Skip to main content
sharethis

นักวิชาการคาดจัดตั้งรัฐบาลได้ภายใน ส.ค. 66 ส่งผลบวกต่อการฟื้นตัวตลาดการเงินและเศรษฐกิจต่อเนื่อง มองโจทย์ท้าทายรัฐบาลใหม่ 'ส่งออกทรุด-ก้าวไม่พ้นกับดักประเทศรายได้ระดับปานกลาง'

30 ก.ค. 2566 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนระบุว่าคาดว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในเดือน ส.ค. 2566 และมองว่ารัฐบาลที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจะมีเสถียรภาพและมีความมั่นคง  ส่งผลบวกต่อการฟื้นตัวตลาดการเงินและเศรษฐกิจต่อเนื่อง นอกจากนี้การดำเนินนโยบายสาธารณะแบบทวิวิถี (Dual -Track Development Policy) โดยผสมผสานระหว่าง ยุทธศาตร์กระตุ้นเศรษฐกิจภายในผ่านการบริโภคและการลงทุน เป็น Domestic Demand-led Growth จะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือความท้าทายจากการทรุดตัวของภาคส่งออกได้ในระดับหนึ่ง ประกอบกับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง คาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของต่างชาติอยู่ที่ระดับ 1.25-1.3 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 243-245% เทียบจากปีที่แล้ว และ เพิ่มขึ้น 3,025% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2564 ที่มีรายได้จากท่องเที่ยวของต่างชาติเพียง 0.04 ล้านล้านบาท ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวจากต่างชาติในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้แล้วประมาณ 5.2 แสนล้านบาท น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 3.5-4% อย่างแน่นอน 

หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในเดือน ส.ค. 2566 จะส่งผลบวกต่อตลาดการเงินอย่างแน่นอน และจะทำให้ กระแสเงินทุนไหลกลับเข้ามาลงทุนมากขึ้น ช่วยผลักดันดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศทดสอบระดับ 1,600 จุดได้ นอกจากนี้ ตลาดพันธบัตรไทยจะมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นโดยคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกในวันที่ 2 ส.ค. ศกนี้ หลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และ หากสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในวันที่ 4 ส.ค. จะเป็นปัจจัยสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย  คาดการณ์ว่า ค่าเงินบาทจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นอีก แม้นการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยได้รับผลกระทบ แต่ก็สะท้อนกระแสเม็ดเงินไหลเข้ามากขึ้นทั้งในตลาดการเงินและภาคท่องเที่ยว แนวโน้มเงินบาทแข็งค่าจะกระทบต่อการส่งออกภาคบริการท่องเที่ยวไม่มาก สถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างช่วงสัปดาห์สุดท้ายเดือนกรกฎาคม พบว่า นั้น นักลงทุนต่างชาติไหลเข้าลงทุนตลาดพันธบัตร 214 ล้านบาท แม้นนักลงทุนต่างชาติยังขายสุทธิหุ้นไทย 4,285 ล้านบาท แต่น่าจะกลับมาซื้อสุทธิได้ในระยะต่อไป หากการเมืองมีความชัดเจน การแก้ปัญหาทุจริตหุ้น Stark มีความคืบหน้า มูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นแน่นอน กรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์น่าจะอยู่ที่ระดับ 33.20-34.20 บาทต่อดอลลาร์และโอกาสหลุดระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์มีความเป็นไปได้ 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวถึง ตลาดการเงินระหว่างประเทศว่าช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางของจีนได้เทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯออกมาจากทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศลดอัตราดอกเบี้ยและใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินฝืด อัตราเงินเฟ้อติดลบ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวย่อมทำให้เงินเยนทยอยอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์และเงินสกุลหลักและเงินสกุลอื่นๆในเอเชียรวมทั้งเงินบาท ส่วน จีนมีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ระดับ 6 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 198 ล้านล้านบาท) ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งเป็นทุนสำรองเงา (Shadow Reserve) ประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์ โดยทุนสำรองส่วนนี้ถือโดยธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ จีนมีสถานะเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาและโลก และมีการสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศในรูปเงินต่างประเทศและดอลลาร์จำนวนมหาศาล จีนเป็นประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศมาโดยตลอดแต่ทุนสำรองระหว่างประเทศไม่ได้สัดส่วนกัน ฉะนั้น มีความเป็นไปสูงที่ ประเทศจีน ได้ สะสมสินทรัพย์ต่างประเทศไว้ในรูปสินทรัพย์อื่นในธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเพื่อใช้เป็นกลไกในการแทรกแซงค่าเงินหยวนตามนโยบายที่ต้องการ คาดการณ์ได้ว่า จีนน่าจะทยอยลดการถือครองสินทรัพย์ในรูปเงินดอลลาร์เพื่อลดความเสี่ยงกรณีเกิดความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริการุนแรงแล้วถูกยึดสินทรัพย์ในรูปสกุลเงินดอลลาร์แบบที่รัสเซียเผชิญกรณีทำสงครามรุกรานยูเครน อย่างไรการทยอยลดการถือครองสินทรัพย์ในรูปเงินดอลลาร์จะไม่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเพราะกระทบต่อราคาสินทรัพย์ทั่วโลกและกระทบต่อจีนเอง ความเคลื่อนไหวนี้ทำให้ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาทยอยอ่อนค่าในระยะยาว

