Skip to main content
sharethis

กลายเป็นเรื่องสั่นสะเทือนต่อยุโรป เมื่อ เกียร์ต วิลเดอร์ส ผู้นำพรรคขวาจัด PVV ชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของเนเธอร์แลนด์ ถึงแม้ว่าจะมีคะแนนรั้งท้ายในการสำรวจโพลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และเป็นพรรคที่ตกขอบทางการเมืองมาเป็นเวลาหลายปี แนวทางต้องการให้เนเธอร์แลนด์ออกจากสหภาพยุโรป และโวหารต่อต้านอิสลามของเขาจะชัดพาเนเธอร์แลนด์และยุโรปดำเนินไปในทิศทางใด


เกียร์ต วิลเดอร์ส ผู้นำพรรคขวาจัด PVV ชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของเนเธอร์แลนด์ | ที่มาภาพเพจ Geert Wilders

เหนือจากชาวเนเธอร์แลนด์แล้ว เกียร์ต วิลเดอร์ส เป็นที่รู้จักดีในสายชาวยุโรปจำนวนมาก ในฐานะคนที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบเกลียดกลัวอิสลามและต่อต้านผู้อพยพอย่างสุดโต่ง รวมถึงมีแนวคิดแบบต่อต้านสหภาพยุโรป

กลายเป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจอย่างมากเมื่อพรรค PVV ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดของวิลเดอร์ส สามารถชนะการเลือกตั้งได้เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา มีผลโพลสำรวจช่วงนาทีสุดท้ายสะท้อนให้เห็นคะแนนเสียงของเขาพุ่งพรวดอย่างไม่น่าเชื่อ กลายเป็นเรื่องที่สหภาพยุโรปต้องจับตามองต่อไปว่าในช่วงไม่กี่เดือนหลังจากนี้ วิลเดอร์ส กับทำอะไรบ้างหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า PVV จะชนะที่นั่งส่วนใหญ่ในสภา แต่ก็ยังไม่แน่ว่าวิลเดอร์สและพรรคของเขาจะได้เป็นรัฐบาล เพราะระบบการเมืองในเนเธอร์แลนด์เป็นระบบพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคมาโดยตลอด

PVV ชนะที่นั่งในสภาได้เป็นส่วนมากเมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่นๆ คือ 37 ที่นั่งจากทั้งหมด 150 ที่นั่ง เทียบกับอันดับ 2 คือพรรคแนวร่วมฝ่ายซ้ายกลาง โกรเอนลิงค์ส-พีวีดีเอ ที่ได้ที่นั่ง 25 ที่นั่ง ส่วนพรรค VVD ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเดิมได้ที่นั่ง 24 ที่นั่ง ลดลงจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา 10 ที่นั่ง และพรรคการเมืองน้องใหม่อย่างนิวโซเชียลคอนแทร็ก (NSC) ซึ่งเป็นพรรคสายกลาง มีที่นั่งในสภา 20 ที่นั่ง เป็นที่น่าสังเกตว่าพรรคซ้ายกลางทำได้ดีขึ้น 8 ที่นั่งด้วย

มีความเป็นไปได้ที่ PVV จะต้องจับมือกับ VVD ซึ่งเป็นพรรคขวากลาง กับพรรค NSC ซึ่งเป็นพรรคสายกลางถึงจะทำให้จัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ทว่าพวกเขาจะต้องโน้มน้าวให้พรรคสายกลางทนรับกับพรรคฝ่ายขวาสองพรรคนี้ให้ได้ หลังจากการเลือกตั้งหนึ่งวัน วิลเดอร์สก็ประกาศตัวเองผ่านสื่อว่าเขาอยากจะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของเนเธอร์แลนด์

วิลเดอร์สจะทำอะไรบ้างถ้าเขาได้เป็นผู้นำ

การเป็นผู้นำรัฐบาลของพรรคขวาจัดของวิลเดอร์สจะสร้างความกังวลให้กับสหภาพยุโรปหรืออียูอย่างแน่นอน มีแนวทางบางส่วนของพรรค PVV ที่ไม่เพียงแค่ฝ่าฝืนกฎหมายของเนเธอร์แลนด์เท่านั้น ยังเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายของอียูด้วย เบน คัวเตส นักเขียนของเนเธอร์แลนด์ได้สรุปส่วนสำคัญที่สุดในแถลงการณ์จุดยืนพรรค PVV เอาไว้ดังนี้

