Skip to main content
sharethis

สำนักงานอุตสาหกรรมนราธิวาส เปิดรับฟังความเห็นขอประทานบัตร ทำเหมืองแกรนิตใน ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส โดย 'หจก.อะหะมะ กรุ๊ป' วันที่ 25 พ.ค. 66 ฝั่ง ปชช.ตั้งข้อสังเกตการประชาสัมพันธ์อาจไม่ทั่วถึง กังวลการทำเหมืองอาจส่งผลกระทบด้านมลภาวะทางเสียง และด้านสุขภาพ

 

21 พ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวตัวแทนจากเครือข่ายเยาวชนตำบลรือเสาะออก เผยว่า วันนี้ (21 พ.ค.) ประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 4 ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ทยอยได้รับหนังสือจากสำนักงานอุตสาหกรรมนราธิวาส เชิญประชาชนเข้าร่วมรับฟังความเห็น ขอประทานบัตรที่ 1/2565 โครงการทำเหมืองอุตสาหกรรมชนิดหินแกรนิต เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ดำเนินการโดย หจก.อะหะมะ กรุ๊ป ในวันที่ 25 พ.ค. 2566 ตั้งแต่เวลา 9.00-12.00 น. ที่ลานอเนกประสงค์หลังจุดตรวจ ทพ. 4603 (ชุมชนเปาะรามะ) หมู่ที่ 2 ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส 

 

เอกสารเชิญเข้าร่วมแสดงความเห็นการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่

เอกสารที่แนบมากับหนังสือเชิญ ระบุว่า ขอบเขตการทำเหมืองจะอยู่ในพื้นที่บริเวณบ้านเปาะรามะ หมู่ 2 ต.รือเสาะตะวันออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส รวมจำนวน 114 ไร่ รูปแบบการทำเหมืองใช้วิธีทำเหมืองเปิดแบบขั้นบันได หรือ Open Cut ด้วยการใช้เครื่องจักรกลหนัก และระเบิดเข้าช่วย จุดระเบิดแบบแก๊ปโดยไม่ใช้ไฟฟ้าแบบจังหวะถ่วง (Non-Electric Cap) ไม่มีการใช้น้ำดำเนินการ แต่ใช้น้ำเพื่อลดผลกระทบจากฝุ่นตามเส้นทางลำเลียงจากเหมืองหินแกรนิต  

ตัวแทนเครือข่ายฯ ระบุว่าเขาไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีโครงการนี้เกิดขึ้นจนกระทั่งวันที่ได้รับหนังสือเชิญฯ และตั้งคำถามด้วยว่าหนังสือเชิญจะกระจายถึงประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทุกคนหรือไม่ เนื่องจากประการแรก หนังสือเชิญไปร่วมรับฟังวันที่ 25 พ.ค.นี้ แต่ประชาชนได้รับหนังสือเมื่อประมาณวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยอาจจะมีคนที่ได้รับหนังสือก่อน หรือบางคนอาจยังไม่ทราบว่าจะมีการจัดรับฟังความเห็นชุมชน

ตัวแทนเครือข่ายฯ ระบุต่อว่า การตกลงวันตามประกาศกระทรวงข้อที่ 5 เจ้าหน้าที่ต้องประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านในการกำหนดเวลา วัน และสถานที่ อีกทั้ง ต้องมีประกาศผ่านสื่อสารสนเทศในหมู่บ้าน แต่กรณีนี้เท่าที่มีข้อมูล มีเพียงแจ้งหนังสือเชิญเท่านั้นทำให้อาจมีประชาชนที่ไม่ได้รับหนังสืออาจไม่ทราบข่าว 

นอกจากปัญหาข้างต้น เครือข่ายเยาวชนฯ มีข้อเรียกร้องอยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยชี้แจงเพิ่มว่า ในหนังสือถ้ากรณีที่เด็กและเยาวชนที่ถูกเชิญไม่ได้ไปร่วมงานรับฟังความเห็นชุมชน จะถือว่าเด็กและเยาวชนคนดังกล่าวยินยอมหรืออนุญาตให้ทำเหมืองในพื้นที่หรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยเกิดกรณีส่งหนังสือเชิญเด็กและเยาวชนไปรับฟังความเห็นชุมชน แต่พอไม่ได้ไป เด็กและเยาวชนกลับถูกนำชื่อไปใส่ในรายชื่อยินยอมและอนุญาตให้ทำเหมือง

ตัวแทนเครือข่ายฯ ระบุต่อว่าอยากให้ช่วยชี้แจงด้วยว่า ทางเจ้าของโครงการจะอนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ารับฟังการประชุมรับฟังความเห็นชุมชนได้หรือไม่ เนื่องจากนักวิชาการ หรือองค์กรภาคประชาสังคม อาจมาช่วยแสดงความเห็นด้านกฎหมาย หรือผลกระทบในพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม  

3 ข้อห่วงกังวลของประชาชนในพื้นที่ต่อการทำเหมือง

ตัวแทนเครือข่าย ระบุว่า เบื้องต้น จากการอ่านเอกสารที่แนบมากับหนังสือเชิญฯ ซึ่งระบุถึงรายละเอียดโครงการทำเหมืองของ หจก.อะมะหะ กรุ๊ปนั้น เขามีข้อห่วงกังวล 3 ข้อ ดังนี้

ตัวแทนเครือข่ายฯ ระบุว่า คือเท่าที่ดูในหนังสือที่เขาเขียนมา ทางบริษัทแจ้งว่า การควบคุมเสียง จะมีการระเบิดเพื่อทำเหมือง วันละไม่เกิน 1 ครั้ง ช่วงเวลา 16.00-18.00 น. ตอนที่เขาทำจริงจะทำตามนั้นหรือไม่ และโรงเรียนในชุมชนอาจได้รับผลกระทบด้านการเรียนการสอน เพราะว่าเสียงที่เกิดขึ้นจากการระเบิด

 

สำหรับผลกระทบเรื่องฝุ่นที่ฝุ้งกระจายในพื้นที่ แม้ว่าทางบริษัทชี้แจงว่าจะมีการฉีดน้ำโดยใช้สปริงค์เลอร์ (Sprinkler) ตามเส้นทางที่รถบรรทุกขับผ่าน และมีการจำกัดความเร็วของรถบรรทุกให้ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางจราจรในพื้นที่ แต่ทางเครือข่ายเยาวชนฯ ระบุว่ายังกังวลเรื่องฝุ่นและมลพิษที่อาจฝุ้งกระจายตามทางขนลำเลียงบริเวณใกล้เหมือง ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ 

ทางเครือข่ายฯ กล่าวด้วยว่า ท้ายสุด เขากังวลผลกระทบด้านที่ทำกิน เพราะว่าข้างๆ ที่ดินที่จะทำเหมือง ก็มีที่ดินประชาชนที่ทำสวนยาง และสวนทุเรียน 

ตัวแทนเครือข่ายฯ ทิ้งท้ายว่า เขาอยากให้โครงการทำเหมืองนี้ โปร่งใสมากที่สุด และอยากให้ฟังเสียงชาวบ้านในพื้นที่มากกว่านี้ ฟังเสียงเจ้าหน้าที่มากพอแล้ว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net