็นชาฮีด

ฆอซาลี คาดการณ์ว่า พอเป็นแบบนี้ ความขัดแย้งจะไม่จบ เพราะอเมริกา อังกฤษส่งอาวุธเข้ามา ก่อนหน้านี้ก็มีทหารรับจ้างจากยุโรปเข้ามาช่วยอิสราเอลที่เข้าไปแล้วก็มีเป็นจำนวนมาก ทหารรับจ้างพวกนี้หัวรุนแรง มาจากกลุ่มที่เกลียดกลัวอิสลามอยู่แล้ว (Islamophobia) ก็เป็นโอกาสของเขาที่จะมาระบายกับชาวปาเลสไตน์

แต่มุสลิมไม่สามารถเข้าไปในปาเลสไตน์ได้ เพราะต้องผ่านด่านของอิสราเอล ทางบกฝั่งอียิปต์คุมอยู่ ทางน้ำอิสราเอลก็คุมอยู่ ส่วนทางอากาศก็ยิ่งแล้วใหญ่ 

การที่หน่วยงานที่ไม่ใช่ของรัฐ มุสลิมกล้าเล่นแบบนี้ ก็จะเกิดการต่อต้านหนัก สงครามก็จะไม่จบ ถ้าอเมริกาไม่หยุด สงครามก็จะยืดยาว เพราะเป็นการเล่นกับคนทั่วโลกที่ไม่ใช่ปาเลสไตน์อย่างเดียว ความเสียหายเกิดขึ้นแน่นอน 

แต่ฝ่ายมุสลิมชอบอยู่แล้ว เพราะมีคนอยากเป็นชาฮีด (การตายในหนทางของพระเจ้า) อย่างครั้งก่อนในสงครามซีเรีย มีชาวอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไปกันเยอะ ก็จะเห็นภาพตรงนี้อีกครั้ง คนหนึ่งต่อสู้เพื่อชาฮีด อีกคนหนึ่งต่อสู้เพื่อชีวิตรอด

ฟื้นแนวทางสองรัฐ (Two State Solution) ที่อิสราเอลไม่เคยทำตาม

ฆอซาลี กล่าวถึงกรณีที่ตุรกีพร้อมที่จะเจรจาให้ทุกคนทำตามกฎหมาย แต่อยู่ที่อเมริกาไม่ยอมทำตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ตุรกีบอกว่าจะต้องนำมติสหประชาชาติที่ 242 ที่จะให้มี 2 รัฐ (Two State Solution) ซึ่งซาอุดิอาระเบียและรัสเซียสนับสนุนแนวทางนี้ พยายามล็อบบี้ให้นำแนวทางนี้เข้าสหประชาชาติอีกครั้ง

ประธานาธิบดีมะห์มูด อับบาส ของ PLO  บอกว่าไม่เคยใช้ความรุนแรงมา 30 ปีแล้ว แต่ฝ่ายอิสราเอลก็ไม่เคยทำตามข้อตกลงที่จะให้มี 2 รัฐ และเขา บอกว่า เราใช้สันติวิธี คือการเจรจา แต่อิสราเอลไม่ยอมเจรจา แต่กลับโยนว่ามีกลุ่มฮามาสใช้ความรุนแรง ทั้งที่ฮามาสไม่ใช่รัฐบาล แต่เป็นกลุ่มบุคคลซึ่งไม่เกี่ยวกับรัฐบาล นี่คือปัญหาตอนนี้

ส่วนกลุ่มกลุ่มฮามาสซึ่งดูแลฉนวนกาซ่าแม้ชนะเลือกตั้งมา แต่ก็ไม่มีใครรับรอง รัฐบาล PLO ก็มีอยู่ในกาซา แต่กลุ่มฮามาสดูแลพื้นที่อยู่

มีความหวังขอเจรจาปล่อยตัวประกันไทย

ฆอซาลี ชี้ว่า สำหรับคนไทยถูกฮามาสจับเป็นตัวประกันนั้น ในแถลงการณ์ของกลุ่มฮามาสบอกว่า จะไม่ทำร้ายพลเรือนนั้นทำให้มีความหวังที่จะพูดคุยให้ปล่อยตัวออกมาได้

ในประเทศไทยก็มีทูตปาเลสไตน์อยู่ เราสามารถติดต่อผ่านทูตปาเลสไตน์ได้ ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะ กลุ่มฮามาสก็ไม่อยากมีปัญหากับคนทั่วโลก

การที่คนไทยถูกจับเป็นตัวประกันด้วยเพราะการจับตัวประกันเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าใครเป็นใครและทางปาเลสไตน์อาจต้องการจับทหารนอกเครื่องแบบด้วย อย่างไรก็ตามตัวประกันส่วนใหญ่เป็นทหารของอิสราเอลและยังมีที่เป็นนายทหารระดับสูงด้วยเพื่อใช้ในการต่อรอง

ส่วนตัวประกันที่มาจากชาติอื่นก็มีแน่นอน ก็อย่างที่บอกไว้ว่า มีทหารรับจ้างจากต่างชาติเข้าไปเยอะแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าคนที่โดนจับเป็นทหารรับจ้างด้วยหรือเปล่า

ระวังการกระทบกระทั่งระหว่างคนไทยด้วยกัน

ฆอซาลี เตือนด้วยว่า ในส่วนของมุสลิมในประเทศไทย ขอให้เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบของกฎหมาย สามารถเรียกร้องให้ฮามาสทำตามกฎหมายระหว่างประเทศ และให้อิสราเอลคืนดินแดนให้ปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นความชอบธรรมของมุสลิมที่จะเรียกร้องเรื่องนี้

กรณีนี้อาจมีโอกาสทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมในประเทศไทย ก็น่าเป็นห่วง ทางผู้หลักผู้ใหญ่ควรจะให้นักวิชาการที่เป็นกลาง หรือมีคณะกรรมการสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ขยายขอบเขตมาดูแลเรื่องนี้ด้วย มาอธิบายให้สังคมได้รับทราบน่าจะพอให้ความเข้าใจได้ สำหรับคนที่ไม่มีอคติตั้งแต่ต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net