อย่างแรกคือ ความต้องการทำประชามติให้เนเธอร์แลนด์ออกจากการเป็นสมาชิกอียูหรือที่เรียกว่า "เน็กซิต" (Nexit) ต่อมาคือการหยุดใช้นโยบายให้ที่พักพิงแก้ผู้ลี้ภัยโดยสิ้นเชิง ตามมาด้วยการสั่งแบนคัมภีร์อัลกุรอานและมัสยิด สั่งแบนผ้าคลุมศีรษะ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายชาวมุสลิม) ในอาคารราชการ รวมถึงยกเลิกการสนับสนุนทางการทหารแก่ยูเครนที่กำลังเผชิญกับการรุกรานของรัสเซีย และการถีบตุรกีออกจากสมาชิกภาพนาโต ทั้งหมดนี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่คัวเตสระบุถึง

ก่อนหน้านี้วิลเดอร์สยังเคยก่อวีรกรรมเอาไว้หลายอย่าง เช่น การเรียกชาวโมรอคโกว่า "สวะ" การจัดการแข่งขันการ์ตูนล้อศาสดามูฮัมหมัด วิลเดอร์ส ได้เข้าสู่วงการการเมืองด้วยการตั้งตัวเป็นผู้ที่จะ "หยุดการรุกรานของอิสลาม" ในโลกตะวันตก

อียูมองเรื่องนี้อย่างไร

สเตง แวน เคสเซล รองศาสตราจารย์ด้านการเมืองยุโรปจากมหาวิทยาลัยควีนแมรีแห่งลอนดอน กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา วิลเดอร์สเริ่มประนีประนอมในแบบที่น่าจะทำให้ตัวเองมีโอกาสได้เป็นรัฐบาลมากขึ้น ด้วยการลดความแรงของโวหารตัวเองลงบ้าง โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องอิสลาม

การประนีประนอมนี้ส่งผลให้พรรคขวากลางอย่าง VVD ที่ในปัจจุบันนำโดย ดีลัน เยซิลกุซ แสดงท่าทีพร้อมจะทำงานร่วมกับพรรคขาดจัดอย่าง PVV มากขึ้น เทียบกับในสมัยผู้นำพรรคก่อนหน้านี้

แวน เคสเซล กล่าวว่า "วิลเดอร์สยินดีที่จะปล่อยระเด็นเหล่านี้ไปหรือไม่งั้นก็ไม่นำมันมาเป็นประเด็นใหญ่ในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล เพราะเขาบอกว่ามันมีเรื่องที่ให้ความสำคัญมากกว่านั้นคือเรื่องปัญหาค่าครองชีพ ... แต่ทว่าประเด็นผู้อพยพก็ยังคงเป็นประเด็นใหญ่ที่เขาให้ความสำคัญอย่างมาก"

เคสเซล ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องประชานิยมในยุโรปกล่าวว่า เรื่องนี้คล้ายคลึงกับกรณีของนักประชานิยมฝ่ายขวาคนอื่นๆ เช่น จอร์เจีย เมโลนี จากอิตาลี ที่มักจะลดความแรงของโวหารต่อต้านอียูลงหลังจากที่เขาเข้าสู่ตำแหน่งแล้ว เคสเซลมองว่าผู้นำฝ่ายขวาเหล่านี้ไม่ได้สนใจชูประเด็นเรื่องการรวมหรือแยกกับอียูมากขนาดนั้น

เคสเซลบอกว่าแม้แต่วีลเดอร์สก็เริ่มลดความแรงตัวเองลงในประเด็นอียูตั้งแต่ปี 2555 จากเดิมที่ขอให้มีการออกจากอียูอย่างสิ้นเชิง กลายมาเป็นเรียกร้องให้มีการจัดทำประชามติ ซึ่งต้องรอดูต่อไปว่าจะมีการจัดทำได้จริงหรือไม่ในรัฐบาลใหม่

