Skip to main content
sharethis

ศาลสั่งจำคุก 'วันทนา' 6 เดือน 10 วัน ปรับ 1 พันบาท ไม่รอลงอาญา เหตุตะโกนไล่ 'ประยุทธ์' ที่บ้านโป่ง ก่อนได้ประกันตัว ภายหลังเธอได้โกนผมประท้วงหน้าศาล เรียกร้องความเป็นธรรมให้ทุกคน

 

10 ต.ค. 2566 เว็บไซต์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานวันนี้ (10 ต.ค.) ศาลแขวงราชบุรี พิพากษาลงโทษจำคุก วันทนา โอทอง วัย 62 ปี ชาวจังหวัดราชบุรี เต็มอัตรา 6 เดือน 10 วัน ปรับ 1,000 บาท ไม่รอลงอาญา ใน 3 ข้อหาตามคำฟ้อง ทั้งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ส่งเสียงหรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร และต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน ก่อนศาลให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

 

 

คดีของวันทนา เกิดจากเหตุยืนรอขบวนนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่และตะโกนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงนอกเครื่องแบบเข้าไปสกัดและควบคุมตัวไว้ โดยวันทนาถูกฟ้องใน 3 ข้อหาด้วยกัน ได้แก่ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368, ส่งเสียงหรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 370 และต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 โดยศาลแขวงราชบุรีสืบพยานไประหว่างวันที่ 12-15 ก.ย. 2566 เป็นพยานโจทก์ 12 ปาก พยานจำเลย 3 ปาก ก่อนจะนัดฟังคำพิพากษาวันนี้ 

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 3 มีเพื่อนนักกิจกรรมมาให้กำลังใจวันทนาจำนวน 5 คน และในเวลา 10.15 น. เกรียงไกร นาคสิงห์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลแขวงราชบุรี ผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีจึงอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟัง คำพิพากษาโดยย่อมีดังนี้  

จำเลยเข้าไปในเขตที่จัดไว้ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยและหวงห้ามเพื่อรักษาความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรีในการลงพื้นที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี, บุคคลในขบวนนายกฯ และประชาชนอื่น ซึ่งเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการจัดพื้นที่เพื่อสร้างความปลอดภัยได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีอำนาจได้แจ้งต่อจำเลยให้ออกจากเขตหวงห้าม โดยจำเลยเบิกความว่า ตนทราบคำสั่งนั้น และได้โต้แย้งว่าตนสามารถยืนในบริเวณนั้นได้ จึงถือว่าจำเลยได้ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานไม่ปฎิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุสมควรหรือข้อแก้ตัว

ประเด็นต่อมา จำเลยไม่ยอมย้ายไปรวมตัวกับประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันอยู่ เมื่อรถของนายกรัฐมนตรีกำลังผ่านมาทางที่จำเลยยืนอยู่ จำเลยวิ่งเข้าหารถและตะโกน “ไอ้เหี้ยตู่” จนเจ้าหน้าที่เข้าห้ามปราม ประชิดตัวจำเลยแล้วปิดปาก ปิดจมูกและตา แล้วนำตัวจำเลยเข้าซอกรถตู้ของตำรวจที่จอดอยู่ใกล้กันนั้น จำเลยได้ต่อสู้ขัดขืนให้พ้นการควบคุมตัวนั้น เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งหมดที่มาเบิกความ เป็นประจักษ์พยานและเบิกความสอดคล้องกันเป็นขั้นตอน พยานโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ไม่มีเหตุให้การปรักปรำจำเลย ประกอบกับจำเลยกระทำผิดซึ่งหน้า ส่งเสียงโวยวาย และมีการเผยแพร่ภาพการถ่ายทอดสดแสดงภาพเคลื่อนไหวว่าจะวิ่งเข้าหารถนายกรัฐมนตรี แม้จำเลยไม่ได้พูดเอง แต่จำเลยก็ไม่ได้ห้ามปราม 

เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ในการป้องกันเหตุร้ายต่อทุกคน เพราะไม่อาจทราบได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เจ้าหน้าที่ต้องป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นก่อน ไม่ใช่หาผู้ร้ายทีหลัง การใช้มือ ‘ป้องปาก’ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เพื่อไม่ให้คนเห็นต่างเข้ามาทำร้ายจำเลยและพอสมควรแก่เหตุแล้ว อาการหายใจไม่ออกนั้นเกิดจากการต่อสู้ดิ้นรนของจำเลยเอง จำเลยจึงผิดฐานส่งเสียงอื้ออึงในสาธารณะและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานตามฟ้อง

