Skip to main content
sharethis

เปิดมุมมอง 7 ส.ส.เขต ก้าวไกล เชียงใหม่ ความเห็นของหัวคะแนนธรรมชาติและนักวิชาการในพื้นที่วิเคราะห์ปรากฏการณ์เจาะพื้นที่ ‘เชียงใหม่’ ตอนที่ 1 กับ เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู การณิก จันทดา และณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล

เป็นที่รับรู้กันทั่วไป ว่าเชียงใหม่ที่ผ่านมานั้น คือพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยกุมไว้อย่างต่อเนื่องยาวนาน จนถึงกับมีการกล่าวขวัญกันว่า เชียงใหม่ คือเมืองหลวงของพรรคเพื่อไทย กระทั่งเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฏการณ์พลิกผัน เมื่อพรรคก้าวไกล กวาด ส.ส.เชียงใหม่ ได้มากถึง 7 เขต จากทั้งหมด 10 เขต โดยพรรคเพื่อไทยสามารถรักษาพื้นที่เอาไว้ได้ 2 เขตเท่านั้น จนทำให้หักปากเซียนผลโพลหลายสำนัก หลายนักวิชาการ รวมถึงพรรคเพื่อไทย และต้องมาสรุปทบทวน ค้นหาที่มาของปรากฏการณ์ก้าวไกลเชียงใหม่ในครั้งนี้

ผลเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 14 พ.ค.2566 ระบบเขตพื้นที่ภาคเหนือ

ปัจจัยสำคัญสำคัญหลักๆ จึงหนีไม่พ้นเรื่อง กระแสของพรรคก้าวไกล ตัวผู้สมัครซึ่งล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ ประกอบกับรูปแบบวิธีการลงพื้นที่หาเสียง รวมไปถึงการชูนโยบายพรรคที่โดดเด่น จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ด้อมส้มหรือกระแสพรรคก้าวไกลไปทั่วทุกพื้นที่ และนี่คือ บทสรุป มุมมองของ ส.ส.ก้าวไกล เชียงใหม่ ทั้ง 7 เขต รวมทั้งมุมมองความเห็นของหัวคะแนนธรรมชาติ และนักวิชาการในพื้นที่ที่วิเคราะห์ปรากฏการณ์ครั้งนี้

เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู (พลอย) ก้าวไกล เชียงใหม่ เขต 1

เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู (พลอย) ส.ส.เชียงใหม่ เขต 1 พรรคก้าวไกล

เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู (พลอย) ส.ส.เชียงใหม่ เขต 1 พรรคก้าวไกล บอกว่า ก่อนที่จะออกมาตัดสินใจมาทํางานการเมือง ก็คือเมื่อหลายปีก่อน ครอบครัวของตน คือคุณพ่อ (ไพรัช ใหม่ชมภู อดีตรองนายกฯ อบจ.เชียงใหม่ )ได้ออกมารณรงค์เรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ แต่กลับเป็นคดีความ ถูกดำเนินคดี ทําให้คุณพ่อก็ต้องไปติดคุกถึงหนึ่งเดือน ก็ทำให้เรารู้สึกว่าบ้านนี้เมืองนี้ ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ผู้มีอํานาจก็ได้ใช้กฎหมายทำลายผู้เห็นต่าง ประหนึ่งว่าเขาฆ่าคนตาย เราก็เลยรู้สึกว่า ไม่อยากให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับลูกหลานหรือว่าครอบครัวของคนไหน ก็เลย มาศึกษาดูคลิปของพรรคอนาคตใหม่ตอนนั้น กําลังตั้งใหม่แล้วก็มีจุดยืนอุดมการณ์อยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ฉบับนี้ ก็เลยตัดสินใจมาลงการเมืองตั้งแต่สมัยอนาคตใหม่แต่ตอนนั้น