โจทย์ท้าทายรัฐบาลใหม่ คือ ส่งออกทรุด และไม่สามารถก้าวข้ามพ้นกับดักประเทศรายได้ระดับปานกลางได้ การส่งออกที่ทรุดตัวแรงเป็นภาพสะท้อนความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลกนอกเหนือจากกำลังซื้ออ่อนแอลงของประเทศคู่ค้า ส่งออกไทยครึ่งปีแรกหดตัวสูงถึง 5.4% ตัวเลขส่งออกเดือน มิถุนายน ติดลบ 6.4% มีมูลค่าส่งออก 24,826 ล้านดอลลาร์ (848,927 ล้านบาท) แต่คาดว่า ครึ่งปีหลังมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารปรับตัวในทิศทางดีขึ้นจากปัจจัยความหวั่นวิตกเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ปัญหาการถอนตัวจากข้อตกลง Black Sea Grain Initiatives ของรัสเซีย และปัญหาภัยแล้งจากปรากฎการณ์เอลนีโญ อาจเกิดภาวการณ์ตึงตัวของอุปทานตลาดอาหารโลกในระยะต่อไป      

เศรษฐกิจไทยมีระดับการเปิดประเทศเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ ทำให้ไทยอยู่ในอันดับ 3 ในมิติระดับการเปิดประเทศในภูมิภาคอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้น ระดับการเปิดประเทศที่สูง ย่อมหมายถึง ความถดถอยหรือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในมาก จากการคำนวณล่าสุด (ณ. สิ้นปี 2565) พบว่า ไทยมีระดับการเปิดประเทศอยู่ที่ 116.76%  อัตราทางการค้าไทยปรับตัวลดลง เพราะ ราคาสินค้าส่งออกเทียบกับราคาสินค้านำเข้าปรับตัวลดลงต่ำกว่า 100 ต่อเนื่อง หลายประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤติจากความผันผวนของการค้าโลกและเศรษฐกิจโลก ล้วนเป็นประเทศที่ไม่สามารถจัดการกับการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจได้ดีพอ มิใช่การที่ประเทศเหล่านั้นมีระดับการเปิดประเทศมากหรือน้อยเกินไป นอกจากนี้ระบบเศรษฐกิจและระบบการเมืองในประเทศต้องมีกลไกในการบริหารความขัดแย้ง (Conflict Management Institution) เพื่อให้มีการปรับตัวของเศรษฐกิจมหภาคตามความผันผวนของโลกาภิวัตน์ได้ ประเทศไทยนั้นอาจมีลักษณะการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศที่ไม่ได้ทำให้สวัสดิการโดยรวมของสังคมหรือของประชาชนดีขึ้นมากขึ้นได้ ซึ่งในทางหลักวิชาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า เป็น Immiserizing Growth เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อการขยายตัวทางการค้า ทำให้อัตราการค้าแย่ลง และ อัตราการค้าที่แย่ลงนี้แย่ลงมากกว่าผลบวกจากการค้าที่นำมาสู่ความมั่งคั่ง ทำให้สวัสดิการโดยรวมของสังคมลดลง ประเทศต้องซื้อสินค้านำเข้าในราคาสูง ขณะที่ต้องลดราคาสินค้าส่งออกลงอย่างมากเพื่อให้ขายได้ ระบบเศรษฐกิจไทยที่ต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศอย่างมาก ดังนั้นอัตราการค้าที่ตกต่ำจึงมีผลให้สวัสดิการของประเทศลดตามไปด้วย ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้น การกระจายรายได้แย่ลง การพัฒนาประเทศในหลายทศวรรษที่ผ่านมาโดยเฉพาะในยุครัฐบาล คสช ทำให้รายได้เกิดการกระจุกตัวที่กลุ่มคนที่มีรายได้ระดับสูง ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุดกับต่ำสุดของประเทศมากขึ้นจนติดอันดับต้นๆของโลก  

