Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เดือนสิงหาคม ปี 2560 กองทัพเมียนมาปฏิบัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชุมชนชาวโรฮีนจา ส่งผลให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่ร้ายแรง ฉันเป็นหนึ่งในผู้หนีภัยที่ต้องเดินทางด้วยเท้าเป็นเวลา 11 วัน จาก บ้านเกิดของฉันและครอบครัวทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ในเมียนมา ไปยังค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองคอกเซสบาซาร์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ ฉันเข้าไปสมทบกับชาวโรฮีนจาอีกกว่า 1 ล้านคน ที่ต้องพลัดถิ่นฐานเช่นกันจากการโจมตีและข่มขู่ครั้งแล้วครั้งเล่าของกองทัพเมียนมา ตอนนั้นฉันอายุเพียง 14 ปี ต้องหลบหนีจากบ้านเกิด ต้องออกจากโรงเรียน และต้องเริ่มชีวิตใหม่ในประเทศที่เคยไม่รู้จัก 

ถึงวันนี้เป็นเวลาหกปีแล้วหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งส่งผลให้ชาวโรฮีนจาจำนวนมากอพยพไปบังกลาเทศ แม้จะมีความพยายามสนับสนุนให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาเข้าถึงบริการที่ช่วยรักษาชีวิต และที่พักอาศัยในบังกลาเทศ แต่รัฐบาลของบังกลาเทศแทบไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อช่วยให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งการศึกษา ข้อจำกัดร้ายแรงอย่างหนึ่งที่ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญระหว่างอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย คือการเข้าถึงการศึกษาในระบบของบังกลาเทศ เพราะนับตั้งแต่เกิดวิกฤต รัฐบาลบังกลาเทศขัดขวางความพยายามใดๆ ที่จะส่งเสริมให้ชาวโรฮีนจา สามารถปรับตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมบังกลาเทศในระยะยาว ห้ามไม่ให้ชาวโรฮีนจาทำงาน ไม่ให้สถานะผู้ลี้ภัยกับพวกเรา และปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงการศึกษาในระบบ

หกปีที่ไม่มีหนังสือและการศึกษา ทำให้เยาวชนชาวโรฮีนจาต้องสูญเสียโอกาสอย่างมาก เพราะเมื่อไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา เยาวชนชาวโรฮีนจาจึงต้องอพยพออกจากบังกลาเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องเสี่ยงภัยเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังมาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เพื่อแสวงหาชีวิตที่ปลอดภัยและดีกว่า เด็กผู้หญิงชาวโรฮีนจาถูกบังคับให้ต้องแต่งงานตั้งแต่เด็ก เพราะไม่ได้รับการศึกษาและขาดโอกาสด้านเศรษฐกิจ พวกเธอจึงไม่มีอิสรภาพทางการเงิน ไม่มีสิทธิจัดการชีวิตของตนเอง ทำให้เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อความรุนแรงและการละเมิดในครอบครัว ฉันเห็นกับตาเมื่อเพื่อนผู้หญิงที่สนิทกันถูกบังคับให้แต่งงานตั้งแต่เด็ก

หน่วยงานมนุษยธรรมในค่ายผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศได้รับอนุญาตให้ตั้งศูนย์การเรียนรู้ชั่วคราวที่เรียกว่า “พื้นที่ที่เป็นมิตรกับเด็ก” (Child-friendly spaces) แต่ก็รับเพียงเด็กเล็กให้เข้าเรียนหนังสือเท่านั้น เด็กๆ ได้รับการศึกษานอกระบบซึ่งเป็นหลักสูตรที่ไม่ได้รับการรับรองหรือเป็นที่ยอมรับจากประเทศใดๆ และแม้จะใช้ชีวิตอยู่ในบังกลาเทศ แต่พวกเขาก็ถูกห้ามไม่ให้เรียนภาษาเบงกาลี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลเริ่มอนุญาตให้มีโครงการการศึกษานำร่องขนาดเล็ก เป็นการสอนตามหลักสูตรภาษาเมียนมาในค่าย แต่โครงการเช่นนี้ก็ไม่ได้แพร่หลายมากนัก

เนื่องจากรัฐบาลบังกลาเทศอนุญาตให้เยาวชนชาวโรฮีนจาเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบนอกระบบเท่านั้น เยาวชนที่จำเป็นต้องเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาจึงเข้าถึงโอกาสอื่นๆ ในชีวิตน้อยลงไปอีก การจำกัดไม่ให้เดินทางออกนอกค่าย ทำให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาไม่สามารถออกไปทำงาน หรือเข้าเรียนในโรงเรียนในระบบได้ ตัวฉันเองก็ไม่ได้รับการศึกษาระหว่างอยู่ในค่าย ฉันจึงเรียนรู้ด้วยตัวเองจากการดูยูทูป และใช้โลกอินเทอร์เน็ตเป็นโรงเรียน

ฉันโชคดีที่ได้เข้าอบรมกับหน่วยงานมนุษยธรรมในค่ายเกี่ยวกับประเด็นด้านสุขภาพและความปลอดภัยของผู้หญิง และได้มีโอกาสเผยแพร่ความรู้เหล่านี้ไปยังผู้หญิงและเด็กผู้หญิงผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ แต่ฉันต้องเผชิญกับภัยคุกคามในบังกลาเทศจากการทำงานของฉันในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้หญิงที่รณรงค์เรื่องการศึกษา ฉันจึงจำต้องลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกาช่วงปลายปี 2565 พร้อมกับครอบครัวชาวโรฮีนจาคนอื่นๆ ที่มาจากค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศเช่นกัน ตอนนี้ฉันได้โอกาสเรียนต่อในสหรัฐอเมริกา ต่างจากเพื่อนอีกหลายคนที่ยังอยู่ในบังกลาเทศ 

