Skip to main content
sharethis

‘วาสนา’ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีน เผยผ่านไลฟ์สดมองกรณี ‘แนนซี เพโลซี’ ประธานสภาฯ สหรัฐฯ เยือนเกาะไต้หวัน เป็นการท้าทายจีน สะท้อนอิทธิพลที่ตกต่ำของรัฐบาลปักกิ่งบนเวทีโลก และการเยือนครั้งนี้อาจถึงขั้นสั่นคลอนเก้าอี้ผู้นำ ‘สีจิ้นผิง’     

 

2 ส.ค. 2565 สืบเนื่องจากวันนี้ (2 ส.ค.) แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทน ประเทศสหรัฐฯ เดินทางถึงกรุงไทเป เกาะไต้หวัน เมื่อเวลา 22.44 น. ตามเวลาท้องถิ่น 

สำหรับการเยือนครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และเป็นการเยือนท่ามกลางการเตือนของจีนที่ประกาศกร้าวว่า สหรัฐฯ จะต้องรับผิดชอบและรับผลที่จะตามมา จากการบั่นทอนผลประโยชน์ด้านความมั่นคงทางอธิปไตยของจีน

แต่ก่อนที่เพโลซี จะเดินทางถึงไต้หวันไม่นาน วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีน ให้ความเห็นผ่านแพลตฟอร์มยูทูบ ‘Wasana Wongsurawat’ ต่อกรณี แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวัน ซึ่งเธอมองว่าเป็นการท้าทายอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะไต้หวัน ของสาธารณรัฐประชาชนจีน 

“ถ้าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนจริงๆ จีนก็ควรจะต้องสามารถปิดสนามบิน หรือว่าบอกศุลกากร บอกวิทยุการบิน บอกไต้หวันว่าไม่อนุญาตให้เครื่องบินของเพโลซี ร่อนลงจอด และห้ามไม่ให้คนนั้นคนนี้เข้าประเทศ …ถ้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลจีนจริงๆ รัฐบาลจีนควรมีสิทธิ์ที่จะทำเช่นนั้นได้”

“มันก็เป็นการท้าทาย แสดงให้เห็นว่าไต้หวันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีนจริงๆ เพราะว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิง บอกว่าห้ามไปไต้หวัน แต่ก็ยังไปได้ …สิ่งนี้ก็จะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าไต้หวัน ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีน” วาสนา กล่าว 

วาสนา ตั้งข้อสังเกตต่อว่า การเมืองโลกตอนนี้มีความเกรงใจประเทศจีนน้อยลงมาก ถ้าเทียบกับเมื่อก่อน และมองนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในยุค โจ ไบเดน มีความแข็งกร้าวมากกว่ายุคโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งแม้ว่าสมัยทรัมป์ จะมีนโยบายแข็งกร้าวต่อจีนมากแล้ว 

“เจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่าง แนนซี เพโลซี เดินทางไปเยือน และยืนยันเดินทางเยือน ก็เป็น statement ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เกรงใจรัฐบาลจีนมาก” อาจารย์จากอักษรฯ จุฬาฯ ระบุ และมองว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้จีนเผชิญการท้าทายมากขึ้นมาจากวิกฤตทางเศรษฐกิจของจีนที่กำลังดำเนินอยู่ และอิทธิพลในเวทีโลกของจีนตกต่ำลง ทำให้ประเทศโลกตะวันตกกล้าท้าทายมากขึ้น 

วาสนา ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การเดินทางของเพโลซี มาในฐานะประธานสภาฯ ซึ่งไม่ใช่ประมุขของรัฐ ‘โจ ไบเดน’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สะท้อนอย่างมีนัยว่า เพโลซี มีเป้าประสงค์ของตัวเองในการเยือนครั้งนี้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความเห็นเดียวกับโจ ไบเดน 