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ถ้าหากวีลเดอร์สได้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาจะกลายเป็นคนที่สามารถขัดขวางการกำหนดนโยบายจากอียูได้เช่นนโยบายเรื่องโลกร้อน การสนับสนุนทางการทหารต่อยูเครน และเรื่องผู้อพยพ อีกทั้งยังมีเรื่องของการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับงบประมาณร่วมกันของอียูด้วย

อะไรที่ทำให้ PVV ชนะได้

แวน เคสเซล มองว่าสาเหตุที่ PVV ของวีลเดอร์สชนะได้ น่าจะเพราะการเพลี่ยงพล้ำของพรรคขวากลางอย่าง VVD จากการที่เยซิลกุซ หัวหน้าพรรค VVD เอาเรื่องผู้อพยพมาเป็นประเด็นนำร่วมกับเรื่องที่อยู่อาศัยและค่าครองชีพ

เคสเซล ระบุว่าถึงแม้ว่าเรื่องผู้อพยพจะเป็นเรื่องที่ผู้ลงคะแนนเสียงให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ แต่การที่พรรคขวากลางนำเรื่องนี้มาเล่นยิ่งกลายเป็นการให้ความชอบธรรมแก่พรรคขวาจัดที่ชูธงในเรื่องนี้ กลายเป็นการให้ประโยชน์กับพวกขวาจัดด้วยการชี้นำประเด็นการอภิปรายสาธารณะไปสู่ประเด็นผู้อพยพที่ฝ่ายขวาจัดพูดถึงเรื่องนี้มาก่อนหน้าพวกเขาแล้ว

นอกจากนี้ เคสเซล ยังมองอีกว่าชัยชนะที่น่าประหลาดใจของวีลเดอร์สนั้นยังมาจากการแข่งขันกันในโค้งสุดท้ายระหว่างพรรคต่างๆ ด้วย จากที่เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าการเลือกตั้ง วีลเดอร์ส ยังมาเป็นอันดับที่ 4 ในผลสำรวจโพลความนิยมด้วยคะแนนร้อยละ 13 แต่ในผลโพลโค้งสุดท้ายคะแนนเขาก็เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 23

เดิมทีแล้วการผงาดขึ้นของพรรคใหม่อย่างพรรคสายกลาง NSC น่าจะกลายเป็นประเด็นใหญ่สำหรับสื่อในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่หัวหน้าพรรค NSC อย่าง ปีเตอร์ โอมซิกต์ กลับมีความกำกวมในบางประเด็น เช่นเรื่องที่ว่าเขาอยากเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เรื่องนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กระแสตีไปทาง PVV มีจำนวนผู้ลงคะแนนเสียงจำนวนมากอย่างน่าแปลกใจที่ยังคงไม่รู้ว่าจะโหวตให้ใครในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง

หรือเรื่องนี้จะสะท้อนกระแสทางอุดมการณ์ในการเมืองยุโรป?

สำหรับนักรัฐศาสตร์แล้ว การเลือกตั้งในประเทศต่างๆ ของยุโรปในช่วงที่ผ่านมา อาจจะนับเป็น "การสะท้อนกระแสทางความคิดอุดมการณ์ในยุโรปตะวันตกได้สักเล็กน้อย" ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งสภายุโรปในเดือน มิ.ย. 2567 รวมถึงการเลือกตั้งของเบลเยี่ยมด้วย

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมากลุ่มขวาจัดเติบโตขึ้นในหลายส่วนของยุโรป เช่น จอร์เจีย เมโลนี จากพรรคฝ่ายขวาชื่อ "ภราดรภาพแห่งอิตาลี" ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอิตาลีเมื่อปี 2565 ในฝรั่งเศสพรรคขวาจัดเนชันแนลแรลลีนำโดย มารีน เลอ แปน ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 2 ในการเลือกตั้งปี 2565 และในเยอรมนีพรรคขวาจัด AfD ก็มีคะแนนนิยมเป็นอันดับที่ 2 เช่นกัน

