Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ว่าจะเขียนถึงเรื่องนี้ตั้งแต่ปิดคูหาเลือกตั้ง แต่ก็รอเอาไว้จนกระทั่ง กกต.ประกาศผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการนี่แหละถึงได้เวลาเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง จากแคมเปญหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่เน้นย้ำก่อนเลือกตั้งว่าให้เลือกโดย “ยุทธศาสตร์”

แม้จะยังไม่มีการรับรอง ส.ส. แต่ถ้าดูจากผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการของ กกต. ก็ทำให้เห็นว่า พรรคก้าวไกล ได้จำนวน ส.ส.มาเป็นลำดับที่ 1 ด้วยจำนวน ส.ส. 151 คน ขณะที่พรรคเพื่อไทย มาเป็นลำดับที่ 2 ด้วยจำนวน ส.ส. 141 คน ซึ่งทั้ง 2 พรรคมีจำนวน ส.ส.รวมกันถึง 292 คน เกินครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร 500 คน

ทำให้ทั้ง 2 พรรคประกาศจับมือร่วมกับพรรคฝ่ายค้านเดิมอื่นๆ ได้แก่พรรคประชาชาติ จำนวน 9 ที่นั่ง พรรคเสรีรวมไทย จำนวน 1 ที่นั่ง รวมไปถึงพรรคการเมืองใหม่อีก 4 พรรค อันได้แก่ พรรคไทยสร้างไทย จำนวน 6 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทรวมพลัง จำนวน 2 ที่นั่ง พรรคเป็นธรรม จำนวน 1 ที่นั่ง และพรรคพลังสังคมใหม่ จำนวน 1 ที่นั่ง

ลงนาม MOU ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล 312 เสียง ไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 โดยมอบหมายให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นลำดับที่ 1

ลำพังสมการตัวเลขจำนวน 312 เสียงจัดตั้งรัฐบาลนี่ถือว่าแน่นปึ๊ก แต่เนื่องจากบทบัญญัติเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ระบุให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีต้องได้เสียงรับรองไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา นั่นเท่ากับว่าคนที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า 376 เสียงของการประชุมร่วมรัฐสภา

ซึ่งมิต่างกับการให้อำนาจ ส.ว. ในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อมาบริหารประเทศ เว้นแต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจะรวมเสียงกันเองให้ได้ถึง 376 เสียง ก็จะเป็นการปิดสวิทช์อำนาจของ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาลชองรัฐธรรมนูญ
                
ตั้งรัฐบาลนั้นเพียงพอแล้ว ดังนั้นจึงเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องหาเสียงสนับสนุนอีกจำนวนไม่น้อยกว่า 64 เสียงจาก 188 เสียง ส.ส.ที่ไม่ได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาล หรือ 250 เสียง ส.ว. ซึ่งต้องยอมรับถึงตรงนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างแน่นอน

ครั้นเมื่อเห็นตัวเลขไม่น้อยกว่า 64 เสียงที่พรรคก้าวไกลจำต้องหามาสนับสนุนเพื่อส่ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้อดนึกถึงแคมเปญเลือกโดยยุทธศาสตร์ เพื่อให้แลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยขึ้นมาทันที

ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปดูผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของ กกต.ในรายจังหวัด ยิ่งทำให้อึ้งเข้าไปอีก เมื่อปรากฏผลเห็นชัดว่า มีเขตที่ถ้าเอาคะแนนของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยมารวมกันแล้ว จะชนะผู้ที่ได้รับเลือกตั้งลำดับที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สมัครของพรรคการเมืองอื่น

“คะแนนตกน้ำ” มีจริงๆ

และยิ่งอึ้งเข้าไปอีกเมื่อได้รู้ตัวเลขเขตที่ทำคะแนนตกน้ำนั้นมีมากถึง 63 เขต ใกล้เคียงกับตัวเลขที่ต้องการเสียงมาสนับสนุนเลยทีเดียว

โดยถ้ายึดตามลำดับผลการเลือกตั้งที่ กกต.ประกาศคะแนนอย่างเป็นทางการ ถ้าร่วมกันทำยุทธศาสตร์ คะแนนไม่ตกน้ำ พรรคเพื่อไทยจะกลับมาชนะในอีก 43 เขต ในขณะที่พรรคก้าวไกลจะกลับมาชนะในอีก 20 เขต

และใน 63 เขตเลือกตั้งนี้เป็นการพ่ายให้แก่พรรคภูมิใจไทย 27 ที่นั่ง / พรรคพลังประชารัฐ 20 ที่นั่ง / พรรครวมไทยสร้างชาติ 6 ที่นั่ง / พรรคประชาธิปัตย์ 5 ที่นั่ง / พรรคไทยสร้างไทย 3 ที่นั่ง / พรรคชาติพัฒนากล้า 1 ที่นั่ง / พรรคชาติไทยพัฒนา 1 ที่นั่ง

ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการพ่ายแพ้ให้แก่พรรคที่ร่วมจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลเพียง 3 ที่นั่งเท่านั้น หมายความว่าหากวางแผนเลือกตามยุทธศาสตร์กันจริงๆ ผลการเลือกตั้งของพรรคที่ร่วมจับมือกันเพื่อตั้งรัฐบาลในตอนนี้ควรจะเป็นดังนี้

พรรคเพื่อไทยจะมีที่นั่ง ส.ส. จำนวน 184 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคก้าวไกลจะมี ส.ส. จำนวน 171 ที่นั่ง โดยพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จะมี ส.ส.ลดลงเหลือจำนวนเพียง 3 ที่นั่ง โดยพรรคที่จับมือร่วมตั้งรัฐบาลอื่นๆ มีจำนวน ส.ส.คงเดิมคือ พรรคประชาชาติ จำนวน 9 ที่นั่ง พรรคเสรีรวมไทย จำนวน 1 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทรวมพลัง จำนวน 2 ที่นั่ง พรรคเป็นธรรม จำนวน 1 ที่นั่ง และพรรคพลังสังคมใหม่ จำนวน 1 ที่นั่ง รวมคะแนนเสียงก็จะเป็น 372 เสียง

ซึ่งพรรคเพื่อไทย จะกลายเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และจะมี “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หรือ เศรษฐา ทวีสิน หรือชัยเกษม นิติสิริ ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีที่ขาดเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. หรือ ส.ว. เพียง 4 เสียงเท่านั้น (แต่ตำแหน่งประธานสภาฯ คงจะยกให้พรรคลำดับที่ 2 หรือเปล่า ไม่รู้)

“แลนด์สไลด์” “คะแนนตกน้ำ” “เลือกยุทธศาสตร์” 3คำนี้คงจะยังกึกก้อง หลอกหลอนอยู่ในภวังค์ของพรรคเพื่อไทยอย่างมิต้องสงสัยแต่อย่างใด

เพียงแต่พรรคเพื่อไทยอาจจะลืมคิดไปว่า ถ้าจะทำการเลือกตั้งโดยยุทธศาสตร์จริงๆ ทำไมพลันที่มีการยุบสภาฯ ไม่จับมือพรรคฝ่ายค้านเดิมแถลงร่วมกันเลยว่า จะเดินหน้าทางการเมืองไปด้วยกัน ซึ่งถ้าทำได้เช่นนั้นการเลือกตั้งก็อาจจะมียุทธศาสตร์ตามที่ว่า

63 เขตนี้อาจจะไม่ส่งคนลงชนกันเอง จนคะแนนตกน้ำเป็นแน่แท้

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net