วาสนา ระบุว่า เพโลซี มีแนวคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์มาอย่างยาวนาน หากย้อนไปเมื่อ 2534 เธอเป็น 1 ใน 3 ตัวแทนพรรครีพับลิกกัน และเดโมแครต ไปประท้วงโศกนาฏกรรมสังหารหมู่ที่เทียนอันเหมิน (2532) และเธอโดนควบคุมตัวออกไปด้วย เพโรซี เป็นคนที่มีจุดยืนแข็งกร้าวต่อจีน คัดค้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีนมาโดยตลอด และมีความเห็นว่าสหรัฐฯ ควรคว่ำบาตรทางการค้าต่อรัฐบาลปักกิ่ง เพื่อให้จีนเห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชน

ท้ายสุด วาสนา มองว่า การเดินทางเยือนของเพโรซี จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำของสีจิ้นผิง มากกว่าตัวประเทศ และอาจส่งผลกระทบต่อการเป็นผู้นำประเทศของสีจิ้นผิง ในภายภาคหน้า แม้ว่าไม่นานมานี้สภาของจีน เพิ่งเห็นชอบให้สีจิ้นผิง เป็นผู้นำต่อในปีหน้าก็ตาม 

"ถ้าเกิดสถานการณ์ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ และจีนกลายเป็นตัวตลกของนานาชาติ ถึงขั้นผู้นำระดับสูงมาไต้หวัน และจีนก็โวยวายตั้งเยอะตั้งแยะก็ไม่มีใครฟัง ไม่มีใครตัดสินใจ ทุกคนก็ดำเนินการกันไป จีนอุตส่าห์คว่ำบาตรทางการค้าบางส่วนแล้วก็ยังไม่มีผล ไม่มีใครสนใจ ทุกคนก็หัวเราะจีนต่อไป ทั้งหมดจะนำมาสู่สถานภาพของสีจิ้นผิง ที่ย่ำแย่ลงกว่าที่เป็นอยู่ และไม่มีใครรู้ว่าจะนำมาสู่อะไร" อาจารย์จากจุฬาฯ ทิ้งท้าย

สำหรับการเดินทางเยือนไต้หวันของเพโลซีในครั้งนี้ แต่เดิมไม่ได้ระบุไว้ในกำหนดการเดินทางเยือนเอเชียของประธานสภาฯ สหรัฐฯ มีเพียงแค่ 4 ประเทศเท่านั้นที่เพโลซี ต้องการเยือน คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ตามลำดับ เพื่อกระชับความร่วมมือในด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจในอินโด-แปซิฟิก

ย้อนมองประวัติศาสตร์: จีน มีอธิปไตยเหนือไต้หวัน - สหรัฐฯ ทำผิดหรือไม่ 

จากประเด็นที่มีการถกเถียงอย่างกว้างขวางว่า ประเทศจีนมีสิทธิเหนือเกาะไต้หวัน และการเดินเกมของเพโลซี ผิดหรือไม่นั้น ต้องย้อนดูประวัติศาสตร์จีนในช่วงสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

จุดเริ่มแบ่งเป็น 2 ขั้ว

วาสนา อธิบายว่า ช่วงหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 เมื่อกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ ในประเทศจีนได้เกิดสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ นำโดยเหมาเจ๋อตุง และจีนคณะชาติ หรือก๊กมินตั๋ง นำโดย นายพลเจียงไคเช็ก  

ด้วยความบอบช้ำจากสงครามรบพุ่งกับญี่ปุ่นของก๊กมินตั๋ง จึงนำมาสู่ความปราชัยต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนในสงครามกลางเมือง และเหมาเจ๋อตุง สถาปนาประเทศ ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน’ ขึ้นมาอย่างเป็นทางการที่ประตูเทียนอันเหมิน หรือจตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2492 และสถาปนาปักกิ่งเป็นเมืองหลวง

ขณะที่จีนคณะชาติได้ถอยไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่เกาะฟอร์โมซา หรือไต้หวัน และสถาปนาสาธารณรัฐจีน ขึ้นมา และตั้งไทเปเป็นเมืองหลวง แปลว่าสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งตั้งขึ้นมาทีหลัง แต่เดิมมันมีจีนเดียว แต่พอตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นมา เลยมี 2 จีน ที่แข่งกันเป็นประเทศอยู่