“ตอนนั้น พลอยสมัครเป็นแบบบัญชีรายชื่อ ได้ลําดับที่ 89 จากนั้น ก็ได้ไปเป็นผู้ช่วย ส.ส.ของครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ไปช่วยประเด็นของการศึกษาแล้วพอครูจุ๊ย ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองสิบปี ก็ทำให้บทบาทผู้ช่วย ส.ส. จบไป พรรคอนาคตใหม่ก็ได้แตกเป็นสองเครือข่าย ก็คือมีคณะก้าวหน้ากับพรรคก้าวไกล พลอยก็เป็นคณะทํางานของทางพรรค ทั้งก้าวไกล แล้วก็คณะก้าวหน้าไปด้วย  หลังจากนั้น ก็เกิดปรากฏการณ์ไฟไหม้ป่าเชียงใหม่ หนักที่สุดตอนปี 2562 แล้วเราก็รู้สึกว่าการจัดสรรงบประมาณของทั้งภาครัฐ แล้วก็การบริหารราชการ โครงสร้างอํานาจมันบิดเบี้ยว เราก็เลยคิดว่า อยากจะอาสามาทํางานตรงนี้เพื่อพี่น้องประชาชนชาวเชียงใหม่ เราได้ไปเป็นจิตอาสาสมัครนักไฟป่าภาคประชาชนด้วยกัน พอดีเราเป็นนักธุรกิจมา ก็มีเพื่อนฝูงที่ทํางานเป็นนักธุรกิจ ทุกคนต่างก็ได้รับผลกระทบเรื่องไฟป่า ฝุ่นควัน เหมือนกัน เพราะว่ามันกระทบกับธุรกิจเขาเหมือนกัน ก็เลยช่วยกันระดมทุน จะซื้ออุปกรณ์ดับไฟป่า เพื่อที่จะแจกจ่ายให้กับหมู่บ้านที่อยู่ในเขตป่า และหมู่บ้านที่มีความเข้มแข็งที่จะช่วยกันไฟดับไฟ ซึ่งสถานการณ์ตอนปี 2562 ไฟไหม้ป่าเกิดจากไฟภายในประเทศ แล้วก็มาเจอวิกฤติโควิด-19 ก็ไปเป็นอาสาสมัครตรวจโควิดเชิงรุก ก็รับรู้ปัญหาทุกอย่างว่าคนที่อยู่หน้างานเป็นคนที่ปะทะกับปัญหาเขารู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร  แต่เขาไม่มีอํานาจและงบประมาณ ก็เลยอยากจะเข้ามาแก้ไขปัญหาในเชิงอํานาจแล้วก็งบประมาณที่มันบิดเบี้ยวที่จะส่งตรงถึงประชาชน”

เพชรรัตน์ บอกว่า การเป็นผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 เชียงใหม่ ในครั้งนี้ ไม่ได้รู้สึกหนักใจ เพราะคิดว่าการที่เราทํางาน แล้วก็การที่เราอยู่ในพรรคที่มีอุดมการณ์ชัดเจนพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาเป็นที่รับรู้ของประชาชนในวงกว้างอยู่แล้ว ประชาชนในเขต1 เขาก็อยากจะเปลี่ยน เอาพรรคที่มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาโครงสร้าง  แล้วก็เป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน เพราะว่าด้วยวิธีการในหลายๆ อย่าง ทําให้พี่น้องชาวเชียงใหม่ได้รับรู้ว่าสิ่งนี้อาจจะตอบโจทย์ปัญหาของเขา การแก้ไขปัญหาของของพรรคก้าวไกลหรือนโยบายของพรรคก้าวไกล จะช่วยแก้ไขปัญหาของเขาได้