เราควรให้ความสำคัญต่อการยืนหยัดของชาวโรฮีนจาในการแสวงหาทางออกให้กับชุมชนของตนเอง แม้ต้องเผชิญกับข้อจำกัดที่ร้ายแรงด้านการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชน แต่ที่ผ่านมาชุมชนได้พัฒนาหลายโครงการเพื่อปิดช่องว่างนั้น มีการสร้างโรงเรียนที่ชุมชนจัดตั้งขึ้นและจัดการเรียนการสอนในที่พักของพวกเขา โรงเรียนชุมชนเหล่านี้จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับประถมไปจนจบมัธยมศึกษา 

โรงเรียนที่ว่านี้เปิดสอนหลายวิชา ตั้งแต่ภาษาพม่า คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ให้โอกาสแก่เด็กๆ ในการสอบวัดผลช่วงปลายภาค ที่สำคัญ โรงเรียนชุมชนเหล่านี้ ทำให้เด็กมีโอกาสพัฒนาความสามารถด้านภาษาอังกฤษ แต่แทนที่รัฐบาลบังกลาเทศจะสนับสนุนโรงเรียนชุมชนอย่างจริงจัง กลับสั่งปิดโรงเรียนเหล่านี้ในเดือนธันวาคม ปี 2564 และยังจำกัดการเข้าถึงการศึกษาของเยาวชนชาวโรฮีนจาอย่างเข้มงวดอีกด้วย 

โรงเรียนที่ดำเนินการโดยชุมชนบางแห่งยังคงเปิดทำการแบบลับๆ การเรียนการสอนเช่นนี้มีความจำเป็นอย่างมาก ครูชาวโรฮีนจาจำเป็นต้องเก็บค่าเล่าเรียน โดยเฉลี่ยแล้ว นักเรียนแต่ละคนจะต้องจ่ายเงินประมาณ 500 ถึง 1,000 ตากาต่อเดือน (ราว 160 ถึง 320 บาท) แต่ใช่ว่าทุกครอบครัวจะมีเงินใช้จ่ายในส่วนนี้ โดยเฉพาะเมื่อไม่นานมานี้ สถานการณ์ในค่ายกลับยิ่งเลวร้ายลงหลังจากโครงการอาหารโลกขององค์การสหประชาชาติตัดการอุดหนุนด้านอาหาร หลายครอบครัวใช้เงินตนเองจ่ายค่าเล่าเรียนให้ลูก ในขณะเดียวกันก็ต้องรับภาระค่าอาหารที่เพิ่มขึ้น
 
แม้ที่ผ่านมาจะมีบริการการศึกษาออนไลน์ แต่การเข้าถึงยังมีข้อจำกัด และในค่ายก็ไม่ได้มีบริการอินเทอร์เน็ตที่ทั่วถึง มีนักเรียนเพียงไม่กี่คนที่มีเงินซื้อสมาร์ทโฟน ซื้อบริการอินเทอร์เน็ต หรือซื้อคอมพิวเตอร์ได้

หกปีที่ผ่านมาที่ไม่มีการให้บริการการศึกษาอย่างเพียงพอ สร้างความเสียหายให้กับชุมชนผู้ลี้ภัยโรฮีนจา มีเยาวชนชาวโรฮีนจาแบบฉันที่ต้องหาทางออกให้กับตนเอง แต่ประชาคมโลกก็ต้องให้การสนับสนุนพวกเราด้วย เมื่อเร็วๆ นี้ ฉันได้เดินทางไปกรุงวอชิงตันดีซีเพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ถึงปัญหาข้อท้าทายสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นกับชุมชนของเราทั้งภายในและภายนอกบังกลาเทศ
 
เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รัฐบาลของประเทศผู้ให้ทุนช่วยเหลือฯ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา และองค์กรระหว่างประเทศ ควรให้ทุนสนับสนุนโครงการด้านการศึกษาที่ดำเนินการโดยชาวโรฮีนจาในค่ายผู้ลี้ภัย โครงการเหล่านี้อาจรวมถึงโรงเรียนชุมชน ห้องสมุด และการอบรมผู้นำและการสร้างเสริมศักยภาพอื่นๆ โครงการทั้งหมดนี้ ควรบริหารจัดการโดยครูชาวโรฮีนจาเอง เพราะพวกเขาเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจและมีประสบการณ์มากที่สุดในการสอนเยาวชนของเรา

สุดท้ายนี้ รัฐบาลบังกลาเทศต้องยุติข้อจำกัดต่อโรงเรียนที่ดำเนินการโดยชาวโรฮีนจา และอนุญาตให้มีการจัดการศึกษาในระบบในค่ายผู้ลี้ภัย

หมายเหตุ
บทความนี้ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษใน The Diplomat เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566: https://thediplomat.com/2023/07/six-years-without-books-a-lost-generation-of-rohingya-youth/

ลัคกี้ คาริม เป็นผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา นักสิทธิสตรี และเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของรัฐบาลทหารเมียนมาในปี 2560 ซึ่งเป็นเหตุให้เธอต้องหลบหนีจากเมียนมา เธอเคยทำงานกับหน่วยงานมนุษยธรรมในคอกเซสบาซาร์ บังกลาเทศ อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเป็นเวลาหกปี ก่อนจะย้ายมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2565

ภาพประกอบ ผู้อพยพชาวโรฮิงญา (ที่มาภาพ: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net