แม้ว่าก่อนหน้านี้ จีนแผ่นดินใหญ่จะพยายามเดินทางข้ามช่องแคบไปยึดไต้หวันหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ เพราะว่าติดกองทัพเรือสหรัฐฯ กองเรือที่ 7 มาประจำการขวางช่องแคบ ซึ่งวาสนา ระบุว่า สมัยนั้น จีนก็ตำหนิสหรัฐฯ มาโดยตลอดว่าสหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศจีน 

จีนเดียว ประวัติศาสตร์เพิ่งสร้าง

สถานการณ์การเมืองในยุคสงครามเย็นนั้น จีนเดียวที่สหประชาชาติ หรือ UN ให้การรับรองมาโดยตลอดในช่วงแรกคือ ‘สาธารณรัฐจีน’ ของเจียงไคเช็ก ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะฟอร์โมซา ตั้งแต่ 2492 และหลังจากนั้นนับ 10 ปี นอกจากนี้ สาธารณรัฐจีนยังเป็นสมาชิกยูเอ็น และมีที่นั่งในคณะมนตรีสภาความมั่นคงในสหประชาชาติ ร่วมกับอีก 3 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต กลับกัน นานาชาติก็จะมองว่า รัฐบาลของเหมาเจ๋อตุง เป็นรัฐบาลผิดกฎหมาย

อาจารย์จากจุฬาฯ เผยต่อว่า เหตุที่โลกตะวันตกให้ความสำคัญกับไต้หวันมากนั้น เนื่องมาจากพรรคก๊กมินตั๋ง เป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดที่ยืนหยัดต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นตลอดทั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 จนทำให้กองทัพก๊กมินตั๋งส่วนใหญ่ย่อยยับลงไปมาก โดยแทบไม่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร และเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้กองทัพก๊กมินตั๋ง ต้องปราชัยในสงครามกลางเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์   

“ก็จะเข้าใจได้ว่าทำไมสหรัฐอเมริกาถึงรู้สึกว่ามีพันธะมีภาระผูกพันที่ต้องดูแลไต้หวัน นอกจากสถานการณ์สงครามเย็น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว โลกก็แบ่งออกเป็นค่ายของเสรีนิยม กับคอมมิวนิสต์ สหรัฐฯ ต้องเป็นผู้นำของโลกเสรี ต่อต้านการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ นำโดยสหภาพโซเวียต และทำให้สหรัฐฯ ต้องสนับสนุนจีนไม่คอมมิวนิสต์” วาสนา กล่าว 

สหประชาชาติยอมรับเฉพาะไต้หวันเป็นจีนเดียวเป็นเวลานานหลาย 10 ปี จนกระทั่งเมื่อถึงยุคประธานาธิบดีสหรัฐฯ ริชาร์ด นิกสัน ซึ่งมีนโยบายสำคัญคือ ‘ลัทธินิกสัน’ (Nixon Doctrine) หรือการถอนทหารออกจากสงครามเวียดนามในปี 2512 

เมื่ออยากถอนทหาร แต่ไม่อยากเสียหน้าว่าถอนเพราะรบแพ้ นิกสัก จึงเล่นเกมการทูตโดยให้เฮนรี คิสซิงเจอร์ ทูตสหรัฐฯ ไปเจรจากับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งกำลังระหองระแหงกับสหภาพโซเวียต มาเป็นพันธมิตรช่วยสกัดกั้นอิทธิพลคอมมิวนิสต์ ‘โซเวียต’ โดยจะให้จีนช่วยสนับสนุนเขมรแดงในการสกัดอิทธิพลเวียดนามเหนือ เพื่อไม่ให้เกิดทฤษฎีโดมิโนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และต่อให้เกิดทฤษฎีโดมิโนขึ้นมาจริง สหรัฐฯ ก็จะมองว่าคนที่ทำให้เกิดชึ้นคือจีน ไม่ใช่สหรัฐฯ ซึ่งภายหลัง ก็ดูเหมือนจะหลอกใครไม่ได้เลย เพราะมันชัดเจนว่าสหรัฐฯ ถอนทัพ เพราะว่าแพ้ในสงครามเวียดนาม  

