Skip to main content
sharethis

หลังจากที่สหภาพยุโรปเสนอร่างกฎหมายแบนสินค้าที่มาจากการบังคับใช้แรงงานทาสสมัยใหม่นั้น ก็ทำให้มีคำถามตามมาว่า เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในอาเซียนอย่างไร ความรับผิดชอบในการสืบเสาะหาต้นตอวัตถุดิบและภาคการผลิตว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับแรงงานทาสหรือไม่ ในทางตรงข้ามก็มีผู้มองว่ากฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้คำนึงถึงรากเหง้าของปัญหาอย่างแท้จริงที่ทำให้อาเซียนมีความเปราะบางต่อปัญหาแรงงานทาส


ที่มาภาพ: European Parliament

8 เม.ย. 2566 เดวิด ฮุตต์ นักวิจัยจากสถาบันยุโรปกลางด้านเอเชียศึกษา (CEIAS) วิเคราะห์กรณีที่สหภาพยุโรปได้เสนอมาตรการแบนการนำเข้าสินค้าที่มาจากการบังคับใช้แรงงาน โดยประเมินว่ามันจะส่งผลต่อการค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไรบ้าง ถ้าหากมีการบังคับใช้หลังจากนี้

เมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว (2565) คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอร่างกฎหมายให้มีการสั่งแบนการนำเข้าสินค้าทุกชนิดที่มาจากการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งฮุตต์มองเรื่องนี้ว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้ยุโรปต้องเผชิญกับความซับซ้อนของประเด็น มีข้อถกเถียงเกิดขึ้นเป็นสองฝ่าย ส่วนหนึ่งมองว่ากฎหมายของยุโรปยังไปได้ไม่ไกลพอ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็มองว่าบริษัทนอกยุโรปจะต้องปรับตัวเผชิญกับระบบราชการแบบอียูที่กลายเป็นกำแพงหนาทึบในการปิดกั้นการส่งออกของพวกเขา

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ของสหประชาชาติเคยประเมินไว้ในรายงานเมื่อปี 2565 ว่า มีผู้คนประมาณ 28 ล้านคนกำลังเผชิญกับการถูกบังคับใช้แรงงาน มากกว่าครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้มาจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีจำนวนผู้ถูกบังคับใช้แรงงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ใน 10 เมื่อเทียบกับการสำรวจเมื่อปี 2559

มีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่อียูเสนอกฎหมายใหม่นี้ในปีที่แล้วเป็นการจงใจตั้งเป้าหมายเล่นงานการนำเข้าจากพื้นที่ซินเจียงของประเทศจีน จากการที่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนทำการปราบปรามกลุ่มมุสลิมอุยกูร์อย่างหนักมาเป็นเวลาหลายปี และมีข้อกล่าวหาเรื่องการบังคับใช้แรงงานทาสชาวอุยกูร์ ในไร่ฝ้าย, เหมืองแร่ และโรงงานสิ่งทอ

3 เดือนก่อนหน้าที่คณะกรรมาธิการยุโรปจะเสนอกฎหมายดังกล่าว ทางรัฐสภายุโรปได้เรียกร้องกฎหมายคล้ายๆ กันเพื่อจัดการกับปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง รัฐบาลสหรัฐฯ เคยบอกว่าสิ่งที่รัฐบาลจีนกระทำในซินเจียงนั้นนับเป็น "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ซึ่งต่อมารัฐสภาเนเธอร์แลนด์ก็ใช้คำๆ นี้พูดถึงกรณีเดียวกันด้วย ในปี 2564 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เสนอร่างกฎหมายที่ทำการแบนการนำเข้าส่วนใหญ่จากซินเจียง

