Skip to main content
sharethis

ประเสริฐ รมว.ดิจิทัลฯ ตอบข้อสงสัยต่อนโยบายดิจิทัลของสมาชิกรัฐสภา กระทรวงจะผลักดันรัฐบาลดิจิทัล ทั้งการใช้ระบบคลาวด์ การแบ่งปันข้อมูลให้ทั้งประชาชนและเอกชนเข้าถึงได้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูลด้วย PDPA และใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงลดขั้นตอนการติดต่อราชการเพื่อลดขั้นตอนการใช้ดุลพินิจของราชการเพื่อป้องกันการทุจริต

11 ก.ย.2566 ที่รัฐสภา เกียกกาย มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 เป็นวันที่ 2 ประเสริฐ จันทรรวงทอง ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ชี้แจงต่อข้อซักถามของสมาชิกรัฐสภาในประเด็นเกี่ยวกับนโยบายด้านดิจิทัลของรัฐบาล

ประเสริฐกล่าวว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบดิจิทัลของประเทศมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น ดิจิทัลวอลเล็ตและบล็อกเชน อีก โดเมน ซึ่ง เรามีความตั้งใจที่จะให้เอาระบบเหล่านี้มารวมกันเป็นดิจิทัลคอนเวอร์เจนซ์อย่างสมบูรณ์เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงทั้งภาคเศรษฐกิจและภาคบริการเพื่อที่จะนำมาใช้ประโยชน์ให้กับประชาชนได้มากขึ้น

รมว.ดิจิทัลฯ กล่าวถึงนโยบายแรกคือนโยบายการใช้บริการระบบคลาวด์ภาครัฐ(Cloud First Policy) แนวทางที่รัฐบาลได้จัดทำรายละเอียดเป็นกรอบการขยายการใช้งานคลาวด์เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีทั้ง ภาครัฐและภาคเอกชน โดยเน้นการสร้างพับลิคคลาวด์และไพรเวทคลาวด์ที่มีมาตรฐานในการดูแลข้อมูลของภาครัฐที่มีอยู่จำนวนมาก อีกทั้งรัฐบาลยังมีโครงการที่จะดึงบริษัทชั้นนำทั่วโลกมาลงทุนระบบคลาวด์ดาต้าในประเทศไทยและจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้วย

นอกจากนั้นเพื่อเป็นการปรับแนวทางในการจัดซื้อจัดจ้างก็จะใช้คลาวด์เพื่อให้มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น รวมถึงเปิดช่องทางให้มีการเช่าพื้นที่บริการ และรัฐบาลจะทำให้การจ้างเขียนโปรแกรมที่มีผู้อภิปรายตั้งข้อสังเกตหมดไป ด้วย

ประเสริฐกล่าวถึงเรื่องการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) เป็นกรอบที่มีความชัดเจนแล้วโดยขณะนี้กฎหมายได้วางมาตรฐา นรับรองไว้แล้ว ส่วนในด้านการบริการมีทั้ง ThaiID และ NDIDเป็นตัวตนของผู้ให้บริการในระบบอินเทอร์เน็ตที่สามารถทำธุรกรรมทางออนไลน์ต่างๆ ได้ไม่น้อยกว่า 10ล้านคน และขณะนี้กระทรวงอยู่ระหว่างการขยายรูปแบบการใช้งานทำให้ระบบนี้ติดต่อดำเนินการผ่านหน่วยงานรัฐและติดต่อค้าขายได้อย่างน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

รมว.ดิจิทัลฯ กล่าวในประเด็นต่อมาคือ สมาร์ทซิตี้หรือการพัฒนาพื้นที่ระดับเมือง ได้ส่งเสริมการนำบิ๊กดาต้าเข้ามาใช้เผื่อเป็นประโยชน์ โดยเชื่อมโยงข้อมูลเมืองในแต่ละชั้นข้อมูลและรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลผ่านซิตี้ดาต้าแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นวิธีในการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองที่มีอัจฉริยะ

ประเสริฐกล่าวถึงการร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขทำเฮลท์ลิงก์ เพื่อให้ประชาชนเข้ารับบริการด้านสาธารณสุขได้ทั่วประเทศทุกโรงพยาบาลด้วยบัตรประชาชนใบเดียว นอกจากนั้นแล้วยังสามารถเช็คข้อมูลประวัติการรักษาข้ามโรงพยาบาล และยังทำทราเวลลิงก์ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬาเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลนักท่องเที่ยวด้วย แสดงให้เห็นการทำงานระหว่างข้อมูลภาครัฐและภาคเอกชน ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

กระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้เตรียมการทำ “ระบบรัฐบาลดิจิทัล” โดยจัดทำแผนแม่บทในการบูรณาการความแตกต่าง ของแต่ละกระทรวงมาพัฒนาระบบสารสนเทศของภาครัฐโดยทำเป็น Super App ที่รวมทุกแพลตฟอร์มของภาครัฐ โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นตัวเก็บข้อมูลทั้งระดับโครงสร้างและระดับการพัฒนาเพื่อให้ในอนาคตเกิดการ ประสานข้อมูลซึ่งกันและกันไม่มีการแยกข้อมูลให้ประชาชนเกิดความสับสนและซับซ้อน ส่วนการเปิดซอร์สโค้ดเป็นสาธารณะนั้นอยู่ระหว่างการดำเนินการ

