Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เหมืองหินผาฮวก: ภูผายอดด้วนกับความร้าวรานหัวใจ

“เสียงระเบิดวันแรกนี่ดังมาก ดังไปถึงหมู่บ้าน ดังจนสะเทือนไปถึงหัวใจแม่ ไทบ้านกะมาเว่ากันว่าใจหาย แม่กะพ่อหนักแฮง กำลังเฮ้ดนา ที่นาแม่ติดผาฮวกเลย ได้ยินเสียง บูม! น้ำตาไหล ทำใจบ่ได้ อีโตนผาฮวก เบิ่งมาแต่เป็นเด็กน้อย มันพังต่อหน้าต่อตา”

แม่ยาใจ วัย 62 ปีซึ่งนั่งๆ ข้างแม่สำรวย ในโรงครัวแคมป์กล่าวขึ้นมาบ้าง เมื่อเราอยากรู้ที่ไปที่มาของเหมืองหิน สายตามองไปยังทิศที่ตั้งของผาฮวก แม้ไม่อาจจะมองเห็นได้เพราะต้นยางพาราและป่ากางกั้นภูผายอดด้วนนั้นอยู่ แต่แม่ยาใจเลือกส่งความรู้สึกทะลุผ่านป่าเหล่านั้นไปยังผาลูกนั้น

“ผาฮวก” ในปัจจุบันมีสภาพเป็น “ภูเขายอดด้วน” มีแผลเหวอะหวะแหว่งเว้าเหลือเพียงครึ่งซีกจากแรงระเบิดลูกแล้วลูกเล่ายาวนานกว่า 20 ปี


ผาฮวกยอดด้วน

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2536 บริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ขอประทานบัตร “ภูผายา” เพื่อทำเหมืองหินอุตสาหกรรม เมื่อได้ทราบข่าว ชาวบ้านเริ่มตื่นตัวและมีความคิดไปในทิศทางเดียวกัน คือ จะไม่ให้มีการทำเหมืองหินเกิดขึ้น เพราะมีบทเรียนจาก “เหมืองหินผาน้อย” อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นตัวอย่างให้เห็นความยับเยินของภูผาและยังพรากชีวิตแกนนำอย่างครูประเวียน บุญหนัก 

“ก็สู้สิ เพราะแหล่งเที่ยว (เที่ยวป่า) เฮาอยู่นั้น แหล่งที่ทำมาหากินก็อยู่นั่น ตรงผายาเมื่อก่อนมีสำนักสงฆ์เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและที่ทำบุญของไทบ้านทุกปี เฮาจึงหวงแหน” 

ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1- 3 มีแนวทางส่งเสริมให้ภาคเอกชนประกอบกิจการเหมืองแร่ เร่งรัดการพัฒนาผลผลิตแร่เพื่อเพิ่มรายได้และเงินตราต่างประเทศ โดยมีสโลแกนว่า “แร่คือทรัพยากรป้อนเศรษฐกิจ จงช่วยผลิตเพื่อพัฒนาประเทศ” 

แม้ว่าในช่วงแรก “หินอุตสาหกรรม” จะไม่ได้ถูกบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ “แร่” ภายใต้พระราชบัญญัติแร่แห่งชาติปี 2510 แต่การทำเหมืองหินและโรงโม่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ที่เรียกว่า “โรงโม่เถื่อน” ทว่าเมื่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและการก่อสร้างต่างๆ มีมากขึ้น ส่งผลให้ ช่วงต้นปี 2530 ความต้องการแร่หินอุตสาหกรรมมีเพิ่มมากขึ้น จนเกิดปัญหาขาดแคลนหินก่อสร้างอย่างรุนแรงในบางพื้นที่ ส่งผลให้ปี พ.ศ.2535 มีการปรับปรุงพ.ร.บ.แร่แห่งชาติฉบับดังกล่าวอีกครั้งและมีการปรับแก้นิยามแร่ให้ครอบคลุม หินและทรายอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมและควบคุมการทำเหมืองหินและโรงโม่หิน นอกจากนี้ยังเร่งรัดอนุญาตประทานบัตรเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีมติ ครม.ให้สามารถกำหนดแหล่งหินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติได้แต่ต้องกำหนดให้ดำเนินการตามนัยทางกฏหมายของมติ ครม.และระเบียบที่เกี่ยวข้อง และนับแต่ตั้งนั้นมา การขยายตัวของเหมืองและโรงโม่หินได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและชุมชน ในหลายพื้นที่เกิดการต่อต้านคัดค้านเหมืองหิน เช่น กรณีเหมืองหินและโรงโม่หินผาน้อย อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เหมืองหินเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เป็นต้น


ภูผายาแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณดคี ปรากฏภาพเขียนสีอายุ 2000-3000 ปี

แม้ว่าจะสามารถปกป้องภูผายาไว้ได้ แต่ปี 2536 บริษัทเอกชนรายเดียวกันนั้นก็ได้ยื่นขอสัมปทานพื้นที่ใหม่ คือ “ภูผาฮวก” ที่อยู่ติดกัน เนื้อที่ 175 ไร่ และโรงโม่หิน เนื้อที่อีก 50 ไร่ ตามประทานบัตรที่ 27221/15393

“นึกว่าเรื่องจะจบ พอรู้ข่าวอย่างนั้นไทบ้านก็พากันไปปิดถนน กลางเต้นท์ ไปนอนเฝ้า บ่ให้บริษัทเอาเครื่องจักรเข้ามาได้”

นั่นคือปฏิบัติการก่อนที่จะถูกกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 400 คน เข้าสลายการชุมนุมในค่ำคืนของวันที่ 10 มีนาคม ปี 2544 ในเต้นท์ที่มีทั้งคนแก่และลูกเด็กเล็กแดงที่พ่อแม่กระเตงมาด้วย เสียงกรีดร้องด้วยความโกรธ เสียงเด็กร้องไห้ด้วยความกลัวดังระงมบนถนนของหมู่บ้านกลางป่า เพียงเพื่อเปิดทางให้บริษัทเหมืองนำเครื่องจักรเข้าไปในพื้นที่และเริ่มทำการระเบิดผาฮวก


สภาพที่พัก

นับตั้งแต่นั้น ชีวิตของชาวบ้านรอบผาฮวกกว่า 6 หมู่บ้านไม่เคยได้ใช้ชีวิตอย่างสุขสงบ บ้างต้องคอยระวังหินจะหล่นมาใส่ขณะกำลังทำนา พืชผลเสียหาย เพราะการระเบิดในช่วงหลังๆ ไม่แจ้งเวลาให้ทราบ ปัจจุบันหินก้อนใหญ่มหึมายังนอนนิ่งอยู่ในแปลงนา บ้างเสียง ฝุ่นและแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิด ทุบย่อย ตักและโม่ที่ทำทั้งช่วงกลางวันและกลางคืนส่งเสียงรบกวนช่วงเวลาพักผ่อนทำให้เกิดความเครียด และยังมีการปิดกั้นเส้นทางที่เข้าเหมืองหินซึ่งชาวบ้านใช้สัญจรไปนาและพื้นที่เกษตร ที่สำคัญต้องเผชิญกับความเสี่ยงอุบัติเหตุบนสองเลนสายเล็กๆ ยามรถบรรทุกหินขนาด 10 ล้อหรือรถพ่วงวิ่งเข้าออกเหมืองดังกล่าว

เกือบ 30 ปีที่ชาวบ้านรวมกลุ่มคัดค้าน เรี่ยไรเงินทอง บางคนยอมยกไร่มันสำปะหลังกว่า 10 ไร่เป็นทุนค่าน้ำมันเดินทาง บางคนใช้รถเป็นต้นทุนในการขนส่งคน ออกค่าอัดรูป ถ่ายเอกสาร หลายคนนำข้าวในเล้า ไก่ ปลาออกมาเรี่ยไรเป็นทุนรอน 