ส่วนการชุมนุมที่่จำเลยอ้างว่าใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เห็นว่า จำเลยไม่มีเอกสารใดเพื่อแสดงการร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี จำเลยจบการศึกษาถึงระดับปริญญาตรีและเคยลงสมัครรับเลือกตั้ง จำเลยย่อมทราบดีว่า การร้องเรียนควรมีเอกสารเพื่อประกอบการร้องเรียนด้วย จึงเชื่อว่าจำเลยไม่ได้มาชุมนุมตามสิทธิและเสรีภาพที่มี เชื่อว่าจำเลยสร้างความปั่นป่วน ข้อต่อสู้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น 

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 138 วรรคสอง, มาตรา 368 และมาตรา 370 ของประมวลกฎหมายอาญา การกระทำของจำดลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป  

ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 จำคุก 10 วัน, ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 จำคุก 6 เดือน และฐานส่งเสียงหรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 370 ปรับ 1,000 บาท รวมจำคุก 6 เดือน 10 วัน ปรับ 1,000 บาท 

แม้จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน แต่หลังจากถูกดำเนินคดีจำเลยให้การปฎิเสธและต่อสู้คดีมาตลอด จำเลยไม่เคยบรรเทาผลร้ายให้แก่เจ้าหน้าที่ ทั้งไปแจ้งความดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่เดือดร้อนและสูญเสียกำลังใจในการทำงาน จำเลยไม่เคยสำนึกในการกระทำความผิด ไม่เคารพยำเกรงกฎหมาย พฤติการณ์จึงเป็นเรื่องร้ายแรง หากบังคับใช้กฎหมายไม่จริงจัง อาจมีบุคคลอื่นทำแบบเดียวกัน จึงไม่มีเหตุอันสมควรให้รอการลงโทษ 

หลังฟังคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกุญแจมือใส่ข้อมือของวันทนาและนำตัวเธอไปควบคุมไว้ที่ห้องควบคุมใต้ถุนศาล ขณะทนายยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์

ต่อมาเวลา 12.00 น. ศาลมีคำสั่งให้ประกันวันทนา โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันในชั้นอุทธรณ์เพิ่มอีกจำนวน 10,000 บาท รวมกับหลักทรัพย์ประกันเดิมในชั้นพิจารณา จำนวน 20,000 บาท เป็นเงินประกัน 30,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ วันทนาจึงได้รับการปล่อยชั่วคราวชั้นอุทธรณ์เพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อไป  

หลังได้รับการปล่อยตัวออกจากห้องควบคุมตัวใต้ถุนศาล วันทนาได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์โดยการโกนผมที่บริเวณหน้าศาลแขวงราชบุรี วันทนาเปิดเผยถึงเจตนาในการโกนผมว่า "เพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่าเรายังต้องหาความเป็นธรรมให้กับคนทุกหมู่เหล่าจริงๆ

"เรายอมแพ้ไม่ได้นะ มันไม่ใช่เรื่องสำนึก ไม่สำนึก ในการกระทำของตน ป้าอึดอัดมาก อยากอาเจียนในห้องพิจารณาเลย ตอนฟังผู้พิพากษาค่อยๆ อ่านคำพิพากษาและลงโทษเรา มันอึดอัดและสงสัยว่าต้องเขียนคำพิพากษาขนาดนั้นเลยหรือ" วันทนา กล่าวด้วยความอัดอั้น

ทั้งนี้ ในวันเกิดเหตุเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางลงพื้นที่และเข้าสักการะเจ้าแม่เบิกไพรที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี วันทนา ได้พยายามที่เข้าจะไปพูดคุยโดยตรงกับนายกรัฐมนตรีเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 3-4 นาย เข้ามาแจ้งวันทนาว่าไม่สามารถให้เข้าไปพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีได้ เนื่องจากต้องรักษาความปลอดภัย ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงจะได้ใช้กำลังควบคุมตัวโดยใช้มือปิดปากและลากตัวออกไปจากที่เกิดเหตุ จึงทำให้วันทนาได้รับบาดเจ็บ แขนบวมอักเสบ และขาบวมเป็นแผลถลอก จำเป็นต้องหยุดค้าขายเพื่อรักษาตัว ทำให้เสียรายได้ ทั้งเจ้าหน้าที่ยังพยายามกางร่มเพื่อไม่ให้ผู้สื่อข่าวถ่ายภาพเหตุการณ์การใช้กำลังควบคุมตัววันทนาที่เกิดขึ้นนี้ได้ 

ส่วนการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้กำลังเข้าควบคุมตัวเธอจนได้รับบาดเจ็บ ในข้อหาทำร้ายร่างกายและหน่วงเหนี่ยวกักขังนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนที่ทางตำรวจส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. แจ้งว่าจะรอผลของคำพิพากษาคดีอาญาของศาลแขวงราชบุรีก่อนจึงจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net