รมว.ดิจิทัลฯ กล่าวว่าทางกระทรวงมีส่วนสำคัญในการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจดิจิทัลโดยดำเนินการผ่านคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่มีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมี รัฐมนตรีหลายกระทรวงร่วมอยู่ในคณะกรรมการ

ประเด็นต่อมาที่ประเสิรฐกล่าวถึงคือเรื่องเศรษฐกิจฐานข้อมูลในระดับภาพรวม ข้อมูลภาครัฐเป็นฐานที่สำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ต่อยอดทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และ ภาคประชาชน โอเพ่น ดาต้าจึงถือว่าเป็นมาตรการเชิงรุกของรัฐบาล ที่ขณะนี้รัฐบาลในประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ได้นำ แนวคิดดาต้าอีโคโนมีมาใช้ เริ่มเปิดเผยข้อมูลภาครัฐให้ภาคธุรกิจและประชาชนได้รับทราบให้เกิดประโยชน์ได้ พัฒนาระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐและระบบให้บริการแลกเปลี่ยนมีการแบ่งปันเรื่องของสถิติตามมาตรฐานสากล

นอกจากนั้น แล้วกระทรวงดิจิทัลฯ ยังมีสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ที่เป็นองค์กรมหาชน มาจัดทำแผนแม่บทในการทำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาพัฒนาเรื่องเศรษฐกิและสังคมของประเทศเพื่อให้เกิดนวัตกรรมด้านต่างๆ ส่วนในเรื่องการบริหารข้อมูลได้ทำซุปเปอร์แอปด้วยระบบบล็อกเชนเก็บข้อมูลต่างๆ อย่างไรก็ตาม การใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต้องทำควบคู่ไปกับการเคารพสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน จึงส่งเสริมให้ภาครัฐและภาคเอกชนมีความรู้ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วยกฎหมายคุ้มครองส่วนบุคคลหรือ PDPA และเตรียมความพร้อมในการรองรับการบังคับใช้กฎหมายให้ทันกับมาตรฐานสากล

รมว.ดิจิทัลฯ กล่าวถึงแนวทางการนำเสนอข้อมูล จะเป็นการนำเสนอแบบข้อมูลทางตรงไม่มีการวิเคราะห์เป็น ข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ได้ทันที โดยกระทรวงฯ จะวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาให้กับประชาชนและภาคธุรกิจสามารถ นำไปใช้เกิดประโยชน์ได้ทันที

เรื่องโครงสร้างพื้นฐานการใช้ประโยชน์จากไอโอที (Internet of Thing) กระทรวงมีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depaและมีสถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัลซึ่งทำงานระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เรื่องสตาร์ทอัพ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไอโอทีและพัฒนามาตรฐานของอุปกรณ์ในเรื่องความปลอดภัยเพื่อเตรียมความพร้อม ในการเข้าสู่บัญชีและบริการดิจิทัล

การส่งเสริมให้เกิดการนำ IoT ไปใช้ทางกระทรวงโดย depa จัดการส่งเสริมทั้งภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ เป็นกลไกในการขับเคลื่อนและสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งสตาร์ทอัพที่มีขีดความสามารถ เราได้มีตัวอย่างการพัฒนาที่มีความยั่งยืนในหลายเรื่อง ทั้งการใช้เทคโนโลยี อาทิ ระบบ IoT เชื่อมโยงข้อมูลบริการจัดคิวรถบรรทุกที่ท่าเรือแหลมฉบัง การส่งเสริมกิจกรรมของ เทศบาลนครยะลาเพื่อรับเรื่องร้องเรียนและการจัดเก็บภาษีรวมถึงการแก้ไขปัญหาการจัดเก็บขยะ การส่งเสริมเมืองภูเก็ตในการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้าน IoTโดยขึ้นอยู่กับความคุ้มค่าของการใช้โครงการนี้

การทำงานของกระทรวงมีแผนงานให้มีการนำเอาเทคโนโลยีและวัฒนธรรมของสตาร์ทอัพมาพัฒนาประเทศ โดย การเปิดประตูการค้ากับภาครัฐเป็นเรื่องสำคัญ การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ การส่งเสริมเมืองให้มีการใช้เทคโนโลยี ที่มีทั้งข้อมูลเมือง การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาเมืองทางด้านสังคมและเศรษฐกิจจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในอนาคตของการพัฒนาระบบนิเวศในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นการปิดช่องว่างโดยรัฐบาล จะเป็นผู้สนับสนุน

ประเสริฐชี้แจงประเด็นที่มีผู้อภิปรายห่วงใยอยู่ 3 ประเด็น

ประเด็นแรก ระบบ IoTที่จะใช้โดยใช้ LoRaWAN (Long Range Wide Area Network) และNB-IoT (NarrowBand-Internet of Things) ทั้งสองระบบนี้ดีกว่า 5G เนื่องจากใช้พลังงานต่ำกว่า

