Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านค้านตั้งเวทีรับฟังความเห็น EIA ในพื้นที่บริษัท ปิดกั้นประชาชนที่ได้รับผลกระทบเข้าไปมีส่วนร่วมชัดเจน ย้ำโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลแย่งพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ GI ทุ่งกุลาฯ หวั่นปล่อยมลพิษส่งผลกระทบชาวบ้าน 

เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2566ที่บริเวณ ถ.อรุณประเสริฐ ต.โนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ได้นัดรวมตัวชุมนุมคัดค้านเวทีรับฟังความเห็นครั้งที่ 2 ของบริษัทโรงงานน้ำตาลและโรงผลิตไฟฟ้าชีวมวล เพื่อประกอบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม EIA ซึ่งจัดขึ้นในพื้นที่ของบริษัท ทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการวางกำลังในพื้นที่บริเวณโรงงานกว่า 100 นายเฝ้าระวังการชุมนุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้เครือข่ายฯ ซึ่งประกอบด้วยชาวบ้าน 8 ตำบล ในพื้นที่ ได้ทำพิธีบวงสรวงปู่ตา เจ้าพ่อศรีนครเตา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อให้ปกปักรักษาพื้นที่ของชาวบ้าน จากนั้นได้มีการเคลื่อนขบวนไปยังบริเวณด้านหน้าโรงงานน้ำตาลที่มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอยู่ภายใน ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเข้มงวด

 

นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาขอไม่ให้ชาวบ้านจัดการชุมนุม และมีการถ่ายภาพชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ และขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลบรูปภาพดังกล่าวออกพร้อมระบุว่าตำรวจไม่ได้อยู่เคียงข้างประชาชน แต่อยู่ข้างโรงงาน ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจชี้แจงว่าไม่ได้อยู่ข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เป็นการทำหน้าหน้าที่ จึงทำให้มีการโต้เถียงกันเล็กน้อย ก่อนที่ชาวบ้านจะเปิดเวทีสลับสับเปลี่ยนกันปราศรัยคัดค้านการจัดรับฟังความคิดเห็น ฯ ในครั้งนี้ต่อ

“ชาวบ้าน”ชี้โรงงานน้ำตาลแย่งพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ-สร้างมลพิษ

ทั้งนี้ทองคูณ สงค์มา จากเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลากล่าวว่า การออกมาคัดค้านโครงการเนื่องจากความไม่เหมาะสมในการสร้างโรงงานน้ำตาล และการปลูกอ้อยในพื้นที่ เพราะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนทุ่งกุลาร้องไห้ที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิ ข้าวอินทรีย์ ข้าวปลอดสารพิษต่างๆ ซึ่งได้มาตรฐานรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากทางภาครัฐ ดังนั้นเป้าหมายหลักคือเราอยากให้อาชีพของเราที่เป็นชาวนาเป็นอาชีพหลักและเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ในการเพาะปลูกข้าว ไม่ใช่การนำอ้อยมาแย่งพื้นที่ในการเพาะปลูกข้าวและสร้างมลพิษให้ชาวบ้าน อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ได้มีการเข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อให้การจัดรับฟังความเห็นครั้งที่ 2 ของโรงงาน มีความเป็นธรรมและโปร่งใส โดยไปจัดในพื้นที่ศาลากลางจังหวัด เทศบาล หรืออำเภอ ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนที่เราเข้าไปแสดงความคิดเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชน หมู่บ้าน และอาชีพของเราได้

“ที่ผ่านมาเราไม่มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ เป็นความไม่ยุติธรรมในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เราจึงเสนอให้ผู้ว่าราชการจ.ร้อยเอ็ด เลื่อนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 18 ก.ค.นี้ ออกไปก่อน และจัดเวทีให้เป็นสาธารณะเพื่อให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ แต่ทุกวันนี้ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น เพราะอำนาจผู้ว่าฯ มีน้อยกว่าอำนาจทุนต่างชาติ โดยทางผู้ว่าราชการจ.ร้อยเอ็ด ได้ทำหนังสือตอบกลับมาว่าจะไม่มีการเลื่อนเวทีฟังความเห็น เราจึงต้องมาคัดค้านในวันนี้”คูณกล่าว

ซัด”ประยุทธ์” ส่งเสริมอ้อย-น้ำตาลสืบทอดอำนาจทุน

ขณะที่เกียรติศักดิ์ แก้วพิลา จากเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา บ้านดูน หมู่ที่ 9 กล่าวว่า หากมีโรงงานอ้อย น้ำตาล และโรงงานไฟฟ้าชีวมวลเข้ามาจะเป็นการรุกล้ำพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิที่เป็นส่วนหนึ่งในคำขวัญของ จ .ร้อยเอ็ด จึงขอให้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่อยู่เบื้องบนฟังความเห็นของประชาชน เรื่องยุทธศาสตร์ชาติอย่าทำให้ขัดกับยุทธศาสตร์จังหวัด ซึ่ง จ.ร้อยเอ็ดปลูกข้าวหอมมะลิที่มีความหอมแตกต่างจากพื้นที่อื่น เพราะดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้เป็นดินเอียดและดินเค็ม ทำให้ข้าวมีความหอมมันเหมือนคั้นน้ำกะทิใส่เกลือเพื่อเพิ่มความหอมมัน