“ส่วนกลยุทธ์ในการหาเสียงนั้น จากเดิม เราได้ถอดบทเรียนสมัยที่ยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2562 ก็คือ เขต 1 เชียงใหม่ในตอนนั้น เป็นเขตที่พรรคอนาคตใหม่ เคยได้อันดับ 2 คะแนนเสียงห่างจากอันดับ1 เพียงแค่ 751 คะแนน ซึ่งถือว่าไม่ได้ห่างกันเยอะ  ก็เลยคิดว่าอาจเป็นเพราะการทํางานของพรรคอนาคตใหม่ ที่ลงสมัคร ส.ส.ทั้ง 9 เขตครั้งนั้น เป็นการประกาศเพียงสามเดือนก่อนวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง  เลยทําให้ผู้สมัครหลายๆ คน ยังไม่สามารทํางานพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ การสร้างเครือข่ายหรือการทํางานพื้นที่หรือเข้าไปคลุกคลีกับชุมชนหรือในหมู่บ้านยังไม่เต็มที่  ครั้งนี้ เราก็เลยวางแผนเพื่ออุดช่องโหว่ตรงนั้น ก็คือการเข้าถึงชาวบ้าน มีการสร้างเครือข่ายในพื้นที่ ประกอบกับเรารู้จักกับคนในพื้นที่มากพอควร ตอนที่เป็นอาสาสมัครไฟป่า แล้วก็อาสาสมัครโควิด เราก็รู้จักคนในพื้นที่ คนในชุมชนที่เขาเคยประสบปัญหา แล้วเราเคยเข้าไปแก้ไขปัญหาให้เขา เข้าไปช่วยเขา ก็ใช้วิธีการตรงนี้ในการสร้างเครือข่ายในพื้นที่ แล้วก็จะมีอาสาสมัครของพรรคก้าวไกล ทั้ง 12 ตําบล เพื่อที่จะทํางานสื่อสารนโยบาย เน้นการเข้าถึงชาวบ้าน มีกิจกรรมมีงานที่ไหนในหมู่บ้านหรือในชุมชน ชาวบ้านก็จะเรียกเราเข้าร่วมรับฟังปัญหา ผลักดันประเด็นปัญหา เพราะว่าต่อไป พอเราเป็น ส.ส. แล้วมีกรรมาธิการ เราก็ใช้กลไกของกรรมาธิการ เข้าไปในผลักดันในสภา ให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนค่ะ”

เพชรรัตน์ ยังบอกถึงปัจจัยสําคัญที่ทําให้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า อันดับหนึ่งเลย คือการตั้งเครือข่ายของเรา ซึ่งถือเป็นการทํางานหนักในพื้นที่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา อันที่สองก็คือ นโยบายของพรรค เพราะว่าหลังจากที่ประกาศตัว เราก็เริ่มศึกษานโยบาย และคนในพื้นที่ก็ค่อนข้างมีเสียงตอบรับที่ดีมาก ทุกคนก็ต้องการเปลี่ยนแปลงในระดับของโครงสร้าง ปากท้องดี มีอนาคต แล้วก็ในเรื่องของกระแสพรรค หลายคนก็จะมีกระแสพ่อรักส้ม ก็เป็นกระแสส่วนหนึ่ง ก็จะประกอบด้วยสามส่วนด้วยกัน

“ตัวพลอยเองที่ลงพื้นที่มาอย่างหนักตลอดสองปีที่ผ่านมา แล้วก็กระแสพรรค ได้ช่วยหนุนเสริม ประกอบวิธีการหาเสียงที่ไม่เหมือนพรรคคู่แข่ง  ยกตัวอย่างเช่น การสื่อประชาสัมพันธ์เรื่องรถแห่ เราไม่ได้ใช้เพียงแค่รถแห่ที่เป็นรถกระบะ เราได้ใช้รถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า มีการติดธง หรือติดป้ายหาเสียง แล้วก็มีลําโพงติด เวลาเราขี่ไปในชุมชน ซึ่งซอกซอยมันเป็นที่แคบ ตัวสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ก็จะเป็นรากฝอยที่เราได้เข้าถึงประชาชน แล้วก็ประชาชนก็จะเห็นหน้าเราได้มากขึ้น”

ที่น่าสนใจ ก็คือ เขต 1 เชียงใหม่ นั้นอุดมไปด้วยกลุ่มนักศึกษา และคนรุ่นใหม่ เพชรรัตน์ มองว่า นักศึกษากว่าเก้าสิบห้าเปอร์เซ็นต์คือหัวคะแนนธรรมชาติ  ถึงแม้ว่า สถาบันการศึกษาบางแห่ง อย่างเช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ระเบียบเขาไม่ได้บังคับให้นักศึกษาย้ายเข้ามา  ส่วนใหญ่นักศึกษาอยู่ข้างนอก ไม่ได้พักอยู่หอในเหมือน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ มช. ก็ตาม แต่ก็มีส่วนช่วยกันเยอะ

“อย่างใน มช. ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในเขต มช. มีทั้งหมด 4 หน่วยเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งประมาณ 2,900-3,000 คน ซึ่งมีผู้ใช้สิทธิ์ ถ้านับเป็นตัวเลขกลมๆ เลย ของก้าวไกลได้ 1,800 คะแนน แล้วก็เพื่อไทยได้ 200 คะแนน ถามว่ามันเป็นตัวเลขที่เยอะไหม? ถ้าเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งโดยตรง ก็ไม่ได้เป็นตัวเลขที่เยอะ แต่ว่าตรงนี้ นอกจากจะเป็นนักศึกษา ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งโดยตรงแล้ว ก็มีนักศึกษาที่มีสื่อโซเชียลอยู่ในมือ เล่นติ๊กต๊อก ทำให้พวกเขาเป็นหัวคะแนนธรรมชาติ ซึ่งก็มีผลเหมือนกัน”