ขณะที่จีนก็ยอมรับเป็นพันธมิตรสหรัฐฯ เพื่อแลกกับที่นั่งสมาชิกในสหประชาชาติ และที่นั่งในสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ แทนตำแหน่งของไต้หวัน ซึ่งวาสนา ระบุว่า นี่เป็นการสะท้อนว่า ‘จีนเดียว’ เป็นสิ่งที่เพื่งเกิดหลังปี 2514 และหลังจากนั้น หลายประเทศรวมถึงไทย ในสมัยคึกฤทธิ์ ปราโมทย์ จึงเริ่มสานสัมพันธ์กับสาธาณรัฐประชาชนจีน 

ดังนั้น ประเทศไหนจะได้รับการยอมรับ หรือไม่ได้รับการยอมรับ เป็นเรื่องที่ลื่นไหลขึ้นอยู่สถานการณ์ตัวแปรหลายอย่าง แต่แม้ว่าไต้หวัน จะไม่มีที่นั่งในสหประชาชาติแล้วก็ตาม แต่สหรัฐฯ ยังคงช่วยเหลือไต้หวันอยู่ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะไม่มีใครเดินทางไปไต้หวันก็ตาม แต่ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ปธน.ไต้หวัน ปธน.ไต้หวันทุกคนยังต้องเดินทางไปที่กรุงวอชิงตันดีซี เพื่อพบปะกับ ปธน.สหรัฐฯ 

เมื่อไต้หวัน เป็นประชาธิปไตย และมีการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือ Democratic Progressive Party - DPP ของไช่อิงเหวิน ชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคแรก ทีนี้พรรคนี้ต้องการเอกราชไต้หวันไม่ต้องการเป็นสาธารณรัฐจีน เพราะก่อนที่เจียงไคเช็กจะย้ายมาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ก็มีคนอาศัยอยู่ในนั้นเยอะมาก ซึ่งประชากรส่วนหนึ่งย้ายมาจากจีนในช่วงราชวงศ์หมิง เมื่อหลายร้อยปีก่อน และมีกลุ่มชนพื้นเมืองของไต้หวันที่อาศัยอยู่ก่อนด้วย แต่ว่าตอนที่เจียงไคเช็กเข้ามาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ก็มีประชาชนจีนจำนวนมากอพยพตามเจียงไคเช็ก ซึ่งส่งผลให้ประชากรบนเกาะไต้หวัน เพิ่มจาก 2 ล้านคน เป็น 4 ล้านคน 

แต่ว่าชาวไต้หวันหลายคนรู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นชาวจีน และไม่เคยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนมาก่อน ดังนั้น มีคนจำนวนมากที่อยู่ในไต้หวัน ต้องการสนับสนุนพรรค DPP ของไช่อิงเหวิน และต้องการเป็นประเทศไต้หวัน ดังนั้น ก็จะบอกว่า พรรค DPP ไม่เห็นด้วยกับนโยบายจีนเดียว แต่กลับกัน พรรคก๊กมินตั๋ง หรือจีนคณะชาตินั้น ยังยึดมั่นในนโยบายจีนเดียวอยู่ โดยพวกเขาเชื่อว่าสักวันหนึ่งจะรวมประเทศ และต้องรวมประเทศประชาธิปไตย

อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬา มองว่าสถานการณ์การเมืองในไต้หวันประหลาดมาก เพราะหลายคนเข้าใจว่าพรรคก๊กมินตั๋งโปรจีนเดียว และต้องการที่จะคุยกับรัฐบาลปักกิ่ง เพื่อที่จะรวมประเทศกัน แม้ว่าพรรคก๊กมินตั๋ง ของเจียงไคเช็ก ที่จะเคยรบกับคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง และทำให้ต้องย้ายมาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่นี่ก็ตาม แต่ว่าท้ายที่สุดแล้ว พรรคก๊กมินตั๋ง เห็นด้วยกับพรรคคอมมิวนิสต์ ว่าต้องเป็นจีนเดียว แม้ว่าคนละแนวคิด

ดังนั้น วาสนา มองว่าเป็นเรื่องซับซ้อนและถกเถียงกันได้ตลอดว่าไต้หวันเป็นของจีนหรือไม่ และจีนมีสิทธิห้ามไม่ให้ใครไปหรือไม่ และสหรัฐฯ ที่ทำอยู่นี่ทำถูกไหม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net