เกียรติศักดิ์กล่าวอีกว่าดังนั้นพื้นดินของทุ่งกุลาฯ ไม่เหมือนพื้นที่อื่นที่จะมาปลูกอ้อยปลูกมันได้ นอกจากนั้นการปลูกอ้อยยังเป็นการหลอกลวง เป็นการล่ามโซ่ให้ชาวบ้าน เพราะเป็นเกษตรพันธสัญญา ต้องซื้อทั้งพันธุ์อ้อย และปุ๋ยจากโรงงาน สุดท้ายถึงมีไร่ มีนา ก็ต้องหาเงินมาใช้หนี้ ที่ผ่านมามีการส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิ GI กลุ่มละ 3 ล้านบาท แต่ขณะนี้ทางรัฐบาลมาส่งเสริมการปลูกอ้อยและโรงงานน้ำตาล เพื่อสืบทอดอำนาจทุนของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแทน

อัดโรงไฟฟ้าชีวมวลบังหน้าแต่เผาถ่านหินด้วย

บุญเลิศ บุญเรืองศรีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาจาก บ้านโนนสวรรค์ กล่าวว่า หมู่บ้านโนนสวรรค์เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้โรงงาน ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ไม่ต้องการโรงงาน เพราะทำนาข้าวหอมมะลิกันทั้งหมู่บ้าน และอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่โรงงานปล่อยน้ำเสียลงไป น้ำเสียจากโรงงานไหลลงสู่ลำน้ำที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ตั้งแต่บรรพบุรุษมาจนถึงทุกวันนี้ และต้องใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคตอีกนานชั่วลูกชั่วหลาน หากมีน้ำเสียย่อมกระทบนาข้าว สัตว์น้ำ ปลา ที่ชาวบ้านจับขึ้นมาเป็นอาหารด้วย

“ โรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นสิ่งที่นำมาบังหน้าและอ้างว่าเป็นชีวมวลเท่านั้น ในความเป็นจริงมีถ่านหินมาเผาด้วย และจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อลมหายใจของพี่น้องในพื้นที่ และหากใครมีที่นาอยู่ใกล้โรงงานใบข้าวจะไม่เป็นสีเขียวอีกต่อไป แต่จะมีสีฝุ่นมาเกาะแทน ถ้าโรงงานเดินเครื่องได้วันไหนบ้านเราตกระกำลำบากแน่นอน ดังนั้นชาวบ้านที่มาในวันนี้จงโปรดร่วมมือกันสู้” ตัวแทนชาวบ้านกล่าว

ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ดสั่งหยุดแล้วแต่โรงงานไม่หยุด หน่วยงานรัฐสภาพเป็นเสือกระดาษ

ด้านหนูปลา แก้วพิลา จากเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา จากบ้านโนนสวรรค์ กล่าวว่า ทุกท่านที่ผ่านไปมาก็ได้เห็นแล้วว่าการจัดเวทีครั้งนี้มันไม่ใช่เวทีรับฟังความคิดเห็นแต่เป็นเวทีปิดการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 ก.ค.ให้เลื่อนการจัดเวทีแต่โรงงานก็ยังมีความดื้อดึง แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของหน่วยงานราชการ ที่ไม่สามารถดูแลพี่น้องประชาชนได้ เมื่อโรงงานว่าอย่างไรก็เอาตามเขา ไม่ได้ใช้อำนาจในการปกป้องพี่น้องประชาชน เขาจึงไม่ใช่ผู้ว่าฯ และนายอำเภอของชาวกุลาร้องไห้ ชาวร้อยเอ็ดอย่างแท้จริง สำหรับคนที่เข้าร่วมเวทีในวันนี้ก็ไม่ใช่คนในพื้นที่ ดังนั้นเวทีในวันนี้จึงไม่มีความชอบธรรม และเราไม่ยอมรับเวทีการแสดงความเห็นในครั้งนี้

ยันเวทีรับฟังความเห็นต้องเป็นโมฆะใช้ทำ EIA สร้างโรงงานไม่ได้

ด้านณัฐพร อาจหาญ ที่ปรึกษากลุ่มคนฮักทุ่งกุลา กล่าวว่า วันนี้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น 2 เวที ทั้งเวทีรับฟังความคิดเห็นเรื่องโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งจัดทั้งช่วงเช้าและบ่าย ทันทีที่เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลารู้ได้ไปยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจ.ร้อยเอ็ด เพื่อให้เลื่อนออกไป และหาพื้นที่ที่เป็นพื้นที่สาธารณะในการจัดเวที

