Skip to main content
sharethis
  • สมช.แจงยิบกรณีรัฐไทยผลักดันกลุ่มต่อต้านเผด็จการ 'PDF' 3 ราย กลับไปเผชิญอันตรายที่เมียนมา ยันมีการจับกุม-ผลักดันกลับตามข้อหาเข้าเมืองผิด กม. เมื่อ 4 เม.ย. 66 อ้างไม่ได้รับแจ้งว่าเป็น PDF หรือมารักษาที่แม่สอด-ติงคนเผยแพร่ข้อมูลควรนำเสนอรอบด้าน หวั่นกระทบความสัมพันธ์ 
  • ภาคประชาชน โต้ สมช. ที่ระบุว่าไม่มีหน่วยงาน หรือองค์กรสิทธิมนุษยชน มาติดต่อความคุ้มครอง หรือแจ้งว่าชาวพม่า 3 คนเป็นสมาชิก PDF นั้น ภาคประชาชนมีการติดต่อและขอหารือแล้ว แต่ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าให้มาอีกวัน แต่พอมาหาอีกวัน เจ้าหน้าที่รัฐไทยกลับผลักดันกลับไปแล้ว
  • ภาคประชาชนตั้งคำถามต่อการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐไทยว่า เรื่องการผลักดันทำไมต้องเร่งรีบเพราะมีระบบคัดกรองชาวต่างด้าว การส่งกลับเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ มีการประสานงานกับทหารพม่าล่วงหน้าหรือไม่ และในแถลงของ สมช.ไม่มีการระบุจุดส่งตัวกลับ 

 

สืบเนื่องจากกรณีที่พรรคการเมือง และสำนักข่าวต่างประเทศ เผยว่า เมื่อประมาณ 31 มี.ค. 2566 ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดตาก (ตม.จว.ตาก) ของรัฐบาลไทย ได้ทำการจับกุมนักสู้จากกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People's Defence Force - PDF) จำนวน 3 ราย ขณะเข้ามารักษาตัวที่แม่สอด จ.ตาก อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 คนถูกผลักดันกลับไปเผชิญอันตรายที่ประเทศต้นทางในวันต่อมา และมีการคาดการณ์ว่า ทั้ง 3 คนอาจจะเสียชีวิตทั้งหมดแล้ว

สำหรับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ People Defence Force - PDF ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อ 5 พ.ค. 2564 หลังการทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมา เป็นปีกทางการทหารของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG มีหน้าที่สำคัญในการรบต่อสู้แบบกองโจรต่อกองทัพพม่าในเขตพื้นที่ต่างๆ และเคยถูกกองทัพพม่ากล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เมื่อ 8 พ.ค. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

11 เม.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานวันนี้ (11 เม.ย.) กองประเมินภัยคุกคาม สมาความมั่นคงแห่งชาติ (กปภ. สมช.) ออกแถลงการณ์ชี้แจงเหตุการณ์กรณีดังกล่าว ดังนี้

สมช. ระบุว่ารับทราบว่ามีการส่งต่อข่าวสารที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล ไทยจึงได้ประสานตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับส่วนกลาง และในพื้นที่ เพื่อพิสูจน์ทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยทันที 

บุคคลทั้ง 3 ราย ตามที่ปรากฏในข่าวสารที่ถูกส่งต่อได้ถูกหน่วยงานความมั่นคงของไทยควบคุมตัว เมื่อ 31 มี.ค. 2566 เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ณ จุดตรวจบ้านห้วยหินฝน ระหว่างที่กําลังโดยสารรถประจําทาง ประกอบด้วย  1. โกตี้หะ (ไม่มีนามสกุล) อายุ 38 ปี  2. แทะแนวิน (ไม่มีนามสกุล) อายุ 31 ปี  และ 3. ซอเพียวเล (ไม่มีนามสกุล) อายุ 26 ปี

โดยทั้ง 3 รายถูกจับกุมในข้อหา "เป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต" โดยทั้ง 3 รายไม่มีหนังสือเดินทางและเอกสารใดติดตัวมา

