Skip to main content
sharethis

พรรคอนุรักษ์นิยมของฟินแลนด์ประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ในขณะที่พรรครัฐบาลฝ่ายซ้ายเดิมแพ้ไปด้วยคะแนนฉิวเฉียด มีการวิเคราะห์ว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นการขับเคี่ยวกันเรื่องประเด็นเศรษฐกิจมากกว่าประเด็นอื่นๆ อย่างเรื่องปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่พรรคฝ่ายขวายังประกาศจะหนุนยูเครนต่อ

ในการเลือกตั้งล่าสุดของฟินแลนด์ พรรคอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวากลางหรือพรรค NCP ประกาศชัยชนะเมื่อช่วงเย็นวันอาทิตย์ (2 เม.ย.) ที่ผ่านมา หลังจากการนับคะแนนผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสร็จสิ้นลง

ผลการเลือกตั้งออกมาว่าพรรค NCP ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 20.8 อันดับที่สองคือพรรคฝ่ายขวาที่ชื่อ The Finns ที่มีคะแนนเเสียงร้อยละ 20.1 ขณะที่พรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมฟินแลนด์หรือ SDP ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายภายใต้การนำของ ซานนา มาริน ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 19.9

ถึงแม้ว่าพรรคสามอันดับแรกจะมีคะแนนประมาณร้อยละ 20 แต่ก็ไม่มีพรรคใดเลยที่มีคะแนนเสียงมากพอจะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ โดยที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครมากกว่า 2,400 รายจากทั้งหมด 22 พรรค เข้าร่วมแข่งขันชิงที่นั่งในรัฐสภาของฟินแลนด์ 200 ที่นั่ง

เพตเตรี ออร์โป ผู้นำพรรค NCP กล่าวประกาศชัยชนะต่อหน้ากลุ่มผู้สนับสนุนที่รวมตัวกันในร้านอาหารที่กรุงเฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์ โดยบอกว่า "เมื่อดูจากผลลัพธ์แล้ว การหารือเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้ฟินแลนด์นั้นจะกระทำภายใต้การนำของพรรค NCP"

การเปลี่ยนแปลงผู้นำของฟินแลนด์ทำให้มีข้อกังขาว่า จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการที่ฟินแลนด์ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตหรือไม่ จากที่ก่อนหน้านี้ มาริน ผู้ที่เป็นเคยเป็นผู้นำฟินแลนด์ที่อายุน้อยที่สุดในกลุ่มผู้นำยุโรปทั้งหมด ได้รับการชื่นชมจากการที่เธอแสดงการสนับสนุนยูเครนอย่างแข็งขันและมีบทบาทสำคัญร่วมกับประธานาธิบดี เซาลี นีนิสโต ในการส่งเสริมให้ฟินแลนด์ยื่นเรื่องขอเป็นสมาชิกนาโต

ทางฟินแลนด์ได้ยื่นเรื่องขอเป็นสมาชิกนาโตตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 หลังจากที่มีเหตุการณ์รัสเซียทำสงครามรุกรานยูเครน เมื่อถึงวันที่ 5 ก.ย. 2565 ทางนาโตก็ได้ลงนามในพิธีสารภาคยานุวัติเพื่อแสดงความยินยอมให้ฟินแลนด์ร่วมเป็นสมาชิก อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลจนถึงวันที่ 1 เม.ย. 2566 ในกลุ่มประเทศสมาชิกนาโตทั้ง 30 ประเทศได้ให้สัตยาบันต่อเรื่องนี้แล้ว เหลือแต่เพียงประเทศตุรกีที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันสารต่อนาโต

ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับรัสเซีย การที่รัสเซียทำการรุกรานประเทศใกล้เคียงอย่างยูเครนทำให้ฟินแลนด์ต้องเพิ่มความเร่งด่วนในการขอเป็นสมาชิกภาพนาโตเพื่อหวังว่าจะได้รับความร่วมมือด้านความมั่นคงช่วยป้องกันประเทศของพวกเขาจากการถูกรุกราน โดยมีการประเมินว่าในอีกไม่นานหลังจากนี้ฟินแลนด์น่าจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตได้อย่างเป็นทางการ

ออร์โป ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของฟินแลนด์ กล่าวให้คำมั่นว่าทางฟินแลนด์จะยังคงเป็นพันธมิตรที่ดีต่อประเทศยูเครน ออร์โปกล่าวว่า "อย่างแรกเลยคือ สำหรับยูเครน พวกเรายืนหยัดเคียงข้างพวกคุณ เป็นพวกเดียวกับพวกคุณ ... พวกเรายอมรับสงครามที่เลวร้ายนี้ไม่ได้ พวกเราจะทำทุกวิถีทางในการที่จะช่วยเหลือยูเครนและประชาชนชาวยูเครน เพราะว่าพวกเขาต่อสู้เพื่อพวกเรา เรื่องนี้ชัดเจน"

"แล้วก็มีข้อความถึง (ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์) ปูติน ก็คือ ถอนตัวจากยูเครนซะ เพราะคุณจะแพ้" ออร์โปกล่าว

ผู้สังเกตการณ์ประเมินว่าผลการเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจจากฝ่ายซ้ายกลางที่นำโดยมาริน มาเป็นฝ่ายขวากลางที่มีเอียงไปในทางชาตินิยม อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ออร์โปจะต้องหาพรรคแนวร่วมเพื่อจัดตั้งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยที่ออร์โปได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อด้วยการกล่าวถึงประเด็นต่างๆ ที่รัฐบาลของเขาจะให้ความสำคัญ ได้แก่ การที่ฟินแลนด์จะเป็น "สมาชิกที่แข็งขันของสหภาพยุโรป" มีการพูดในเชิงสนับสนุนความสัมพันธ์กับนาโต รวมถึงพูดเรื่องทำให้เศรษฐกิจของฟินแลนด์เติบโต

ในแง่ของการหาพรรคร่วมรัฐบาลนั้น สื่อ CNBC ประเมินว่าพรรคอนุรักษ์นิยมของฟินแลนด์ (NCP) มีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยม (SDP) ในช่วงที่มีการหาเสียง ซึ่งเป็นไปได้ยากที่พรรค NCP จะเชิญชวนพรรค SDP มาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และมีความเป็นไปได้ที่ NCP จะจับมือกับพรรคขวาจัดอย่างพรรค Finns มากกว่าเพราะมีความคิดเห็นในทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ตรงกัน ถึงแม้ว่าจะมีความเห็นต่างกันในประเด็นโลกร้อนและประเด็นสหภาพยุโรปก็ตาม

มีการวิเคราะห์จากสื่อ Now This ว่าพรรคฝ่ายซ้ายกลางของมารินได้รับการชื่นชมในฐานะรัฐบาลที่แก้ปัญหา COVID-19 ได้ดี และเป็นประเทศสมาชิกอียูที่แสดงการต่อต้านรัสเซียที่ก่อสงครามรุนแรงยูเครน แต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้เป็นการต่อสู้กันในเรื่องเศรษฐกิจมากกว่า

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่พรรค Finns ทำได้ดีที่สุดประวัติศาสตร์ ภายใต้การนำของ ริกกา เพอร์รา ผู้ที่ขึ้นมาคุมบังเหียนของพรรคเมื่อปี 2564 และพรรคที่เป็นผู้แพ้อย่างหนักที่สุดในครั้งนี้คือพรรคระดับเล็กและพรรคระดับกลาง โดยเฉพาะพรรคเขียวและพรรคแนวร่วมฝ่ายซ้ายซึ่งเคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลในสมัยของมาริน


 

เรียบเรียงจาก

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Finland%E2%80%93NATO_relations

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net