Skip to main content
sharethis

ศาลฎีกาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ ยืนยกฟ้อง 'สุเทพ เทือกสุบรรณ' อดีตแกนนำ กปปส. คดีทุจริตก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง ลั่นอาจฟ้องกลับ เพื่อเป็นบทเรียนกับ ป.ป.ช. ให้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ 

 

22 ส.ค. 2566 เว็บไซต์ มติชนออนไลน์ รายงานวันนี้ (22 ส.ค.) เวลา 11.31 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ศาลฎีกา อม.) ศาลกำหนดนัดฟังคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อม.อธ.11/2565 ที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 1-6 กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดแทน โครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลตตำรวจ)

โดย ป.ป.ช.โจทก์ยื่นฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2552-18 เมษายน 2556 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เปลี่ยนแปลงแนวทางจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง จากราคาภาคแยกสัญญามาเป็นการรวมจัดจ้างก่อสร้างไว้ที่ส่วนกลางสัญญาเดียว จำเลยที่ 5 เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยจำเลยที่ 6 ยื่นเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาได้เสนอราคาต่ำอย่างผิดปกติ จำเลยที่ 3-4 ในฐานะคณะกรรมการประกวดราคาไม่ตรวจสอบราคาที่ผิดปกติดังกล่าว และได้นำเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคานั้นไปใช้ในการขออนุมัติจ้างและใช้ประกอบเป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา ต่อมา จำเลยที่ 5 ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญาเป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1, 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำเลยที่ 3, 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 10, 12 กับลงโทษจำเลยที่ 5, 6 ในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำผิด

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาเเล้วเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิด ยกฟ้องจำเลยทั้ง6 ต่อมา ป.ป.ช.โจทก์ยื่นอุทธรณ์คดีต่อก่อนที่จะนัดอ่านคำพิพากษาในวันเดียวกันนี้ ปรากฎว่าจำเลยทุกคนเดินทางมาศาลพร้อมทนายความ

องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์โจทก์ จำเลยเห็นว่า จำเลยที่ 1 นายสุเทพ รองนายกฯในขณะนั้น การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติลงบันทึกข้อความเสนอต่อนายกฯและคณะรัฐมนตรีในโครงการจัดสร้างโรงพักทดแทนฯ โดยให้คำนึงถึงความเห็นของสำนักงบประมาณและมติครม. ที่ผ่านมาการที่จำเลยอนุมัติรวมสัญญาครั้งเดียวโดยไม่ได้นำเสนอต่อ ครม. ย่อมมีประเด็นพิจารณาว่ามติครม.ครั้งที่ 7/2552 ได้อนุมัติโดยกำหนดให้จำเลยต้องเสนออนุมัติโดยแก้ไขหรือไม่ ซึ่งมติ ครม.ดังกล่าว มีข้อกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีมติให้ชัดเจน แต่ไม่มีข้อความระบุชัดเจนถึงการจัดซื้อจัดจ้างว่าให้ดำเนินการอย่างไรมติดังกล่าวเพียงเก่าแต่เรื่องการรื้อถอนโครงสร้างเดิมและการผูกพันงบประมาณข้ามปีเท่านั้น โดยมีพยานที่เกี่ยวข้องทั้งสองปากเบิกความยืนยันน่าเชื่อถือว่ามติครม. ไม่ได้ระบุถึงการจัดซื้อจัดจ้างโดยกำหนดให้เป็นเรื่องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อีกทั้งสำนักงบประมาณก็มีหนังสือยืนยันความเห็นควรอนุมัติตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอภายในกรอบ 6,600ล้านบาท ผูกพันงบประมาณ3 ปี ตั้งแต่ปี 2552-2554 ดังนั้น ข้อความตามมติครม. ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนถึงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างไม่มีผลผูกพัน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสนอ แม้จำเลยที่ 1 เคยเสนอให้กระจายสัญญาเป็นรายภาคแต่ต่อมาทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอรวมไว้ที่ส่วนกลางกรณีจึงเป็นอำนาจของจำเลยที่1 ที่อนุมัติได้เองและไม่พบข้อเท็จจริงข้อพิรุธที่จำเลยที่1 จะเปลี่ยนวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ที่อนุมัติเพราะเชื่อว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบถูกต้องเหมาะสมแล้ว กรณีจึงไม่อาจฟังเป็นยุติว่าการรวมสัญญาไม่ทำให้การเสนอราคาไม่เป็นธรรมเสมอไปส่วนผู้ก่อสร้างที่ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ไปด้วยว่าเป็นผลจากการกระทำของจำเลยที่หนึ่งในการอนุมัติโดยไม่เสนอ ครม.การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง

ส่วนจำเลยที่ 2 องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่2ต้องปฏิบัติตามมติครม. จำเลยที่2เสนอการจัดจ้างต้องประกาศราคาในครั้งเดียว โดยใช้วิธีการอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีความเป็นธรรมแม้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีการเปลี่ยนแปลงการจัดซื้อจัดจ้างของจำเลยที่สองแต่ก็ยังมีการใช้ประกวดราคาเช่นเดิมแค่เปลี่ยนจากปลายภาคเป็นรวมกันครั้งเดียวซึ่งมีการศึกษาข้อดีข้อเสียมาแล้วกรณีจึงมีเหตุผลในการที่เสนอวิธีเปลี่ยนการจัดซื้อจัดจ้าง แม้จะเสนอเพียงหนึ่งวันก่อนอนุมัติก็ไม่ถือเป็นพิรุธ และไม่ปรากฏว่าการเสนอดังกล่าวมีผลประโยชน์แอบแฝงข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่2 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่การกระทำไม่เป็นความผิดตามฟ้อง

ในส่วนจำเลยที่ 3-4 องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นว่าฐานะคณะกรรมการประกวดราคา ตามมติสำนักนายกฯว่าด้วยการพัสดุไม่ได้มีข้อกำหนดใดชัดแจ้ง แม้จำเลยที่5 จะเสนอต่ำกว่าราคากลาง 540 ล้านบาทแต่กรณีไม่มีอะไรแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่5 เสนอราคาต่ำจนก่อสร้างไม่ได้ เนื่องจากผู้เสนอราคาสามารถปรับลดบริหารได้ การที่จำเลยที่ 5 เสนอเสาเข็มถูกกว่าราคาตลาดมากรายการเดียว จำเลยที่5 ก็มีธุรกิจเสาเข็มดูแล้วจึงสามารถปรับลดราคาสินค้าบางอย่างได้ เพื่อให้เสนอราคาอย่างเสรีลำพังการที่ราคาเสาเข็มราคาต่ำกว่าราคาทั่วไปมาก ไม่เป็นเหตุที่จำเลยที่จำเลยที่ 3-4 จะไม่รับการประกวดราคาของจำเลยที่4-5 และไม่ถึงกับเป็นเหตุสำคัญที่ต้องเรียกจำเลยที่5 มาตรวจสอบถึงเรื่องราคาเสาเข็ม และไม่มีข้อพิรุธว่าเป็นกรณีการปกปิดข้อเท็จจริง ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่3-4 กระทำโดยทุจริตฯ พยานหลักฐานฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่3-4 กระทำผิดตามฟ้อง

ส่วนจำเลยที่5-6 ในฐานะผู้สนับสนุน เมื่อองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่1-4 การกระทำไม่เป็นความผิดตามฟ้องจึงไม่ต้องวินิจฉัยในส่วนของจำเลยที่5-6เพราะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัย ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย มาเเล้ว องค์คณะชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืนยกฟ้องจำเลยที่1-6

ศาลฎีกาพิพากษายืนยกฟ้อง จำเลยทั้ง 6 คน

เพจเฟซบุ๊ก The Reporters รายงานว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ ให้สัมภาษณ์กับสื่อ หลังฟังความพิพากษาระบุว่า เขาภูมิใจในชีวิตที่เป็นนักการเมืองไม่เคยทำการทุจริต หรือคอร์รัปชันใดๆ แม้ว่าจะถูกรุมใส่ร้ายในการเล่นงาน แต่ในที่สุดกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยได้ให้ความเป็นธรรมกับผม ที่ผมได้เคารพในหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมคิดว่ากรณีนี้ก็เป็นอุทาหรณ์ที่ผู้ใช้อำนาจ  ควรจะต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง 