จากการสอบถามทั้ง 3 ราย ให้การตรงกันว่าพวกตน "เข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ  เพื่อไปงานเผาศพเพื่อนที่แม่กาษา" โดยเจ้าหน้าที่ของไทยไม่ได้รับแจ้งจากทั้ง 3 รายว่า พวกตนได้ผ่านการสู้รบ หรือได้รับบาดเจ็บ และต้องการเข้ามารักษาตัวตามที่ปรากฏในข่าวสารที่ถูกส่งต่อกันแต่อย่างใด  

จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงดําเนินการส่งทั้ง 3 ราย มาที่ห้องกัก ตม.จว.ตาก ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าสาย ลวด อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อผลักดัน ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 54  (มาตรา 54: คนต่างด้าวผู้ใดเข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการ อนุญาตนั้นสิ้นสุดหรือถูกเพิกถอนแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะส่งตัวคนต่างด้าวผู้นั้นกลับ ออกไปนอกราชอาณาจักรก็ได้) ต่อมาวันที่ 4 เม.ย. 66 จึงได้ทําการผลักดันผู้ถูกจับทั้ง 3 ราย รวมกับผู้ต้องกักสัญชาติพม่ารายอื่นๆ ด้วย (ดังที่ปรากฏตามภาพถ่าย) 

ในระหว่างวันที่ถูกจับกุมจนกระทั่งถึงวันที่ผลักดัน เจ้าหน้าที่ไทยไม่ได้รับการติดต่อ  ไม่ว่าจะทางช่องทางใดๆ อาทิ หนังสือแจ้งจากหน่วยงานใดๆ หรือองค์กรเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน หรือหนังสือแจ้งเพื่อทําการคุ้มครองผู้ถูกจับดังกล่าวว่า บุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร หรือกลุ่มใดๆ ที่ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า

ข้อมูลชี้แจงบทความเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติของไทยกรณีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา และกลุ่มต่อต้านติดอาวุธทใช้ที่ไทยเป็นที่พักพิง 

กรณีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) นั้น สมช.ได้กําหนดกรอบแนวทางการปฏิบัติ (SOP) ให้หน่วยงานในพื้นที่ทุกหน่วยยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ภายใต้การให้ความสําคัญสูงสุดกับหลักมนุษยธรรมสากล โดยการจัดพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว และพื้นที่พักรอ เพื่อรองรับ ผภสม.มาอย่างต่อเนื่องตั้ง แต่เริ่มปรากฏสถานการณ์การสู้รบจนมาถึงปัจจุบัน โดยทั้ง 2 พื้นที่ได้กําหนดให้มีการควบคุมดูแล และบริหารจัดการโดยภาคส่วนของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งในมิติของฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง และฝ่ายสาธารณสุข 

ถึงแม้ไทยมิได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย แต่ไทยยึดมั่นและเคารพในหลักการไม่ผลักดันกลับ (Non-Refoulement) โดยที่ผ่านมา ผภสม.ที่เข้ามายังประเทศไทย ล้วนแล้วแต่ต้องการเดินทางกลับมาตุภูมิโดยความสมัครใจทั้งสิ้น
  
กรณีการตรวจพบ/จับกุมกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมาที่มาพักพิง/หลบหนีพร้อมอาวุธ เช่น โดรน และกระสุนในประเทศไทย เป็นการปฏิบัติตามแนวทางด้านความมั่นคงปกติ เนื่องจากเป็นที่ประจักษ์ว่ากลุ่มดังกล่าวมิได้เข้ามาในประเทศไทยเนื่องจากต้องการหลบหนีภัยจากการสู้รบ หรือการประหัตประหาร แต่กลุ่มดังกล่าวมุ่งหวังที่จะใช้ไทยเป็นที่หลบซ่อนพักพิง เพื่อสนับสนุนการสู้รบกับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงเป็นสิ่งจําเป็นที่ไทยจะต้องยึดมั่นในหลักการไม่อนุญาตให้กลุ่มดังกล่าวดําเนินการใดๆ ในไทยต่อไปได้ทั้งนี้การดําเนินการดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานการพิจารณาโดยยึดหลัก ผลประโยชน์ของไทยและความปลอดภัยของประชาชนชาวไทยเป็นหลักทั้งสิ้น 

จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกในปัจจุบัน จะมีปัจจัยเร่งประการหนึ่งที่ส่งผลโดยตรงต่อสถานการณ์ปัจจัยนั้น คือ “การนําเสนอข้อมูลข่าวสารที่เน้นตอบสนอง ความมุ่งหมายหรือความเชื่อในบางมุม มากกว่าการมุ่งเสนอข้อเท็จจริง” สําหรับกรณีในเมียนมา ถือเป็นเรื่องที่เปราะบางเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเมียนมามีสถานะเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทย การนําเสนอข้อมูลใดๆ โดยปราศจากการตรวจสอบอย่างเป็นทางการจากภาครัฐ จึงอาจก่อให้เกิดผลกระทบในหลายๆ มิติ และจะเป็นอุปสรรคให้การดําเนินการของภาครัฐ ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ ทั้งนี้ ขอให้เชื่อมั่นว่าการดําเนินการใดๆ ของภาครัฐของไทยอยู่บนพื้นฐานของการกระทํา เพื่อผลประโยชน์ของชาติไทย และความปลอดภัยของชาวไทยในพื้นที่ชายแดนเป็นหลัก  

'ภาคประชาสังคม' แสดงความเห็น-ข้อสังเกตแถลงของ สมช. 

วานนี้ (10 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานจากมูลนิธิศักยภาพชุมชน (People Empowerment Foundation) ออกแถลงการณ์ข้อสังเกตและความเห็นจากเอกสารชี้แจง กปภ. สมช. โดยตอบโต้ด้วยกันหลายประเด็น

ประเด็นแรกตามที่ สมช.กล่าวอ้างว่า มีการผลักดันสมาชิก PDF จำนวน 3 ราย กลับไปที่ประเทศต้นทาง พร้อมผู้ถูกกักรายอื่นๆ แต่จากภาพที่ สมช.นำมากล่าวอ้าง ไม่สามารถยืนยันเรื่องดังกล่าวได้ เนื่องจากมีเพียงแค่ภาพของเจ้าหน้าที่ไทย และสมาชิก PDF 3 รายเท่านั้น 

ตามที่แถลงการณ์ของ สมช.ชี้แจงว่าไม่ได้รับการติดต่อองค์กรมนุษยชน หรือหน่วยงานใดๆ ว่าเป็นทหาร หรือหน่วยงานต่อต้านกองทัพเมียนมานั้น ทางมูลนิธิฯ ระบุว่า มีการมาขอพบเจ้าหน้าที่ที่จับกุม และขอหารือ แต่เจ้าหน้าที่กลับแจ้งว่าให้มาใหม่วันรุ่งขึ้น (4 เม.ย.) และพอมาอีกครั้ง พบว่า PDF ทั้ง 3 คน ได้ถูกผลักดันกลับไปแล้ว

นอกจากนี้ ทางมูลนิธิศักยภาพชุมชน ตั้งข้อสังเกต และคำถามต่อการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐไทย เบื้องต้น มูลนิธิฯ มองว่าการส่งกลับผู้ลี้ภัย หรือกองกำลัง PDF ของรัฐไทยละเมิดต่อหลักการไม่ผลักดันกลับไปเผชิญอันตราย หรือ Non-Refoulement และไม่เคารพต่อมาตรา 3 ว่าด้วยอนุสัญญาการต่อต้านการซ้อมทรมาน

ทางมูลนิธิฯ ระบุต่อว่า ฝ่ายความมั่นคงไทยทราบดีอยู่แล้วว่า เขตแดนที่ส่งกลับไปเป็นเขตอิทธิพลของกลุ่มกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF - Border Guard Force) ซึ่งไม่ปลอดภัยต่อผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา ดังนั้น การส่ง PDF ทั้ง 3 คนคือการส่งไปเพื่อเสียชีวิต หรือไปเผชิญการซ้อมทรมาน