เพชรรัตน์ บอกอีกว่า หลังจากนี้ จะผลักดันแก้ไขปัญหามากในตอนนี้ ก็คือ สิ่งที่ตนเองผลักดันมาโดยตลอด เพราะว่าทุกครั้งที่ไปรับฟังปัญหา มันก็จะโยงกลับมาที่นโยบายกระจายอํานาจเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมันเป็นตัวนโยบาย  มันเป็นการแก้ไขปัญหาที่โครงสร้าง ทั้งโครงสร้างอํานาจ โครงสร้างการบริหารราชการ ซึ่งมันจะยากกว่าการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน เศรษฐกิจ หรืออะไรต่างๆ ซึ่งสิ่งที่ตนจะทําควบคู่กันไป แล้วในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ก็จะเป็นเรื่องฝุ่นควัน เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ประเด็นที่อยู่อาศัย

“เพราะว่าในเขตนอกเมือง ในเขตรอบนอก จะมีปัญหาที่ดินอยู่ในพื้นที่อุทยาน พื้นที่กรมป่า ซึ่งในเขต 1 เชียงใหม่ ยังมีชาวบ้านที่อยู่อาศัย อยู่ในเขตอุทยาน หลายหมู่บ้าน เช่น ดอยสุเทพ-ปุย ภูพิงค์ และขุนช้างเคี่ยน ในส่วนของตัวเมือง ตัวชุมชนเลย ก็จะเป็นประเด็นของที่อยู่อาศัย ที่เป็นที่ดินของรัฐ แล้วให้ประชาชนเช่าอยู่ ก็คือ ที่ดินของราชพัสดุ ที่ดินของเทศบาลนคร ที่ดินของกรมศิลป์ ซึ่งมีปัญหาเรื่องการไล่รื้อที่อยู่อาศัยอยู่ เพราะว่าด้วย โครงการของภาครัฐที่จะยึดคืนที่ดินแห่งนี้เพื่อไปสร้างโครงการของรัฐ จะทําให้ประชาชนในเขตเมืองที่อยู่ใจกลางเมือง จะต้องย้าย ย้ายถิ่นที่อยู่ไปอยู่ที่อื่น ซึ่งก็ยังเป็นประเด็นปัญหากันอยู่ ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เขาประกอบอาชีพ เป็นแรงงานที่ขับเคลื่อนธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ ทำอย่างไร จะทําให้กลไกตรงนี้ ได้มีปัจจัยสี่ ก็คือมีที่อยู่อาศัย ที่มั่นคงถาวร โดยที่ไม่ต้องย้ายออกไปนอกเมือง เพราะว่าลูกหลานของเขา นั้นทำงานอยู่ในเมือง ถ้าย้ายเขาไปอยู่นอกเมืองไปอยู่บ้านมั่นคงนอกเมือง ก็จะทําให้เขามีต้นทุน ต้องขับรถเข้ามาในเมือง หรือว่ามาส่งลูกไปโรงเรียน ก็จะยิ่งทําให้ต้นทุนชีวิตเขาสูงขึ้นไปอีก ทั้งๆ ที่ ค่าครองชีพ ค่าเบี้ยรายวันของเขา ค่าเงินรายวันของเขาก็เท่าเดิม ประเด็นตรงนี้กําลังเป็นกรณีถกเถียง มีข้อพิพาทอยู่ในหลายๆ ชุมชน โดยเฉพาะริมคลองแม่ข่า