มีข้อมูลที่สนับสนุนในเรื่องที่ว่ามีการใช้แรงงานทางในซินเจียง เมื่อเดือน ส.ค. 2565 มีรายงานจาก โทโมยะ โอโบคาตะ ผู้รายงานพิเศษเรื่องทาสสมัยใหม่ของสหประชาชาติระบุว่า ในซินเจียง มีชาวเชื้อสาย อุยกูร์, คาซัค และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ถูกใช้แรงงานทาสในภาคส่วนการเกษตรและการผลิต

อย่างไรก็ตามการที่อียูเสนอร่างกฎหมายแบบปูพรมรวมไปถึงแรงงานทาสในที่อื่นๆ แทนที่จะระบุถึงแต่ที่ซินเจียงอย่างเดียวนั้น ฮุตต์ มองว่าเป็นเรื่องทางการเมืองที่อียูไม่ต้องการสร้างความขุ่นเคืองต่อจีนเพราะทางอียูยัอยากคงความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนไว้ นอกจากนี้นักวิเคราะห์ยังระบุอีกว่าการออกกฎแบนแต่เฉพาะสินค้าจากจีนนั้นอาจจะไปขัดกับข้อกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติทางการค้าขององค์กรการค้าโลก (WTO) ได้

ผู้สนับสนุนร่างกฎหมายของอียูมองว่า กฎหมายนี้มีลักษณะบังคับใช้อย่างเป็นสากล และเป็นการที่อียูยอมปฏิบัติตามบรรทัดฐานนานาชาติ จากการที่สหประชาชาติกำหนดวาระว่าการบังคับใช้แรงงานทาสจะต้องหมดไปจากโลกภายในปี 2573

เฮนริเก ฮาห์น ส.ส. พรรคกรีนและส.ส.ยุโรปที่เป็นผู้แทนด้านจีนสัมพันธ์ ได้ชี้ประเด็นว่า เวลาพูดถึงการบังคับใช้แรงงานทาส ทางอียูใช้นิยามคำว่าแรงงานทาสตามแบบของนานาชาติที่มาจากองค์กร ILO ของยูเอ็น แทนที่จะกำหนดนิยามเอง

กฎหมายอียูจะทำให้อาเซียนต้องปรับตัวหรือไม่อย่างไร

อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายของอียูก็อาจจะส่งผลสะเทือนมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย โดยมีธุรกิจในอาเซียนบางส่วนที่ปรับตัวเข้ากับกฎใหม่ของอียูแล้ว เช่น กฎเรื่องการห้ามทำลายป่าและเรื่องผลผลิตที่ยั่งยืนที่ทำให้เกิดการพิพาทกับมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตปาล์มน้ำมันรายใหญ่ ซึ่งอียูพยายามจะลดการนำเข้าไปเรื่อยๆ จนเลิกนำเข้าภายในปี 2573

สำหรับในเรื่องการบังคับใช้แรงงานทาสนั้น ถึงแม้ว่ารัฐสมาชิกอียูจะเป็นฝ่ายแบกรับความรับผิดชอบในการตรวจสอบว่าสินค้าไหนที่พวกเขานำเข้ามีการใช้แรงงานทาสหรือไม่ แต่มันก็จะส่งผลกดดันต่อธุรกิจในอาเซียนถึงแม้ว่าธุรกิจเหล่านั้นจะไม่ได้บังคับใข้แรงงานทาสด้วยตัวเองก็ตาม แต่พวกเขาก็จะต้องทำการติดตามรายละเอียดห่วงโซ่อุปทานของตัวเองมากขึ้น มีสินค้าจำนวนมากที่ส่งออกจากประเทศเอเชียอาคเนย์ไปสู่ตลาดยุโรปมีการแปรรูปจากวัตถุดิบที่นำเข้าจากที่อื่น หรือมีชิ้นส่วนอะไหล่ที่มาจากบริษัทอื่น

