Skip to main content
sharethis

บันทึกถ่ายทอดสดการสนทนากับ รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล ตัวแทนเครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ภายหลังคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่นำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งกำหนดให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยที่ประชุม ครม.วันนี้ มอบให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ยึดตามแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ พร้อมระบุด้วยว่าจะใช้เวทีรัฐสภาในการหารือรูปแบบแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยร่วมกัน

ทั้งนี้ ทางกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญที่ก่อนหน้านี้รวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอคำถามประชามติว่า “ให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน” จนได้ผู้ร่วมลงชื่อ 211,904  ชื่อ ได้ออกแถลงการณ์ในเรื่องผ่านทางแฟนเพจของ iLaw ถึงความกังวลต่อแนวทางการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของรัฐบาลเศรษฐาในคำแถลงนโยบายของ ครม.นั้นไม่ชัดเจนและยังสวนทางกับที่พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลเคยหาเสียงเอาไว้ แม้ว่าจะเข้าใจว่ารัฐบาลต้องการลดความขัดแย้งจึงต้องหารือแนวทางในการทำรัฐธรรมนูญใหม่และยังหลีกเลี่ยงที่จะแก้ไขหมวดที่ 1 และ 2 ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อน

“แต่เมื่อเป้าประสงค์ของรัฐบาล คือ การเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัย และเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รัฐบาลจึงควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกคนได้เป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และรัฐบาลหรือรัฐสภาไม่ควรสร้างเงื่อนไขที่จะเป็นข้อจำกัดในการร่างรัฐธรรมนูญโดยประชาชน เพราะท้ายที่สุด การตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญล้วนเป็นฉันทามติของประชาชน ต่างจากการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ร่างขึ้นโดยคนเพียงกลุ่มเดียว และนำไปสู่วิกฤติและความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง” แถลงการณ์ระบุ

ในแถลงการณ์ระบุข้อเรียกร้องต่อ ครม. ไว้ 2 ประเด็นดังนี้

1. ทบทวนนโยบายเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง และพิจารณานำแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนเสนอ ได้แก่ ‘ให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน’ มาเป็นแนวทางหลัก เนื่องจากประชาชนเสียงข้างมากได้ให้การสนับสนุนแนวทางดังกล่าวผ่านการออกเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566

2. คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติที่คณะรัฐมนตรีจะตั้งขึ้นควรจะพิจารณานำคำถามประชามติที่ประชาชนได้ระดมชื่อกันกว่าสองแสนรายชื่อเสนอมาเป็นแนวคิดหลักในการกำหนดคำถามประชามติ เพราะเป็นคำถามที่มีความครอบคลุมและชัดเจนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน เพื่อเป็นหลักประกันให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญต่อจากนี้เป็นไปอย่างชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับทั่วกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net