Skip to main content
sharethis

'ก้าวไกล' ยันนโยบายใช้คำนำหน้าเพศตามความสมัครใจ เกิดขึ้นได้หากเคารพและเข้าใจสิทธิของผู้อื่น - ผุดไอเดียยุบรวม "คูคต-ลำสามแก้ว" เป็น "เทศบาลนคร"


ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล

16 ต.ค. 2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล แจ้งข่าวว่าธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึงนโยบายความเท่าเทียมที่จะผลักดันให้ใช้คำนำหน้าเพศตามความสมัครใจ นโยบายดังกล่าวเป็นการยืนยันว่าพรรคให้ความสำคัญในประเด็นความหลากหลายทางเพศ จากการผลักดัน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาอยู่ในสภาฯขณะนี้และก้าวต่อไปของพรรคก้าวไกลคือ การรับรองทุกเพศสภาพ และ คำนำหน้าตามสมัครใจ เปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างสองเพศ เพื่อให้อนาคตของกฎหมาย สิทธิและการคุ้มครองครอบคลุมต่อคนทุกเพศเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศต่อไป

แน่นอนว่าสังคมอาจมีคำถามว่าหากการใช้คำนำหน้าเพศตามความสมัครใจถูกใจจริงในสังคมจะส่งผลให้เกิดความสับสนยุ่งอยากหรือไม่ โดยธัญวัจน์ยืนยันว่า การรับรองเพศทุกเพศสภาพ จะเปลี่ยนแปลงข้อมูลประชากรศาสตร์จากเดิมที่มีเพียงแค่ชายหญิง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่มีประสิทธิภาพเนื่องจากข้อมูล 2 เพศ มองไม่เห็นความหลากหลาย หากมีข้อมูลประชากรศาสตร์ทุกเพศก็สามารถออกแบบนโยบายด้านสุขภาพ หรือการจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ

นโยบายคำนำหน้าตามสมัครใจ เป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในการแสดงออกทางเพศ ความสมัครใจคือเจตจำนงที่จะดำรงชีวิตในอัตลักษณ์ใด ส่วนปัญหาเรื่องเอกสาร เรื่องการเดินทาง ระเบียบการแต่งกาย ที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพจะถูกแก้ไขให้หมายรวมถึงอัตลักษณ์ทางเพศ และเพศสภาพด้วย ปัญหาของบุคคลข้ามเพศ และเพศอื่น ให้สามารถแสดงออกในความเป็นอัตลักษณ์ทางเพศของตนผ่านคำนำหน้าได้ในเอกสารราชการต่าง ๆ รวมถึงการคุ้มครอง และสำหรับคนทุกเพศก็สามารถเลือกที่จะไม่แสดงคำนำหน้าในบัตรประชาชนได้ด้วย เช่นเดียวกับ กรุ๊ปเลือด อาชีพ ศาสนา ในบัตรประชาชนที่จะเลือกแสดงหรือไม่ก็ได้ ทั้งหมดนี้สามารถเกิดขึ้นได้หากเราเข้าใจและเคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่น ธัญวัจน์ระบุ

ซัดรัฐบาลจัดการน้ำล้มเหลว เตือนภัยสับสน

วิศรุต สวัสดิ์วร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. อุบลราชธานี เขต 1 พรรคก้าวไกล สะท้อนปัญหาการจัดการน้ำในลุ่มน้ำภาคอีสานของรัฐบาลว่า จังหวัดอุบลน้ำท่วมมาตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 1 เดือนกว่าแล้วที่คนอุบลต้องทนอยู่กับน้ำท่วม ระดับน้ำเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยชาวบ้านฟังการแจ้งเตือนภัยจากรัฐบาล แต่ระบบการเตือนภัยผิดพลาดสับสน จากเดิมที่บอกว่าน้ำท่วมไม่เกินปี 2545 ต่อมาประกาศเพิ่มเป็นไม่เกินปี 2562 แต่จนถึงปัจจุบันน้ำท่วมสูงกว่าปี 2562 แล้ว การพยากรณ์ที่ผิดพลาดทำให้ชาวบ้านต้องยกของขึ้นที่สูงทุกวัน ตามที่รัฐบาลพยากรณ์ใหม่ทุก 2 วัน