ทางมูลนิธิศักยภาพชุมชน มีข้อสงสัยว่า การผลักดันกลับทำไมถึงรีบเร่งเพราะว่าไทยมีมาตรการคัดกรองผู้ลี้ภัย และตั้งคำถามว่าการผลักดันกลับเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ มีการติดต่อกับทหารพม่าก่อนส่งตัวกลับหรือไม่ และในแถลงการณ์ของ สมช. ไม่ได้ระบุจุดที่ใช้ในการส่งตัวกลับด้วย 

ท้ายที่สุด ทางมูลนิธิศักยภาพชุมชน แสดงความเสียใจต่อกลุ่มผู้เสียชีวิต และต่อรัฐไทยที่ไม่เคารพต่อแนวปฏิบัติที่ได้ให้คำมั่นไว้โดยละเมิดทุกข้อ การผลักดันกลับไม่มีความโปร่งใส และทำลายชื่อเสียงของประเทศไทย กับการที่ผู้นำประเทศได้ลงนามไว้ในระดับต่างๆ แต่ไม่มีการนำมาปฏิบัติที่แท้จริง หวังว่าจะไม่มีเรื่องเช่นนี้อีกในอนาคต 

ทั้งนี้ จากการสอบถาม ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีรายงานยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตแน่นอนแล้ว 1 ราย โดยถูกทหารพม่ายิง หลังพยายามหลบหนีระหว่างขึ้นเรือข้ามแม่น้ำเมย ส่งตัวกลับไปที่เขต BGF และอีก 2 คนมีรายงานว่าได้รับบาดเจ็บ และถูกส่งตัวไปที่ศูนย์สอบสวน ยังไม่ทราบชะตากรรมที่แน่ชัด

ภาพของ BGF ที่ทำการจับกุมตัวสมาชิก PDF จำนวน 2 ราย หลังจากทางการไทยส่งสมาชิก PDF ไปสู่ประเทศต้นทาง (ที่มา: มูลนิธิศักยภาพชุมชน)

รายละเอียดแถลงการณ์

แถลงการณ์
เรื่องการส่งกลับ PDF ชาวพม่า 3 คนสู่พื้นที่ควบคุมของทหารพม่า ทำให้ทั้งสามคนถึงแก่ชีวิต
ข้อสังเกตและความเห็นจากเอกสารชี้แจงของ กปภ. สมช.

จากเอกสารชี้แจงของ กปภ. สมช. (กองประเมินภัยคุกคาม สมาความมั่นคงแห่งชาติ) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 ว่าทั้งสามคนถูกควบคุมตัวด้วยข้อหา “เป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามา และอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต” ถูกจับที่จุดตรวจบ้านห้วยหิน และถูกควบคุมตัวที่ห้องกัก ตม. จว.ตาก เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2566 และถูกผลักดันกลับเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 ในเอกสาร สมช. ชี้แจงว่าส่งกลับรวมกับผู้ต้องกักชาวพม่าอื่นๆ ตามภาพถ่ายที่ปรากฏมีเพียงชาวพม่า 3 คน และเจ้าหน้าที่ ไม่มีชาวพม่าคนอื่นๆ ดังนั้น การส่งกลับร่วมกับชาวพม่าอื่นๆ ไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง 

ในเอกสารชี้แจงของ สมช. ข้อ 5 ว่า ไม่ได้รับการติดต่อไม่ว่าจากช่องทางใดๆ หรือจากองค์กรสิทธิมนุษยชน เพื่อคุ้มครองผู้ถูกจับกุมดังกล่าวข้อมูลจากองค์กรสิทธิในพื้นที่แจ้งว่าได้ขอเข้าพบเจ้าหน้าที่และขอหารือ แต่ได้รับแจ้งว่าให้กลับมาทำใหม่วันรุ่งขึ้น แต่วันรุ่งขึ้นทั้งสามคนถูกส่งข้ามแดนไปยังพื้นที่ควบคุมพม่า (BGF) สองคนถูกยิงโดยทหารพม่าระหว่างพยายามหลบหนี และถูกส่งตัวไปศูนย์สอบสวนของทหารพม่า คาดว่าทั้งสามคนเสียชีวิตแล้ว และอาจถูกซ้อมทรมานก่อนการเสียชีวิตด้วย