การขยายตัวของการค้าภายใต้การเปิดเสรีทางการค้าของไทยในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ผลประโยชน์จากการค้าไม่กระจายตัวมายังคนส่วนใหญ่ 80% ของประเทศ ผลประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศยังคงกระจุกตัวอยู่กับคนรวยที่มีรายได้สูงสุด 20% ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และความมั่งคั่งของไทยจึงยังคงอยู่ในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จากงานวิจัยของ ศ. ดร. ปราณี ทินกร พบว่า กลุ่มประชากรร้อยละ 20 ที่มีรายได้สูงสุด มีส่วนแบ่งรายได้อยู่ที่ 49.2% และ กลุ่มประชากรร้อยละ 20 ที่มีรายได้สูงสุด มีส่วนแบ่งรายได้คิดเป็น 8 เท่าของกลุ่มร้อยละ 20 ที่มีรายได้ต่ำสุด ในปี พ.ศ. 2518/2519 และ มีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้น 57.7% รายได้สูงสุด 20% แรกสูงกว่าต่ำสุด 20% ล่างประมาณ 15 เท่า ในปี พ.ศ. 2543 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่าจากการวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุด พบว่า ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโควิด 19 ปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นและเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบไม่เท่าเทียมเป็นรูปตัว K และ ความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้กลุ่มรวยสุด 10% แรกกับกลุ่มรายได้ต่ำสุด 10% ล่าง อยู่ที่ประมาณ 19.29 เท่า กลุ่มคนรวยสุดร้อยละ 10 ถือครองรายได้รวมประมาณ 35.3% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ สัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคของรายได้ (Gini Coefficient) อยู่ที่ 0.453 ในปี พ.ศ. 2560 (ข้อมูลล่าสุดที่มีการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ)   

ความท้าทายของรัฐบาลใหม่ในการก้าวข้ามพ้นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงและกับดักประเทศรายได้ระดับปานกลางว่าในเบื้องต้น ต้องสร้างความมีเสถียรภาพทางการเมืองเสียก่อนและอย่างน้อยต้องมีความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายที่ถูกต้อง 2-3 วาระ ไทยนั้นสามารถหลุดพ้นจากฐานะประเทศด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจ สู่ ประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำและแก้ไขปัญหาความยากจนได้ในทศวรรษ พ.ศ. 2530 จากความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายและเสถียรภาพทางการเมือง และ สะดุดลงจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 และ หลังจากนั้นไทยก็ค่อยๆขยับตัวเองจากประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ (a lower middle-income country) สู่ ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (a upper middle-income country) ในเวลาต่อมา แต่ประเทศไทยไม่สามารถหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง สู่ ประเทศรายได้สูงหรือประเทศพัฒนาแล้วได้ ประเทศรายได้ระดับปานกลางระดับสูง คือ ประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อคนต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 157,472-488,585 บาทต่อปี ขณะนี้ ไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีอยู่ที่ประมาณ 234,000 บาทต่อปี ประเทศไทยติดอยู่กับดักรายได้ระดับปานกลางมาไม่ต่ำกว่าสามทศวรรษ เป้าหมายหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือ การเปลี่ยนสถานะประเทศไทย เป็นประเทศที่มีรายได้สูงปี พ.ศ. 2580 ในขณะที่แผนยุทธศาสตร์ที่ตนเองเคยร่างเอาไว้เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งเป้าหมายให้ “ไทย” ก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศรายได้สูงในปี พ.ศ. 2575 ประเทศรายได้สูงหรือประเทศพัฒนาแล้ว ประชาชนต้องมีรายได้ต่อหัวต่อปีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 12,695-13,205 ดอลลาร์ต่อปี หรือ ประมาณ 488,585 บาทต่อปี ต้องเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีของคนไทยให้ได้อีก 1 เท่าตัว หรือ 108% ในระยะ 9-14 ปีข้างหน้า    

มีงานวิชาการและงานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์มากมายศึกษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศต่างๆในโลกเพื่อให้เข้าใจถึงปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อการยกระดับประเทศสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วและประเทศรายได้สูง และได้ข้อสรุปสอดคล้องกันว่า ปัจจัยเรื่อง “นวัตกรรมของประเทศ”  “คุณภาพทรัพยากรมนุษย์” “การลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ” และ “เสถียรภาพของระบอบการเมือง” เป็นสิ่งสำคัญต่อการก้าวข้ามพ้นกับดักของประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง โดยเฉพาะ นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตจะเป็น Breakthrough Growth with country innovation and technology ต้องมีสัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีสูง โดยเฉพาะต้องลงทุนในการศึกษาและวิจัยยกระดับผลิตภาพของทุนและแรงงาน   นวัตกรรมของประเทศ จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ขณะที่เราไม่สามารถเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมที่สูงยิ่ง การปฏิรูปให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายความมั่งคั่งจึงมีความสำคัญเช่นเดียวกัน การเจรจาเพื่อทำข้อตกลงการค้าเสรีเพิ่มเติมต้องดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ เนื่องจากการเปิดเสรีทางการค้าสามารถทำให้ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของประชากรไทยเพิ่มขึ้น หรือ ลดลงก็ได้ โดยขึ้นกับประเภทของการเปิดเสรีการค้าที่เกิดขึ้น หากการเปิดเสรีทางการค้ามีผลช่วยยกระดับผลิตภาพการผลิตในสาขาเกษตรของประเทศไทยหรือทำให้ประเทศไทยปรับลดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีในสาขาบริการลงจากเดิมผลของการเปิดเสรีทางการค้าจะมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของประชากรไทย นอกจากนั้น หากการเปิดเสรีการค้าก่อให้เกิดการยกระดับผลิตภาพการผลิตในสาขาผลิตสินค้าและสาขาบริการของประเทศคู่ค้าของไทยหรือทำให้คู่ค้าปรับลดอุปสรรคทางการค้าทั้งที่เป็นภาษีและที่มิใช่ภาษีที่เคยมีกับการนำเข้าสินเกษตรจากประเทศไทยลง ก็จะทำให้ระดับความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของประชากรไทยลดลงได้ นักเศรษฐศาสตร์อย่าง Thomas Piketty เขียนหนังสือ ทุนในศตวรรษ 21 (Capital in the Twenty-First Century) วิพากษ์การสร้างความมั่งคั่งจากผลตอบแทนจากทุนแทนที่จะสร้างความมั่งคั่งของระบบทุนนิยมในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมามีส่วนสำคัญทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมเหลื่อมล้ำในยุโรป สหรัฐอเมริการวมทั้งประเทศด้อยพัฒนา ภาวะดังกล่าวมีผลกระทบต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ผลกระทบทางลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจนี้ยิ่งทำให้ความไม่เท่าเทียมเพิ่มขึ้นอีก   
    
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวในช่วงท้ายว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เกิดความเท่าเทียมจึงต้องเกี่ยวข้องกับการจัดการเรื่องทุนโดยเฉพาะทุนขนาดใหญ่ที่มีลักษณะผูกขาด ให้กลาย เป็นทุนที่แข่งขันกันอย่างเสรี เราต้องมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่อาศัยนวัตกรรมและขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ไม่ใช่มีเพียงกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่อาศัยสัมปทานผูกขาดจากภาครัฐ ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการทางภาษีในการแบ่งปันกำไรส่วนเกินมากระจายให้กับสังคมผ่านระบบสวัสดิการหรือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจไปยังพื้นที่ยากจน  การวางยุทธศาสตร์สู่การเป็น “ประเทศพัฒนาแล้ว” เริ่มต้นต้องทำให้ประเทศก้าวพ้น   กับดักประเทศรายได้ปานกลางก่อน โดยที่ต้องวางเป้าหมายและประมาณการได้ว่า ต้องมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในแต่ละปีเท่าไหร่ และต้องใช้เวลากี่ปีจึงจะทำให้ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว (12,695-13,205 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี) มาตรฐานคุณภาพชีวิตและโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจระดับมาตรฐานประเทศพัฒนาแล้ว เราต้องผลักดันให้มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 5-6% ในระยะ 9-14 ปีข้างหน้า ประมาณปี พ.ศ. 2578-2582 ประเทศไทยของเราถึงจะก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หากทำให้เศรษฐกิจโตได้ปีละ 7-8% ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วเร็วขึ้น การมีนโยบายกระจายเขตเศรษฐกิจพิเศษไปยังพื้นที่ต่างๆของประเทศจะช่วยทำให้เกิดการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจกระจายตัวมากขึ้น นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลใหม่จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโต แต่จะช่วยเพิ่มการเติบโตจากกำลังซื้อที่สูงขึ้น อาจช่วยลดปัญหาความยากจนได้และลดความเหลื่อมล้ำในด้านรายได้ลงได้บ้าง แต่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยจะไม่สามารถทำให้แรงงานส่วนใหญ่หลุดพ้นจากความยากจนในวงกว้างได้ เนื่องจากแรงงานจำนวนมากโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมไม่ได้อยู่ในระบบคุ้มครองแรงงานจากกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ การก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วจำเป็นต้องมุ่งยกระดับรายได้ของแรงงานทั้งหมดทั้งในระบบและนอกระบบการคุ้มครองแรงงาน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net