ยกตัวอย่างเช่นกรณีของกัมพูชาที่มีการส่งออกสินค้าให้ยุโรปมูลค่ารวมแล้วราว 4,300 ล้านยูโร (ราว 161,000 ล้านบาท) เมื่อปี 2565 ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นสิ่งทอและรองเท้า แต่วัตถุดิบส่วนใหญ่นั้นนำเข้ามาจากจีนซึ่งมีแหล่งที่มาที่ลึกลับ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าบริษัทเล็กๆ จำนวนมากจะไม่สามารถสืบค้นเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานของตัวเองได้ทั้งหมด

ในเรื่องนี้มีเจ้าหน้าที่อียูที่บอกว่าพวกเขายังคงหารือกับเอเชียอาคเนย์ในเรื่องนี้อยู่ อิกอร์ เดรียสแมน เอคอัครราชทูตอียูประจำอาเซียน กล่าวว่า พวกเขาได้พูดคุยกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเรื่องร่างกฎหมายนี้และจะยังคงหารือต่อไปอีกหลายเดือน

เดรียสแมนบอกว่า "พวกเราเป็นคู่ค้าสำคัญของอาเซียนและต้องการส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีเพื่อป้องกันไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนระดับใหญ่ จึงต้องมีการวางกรอบกติกาเพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่าง ยั่งยืน, เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นไปอย่างมีมนุษยธรรม"

บางส่วนมองว่ายังเป็นกฎหมายที่ไปไม่ไกลพอ และไม่ได้เล็งเห็นต้นตอของปัญหา

มีผู้สังเกตการณ์คาดการณ์ว่าคณะกรรมาธิการยุโรปจะทำการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ในเรื่องสำคัญภายในสักช่วงหนึ่งของปีนี้ และอาจจะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่ร่างกฎหมายนี้จะออกมา โดยที่ในวันที่ 3 มี.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการด้านตลาดภายในและการคุ้มครองผู้บริโภคสภายุโรป ได้เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายในหลายประเด็น เช่น เรื่องการฟื้นฟูคนงานที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้แรงงานทาส

ซัลลี เย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่เน้นประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์และทาสสมัยใหม่จากมหาวิทยาลัยลาโทร ออสเตรเลีย กล่าวว้า กฎหมายใหม่ของอียูจะประสบความสำเร็จได้ มันต้องอาศัยทรัพยากรจำนวนมากในการสืบสวนห่วงโซ่อุปทานทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงได้ แต่ก็ยังมีคำถามที่ไม่ได้รับคำตอบก็คือว่าบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางจะสามารถปรับตัวตามในเรื่องนี้ได้หรือไม่

"เช่นเดียวกับการโต้ตอบจำนวนมากของฝ่ายอุปทาน(ฝ่ายรับซื้อ/นำเข้า)ต่อการบังคับใช้แรงงาน การแบนการนำเข้าไม่ได้คำนึงถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ภูมิภาคเหล่านั้นมีความเปราะบางเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาแรงงานทาสตั้งแต่แรก เช่น เรื่องการกลายเป็นผู้พลัดถิ่นเพราะวิกฤตภูมิอากาศ หรือเพราะความขัดแย้ง" เยกล่าว

ฮาห์น ส.ส. พรรคกรีนและส.ส.ยุโรปที่เป็นผู้แทนด้านจีนสัมพันธ์ บอกว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะไม่ถึงขั้นทำให้ประเทศสมาชิกอียูคอยกักสินค้าเอาไว้ไม่นำเข้าจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงาน แต่มีการเสนอระบบ "การส่งผลย้อนหลัง" ซึ่งให้ภาระในการพิสูจน์ตกไปเป็นของรัฐบาลประเทศต่างๆ หรือองค์กรภาคประชาสังคมที่จะสืบสวนสอบสวนเรื่องการใช้แรงงานทาสเอง

ฮาห์นกล่าวยอมรับว่ายังมีช่องโหว่จำนวนมากในระบบที่พวกเขาจะต้องแก้ไขเกี่ยวกับกฎหมายต่อต้านแรงงานทางฉบับนี้


เรียบเรียงจาก
EU move to ban forced labor goods poses a test for SE Asia, DW, 04-04-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net