ในขณะมิติการท่องเที่ยวในเชียงใหม่ เธอก็วาดหวังจะผลักดันขับเคลื่อนไปข้างหน้า

เพชรรัตน์ มองว่า จริงๆ แล้วเรื่องการท่องเที่ยวหรือเศรษฐกิจเชียงใหม่ ถ้าพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยวอย่างเดียว ตนมองว่าเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวของเชียงใหม่ที่ผ่านมา นั้นพึ่งพาอาศัยนักท่องเที่ยวแบบ shop stay มากเกินไป ก็คือ เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวๆ แล้วก็ช็อปปิ้ง ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวแบบนี้ พอเราเกิดปัญหาโควิด-19 เข้ามา ก็ทําให้เชียงใหม่ได้รับผลกระทบหนักมากพอสมควร แม้กระทั่ง โรงแรม ธุรกิจสปา หรือธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ดังนั้น ตนคิดว่าถ้าพูดเรื่องการท่องเที่ยวเชียงใหม่ เราควรเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการท่องเที่ยวเพื่อที่จะเพิ่ม segment ของนักท่องเที่ยว เข้ามาเพิ่มขึ้น ก็คืออาจจะเป็นเรื่องทําเป็น wellness hub หรือว่า education hub เพื่อดึงนักท่องเที่ยวหรือคนต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัยที่ยาวนานขึ้น  แล้วก็จะผลักดันให้เรียกใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวสําหรับ 12 เทศกาล

“แต่ในส่วนของเศรษฐกิจเชียงใหม่ ภาพรวมก็คือภาพใหญ่กว่าการท่องเที่ยว อยากจะผลักดันเรื่องประเด็นของการทลายทุนผูกขาด เพราะมีหลายๆ เรื่อง หลายๆ งานวิจัย หรือหลายๆ สถิติของประเทศไทย ที่มองค่า GDP ของเชียงใหม่หรือของประเทศไทยเติบโตกี่เปอร์เซ็นต์ แต่จริงๆ แล้วพอมาเงินในกระเป๋าของประชาชนแล้วไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย แต่มันจะไปกระจุกตัวอยู่ที่นายทุน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าภาครัฐมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเชียงใหม่ มีการจัดงานประชุมในหอประชุมนานาชาติ ที่ผ่านมาเขาก็จะจ้างออแกไนซ์เพื่อมาบริหารจัดการการประชุมนานาชาติ ซึ่งในแต่ละครั้ง ตนมองว่า การจ้างออแกไนซ์ต่างๆ นี้  มันก็จะเป็นบริษัทที่เขาเอาคนจากกรุงเทพมา    หรือเอาคนซึ่งเป็นกลุ่มทุนของเชียงใหม่มาทํา ซึ่งการกระจายรายได้ไปยังชุมชนหรือไปยังพี่น้องประชาชนจริงๆ หรือไม่ มันยังไม่ได้ตอบโจทย์ตรงนี้เลย”

ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล (ก๊อป) ก้าวไกล เชียงใหม่ เขต 3

ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล (ก๊อป) ส.ส.เชียงใหม่ เขต 3 พรรคก้าวไกล

ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล (ก๊อป) ส.ส.เชียงใหม่ เขต 3 บอกเล่าให้ฟังว่า ที่ตัดสินใจลงสมัครในนามพรรคก้าวไกล ก็เพราะว่า ความรู้สึกแรกคือ เห็นการเมืองไทย มันไม่เป็นไปอย่างที่มันควรจะเป็น คือมีรัฐประหารบ่อยครั้ง  อํานาจไม่ได้เป็นของประชาชน  โครงสร้างบางอย่างมันบิดเบี้ยว มีการถูกกลั่นแกล้งโดยอีกฝั่งหนึ่งมาโดยตลอด ตนเองเห็นการรัฐประหารสองครั้ง คือในปี 2549 อีกครั้งหนึ่งก็คือปี 2557 ก็เป็นปัญหาที่เรามองเห็นมาโดยตลอด  ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้ต่างจากพ่อแม่พี่น้องคนอื่นทั่วไป แล้วก็เขียนด่าผ่านเฟซบุ๊ก โพสต์ด่าหรือแชร์อะไรแบบนี้เป็นปกติ  ซึ่งมันก็ไม่ได้เกิดผลอะไรในการเปลี่ยนแปลง เสร็จแล้ววันนั้นก็ใช้ชีวิตปกติ