อีกทั้งการจัดการศูนย์อพยพในช่วงต้นของการเกิดน้ำท่วมว่า ไม่มีการเตรียมตัว แม้แต่ศูนย์อพยพที่ไม่ได้มาตรฐานคนยังแย่งกัน คนแย่งเต็นท์กัน กว่าจะตั้งหลักได้ น้ำท่วมถึงศูนย์อพยพจุดที่ 2 แล้ว ทั้ง ๆ ที่ระดับน้ำของจังหวัดอุบลเป็นมวลน้ำที่มาจากที่อื่น ควรจะคำนวณระดับน้ำได้ แต่รัฐบาลกลับไม่มีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า “จ.อุบลน้ำท่วมแทบทุกปี ควรมีแผนเตรียมอพยพและศูนย์อพยพล่วงหน้าไว้ให้พร้อม โดยพิจารณาจากสถานที่ราชการบางส่วน สนามกีฬา เพื่อใช้เป็นศูนย์อพยพที่ได้มาตรฐาน”

วิศรุตกล่าวเพิ่มเติมว่า อีกหนึ่งเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับประชาชนคือ ชาวบ้านที่อยู่ในน้ำมาแล้วกว่า 1 เดือน เงินหมดกระเป๋าแล้ว มูลค่าความเสียหายหอการค้าประมาณการไว้กว่า 10,000 ล้านบาท การคมนาคมและการทำมาหากินของประชาชนถูกตัดขาด อาชญากรรมในพื้นที่เริ่มเพิ่มขึ้น ในส่วนนี้พรรคก้าวไกลเสนอให้รัฐบาลใช้งบกลางโอนเงินช่วยเหลือให้ประชาชนในระหว่างน้ำท่วมเป็น “เบี้ย” น้ำท่วม ทันทีคนละ 3,000 บาท

“วงเงินล่าสุดที่รัฐบาลอนุมัติลงมาครัวเรือนละ 3,000 บาท ยังไม่เพียงพอแต่ดีกว่าไม่ได้ เรื่องเร่งด่วนในตอนนี้คือต้องทำให้เงินมาถึงมือประชาชนโดยเร็วที่สุด” วิศรุตกล่าว

สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอการแก้ปัญหาทั้งระบบ ว่าภาครัฐต้องมีเครื่องมือที่เป็นแบบจำลองคำนวณปริมาณน้ำและพื้นที่รับน้ำเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ในการรับมือกับมวลน้ำ ต้องระบุล่วงหน้าให้ได้ว่าพื้นที่ใดควร “สู้” “อยู่” หรือ “หนี” อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันโมเดลเหล่านี้เป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันเป็นปกติในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ประเทศไทยยังเพิ่งเริ่มนำมาใช้ในพื้นที่คันกั้นน้ำรอบกรุงเทพฯ เท่านั้น พร้อมตั้งคำถามดัง ๆ ถึงรัฐบาลว่าเรามีหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการน้ำอย่าง สทนช. แล้ว แต่ถ้ายังอยู่ภายใต้การบริหารงานของ รปภ. ที่มาขับเครื่องบิน ทำเป็นชี้โน่นนี่นั่นแล้วก็ไป ทิ้งปัญหาไว้เหมือนเดิม การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมยังวนเวียนไปกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเยียวยาช่วยเหลือแบบลูบหน้าปะจมูกเหมือนเดิม ปีหน้าฝนมาใหม่ก็ท่วมเหมือนเดิม ประชาชนเดือดร้อนกันต่อไปเหมือนเดิม เหมือนเดิมมากว่า 8 ปีแล้วนะแต่ปีนี้หนักหน่อยเพราะฝนมาก หากรักประชาชนจริงก็ช่วยพิจารณาตัวเองได้แล้ว

ผุดไอเดียยุบรวม "คูคต-ลำสามแก้ว" เป็น "เทศบาลนคร"

เชตวัน เตือประโคน ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล จ.ปทุมธานี เปิดเผยถึงการไปพบปะประชาชนในพื้นที่ พร้อมเสนอไอเดียแก้ปัญหา "น้ำท่วมซ้ำซาก" หน้าหมู่บ้านรินทร์ทอง ด้วยการ ยุบรวมเทศบาลเมืองคูคต กับเทศบาลเมืองลำสามแก้ว ซึ่งอยู่ใน ต.คูคต เป็น "เทศบาลนคร" เพียงเทศบาลเดียว ชี้เมื่อกระจายอำนาจเต็มสูบ ผู้บริหารท้องถิ่นไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้อีกต่อไป