ณัฐพรกล่าวถึงสาเหตุที่ขอให้เลื่อนออกไปไม่ให้ใช้พื้นที่ส่วนบุคคลในการจัดเวที มีความสำคัญเพราะการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อขออนุญาตสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต้องให้ประชาชนมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ อิสระ โปร่งใสและเป็นธรรม กระบวนการนี้จึงมีความหมาย ไม่ใช่แค่จัดที่ไหนและจัดในพื้นที่ส่วนบุคคลก็ได้ นอกจากนั้นการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจมาควบคุมประชาชนจะกล้าแสดงความคิดเห็นได้อย่างไร ดังนั้นเวทีรับฟังความคิดเห็นแบบนี้จึงไม่สามารถอ้างได้ว่าเป็นเวทีที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ต้องเป็นโมฆะ

ชาวบ้านปลูกข้าวหอมมะลิ 105 เผา “โลงงานน้ำตาล” แสดงสัญลักษณ์

สำหรับบรรยากาศในการชุมนุมช่วงบ่าย เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาได้สลับกันขึ้นปราศรัยสะท้อนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่หากมีการจัดตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล นอกจากนี้กลุ่มผู้ชุมนุมยังได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการปลูกข้าวหอมมะลิพันธุ์ 105 ซึ่งเป็นสายพันธุ์พิเศษของทุ่งกุลา ที่บริเวณถนนคอนกรีตหน้าโรงงานน้ำตาลด้วย ทั้งนี้กลุ่มผู้ชุมนุมยังได้นำเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกมาแปรอักษรเป็นข้อความ ปกป้องทุ่งกุลา ตรงจุดเดียวกัน และกิจกรรมไฮไลท์คือการเผากองฟางที่เขียนข้อความว่า โลงน้ำตาล พร้อมทั้งระบุถึง หน่วยงานราชการ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการอนุมัติให้มีการก่อตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลอีกด้วย

ด้านหมุน ลุนศร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา จากบ้านเขวาโคก กล่าวว่า การนำดินจากทุ่งกุลา มาปลูกข้าวบนถนนคอนกรีตในครั้งนี้ เราจะเห็นได้ว่าต้นข้าวเริ่มเหี่ยวเฉา แต่ดินยังสดใสอยู่ ทำให้เห็นว่าผืนดินโอบอุ้มทุกอย่าง โอบอุ้มพันธุ์ข้าว เมล็ดข้าว และโอบอุ้มชีวิตของทุกคนที่ทุ่งกุลาแห่งนี้ จึงจำเป็นที่พวกเราต้องช่วยกันรักษาผืนดินของทุ่งกุลา ไม่ให้ถูกทำลายจากบริษัทโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล

จี้ผวจ.สั่งให้เวทีฟังความเห็นของ รง.น้ำตาล-ไฟฟ้าชีวมวลเป็นโมฆะ

สำหรับในช่วงท้ายเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์โดยมีรายละเอียดเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจ.ร้อยเอ็ดต้องสั่งให้เวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการจัดทำ EIA โรงน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จัดขึ้นโดยโรงงานในวันนี้เป็นโมฆะ

ในแถลงการณ์ระบุข้อมูลเพิ่มเติมว่า อีก 30 ปีต่อจากนี้ โรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทเอกชนในพื้นที่ไม่มีทางที่จะหาพื้นที่ปลูกอ้อยได้ตามแผนหรือตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ.2558 ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญข้อหนึ่งว่า

“การตั้งโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ให้กระทำได้เมื่อโรงงานน้ำตาลที่จะตั้งนั้น มีแผนการเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาลไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตของฤดูการผลิตนั้น ๆ โดยกำหนดจำนวนวันหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศเฉลี่ย120 วันต่อปี และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลอื่น โดยแผนการเตรียมปริมาณอ้อยดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยแต่ละฤดูการผลิตหรือการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อเพื่อดำเนินการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำการเกษตร”

แถลงการณ์ระบุว่าบริษัทเอกชนในพื้นที่คาดว่าจะได้ก่อสร้างโรงงานทั้งสอง หากว่าเวทีรับฟังความคิดเห็น (ค.2) ผ่านไปได้ด้วยดี และจะเริ่มหีบอ้อยได้ในฤดูหีบอ้อยปี 2568/2569 แต่ตัวเลขของพื้นที่ปลูกอ้อยที่บริษัทเอกชนในพื้นที่ชี้แจงในเอกสารประกอบสำหรับเวที ค.2 ตั้งแต่ฤดูหีบอ้อยปีแรก คือ 2568/2569 และนับไปอีก 3 ปี ก็ยังไม่สามารถหาพื้นที่ปลูกอ้อยได้ถึงร้อยละ 50 ตามประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าว