“จนเห็นโพสต์ในเฟซบุ๊กของพรรคก้าวไกลเชียงใหม่ เมื่อเดือนกันยายน 2564 ว่าเปิดรับสมัคร ผู้สนใจจะลงรับสมัครเลือกตั้งกับพรรคก้าวไกล ผมก็เลยลองกรอกใบสมัครไป กรอกเสร็จก็รอประมาณเดือนหนึ่ง ก็ถูกเรียกสัมภาษณ์ 2 ครั้ง ผ่านไปสามเดือนทางพรรคก็บอกว่า ให้คุณเป็นว่าที่ผู้สมัครนะ  แล้วก็ลองลงพื้นที่ ลองทํานั่นทํานี่ดู เพื่อที่จะพิจารณาตรวจสอบไปเรื่อยๆ ว่า เมื่อถึงวันเลือกตั้ง วันยุบสภาแล้ว คือจะให้ลงสมัคร ตอนนั้นผมเลือกเขต 3 ซึ่งมีอำเภอสันกําแพง แม่ออน ดอยสะเก็ด ตั้งแต่วันที่กรอกใบสมัครเลย ณ ตอนนั้นก็รู้นะว่าเขตนี้เป็นเขตของเพื่อไทย ใช่ เรารู้ว่าเป็นบ้านเกิดนายกทักษิณ รู้ว่าพรรคเพื่อไทยเขาเข้มแข็งในเขตนี้ ก็รู้ตั้งแต่ต้นแล้ว แต่สําหรับเรา ก็มองว่ามันก็ท้าทายดี การเลือกตั้งมันก็คือการแข่งขันกันนั่นแหละครับ มันก็ท้าทายดี ส่วนกลยุทธ์วิธีหาเสียงนั้น ผมใช้วิธีเดินเคาะบ้าน เดินเคาะทุกหลัง แจกทุกใบปลิว ซึ่งผมวิ่งออกกําลังกายไปด้วย วิ่งหาเสียงไปด้วย พอดีเราเป็นคนวิ่งออกกําลังกายอยู่แล้ว เราก็ใช้วิธีนี้ วิ่งไปตามบ้าน แล้วก็แจกใบปลิวแนะนําตัวเอง เริ่มตั้งแต่ มีนาคม 2565 ก็ใช้วิธีนี้ไปเรื่อยๆ แต่ถ้านับกันจริงๆ ก็เน้นวิธีเดินนะครับ เดินคุย แต่ไม่ได้ไปงานวัดเท่าไหร่ ผมไปงานวัดน่าจะสัก 2 ครั้งเองมั้ง ตอนนั้นไม่รู้จักกํานันผู้ใหญ่บ้านเลย ผู้ใหญ่บ้านนี่ไม่รู้จักชื่อเลย นายก อบต.เทศบาลแต่ละตําบล ก็ไม่รู้จัก แต่ผมใช้วิธีเดินเข้าบ้านประชาชนเป็นหลัก”

ณัฐพล บอกว่า ปัจจัยสําคัญอะไรบ้างที่ทําให้เราชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้  ปัจจัยแรกก็คือตัวผู้สมัคร และวิธีการหาเสียงที่เราทํานั้นแตกต่างจากทุกพรรคที่เขาทํากันมาโดยตลอด  อย่างที่สอง ก็น่าจะเป็นนโยบายที่หลากหลายของพรรคก้าวไกล ซึ่งเรามี 300 กว่านโยบาย และเป็นนโยบายที่เรา ผู้สมัครของก้าวไกลทั่วประเทศได้เข้าประชุมกันมาโดยตลอด ทําให้เราเข้าใจนโยบาย  เราร่วมกันคิดในบางนโยบาย แล้วเหมือนเรามีของ มีเมนูอยู่ในมือ เวลาเราไปเจอกับพ่อแม่พี่น้อง เขาพูดเรื่องนี้มา เราสามารถตอบได้เลย ปัจจัยที่สาม ก็คือกระแสพรรคก้าวไกล แน่นอน กระแสมันชัดเจนขึ้นมีความชัดเจน ความตรงไปตรงมา หัวหน้าพิธาพูดอะไร ผู้สมัครในแต่ละเขตก็พูดแบบนั้น ซึ่งพอหลายปัจจัยรวมกัน มันถึงจะชนะ  ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งมันก็ไม่พอ มันไม่ชนะหรอกครับ”

“อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ ถือว่าเป็นปัจจัยสําคัญเหมือนกัน ซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ นั้นคือกลุ่มหัวคะแนนธรรมชาติที่ไปบอกพ่อแม่ บอกปู่ย่าตายาย ถึงตัวเขาจะไม่ได้อยู่เชียงใหม่ แต่เขาก็โทรกลับมาบอก ไลน์มาสั่งไว้อะไรแบบนี้ พอเราลงในพื้นที่ เวลาเราเจอผู้สูงวัย  เขาก็จะบอกว่า รอก่อนๆ เดี๋ยวเปิดไลน์ให้ดู นี่ๆ ลูกสั่งมาว่า ส่งไลน์มาบอกว่าให้เลือกเบอร์ 4 เบอร์พรรค 31 นะ แล้วเหมือนพอเราเดินเข้าไปได้เจอเขา มันก็เหมือนตอกย้ำว่า อ๋อๆ กาเบอร์นี้ๆ ลูกสั่งไว้ หลังจากนั้นก็ถ่ายรูป ส่งไลน์กลับไปบอกลูกหลาน ว่าเขามาหาแล้วนะ แบบนี้ก็มี”

ในตอนท้าย ณัฐพล ในฐานะ ส.ส.เชียงใหม่ เขต 3 บอกว่า เตรียมผลักดัน หาทางแก้ไขปัญหาให้กับพ่อแม่พี่น้อง ซึ่งจริงๆ มีหลายเรื่อง นั่งสรุปประเด็น พอจะแยกเป็นหมวดใหญ่ ก็มีเรื่องของที่ดิน สิทธิที่ดิน ป่าทับคน เรื่องของเกษตร ก็จะมีในเรื่องราคาเมล็ดกาแฟ ต้นทุนเกษตรเคมี เป็นต้น นอกจากนั้น มีเรื่องของคุณภาพชีวิต ของชุมชนหลังตลาดสันกำแพง มีการเรียกร้องให้มีพื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะ เรื่องของท้องถิ่น มีข้อเสนอนโยบาย มีเรื่องของประกันสังคม สิทธิแรงงาน แต่ที่มีร้องเรียนเข้ามาเยอะมากตอนนี้ ก็จะเป็นเรื่องของคมนาคม ผิวถนน ไฟส่องสว่างถนน ซึ่งเรื่องนี้ ที่เราทำได้เลยก็คือ การเร่งประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทางหลวง ว่าเราได้รับเรื่องร้องเรียนมา คุณมีแผน มีงบประมาณในการแก้ไขปัญหานี้มั้ย หรือถ้าไม่มี เราก็จะไปช่วยผลักดันของบประมาณผ่านทางสภา ทางกระทรวงกันต่อไป เป็นต้น

การณิก จันทดา (ครีม) ก้าวไกล เชียงใหม่ เขต 2

การณิก จันทดา ส.ส.เชียงใหม่ เขต 2 พรรคก้าวไกล 

การณิก จันทดา ส.ส.เชียงใหม่ เขต 2 พรรคก้าวไกล  เธอเป็นสาวเชียงใหม่โดยกำเนิด เป็นเภสัชกร และเป็นแอร์โฮสเตส ก่อนเข้าสู่วงการเมือง เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล และลงสมัครชิง ส.ส.เชียงใหม่ คว้าชัยได้เป็น ส.ส.สมัยแรก บอกเล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่ตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.ในครั้งนี้ ก็เพราะเห็นว่าการเมืองบ้านเรา ทุกครั้งที่ผ่านมา มันก็เหมือนเดิม แล้วจนกระทั่งมีพรรคอนาคตใหม่ ก็ทำให้เรารู้สึก เป็นสิ่งที่มันว้าว เขาพูดถูกหลักการทุกอย่าง พอมาเป็นพรรคก้าวไกล เราก็เลยได้เข้ามาร่วมงาน เป็นอาสาสมัครของพรรคก้าวไกล แล้วก็พอเขาเปิดรับสมัคร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.  เราก็เลยได้สมัครยื่นไป ก็ผ่านกระบวนการต่างๆ ซึ่งมันเป็นเพราะว่า ก้าวไกล เขาเปิดโอกาสให้คนนอก คนทั่วไปที่สนใจ ที่มีอุดมการณ์ และจําเป็นต้องมีความรู้เรื่องการเมืองการปกครอง ว่าถ้าคุณอ่านคิดวิเคราะห์ตามข่าวต่างๆ มันเป็นเรื่องจริงที่การเมืองบ้านเรามันเป็นอย่างนี้นะ  ก็เลยรู้สึกว่า พรรคก้าวไกล นั้นเปิดโอกาสมากๆ ที่ประชาชนทั่วไปก็สามารถลงสมัคร ส.ส. อะไรได้