เชตวัน เปิดเผยว่า มีนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ติดต่อมาขอร่วมเดินในพื้นที่เพื่อสำรวจปัญหาและนำเสนอรายงาน สุดท้ายลงตัวกันที่หมู่บ้านรินทร์ทอง ต.คูคต อ.ลำลูกกา เพื่อไปดูปัญหาและคุยกับพี่น้องประชาชนเรื่องน้ำท่วม เพราะถนนหน้าหมู่บ้านรินทร์ทอง ฝนตกหนักทีไรน้ำท่วมทุกที โดยผู้ประกอบการสะท้อนว่า อยู่มา 30 กว่าปีแล้ว ไม่เคยมีการแก้ไข พร้อมทั้งย้อนถามตนว่าถ้าได้เป็น ส.ส.แล้วจะแก้ได้หรือไม่ จึงได้อธิบายเรื่องของอำนาจหน้าที่ อย่างในกรณีนี้ ถ้าเป็น ส.ส.ใช้อำนาจนิติบัญญัติ สิ่งที่ตั้งใจจะทำก็คือ การผลักดันให้เกิดการยุบรวมเทศบาล จากที่ปัจจุบันนี้ ต.คูคต แบ่งเป็น 2 เทศบาลคือ เทศบาลเมืองคูคต กับเทศบาลเมืองลำสามแก้ว ตนมีแนวคิดยุบรวมให้เป็นเทศบาลนครเพียงเทศบาลเดียว เพราะประชากรรวมประมาณ 110,000 คน สภาพความเป็นเมืองที่ผู้คนหนาแน่น และลักษณะพื้นที่ซึ่งคล้ายๆ กัน การแยกบริหารอย่างที่เป็นอยู่นั้น ยิ่งเป็นปัญหา

"หลายคนอาจจะถามว่า แล้วเกี่ยวอะไรกับน้ำท่วมหมู่บ้านรินทร์ทอง? คำตอบคือ เพราะถนนหน้าหมู่บ้านรินทร์ทองนั้น เป็นรอยต่อระหว่างทั้ง 2 เทศบาล ฟุตบาตฝั่งหนึ่งคือเทศบาลเมืองคูคต ขณะที่ฟุตบาตอีกฝั่งหนึ่งคือเทศบาลเมืองลำสามแก้ว แล้วเมื่อเทศบาลฝั่งหนึ่งพัฒนาพื้นที่ ยกถนนให้สูงกว่า น้ำก็ย่อมไหลลงสู่ที่ต่ำกว่า มันก็เลยทำให้อีกฝั่งท่วมเป็นประจำ ดังนั้น ถ้ายุบรวมกันเป็นเทศบาลนคร เทศบาลเดียว จะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เพราะผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ที่มาพร้อมกับนโยบายกระจายอำนาจเต็มสูบอย่างที่ผมพูดเสมอๆ คือ มีภารกิจหน้าที่ชัดเจน มีงบประมาณ มีบุคคลากร จะปฏิเสธความรับผิดชอบเรื่องนี้ไม่ได้อีกแล้ว" เชตวัน กล่าว

เชตวัน ระบุด้วยว่า ตนมีแนวคิดแบบนี้ มีเจตจำนงที่มุ่งมั่นที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น เพราะมั่นใจว่าเป็นจินตนาการใหม่ๆ ที่จะมาแก้ปัญหาได้มากกว่าการปะ ผุ ขุด ลอก สูบน้ำเป็นครั้งๆ คราวๆ นี่คือการทำสิ่งที่หลายคนบอกว่า "ความผิดปกติ" ชาชินแล้ว และมันก็เป็นอย่างนี้ ให้กลายเป็น "ความปกติ" เป็นไปได้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า "การเมืองแห่งความเป็นไปได้" ที่เราพยายามพูดมาตลอด และก็ไม่ได้ห่วงหรอกว่า เมื่อพูดเรื่องนี้ไปแล้ว จะมีพรรคการเมืองไหน หรือผู้สมัครคนใดมาลอกเอานโยบายนี้ไปใช้ ไปพูดต่อ เพราะที่สุดแล้ว เราต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ยิ่งมีหลายๆ คนเอาไปพูด เอาไปผลักดันให้เกิดขึ้น แล้วประโยชน์ตกกับประชาชน อย่างนี้จะหวงแนวคิด หวงนโยบายนี้ไว้ทำไม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net