Skip to main content
sharethis

สำนักงาน กสทช. แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2566 ที่สำนักงาน กสทช. คณะอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีโทรคมนาคมและความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมี พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมาย เป็นประธาน ได้ร่วมหารือและกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามความผิดทางเทคโนโลยีโทรคมนาคมตามกฎหมายใหม่

พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร  เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมาย เปิดเผยว่า กรณีที่ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการประกาศเผยแพร่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่ง พ.ร.ก.ดังกล่าว มุ่งเน้นที่จะปกป้องประชาชนจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมในปัจจุบัน โดยกฎหมายมีบทกำหนดโทษกับผู้ที่รับจ้างเปิดบัญชีม้าและซิมโทรศัพท์ รวมไปถึงผู้ที่ชักชวนเป็นธุระจัดหาบัญชีม้าหรือซิมโทรศัพท์ ให้กับเครือข่ายอาชญากร เป็นการอุดช่องว่างที่ก่อนหน้านี้กฎหมายไปไม่ถึง ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.ก.ใหม่ที่มีผลบังคับใช้ จึงได้จัดตั้ง “คณะอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีโทรคมนาคมและความมั่นคงของรัฐ” ขึ้น เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยประกอบด้วยผู้แทนซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ พล.ต.ท.ดร.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบงานด้านป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี, ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), ผู้แทนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อำนาจหน้าที่สำคัญของคณะอนุกรรมการชุดนี้ คือ การกำหนดแนวทางการบังคับใช้กฎหมาย การเสนอแนวทางในการปรับปรุงกฎระเบียบและข้อบังคับ ที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมถึงการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารพาณิชย์, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่อยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช. เพื่อให้แนวทางในการป้องกันและปราบปรามสัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

พล.ต.อ.ดร. ณัฐธรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การวางกรอบแนวทางปฏิบัติเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม กสทช. ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายและติดตามประเมินผล ที่ประกอบไปด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงิน และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อร่วมกำหนดแนวทางและประสานความร่วมมือการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานในการระงับยับยั้งบัญชีผู้ใช้งานโทรศัพท์ สัญญาณอินเทอร์เน็ตและบริการโทรคมนาคมอื่น ๆ ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายการกระทำความผิดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิด ซึ่งรวมไปถึงการสร้างแนวทางการรับรู้และการประชาสัมพันธ์ถึงภัยทางออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้และตื่นตัวซึ่งจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net