Skip to main content
sharethis

กสม. แนะกลาโหม ติดตามและแจ้งญาติในทันที กรณีทหารกองเกินหายตัวไปในระหว่างการดูแลของสัสดี เพื่อป้องกันเหตุร้าย

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ และนางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 33/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

1. กสม. แนะกลาโหม ติดตามและแจ้งญาติในทันที กรณีทหารกองเกินหายตัวไปในระหว่างการดูแลของสัสดี เพื่อเป็นการป้องกันเหตุร้าย

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ระบุว่า บุตรชายของผู้ร้อง ผ่านการตรวจคัดเลือกเข้าเป็นทหารกองเกิน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ผู้ร้องส่งตัวบุตรชายให้สัสดีอำเภอคลองหลวง (ผู้ถูกร้องที่ 1) ซึ่งนำส่งตัวบุตรชายของผู้ร้องและทหารกองเกินรายอื่นไปยังสถานที่นัดรวมพลเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองประจำการ เมื่อไปถึงสถานที่นัดรวมพล เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสัสดีจังหวัดปทุมธานี (ผู้ถูกร้องที่ 2) ให้บุตรชายของผู้ร้องและทหารกองเกินรายอื่นนั่งพักคอยรอเรียกชื่อ เมื่อเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกร้องที่ 2 เรียกชื่อทหารกองเกินเพื่อขึ้นทะเบียน ปรากฏว่าบุตรชายของผู้ร้องไม่อยู่ในสถานที่ดังกล่าวโดยไม่ทราบสาเหตุ ต่อมามีผู้พบศพบุตรชายของผู้ร้องเสียชีวิตจากการจมน้ำ ผู้ร้องเห็นว่าเมื่อผู้ถูกร้องทั้งสองรับตัวบุตรชายของผู้ร้องแล้ว มีหน้าที่ต้องดูแลผู้อยู่ในปกครอง การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องเป็นการประมาทเลินเล่อ ขาดความระมัดระวัง และเมื่อทราบว่าบุตรชายของผู้ร้องหายตัวไป ไม่ติดตามหรือดำเนินการตามหน้าที่เพื่อนำตัวบุตรชายของผู้ร้องกลับมารับการฝึกแต่อย่างใด หลังจากนั้น ผู้ร้องได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสวนพริกไทย จังหวัดปทุมธานี (ผู้ถูกร้องที่ 3) ขอให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกร้องที่ 1 กับพวก ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้บุตรชายของผู้ร้องเสียชีวิต และจงใจปล่อยปละละเลย ประมาทเลินเล่อ ละเว้น และบกพร่องต่อหน้าที่ เป็นเหตุให้บุตรชายของผู้ร้องเสียชีวิต แต่ระยะเวลาล่วงเลยมาพอสมควรแล้วผู้ร้องยังไม่ทราบความคืบหน้าของคดี จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. เห็นว่า กรณีตามคำร้องมีประเด็นต้องพิจารณาว่า สัสดีอำเภอคลองหลวง และสำนักงานสัสดีจังหวัดปทุมธานี ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และ 2 ได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีปล่อยปละละเลยให้บุตรชายของผู้ร้องหายตัวไปจากสถานที่นัดรวมพลจนนำไปสู่การเสียชีวิต หรือไม่ จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องได้ยื่นฟ้องกระทรวงกลาโหม ต่อศาลปกครองกลางในประเด็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องที่ 1 จนทำให้บุตรชายของผู้ร้องเสียชีวิต และศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณาแล้ว กสม. จึงไม่อาจใช้หน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนต่อไปได้ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 39 (1) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง ที่บัญญัติให้ กสม. สั่งยุติเรื่อง หากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลแล้ว ซึ่ง กสม. จะติดตามผลการพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตาม กสม. มีข้อสังเกตว่า เมื่อบุตรชายของผู้ร้องได้เข้ารายงานตัวตามนัดหมายเข้ารับราชการทหารของอำเภอคลองหลวง โดยมีผู้ถูกร้องที่ 1 กับพวก มารับตัว มีการแจกเบี้ยเลี้ยงและให้ขึ้นรถบัสนำส่งตัวไปยังสถานที่รวมพลที่ผู้ถูกร้องที่ 2 กำหนด จึงเห็นว่า บุตรชายผู้ร้องอยู่ในความดูแลและภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ถูกร้องทั้งสองแล้ว ซึ่งหากผู้ร้องได้รับแจ้งกรณีที่บุตรชายหายตัวไปจากสถานที่ดังกล่าวอย่างรวดเร็วและทันท่วงที อาจจะแก้ไขสถานการณ์ที่จะนำไปสู่การเสียชีวิตได้ แต่จากข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้ถูกร้องทั้งสองได้ติดตามหาตัวบุตรชายของผู้ร้อง หรือมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการติดตามหรือแจ้งให้ผู้ปกครองหรือญาติทราบอย่างรวดเร็ว