วิกเตอร์ ออร์บาน ผู้นำขวาจัดของฮังการีแสดงความยินดีต่อชัยชนะของวีลเดอร์ส โดยระบุในเว็บทวิตเตอร์/เอ็กซ์ ว่า "สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้ว" ที่ปรึกษาของเขา บาลาซส์ ออร์บาน ผู้ที่มีนามสกุลเดียวกันแต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันทางเครือญาติกับวิกเตอร์ กล่าวว่า "ยุโรปกำลังตื่นขึ้นแล้ว! ชัยชนะของฝ่ายขวาเนเธอร์แลนด์เป็นการปักธงอีกแห่งหนึ่งบนแผนที่"

ในเบลเยี่ยม ทอม ฟอน กรีเคน หัวหน้าพรรค วลาม เบลัง พรรคที่มีแนวทางแบ่งแยกตัวเองในพื้นที่ ฟลานเดอร์ ที่ผู้คนพูดภาษาเนเธอร์แลนด์ กล่าวแสดงความยินดีต่อชัยชนะของพรรคขวาจัดเนเธอร์แลนด์เช่นกัน

เคสเซล มองว่า ณ จุดนี้มันขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองกระแสหลักในยุโรปซึ่งมักจะเป็นพรรคขวากลางแล้วว่าพวกเขาจะยืนหยัดรักษาเสรีนิยมประขาธิปไตยไว้หรือไม่ในช่วงที่ต้องเผชิญกับนักการเมืองอย่าง วิลเดอร์ส ที่แสดงออกอย่างเปิดเผยว่าต้องการกีดกันผู้คนบางกลุ่ม

"มันไม่ควรจะมีพื้นที่ให้กับนักการเมืองที่อ้างว่ามีตัวเขาคนเดียวที่พูดในนามของประชาชน นั่นมันเป็นสิ่งที่ไม่เสรี และสุดท้ายแล้วมันจะกลายเป็นเรื่องอันตรายต่อประชาธิปไตย" เคสเซลกล่าว

วิลเดอร์ส คือใครและเหตุการณ์แวดล้อมแบบไหนที่เป็นแรงส่งให้นักการเมืองขวาจัดรายนี้

เกียร์ต วิลเดอร์ส เป็นคนที่เคยได้รับฉายาว่า โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งเนเธอร์แลนด์ เขาอาจจะต้องเผชิญกับความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยการที่ต้องโน้มน้าวให้อดีตคู่แข่งของเขาเข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับเขาให้ได้ อย่างไรก็ตาม วิลเดอร์ส ก็มีประสบการณ์ทางการเมืองมาเป็นเวลาหลายปี

วิลเดอร์ส เกิดเมื่อปี 2506 ที่เมืองเวนโล เนเธอร์แลนด์ เขาโตมาพร้อมกับพี่น้องในครอบครัวคาทอลิก แม่ของเขาเป็นลูกครึ่งอินโดนีเซียซึ่งวิลเดอร์สมักจะไม่ค่อยพูดถึงเรื่องนี้ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์หลายร้อยปี อีกทั้งยังเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่มากที่สุดในโลก

เมื่อปี 2560 น้องชายของวิลเดอร์ส ที่ชื่อพอล เล่าไว้ในบทสัมภาษณ์ของ เดอ สปีเกล ว่าพี่ชายของเขาสนใจการเมืองมาตั้งแต่ยราว 40 ปีที่แล้ว แต่ในตอนนั้นเขายังไม่ได้เป็นซ้ายหรือขวา ไม่ได้มีความเกลียดกลัวคนนอก แต่เพราะรู้สึก "หลงใหลในเกมการเมือง การช่วงชิงอำนาจและอิทธิพล"