ความเห็นต่อกรณีนี้ 

1. สมช. ชี้แจงแนวการปฏิบัติต่อผู้หนีภัยความไม่สงบเมียนมาว่ายึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและให้ความสำคัญสูงสุดกับหลักมนุษยธรรมสากล ไทยยึดมั่นและเคารพในหลักการการไม่ผลักดันกลับไปสู่อันตราย (Non-Refoulement) การเดินทางกลับมาตุภูมิเป็นโดยความสมัครใจ แต่การส่งกลับทั้งสามคนขัดต่อหลักมนุษยธรรมสากลอย่างมาก ประเทศไทยไม่เคารพในการลงนามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการซ้อมทรมานมาตรา 3 พูดถึงการไม่ส่งกลับไปเผชิญอันตราย

2. รัฐบาลไทยให้คำมั่นสัญญาในที่ต่างๆ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คุณดอน ปรมัตถ์ ได้ให้คำมั่นและลงนามในเอกสารความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา (United State - Thailand communique on strategy Alliance and Partnership) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2022 ว่าจะคุ้มครองความมั่นคงของมนุษย์ ยึดมั่นในหลักการมนุษยธรรมและหลักการห้ามผลักดันกลับไปเผชิญอันตราย ท่านนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้าร่วมประชุม ASEAN U.S. - Special Leader' Summit เมื่อวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2016 ที่ Sunnylands อเมริกา ยืนยันในหลักการ ‘ที่จะให้โอกาสประชาชนทุกคนโดยสร้างความเข้มแข็งในระบอบประชาธิปไตย ธรรมาภิบาลปกครองโดยกฎหมายที่เป็นธรรม ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐาน 

3. เจ้าหน้าที่ความมั่นคงชายแดนไทยทราบดีว่า BGF เป็นเขตไม่ปลอดภัยต่อผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา การส่งชาวพม่าสามคนไปในพื้นที่ BGF คือการส่งไปเพื่อการเสียชีวิต โดยการถูกซ้อมทรมานอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทำไมเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไทยจึงต้องรีบผลักดันกลับ ไทยมีระบบการคัดกรองคนต่างด้าว เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2562 ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา หน้า 35 เล่ม 140 ตอนพิเศษ 72 ง ประกาศเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 เจ้าหน้าที่ได้ใช้ระบบคัดกรองนี้ไหม ตกลงว่าการผลักดันกลับใช้ระบบตามกฎหมายหรือไม่ มีการติดต่อกับรัฐบาลทหารพม่าหรือไม่ และในแถลงการณ์ไม่ได้ระบุจุดที่ใช้ในการส่งตัวกลับ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ใช้อำนาจรัฐ จะไม่กระทำให้รัฐไทย เป็นเครื่องมือของความขัดแย้ง

4. ภาคประชาสังคมไทยเสียใจอย่างมากที่เจ้าหน้าที่ของไทยไม่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่ได้ให้คำมั่นไว้โดยละเมิดทุกข้อ การผลักดันกลับไม่มีความโปร่งใส และทำลายชื่อเสียงของประเทศไทย กับการที่ผู้นำประเทศได้ลงนามไว้ในระดับต่างๆ แต่ไม่มีการนำมาปฏิบัติที่แท้จริง หวังว่าจะไม่มีเรื่องเช่นนี้อีกในอนาคต 

มูลนิธิศักยภาพชุมชนขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของ PDF (People’s Defend Force) ทั้งสามคนที่ถูกส่งกลับไปในเขตควบคุมของพม่า BGF (Border Guard Force) และเสียชีวิตในที่สุด

แถลงการณ์ของมูลนิธิ People Empowerment Foundation

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net