ประกอบกับเอกสารประกอบการประชุมเวที ค.2 ในวันนี้ ก็ได้ยกเว้นพื้นที่ทุ่งกุลาฯให้เป็นเขตไม่ส่งเสริมการปลูกอ้อยของบริษัทฯ 1,526,302 ไร่ ซึ่งพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ ดังนี้ (1) พื้นที่ตาม ‘ประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้’ ทะเบียนเลขที่ สช 50100022 เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2550 ที่มีพื้นที่ทั้งสิ้น 2,107,690 ไร่ ประกอบด้วย จังหวัดร้อยเอ็ด 986,807 ไร่ จังหวัดสุรินทร์ 575,993 ไร่ จังหวัดศรีสะเกษ 287,000 ไร่ จังหวัดมหาสารคาม 193,890 ไร่ จังหวัดยโสธร 64,000 ไร่อีกทั้งในแถลงการณ์ยังระบุข้อมูลปัจจุบันที่น่าสนใจ ก็คือ แหล่งปลูกข้าวอินทรีย์ในประเทศไทยร้อยละ 80 อยู่ในภาคตะวันอีสาน โดยเฉพาะในพื้นที่ทุ่งกุลาฯ (จังหวัดยโสธร สุรินทร์ มหาสารคาม ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด) และจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนอีกร้อยละ 20 อยู่ในภาคเหนือตอนบน ซึ่งตลาดข้าวอินทรีย์ส่วนใหญ่ส่งออกต่างประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป

วอนบริษัทแสดงความจริงใจต่อชาวบ้านย้ายพื้นที่ตั้งโรงงาน จวก EIA “โลงน้ำตาล-โลงไฟฟ้าฯ”

ในแถลงการณ์ยังระบุปัญหาเพิ่มเติมอีกด้วยว่า บริษัทเอกชนในพื้นที่ยังคงไว้ซึ่งพื้นที่ตั้งโรงงานประมาณ 459 ไร่ ในพื้นที่ทุ่งกุลาฯที่ยกเว้นให้เป็นเขตไม่ส่งเสริมการปลูกอ้อย ก็ในเมื่อบริษัทฯมีความปรารถนาดีที่จะไม่ทำลายพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้วยการเว้นพื้นที่ทุ่งกุลาฯประมาณ 1,526,302 ไร่ ออกไปจากเขตส่งเสริมการปลูกอ้อยของบริษัทฯ แล้ว จึงควรแสดงความปรารถนาดีและจริงใจต่อพี่น้องประชาชนคนทุ่งกุลาฯด้วยการย้ายพื้นที่ตั้งโรงงานซึ่งเป็นแหล่งก่อมลพิษหลายชนิดในกระบวนการและขั้นตอนการผลิตออกไปจากพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ด้วย

เครือข่ายฯ จึงเห็นว่าเวทีรับฟังความเห็นเพื่อประกอบการจัดทำ EIA 2 ฉบับ คือ EIA โลงงานน้ำตาลและ EIA โลงไฟฟ้าชีวมวล ในวันนี้เป็นเวทีที่จะรับรองว่าพื้นที่ตั้งโรงงานจะถูกจัดตั้งอยู่ในเขตทุ่งกุลาฯที่ถูกกันออกไม่ให้เป็นเขตส่งเสริมการปลูกอ้อยของบริษัทฯ หรือบริษัทอื่นใดที่เป็นเครือข่ายของบริษัทน้ำตาลในพื้นที่ เราจึงยอมรับเวทีนี้ไม่ได้ และยังมิหนำซ้ำว่าเป็นการจัดเวทีที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยเข้าไปจัดเวทีในพื้นที่ตั้งของสำนักงานบริษัทฯ ที่มีรั้วและประตูแสดงขอบเขตอย่างชัดเจน เพื่อจะคัดคนที่เกณฑ์มาด้วยการใช้เงินจ้างวานให้เข้าไปในเวทีได้ฝ่ายเดียว

“ ส่วนประชาชนที่เห็นต่างทั้งหมดจะถูกกันออกหรือปิดประตูไม่ยอมให้เข้า โดยเตรียมการใช้การฟ้องคดีข้อหาบุกรุกที่ดินของบริษัทฯมาเล่นงาน จึงขอเรียกร้องให้เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดต้องสั่งให้เวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการจัดทำ EIA โรงน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จัดขึ้นโดยโรงงานในวันนี้เป็นโมฆะ “ปกป้องทุ่งกุลา-เมืองหลวงข้าวหอมมะลิโลก ปกป้องผืนแผ่นดินอุดมสมบูรณ์ อากาศสะอาด สงบสุขและมั่นยืน” แถลงการณ์ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net