ในอดีตส่วนใหญ่ชาวบ้านมีฐานะยากจน ทำนาพอมีข้าวกิน บางคนไร้ที่นาต้องขายแรงงานรายวัน แต่เมื่อมีเหมืองทำให้ต้องหยุดงานทุกอย่างหอบลูกจูงหลานตะเวนออกจากหมู่บ้านกลางป่าไปนอนรอนแรมตามหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมขอนแก่น ศาลปกครองโคราช ทำเนียบรัฐบาล ยอมไม่รับจ้าง ไม่หาเงิน ทิ้งลูกครอบครัว ไร่นา เพื่อจะปกป้องภูผายอดด้วน วนเวียนอย่างนี้มากว่า 30 ปีจากรุ่นพ่อสู่รุ่นหลาน

“ผมต้องปล่อยลูกปล่อยเมียนอนนา แล้วก็ไปกับหลวงปู่ (พระสงฆ์ที่จำวัดอยู่ที่ถ้ำภูผายา) แจ้งก็โงมา (เช้าก็กลับมา) ห่วงลูกก็ห่วง ห่วงหมู่ (ชาวบ้านที่ร่วมกันคัดค้าน)ก็ ห่วง” พ่อลาย วัย 64 ผู้มีส่วนร่วมตลอด 30 ปี เล่าย้อนถึงความอลอัวในหัวใจ

แม้ชาวบ้านจะต่อสู้เพื่อปกป้องอย่างเต็มที่แต่ก็ไม่สามารถปกป้องผาฮวกไม่ให้ด้วนได้ หลายครั้งโดนทนายความหลอก โดนนักการเมืองทิ้งเคว้งระหว่างทางต่อสู้ แกนนำถูกจับกุมดำเนินคดี 12 คน ข้อหาวางเพลิงเผาที่พักคนงานเหมือง และโรงเก็บอุปกรณ์ ศาลตัดสินจำคุก 2 ราย อีก 10 ราย ก่อนศาลยกฟ้องในเวลาต่อมา


แม่รวย เดินถือภาพแกนนำที่ถูกยิงเสียชีวิตในกิจกรรม
ประกาศ “26 ปี การต่อสู้ สู่ชัยชนะ :เปลี่ยนโรงโม่หินเป็นป่าชุมชน หยุดเหมืองหินถาวร” ภาพจากเพจเหมืองแร่หนองบัว

หนักสุด คือ “สูญเสีย 4 ชีวิต” คือ นายบุญรอด ด้วงโคตะ นายสนั่น สุวรรณ แกนนำ และ กำนันทองม้วน คำแจ่ม นายสม หอมพรมมา ถูกลอบยิงในปี 2538 และปี 2542 ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 4 กรณียังไม่สามารถจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีได้จนถึงปัจจุบัน

วันที่ 25 กันยายน 2563 หลังหมดอายุใบประทานบัตรเหมืองหินเพียง 1 วัน การรอคอยของชาวบ้านได้สิ้นสุดลง คาราวานชาวบ้านหลายร้อยคนเดินขึ้นไปปักธงบนยอดภูผาฮวก ประกาศ “26 ปี การต่อสู้ สู่ชัยชนะ :เปลี่ยนโรงโม่หินเป็นป่าชุมชน หยุดเหมืองหินถาวร” พร้อมหว่านโปรยเมล็ดพันธุ์และปลูกต้นไม้ เป็นสัญลักษณ์ยึดคืนและฟื้นฟูพื้นที่เหมืองหินปูนและโรงโม่ 

กินบ่หม่วน 

“หากบ่มีเหมืองฯ ตอนนี้คงไปหารับจ้าง คงพอมีเงินกินหม่วน กินแซบไปแล้ว“

แม่งาม[2] หญิงวัย 57 ปี เงยหน้าจากผ้าห่มกองใหญ่กว่า 30 ผืนที่กำลังพับ เธอวางมือที่กำลังสะบัดเศษฝุ่นออกเบาๆ เพื่อเตรียมนำไปซักก่อนส่งคืนวัดแห่งหนึ่งลง ผ้าห่มเหล่านี้ถูกหยิบยืมมาจากวัดในหมู่บ้าน เพื่อนำมาให้คนต่างจังหวัดที่มาร่วม “งานชัยชนะที่ไม่หยุดนิ่ง 2 ปีดงมะไฟยังไปต่อ เฉลิมฉลอง 2 ปี ปิดเหมืองหินดงมะไฟ เพื่อฟื้นฟูเป็นแหล่งท่องเที่ยว” เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 ได้นอนหลับอย่างอบอุ่น