ส่วนประเด็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสวนพริกไทย (ผู้ถูกร้องที่ 3) ไม่แจ้งความคืบหน้าการสอบสวนในคดีที่ผู้ร้องได้ร้องทุกข์ไว้ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พนักงานสอบสวนได้มีหนังสือแจ้งความคืบหน้าการสอบสวนคดีอาญาให้ผู้ร้องทราบ 2 ครั้ง ซึ่งระยะเวลาการแจ้งความคืบหน้าเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 419/2556 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 เรื่องการแจ้งความคืบหน้าของคดีให้ผู้แจ้งความร้องทุกข์ ทราบแล้ว ในชั้นนี้จึงไม่อาจรับฟังได้ว่ามีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม เห็นว่า การร้องทุกข์ของผู้ร้องที่ขอให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นกรณีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับเจ้าพนักงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 61 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้พนักงานสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริง รวมทั้งรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นแล้วส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการร้องทุกข์ ซึ่งจากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตั้งแต่ผู้ร้องได้ร้องทุกข์ต่อผู้ถูกร้องที่ 3 และส่งเรื่องร้องทุกข์ไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นระยะเวลากว่า 178 วัน ซึ่งไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังกระทรวงกลาโหมให้ปรับปรุงวิธีการหรือขั้นตอน กรณีพบว่าทหารกองเกินที่ได้มารายงานตัวต่อสัสดีแล้ว แต่ต่อมาได้หายตัวไประหว่างรอขึ้นทะเบียนกองประจำการหรือระหว่างการนำส่งตัว โดยให้มีการติดตามตัวและแจ้งครอบครัวหรือญาติของทหารกองเกินทราบในทันที และให้ตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานีตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสวนพริกไทยที่ไม่สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงหรือรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นได้ทันตามกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด แล้วนำผลการตรวจสอบไปกำหนดมาตรการหรือแนวทางเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก

2. กสม. เตรียมเปิดสำนักงานฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดขอนแก่น ให้บริการประชาชน 2 ตุลาคมนี้

นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านการคุ้มครอง ส่งเสริม และเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนเชิงรุกในระดับภูมิภาคเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมา ได้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ (สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้) เป็นส่วนราชการในส่วนภูมิภาคแห่งแรก ณ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยเปิดทำการตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2565 เป็นต้นมา

ต่อมา เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 กสม. ได้ออกประกาศแบ่งส่วนราชการภายในและขอบเขตหน้าที่และอำนาจของส่วนราชการในสังกัดสำนักงาน กสม. พ.ศ. 2565 โดยได้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) รับผิดชอบพื้นที่ในเขต 20 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี และอุบลราชธานี มีหน้าที่และอำนาจดำเนินการที่สำคัญเกี่ยวกับการรับเรื่องร้องเรียน ประสาน ตรวจสอบ และติดตามการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนและพัฒนาความร่วมมือกับเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชน รวมทั้งตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริงประกอบการจัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ สำนักงาน กสม. ได้มีคำสั่งให้ข้าราชการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ณ สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 เป็นต้นมา และมีกำหนดเปิดสำนักงานฯ เพื่อให้บริการประชาชนอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ตุลาคม 2566 นี้

สำหรับการดำเนินงานในช่วงแรก สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานยุติธรรมจังหวัดขอนแก่น และเรือนจำกลางขอนแก่น เพื่อแนะนำสำนักงานฯ ในฐานะกลไกสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาค โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ และเริ่มดำเนินกิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้กับสถานศึกษา ตลอดจนมีการรับเรื่องร้องเรียนและลงพื้นที่ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในหลายกรณีแล้ว

ล่าสุด เมื่อต้นเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา กสม. โดยนางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ และนางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีเครือข่ายภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่าง ๆ เช่น ที่ดิน เหมืองแร่ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้มีความหลากหลายทางเพศ คนไร้บ้าน เสรีภาพการชุมนุม การศึกษา สิทธิผู้บริโภค และสื่อมวลชน เข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิฯ ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ต่อสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีข้อเสนอสำคัญให้ กสม. ใช้มาตรการเชิงรุกในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น การลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบทันทีที่มีการแจ้งการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และการทำความเข้าใจกับหน่วยงานต่าง ๆ ถึงบทบาทและการทำหน้าที่ของประชาชนที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ กสม. ยังได้ประชุมหารือร่วมกับคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดขอนแก่น ถึงแนวทางการทำงานร่วมกันในทุกมิติของการคุ้มครอง ส่งเสริม และเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชน โดยมีแผนการจัดทำ Mapping ประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนร่วมกับภาคประชาสังคม การส่งเสริมงานวิจัย และการจัดทำเครื่องมือการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนแก่เยาวชนด้วย

“สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเป็นกลไกสำคัญระดับภูมิภาคอีกแห่งที่ช่วยยกระดับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของประชาชนในพื้นที่ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย กสม. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานจะได้ใช้บริการสำนักงานฯ และมีส่วนร่วมสะท้อนสถานการณ์จริงในพื้นที่และขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกับ กสม. อย่างใกล้ชิดต่อไป” นางสาวปิติกาญจน์ กล่าว

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถใช้บริการหรือติดต่อ สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ที่ อาคารพาณิชย์ เลขที่ 555/67 โครงการตลาดจอมพล หมู่ 13 ถนนกสิกรทุ่งสร้าง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น 40000 หรือ โทร. 043-306324 – 325, 043-306344 – 346 อีเมล nhrc.esarn@nhrc.or.th

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net