ความเกลียดชังอิสลามของวิลเดอร์สตามมาทีหลัง ในช่วงที่เขาเป็น สส. พรรคขวากลาง VVD ตั้งแต่เมื่อปี 2541 หลังจากที่มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น อย่างเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 ที่ส่งผลสะเทือนต่อสหรัฐฯ และในปีถัดจากนั้นก็มีเหตุลอบสังหารนักการเมืองฝ่ายขวาจัด ปิม ฟอร์ไตน์ ซึ่งสื่อดิอิโคโนมิสต์รายงานว่า "พวกคนกลุ่มใหญ่ที่ต่อต้านผู้อพยพและกังขาต่ออียู" ได้แต่พยายามมองหาฮีโร่นำขบวน แล้วคนๆ นั้นก็คือวิลเดอร์ส

ต่อมาในปี 2547 วิลเดอร์สก็ลาออกจากพรรค VVD เป็นปีเดียวกับที่ ธีโอ แวน โก๊ะ คนทำภาพยนตร์ถูกสังหาร ตำรวจพบว่าวิลเดอร์สเป็นหนึ่งในรายชื่อเป้าหมายการลอบส้งหารของฆาตกรด้วย ทำให้วิลเดอร์สอยู่ภายใต้การคุ้มครองของตำรวจ

2 ปีต่อมาคือในปี 2549 วิลเดอร์สก็ก่อตั้งพรรค PVV แล้วก็ใช้นโยบายต่อต้านอิสลามเป็นหัวใจหลักของนโยบายพรรค เขาเป็นผู้ที่ทำตัวอื้อฉาวด้วยการกล่าวหาว่าอิสลามเป็นเหมือนนาซี กล่าวหาคัมภีร์อัลกุรอานว่าเหมือนกับหนังสือ "การต่อสู้ของข้าพเจ้า" ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อีกทั้งยังเผยแพร่ภาพยนตร์ที่ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านถูกประท้วงจากทั่วโลก คือเรื่อง "ฟิตนา" ที่อ้างเหมารวมว่าอิสลามคือการก่อการร้าย เขาเคยถูกห้ามไม่ให้เข้าประเทศอังกฤษในปี 2552 เพราะอังกฤษมองว่าความคิดเห็นของเขา "เป็นภัยต่อความปรองดองกันในสังคมดังนั้นแล้วจึงนับเป็นภัยต่อสาธารณะด้วย" ในปี 2553 วิลเดอร์สก็ถูกดำเนินคดีเนื่องจากยุยงปลุกปั่นความเกลียดชังและการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิม

แต่ต่อมาวิลเดอร์สก็ได้รับการตัดสินให้พ้นผิด โดยมีการอ้างใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่ออ้างว่าเขาสามารถใช้มันพูดใส่ไฟปลุกระดมความเกลียดชังได้ หลังจากนั้นวิลเดอร์สก็ยังไม่หยุด ในปี 2559 เขาถูกตัดสินให้มีความผิดฐานเหยียดกลุ่มเชื้อสายโมรอคโกหลังจากที่เขาสัญญากับผู้สนับสนุนเขาว่าจะทำให้ "มีชาวโมรอกโกน้อยลง" ในเนเธอร์แลนด์ แต่การถูกตัดสินลงโทษก็ไม่ทำให้วิลเดอร์สหยุดใช้วาจาปลุกปั่นความเกลียดชัง ต่อมาหลังจากนั้นเขาก็กล่าวหาว่าชาวโมรอคโกเป็น "สวะ"

นอกจากเรื่องการเหยียดอิสลามแล้ว พรรค PVV ของวิลเดอร์สก็แสดงจุดยืนในเชิงต่อต้านสหภาพยุโรปและต้องการให้เนเธอร์แลนด์ออกจากการเป็นสมาชิกอียู และยกเลิกการใช้เงินสกุลยูโรด้วย โดยอ้างว่า "ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่มีอธิปไตย ...มีการจัดการค่าเงินของตัวเอง, เขตแดนของตัวเอง และออกกฎหมายของตัวเอง"


เรียบเรียงจาก
Europe reels as far-right Wilders tops Dutch election poll, DW, 23-11-2023
Far right’s Geert Wilders seals shock win in Dutch election after years on political fringe, France 24,  25-11-2023

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/2023_Dutch_general_election

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net