สุเทพ มองว่า คนที่ต้องรับผิดชอบมากที่สุดก็คือ ป.ป.ช. รู้ข้อเท็จจริงดีทุกอย่าง แต่ยังดำเนินคดีกับผม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินแล้วว่าไม่ผิด ก็ยังอุทธรณ์ ดื้อรั้น ตอนฟ้องอัยการก็ไม่เห็นด้วย ก็ยังจะฟ้องอีก คิดว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ควรพิจารณาตัวเองเพราะสร้างความเสียหายให้เขามาก และเสียชื่อเสียง

สุเทพ กล่าวว่า เขาไม่สนใจเรื่องการเยียวยา แต่จะปรึกษาเรื่องกฎหมาย เพื่อหาช่องทางดำเนินคดีกับ ป.ป.ช. ไม่ใช่ด้วยความโกรธเคือง แต่ ป.ป.ช.ตั้งขึ้นด้วยกฎหมายพิเศษ เพื่อปฏิบัติหน้าที่พิเศษ แต่ว่าจากกรณีนี้เขาได้เห็นว่า ป.ป.ช. ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ เคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นการกระทำโดยไม่ชอบ ถ้าดำเนินคดีได้ จะดำเนินคดี แต่ย้ำว่าขอไปปรึกษาก่อน

"ต้องย้ำว่าไม่ได้ดำเนินคดีด้วยความโกรธเคือง แต่ต้องการให้เป็นบทเรียน ผู้ที่มีอำนาจตามกฎหมายควรจะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ" 

ทั้งนี้ สุเทพ กล่าวถึงอนาคตทางการเมืองว่า ตั้งแต่ตัดสินใจ ออกจาก ส.ส.มาเดินนำขบวน ก็ได้ประกาศแล้วไม่ทำการเมืองต่อ เพราะไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตนเอง แต่ทำเพื่อชาติบ้านเมือง เพราะฉะนั้นไม่เอาชื่อเสียงความสำเร็จและผลพลอยได้โอนมาเป็นคะแนนเสียงของตัวเองในทางการเมือง 

อดีตแกนนำ กปปส. ฝากข้อความถึงนักการเมืองคนอื่นๆ ว่า 

"ผมเรียนได้อย่างเดียวว่าพระพุทธเจ้าสอนเรื่องสัมมาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น การมาเป็นนักการเมืองต้องปฏิบัติตามหลักสัมมาทิฏฐิ คือต้องมีความคิดความเห็นที่ถูกต้อง มาทำงานการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน ไม่ใช่ทำการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง พวกพ้องหรือแม้แต่พรรคตัวเอง

"ถ้านักการเมืองยึดหลักนี้ จะเป็นนักการเมืองที่ควรค่าแก่การส่งเสริมประชาชนก็สามารถพึ่งพาได้ แต่ถ้านักการเมืองคิดแต่เรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง ละเลยผลประโยชน์ของชาติไม่คิดถึงความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติโดยส่วนรวม ก็ไม่สมควรจะเป็นนักการเมืองที่เราให้ความสนใจ หรือไปยกย่องสรรเสริญ" สุเทพ กล่าว

สุเทพ กล่าวเสริมว่า ทุกคนต้องมีความตั้งใจดีต่อบ้านเมืองเป็นหลัก เพื่อให้ประเทศอยู่รอดปลอดภัยให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมใจเป็นหลักประกันแห่งความมั่นคง พร้อมย้ำว่า อย่ายึดมั่นถือมั่นว่าใครเป็นคนละขั้วกัน ไม่ว่าฝ่ายใดก็แล้วแต่สามารถเปลี่ยนใจมาทำงานร่วมกันได้เพียงแค่ยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net