แม่งาม เธอทิ้งงานรับจ้างเพื่อมาร่วมปิดเหมืองถาวรเป็นเวลา 2 ปีกว่า

เมื่อสบตากัน ทำให้มีโอกาสเห็นแววตาเวิ้งว้างแต่ก็มีความนิ่ง แบบที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นจากผู้หญิงคนนี้ เพราะปกติเธอจะแต่งหน้าสวยสด ปากแดงอิ่มระเรื่อตามวัย คอยยิ้มทักทายผู้คนในแคมป์อยู่ตลอด เธอวางมือ เอ่ยด้วยน้ำเสียงที่เบาลงว่า ที่ผ่านมาเธอดำรงชีพด้วยเงินที่ลูกชายคนที่สอง[2] ส่งมาให้เดือนละ 3,000 บาท หลังหักค่าน้ำค่าไฟ ค่าฌาปนกิจ ค่าของใช้จิปาถะ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เครื่องปรุงอาหาร แป้งทาหน้า เหลือเพียงเดือนละ 1,100 บาท ที่ผ่านมาเธอไม่เคยขอเงินลูก เพราะรู้ว่าลูกทุกคนลำบาก แต่เมื่อตัดใจปักหลักปิดเหมือง ทำให้ไม่สามารถไปออกไปรับจ้างที่ไหนได้

“ถ้าแม่ไปรับจ้าง (ก่อสร้าง) หรือไปตัดอ้อยต่างจังหวัดอย่างน้อยก็ต้อง 3 เดือนขึ้นไป พอเห็นพี่น้องเสียสละ เฮาจะทิ้งก็ทิ้งบ่ได้ จะไปก็ละอายใจเจ้าของ ก็ตัดสินใจว่าจะอยู่ อยู่จนปิดเหมืองสำเร็จ ปิดได้ถาวรจริงๆ มั่นใจได้จริงก็อาจจะไปออกไปรับจ้างอีกครั้ง นับรวมๆ ก็ปีกว่าสองปีแล้วที่บ่ได้ออกไปรับจ้างเลย”

เงินสดเพียงพันกว่าบาทที่เหลือ ทำให้เธอตกอยู่ในสภาวะ “กินบ่หม่วน” คือ ต้องยับยั้งความอยากกิน ชื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต้องกิน 

“นี่ก็แก๊สที่บ้านหมด แต่แม่ก็ยังไม่เปลี่ยนถังนะ เสียดายเงิน ทนเอาใช้ฟืนแทน” เธอกล่าวเสริม 

สองปีก่อนหน้า เธอมีอาชีพรับจ้าง ทั้งตัดอ้อย งานก่อสร้าง รับจ้างรายวัน มีรายได้เฉลี่ยอย่างต่ำเดือนละ 9,000-10,000 บาท บ้านไม่ต้องเช่าแต่ข้าวตัองชื้อกิน เพราะไม่มีที่นาอย่างใครเขา กระนั้น ยังมีเงินเหลือพอให้หาชื้อของอร่อยๆ กินตามใจปาก หรือที่เธอเรียกมันว่า “กินหม่วน กินแซบ” มีเก็บไว้ผ่อนชำระหนี้กองทุนหมู่บ้าน ค่าประกันเงินกองทุนเงินล้านหมู่บ้าน ปีละ 4,500 บาท หากลูกคนไหนลำบากเธอก็ยังพอช่วยเหลือได้บ้าง 

แต่ทว่าหลังปี 2563 เมื่อ “กลุ่มอนุรักษ์ป่าเขาเหล่าใหญ่ ผาจันได” หรือชื่อที่ถูกเรียกขานอย่างไม่เป็นทางการ ว่า “กลุ่มคัดค้านเหมืองแร่หินดงมะไฟ” ตัดสินใจมุ่งมั่นที่จะปิดเหมืองหินถาวร และตั้ง “แคมป์” หรือที่เรียกว่า “หมู่บ้านผาฮวกพัฒนาประชาสามัคคี” ขึ้นเพื่อปิดถนนสาธารณะเส้นทางเข้าสู่เหมืองหินและโรงโม่