ประเด็นที่สอง การจัดทำสถาปัตยกรรมทางด้านดิจิทัล กระทรวงเองมีแนวคิด Digital Literacy คือการใช้ทักษะใน การนำเทคโนโลยีด้านต่างๆ เพื่อไปให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทางกระทรวงมีการอบรมภาคราชการและภาคประชาชน เพื่อให้เข้าถึงความรู้พื้นฐานด้านเทคโนโลยี อย่างเรื่องดิจิทัลวอลเลทที่เป็นนโยบายของรัฐบาลในการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างบล็อกเชนและด้วยเทคโนโลยีที่มีความโปร่งใส

“เงิน 10,000บาท จะถึงมือพี่น้องประชาชนครบทุกบาททุกสตางค์ นอกจากนั้นแล้วเทคโนโลยีบล็อกเชนนั้นยังสามารถสร้างความโปร่งใส สามารถสร้างสรรค์งานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะและภาพวาด สร้างรายได้ในทั่วโลก”

ประเด็นที่สาม ประเด็นเรื่องความโปร่งใสในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ อย่างการใช้ Open Contracting Policy ที่รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาแก้ไขเพื่อความโปร่งใส โดยแบ่งเป็นสามเรื่อง

1. การใช้ระบบการจ่ายเงินภาครัฐผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

2. การเปิดขอใบอนุญาตและติดต่อราชการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ แบบ One stop service ในการติดต่อราชการเพื่อลดการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาที่จะนำไปสู่การทุจริต

3. การนำระบบบล็อกเชนมาใช้เพื่อความโปร่งใสในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล

ประเสริฐเปรียบเทียบการพยายามใช้บล็อกเชนครั้งนี้เหมือนกับที่คนไทยเคยมีความไม่คุ้นเคยกับการใช้ Line ที่ทุกวันนี้คนไทยก็ใช้กันจนคุ้นเคยแล้ว ดังนั้นเทคโนโลยีบล็อกเชนนี้จะเป็นเทคโนโลยีในอนาคตที่คนไทยจะต้องคุ้นเคย และสามารถนำเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้ในอนาคต

รมว.ดิจิทัลฯ กล่าวถึงเรื่องไรเดอร์ ก็มีไรเดอร์มานำเสนอปัญหากับพรรคทั้งเรื่องการคิดเวลาทำงานหรือเรื่อง สวัสดิการ และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจากต่างประเทศที่เปิดบริการในประเทศไทย เรื่องนี้ตนจะนัดหมายไรเดอร์มาพูดคุยที่กระทรวงเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ประเสริฐกล่าวปิดท้ายการชี้แจงว่าจะนำระบบเทคโนโลยีที่กระทรวงพัฒนาขึ้นมาในรูปแบบต่างๆ เข้าสู่ กระบวนการเพื่อให้ประชาชนมีความผาสุกต่อไป

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อการชี้แจงของประเสริฐด้วยว่าในประเด็นส่วนของคลาวด์กลางภาครัฐ ปัญหาอยู่ที่ภาครัฐพยายามทำโครงการ Government Data Center and Cloud Service (GDCC) เอง แต่ที่เขาเสนอไว้ในการอภิปรายก่อนหน้านี้เรื่องคลาวด์แบบเปิดให้บริการสาธารณะ(Public Cloud) หมายถึงว่าต้องใช้วิธีการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนให้มีการตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่ในไทยหลายแสนล้านบาท โดยรัฐบาลไทยจะต้องมีการวางเงื่อนไขที่เกิดการจ้างงานและประเทศไทยได้ประโยชน์และใช้ Public Cloud ได้เลย

สส.ก้าวไกลกล่าวถึงประเด็นระบบการยืนยันตัวตนดิจิตอลก็มีปัญหา NDID อยู่สองเรื่อง เรื่องแรกคือยังมีค่าธรรมเนียมที่แพงจึงยังไม่เกิดการใช้งานจริง เรื่องที่สอง ThaiID ก็มีปัญหาอยู่ตรงที่เป็นของกระทรวงมหาดไทยแล้วไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลทำให้เกิด Data Economy

ณัฐพงษ์เสนอแนวทางแก้ปัญหาคือควรที่จะไปเจรจาให้ NDID เป็นแพลตฟอร์มกลางที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน ข้อมูลของประเทศ แล้วเอา ThaiID มาเชื่อมเข้ากับ NDID ให้ได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียม ซึ่งช่วง 2 เดือนก่อนที่จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรีรอบแรกมีการตั้งคณะทำงานซึ่งมีตัวแทนของพรรคเพื่อไทยร่วมด้วยนั้นได้เข้าไปเจรจาจนได้ทางออกเป็นข้อเสนอที่สรุปแล้วว่าสามารถทำได้

สส.ก้าวไกลกล่าวถึงประเด็นเรื่องเฮลท์ลิงก์ก็มีปัญหาว่าโรงพยาบาลทั้งของรัฐ เอกชน หรือกระทั่งของทหารไม่ยอม เข้าร่วมครบทั้งระบบ ไม่มีการกำหนดมาตรฐานข้อมูลในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพระหว่างกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net