“จริงๆ ตอนแรก ครีมนั้นจะถูกวางตัวให้อยู่ลงสมัครในเขต 8 ก็คือเขตงูเห่า ที่เรารู้จักกันดี ต่อมา พอพื้นที่เชียงใหม่มันเกิดการแบ่งเขตใหม่ เราก็เลยต้องขยับเข้ามา เป็นเขต 2 ซึ่งมีพื้นที่อําเภอสารภี อำเภอเมืองบางส่วน พื้นที่อำเภอสันกําแพงบางส่วน ตรงนี้ มันเป็นช่องว่าง ก็ไม่น่าหนักใจ อีกทั้งพรรคอื่นๆ ก็ถือว่าเป็นผู้ลงสมัครหน้าใหม่ทั้งหมด ก็เลยรู้สึกว่าก็สบายๆ เพียงแต่เราทราบมาว่าคู่แข่งขันเรานั้นเป็นคนค่อนข้างมีฐานะ เราก็เลยกังวลนิดหนึ่งที่ว่า เวลาหาเสียง ทุกอย่างมันต้องใช้เงิน คือทุกอย่างมันต้องขับเคลื่อน เนื่องจากทรัพยากรด้านการเงินเรามีอย่างจํากัด เพราะฉะนั้น เราจะต้องใช้แรงกายของเรา เพิ่มเยอะกว่าคนอื่นๆ คู่แข่งคนอื่นๆ นั่นหมายความว่า ตื่นเช้ามาถ้ามันมีงานเช้า เราก็ต้องไป เดินทั้งวัน จนมืดค่ำถึงได้เข้าบ้าน  ก็จะใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ให้ได้เยอะที่สุด ซึ่งมันติดดิน เข้าไปหาพ่อแม่พี่น้องชาวบ้าน บอกเขาแบบว่า น้องขอโอกาสได้เข้าไปเป็นตัวแทน ได้พูดคุยกับพ่อแม่พี่น้อง ขอช่วยในการลองพิจารณาดู ซึ่งน่าจะได้ใจตรงนี้ค่ะ. ซึ่งบางครั้งชาวบ้าน เขาอาจจะงงเหมือนกัน ว่าเราใช้รูปแบบชาวบ้านๆ แบบนี้  เพราะว่าคู่แข่งขันคนอื่น เขาสามารถเข้าถึงผู้นำ ก็จะมีคนนํา ในขณะที่เรานั้น เรานำตัวเอง เราเข้าไปเอง คนอื่นจะอยู่ข้างหลังเรา”

การณิก บอกว่า ปัจจัยสําคัญที่ทำให้ชนะการเลือกตั้งในพื้นที่เชียงใหม่ เขต 2  ก็น่าจะเป็นกระแสของพรรคก้าวไกล กระแสคุณพิธา อย่างเช่น พ่อรักส้ม นี่แหละ ส่วนปัจจัยที่สอง นั้น ตนเองคิดว่า เป็นเพราะผู้คนเริ่มเบื่อกับการเมืองเก่าๆ เดิมๆ เพราะว่าเขาถูกผูกติดกับพรรคการเมืองเดิมๆ มานานแล้ว เรามีพรรคการเมืองเดิม พรรคการเมืองใหญ่ อีกปัจจัยหนึ่งก็คงจะเป็นเรื่องการลงพื้นที่ คนเขาก็เปรียบเทียบในบุคลิกของของผู้สมัครแต่ละคน มันก็จะมีความต่างกัน ตอนนี้มันยุคใหม่ เพราะฉะนั้น ผู้สมัครจะต้องปรับตัวเอง ปรับวิธีการหาเสียง การวางตัว เพื่อไปตามยุคสมัยด้วย และกระแสของคนรุ่นใหม่ก็ถือว่ามีส่วนช่วยเรา อันนี้มีส่วนช่วยได้มากๆ

“หลังจากนี้  อยากผลักดันแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน ซึ่งจริงๆ แล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เพราะฉะนั้น นโยบายพรรคก้าวไกลของเรา เรามีร่าง พ.ร.บ.ที่พร้อมยื่นจะช่วยปลดล็อกทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีการเมืองที่ดี มีสังคมที่ดี มีอนาคตที่ดี ถ้าเปิดสภาเมื่อไหร่ เราสามารถยื่นได้เลย เพราะฉะนั้น คิดว่าถ้าเราทําพร้อมกันได้  มันน่าจะดีกว่าค่ะ”

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net