นับตั้งแต่วันนั้น “ชีวิตกินหม่วน กินแซบ” ของเธอก็ได้เปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง เช่นเดียวกับสมาชิกกลุ่มฯ อีกจำนวนหลายสิบคนที่หันมาใช้เวลากว่าร้อยละ 90 ของชีวิตปักหลักต่อสู้กับเหมืองหิน

แม่สำรวย[3] หญิงวัย 54 ปี เป็นอีกคนหนึ่งที่เผชิญภาวะ “กินบ่หม่วน” ไม่ต่างจากแม่งาม แต่ดูเหมือนว่าภาวะดังกล่าวไม่เพียงส่งผลกระทบต่อตัวเธอเท่านั้น แต่ “เตอร์” ลูกชายวัย 15 ปีที่กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็ได้รับผลกระทบนั้นเช่นกัน นับย้อนไปก่อนปี 2562 เธอมีรายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 9,414 บาท หรือราวปีละ 113,000 บาท จากการทำไร่มันสำปะหลัง (ยังไม่หักต้นทุน) เงินที่ได้จากค่าทอดนางเล็ดและกล้วยทอดส่งตามร้านค้าในชุมชน 54,000 บาท ค่ารับจ้างช่วงหน้ามันสำปะหลัง 18,000 บาท [4] (ค่าจ้างวันละ 300 บาท) แต่ในปัจจุบัน เธอมีรายได้ปีประมาณ 20,000 บาทต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 1,667 บาท จากการขายมันสำปะหลัง บวกกับค่ารับจ้างช่วงหน้ามันสำปะหลัง 9,000 บาท (ระยะเวลา 2 เดือน วันละ 300 บาท ทำวันเว้นวัน) และเงินเดือนอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนเดือนละ 1,000 บาท 


เตอร์และเพื่อนวัยใกล้เคียงกันเติบโตอยู่กับขบวนการต่อสู้เหมืองมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อย

“ปีที่แล้ว (2564) ไปตัดอ้อยรับจ้างได้แค่วันเว้นวัน และทำแค่เดือนเดียว คือ สิงหาคมถึงกันยายน เพราะว่าติดเฝ้าแคมป์ เป้าหมายของพวกเราคือปิดเหมืองให้ได้ ก็ต้องมาเฝ้าช่วยกัน ปีก่อนหน้านั้นยิ่งกว่านี้อีกเพราะเปิดแคมป์ปีแรก ทำให้ไปรับจ้างได้เดือนละ 2 ครั้งๆ ละ 300 บาท ส่วนสวนของแม่เองแทบจะไม่ได้ไป เพราะว่าเอาเวลามาอยู่แคมป์ และฝนตกเยอะ มัน (มันสำปะหลัง) เน่า ก็ปล่อยไป หญ้ารกไม่ได้ไปถอน” 

“นี่เตอร์มันก็บอกจะไม่เรียนต่อ อยากจะออกมาทำงานหาเงิน แม่ก็ได้แต่ร้องขอให้เรียนจนจบม.6 หลังจากนั้นค่อยตัดสินใจอีกครั้ง”
 
แม้เธอจะบอกว่าเตอร์ไม่ใช่เด็กเกเร มีเรื่องตีต่อย ยาเสพติด หรือลักเล็กขโมยน้อยให้ต้องลำบากใจ แต่ช่วงหลังเขาหันมาสูบบุหรี่ และมักจะขาดเรียนบ่อยเพื่อไปรับจ้างตามรถไถ ขับรถไถ อัดก้อนฟาง 

“หลายครั้ง ก็คิดอยากไปหาเงิน แต่ตัดใจไปบ่ลง ใจหนึ่งก็อิโตนลูก ด่าเขาอยู่ถ้าขาดโรงเรียนบ่อย อยากมีเงินให้เขาได้เฮียนสูงๆ บัดเดี๋ยวนี้เขาสูบบุหรี่วันละซอง ก็ต้องหาเงินเอง อยากได้อะไรก็ต้องหาเอง เพราะแม่ใช้เวลากับเหมืองเยอะกว่าใช้เวลากับลูก ก็ยอมรับ ไม่ได้สนใจลูกมากนัก แต่เตอร์เขาก็เป็นเด็กดี อยู่กับเรา ช่วยงานคนในแคมป์”

เธอกระแทกสากที่กำลังตำบักหุ่งเบาลง และค้างไว้เหมือนกำลังตกอยู่พะวังเมื่อพูดถึงลูกชาย เพียงไม่เกินสองวินาที เธอกระแทกสากลงอยากหนักแน่นอีกครั้ง เหมือนกำลังจะบอกกับเราว่าเธอจะมุ่งมั่นตำบักหุ่งครกนี้ให้อร่อยเช่นเดียวกับการสู้เพื่อปิดเหมืองหินถาวร

ความฝันที่หายไป: โศกนาฏกรรมความจนและคนจน 

ครึ่งหนึ่งของชีวิตแม่งาม แม่รวยและอีกหลายๆ คนทุ่มเทเวลาในการต่อสู้ปกป้องภูผา เพื่อไม่ให้ดงมะไฟกลายเป็น “สุสานภูผายอดด้วน” แต่ต้องแลกมาด้วยความยากลำบากในชีวิตหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการที่ไม่คล่องตัวในการทำงานหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวตามภาวะปกติที่ควรจะเป็นได้ การกินอยู่หลับนอนที่ไม่เหมาะสมกับสุขภาพตามวัย

เด็กๆ ในแคมป์ไม่ได้มีแค่เตอร์เท่านั้น ยังมีอีกหลายคนที่พ่อแม่ต้องแบ่งเวลามาคัดค้านเหมืองและบวกเข้ากับปัจจัยอื่นของครอบครัว บางคนกำลังเผชิญสถานการณ์ร่วมกับเตอร์และบางคนผ่านพ้นชีวิตช่วงต้องเลือกว่าเรียนหรือออกมาทำงาน ทางเลือกหลังดูเหมือนเป็นทางเลือกหลักของคนรุ่นก่อนเตอร์


เด็กน้อยที่เติบโตในขบวนการต่อสู้เหมือง ภาพจากเพจเหมืองแร่หนองบัว


“การฟื้นฟูผาฮวก” ยังไม่จบ แต่ชีวิตแม่งาม ลึกๆ กลับทดท้อ คิดถึงชีวิตยามแก่เฒ่าที่ไม่รู้จะมีเงินเก็บเลี้ยงชีพไหม ไร้ที่ดินทำกิน มีเพียงบ้านหลังเล็ก ลูกๆ สามคน ที่พอจะพึ่งได้แค่ลูกชายคนที่สอง หากมีงานทำมีเงินเก็บสักก้อนยามปั้นปลาย คงไม่ต้องรบกวนลูกให้ลำบาก

“หากตอนนี้ไม่มีเหมืองฯ ตอนนี้คงไปรับจ้าง ไม่ต้องทุกข์ไม่มีเงินกิน อยากกินอะไรคงได้กินกับเขา ไม่ต้องคิดมาก หรืออาจจะก็มีเงินเก็บบ้าง ตอนเย็นก็ได้นอนสบายๆ อยู่ที่บ้านไม่ต้องมานอนเฝ้าแคมป์ แต่หากเราไม่มาก็ไม่ได้ อีโตนลูกหลาน อีโตนคนอื่นที่เขามาจากที่อื่นแล้วมาช่วยเรา ยากแค่ไหน ลำบากแค่ไหนก็ต้องมาช่วยกัน มาอยู่นำกัน ยังก็แต่ลูกชายต้องขอเงินลาวมาใช้ ลาวก็ลำบาก ส่วนอีกสองคนกะลำบากถ้าแม่ทำงานมีเงินกะอยากส่งเงินไปช่วยเลี้ยงหลานนำ อยากให้หลานได้เฮียนสูงๆ”

ขณะที่แม่สำรวย แบกความครุ่นคิดที่มีต่ออนาคตของเตอร์ ลูกชายวัยหัวเลี้ยวหัวต่อเพียงคนเดียว ว่าจะวนเวียนอยู่กับงานหนักในไร่ นา หาพอประทังชีวิตไปวันๆ เหมือนเธอ หรือร่ำเรียนให้สูงๆ มีอาชีพการงานที่ดี 

“ถ้าบ่มีเหมือง แม่ก็อยู่บ้าน เฮ็ดไร่ เฮ้ดนา ทำขนมขาย ทอดกล้วยขายส่ง ร้านรับชื้อก็มีแล้วเหลือแค่เฮ็ดไปส่ง หรือแม่ก็ไปหาหอยเชอรี่นำมาทำเป็นแพ็คแล้วไปส่งตามร้านค้า ร้านส้มตำ อยู่บ้านกับลูก ดูแลลูก มีเงินให้เขาเรียนไม่ต้องกังวล แต่เดี่ยวนี้มันติดเรื่องนี้ (ต่อสู้เหมือง) แม่เลยบ่มีเวลาเฮ็ด ถ้าการคัดค้านเป็นไปตามเป้าหมาย การฟื้นฟูอยู่ตัว แม่ก็น่าจะกลับไปเริ่มทำอีกครั้ง เพราะว่าบ่ต้องใช้เวลากับเหมืองฯ มาก และบ่ต้องไปโน้นมานี่”

เรื่องราวของชาวบ้านกลุ่มคัดค้านเหมืองแร่หินดงมะไฟ ไม่ใช่แค่เรื่องการให้ความหมาย คุณค่าที่เชื่อมโยงพวกเขาเข้ากับภูผาป่าไม้เหล่านั้น หรือการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิ แต่มันคือความทุกข์ยาก ทั้งทางเงินตรา อารมณ์และความฝันของคนจากรุ่นสู่รุ่นที่ถูกกัดเซาะ พอๆกับภูผาฮวกยอดด้วนที่เว้าแหว่งเหลือเพียงครึ่งซีก 


เชิงอรรถ

[1] ชื่อบุคคลที่ปรากฏในบทความชิ้นนี้ล้วนเป็นนามสมมติทั้งสิ้น ยกเว้นอายุ สถานที่และเรื่องเล่าที่เป็นความจริงอันปรากฏขึ้นในชีวิตของกลุ่มอนุรักษ์เขาเหล่าใหญ่ -ผาจันได หรือกลุ่มคัดค้านเหมืองแร่หินดงมะไฟ

[2] แม่งามเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว มีลูก 3 คน คนที่ 1 และคนที่ 2 เรียนจบชั้น ป.6 ดำรงชีพด้วยการรับจ้าง ฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างลำบากกว่าลูกชายคนที่ 2 ซึ่งบวชเรียนจนจบปริญญาตรี ปัจจุบันทำงานในวัดที่เคยบวช ทุกคนแต่งงานมีครอบครัวแล้ว แม่งามเติบโตมาแบบคนไร้ที่ดิน พ่อแม่พาเร่ร่อนไปรับจ้างตามจังหวัดต่างๆ เคยดำรงชีพด้วยการขอข้าวจากวัดทานบ่อยครั้ง

[3] แม่สำรวย เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว สามีตายตั้งแต่ลูกชายอายุ 2 ขวบ มีที่นาและสวนมันสำปะหลังรวม 7 ไร่

[4] ฤดูกาลมันสำปะหลังจะอยู่ราวกลางเดือนธันวาคม ถึงปลายเดือนมกราคม

บทความสั้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง ‘ความยากจนข้ามรุ่นในสังคมไทยภายใต้ความท้าทายเชิงโครงสร้าง’ ภายใต้ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) ประจำปีงบประมาณ 2565 ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ชื่อบุคคลที่ปรากฎในบทความเป็นชื่อสมมุติทั้งหมด

ผู้เขียนบทความ : กิติมา ขุนทอง เป็นอาจารย์สอนสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net