Skip to main content
sharethis

สถิติชี้ 'เจ้าหน้าที่ดับเพลิง' ในสหรัฐฯ เสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็จสูงกว่าอาชีพอื่นๆ ถึง 14% งานศึกษาของมหาวิทยาลัยดุ๊กพยายามเก็บข้อมูลการสัมผัสสารเคมี 'PFAS' หรือ 'สารเคมีตลอดกาล' เพื่อช่วยไขคำตอบความเสี่ยงของอาชีพนี้ พบสัมผัสสารเคมีในขณะปฏิบัติหน้าที่ สูงกว่าคนทั่วไป


ที่มาภาพประกอบ: Los Angeles Fire Department (CC BY-NC-ND 2.0)

27 มิ.ย. 2565 ในสหรัฐอเมริกามีสถิติชี้ว่า 'เจ้าหน้าที่ดับเพลิง' เสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็จสูงกว่าอาชีพอื่นๆ ถึงร้อยละ 14 ซึ่งก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่แน่ใจถึงต้นเหตุการเกิดโรคมะเร็งในหมู่ผู้ประกอบอาชีพเจ้าหน้าที่ดับเพลิง

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้แผนกดับเพลิงเมืองเดอรัม ได้ติดต่อขอให้มหาวิทยาลัยดุ๊กเพื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับการสัมผัสสารเคมีของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง โดยใช้สายรัดข้อมือ (Wristbands) ราคาไม่แพงในการวัดช่วยวัดการดูดซับสารปนเปื้อนระหว่างการปฏิบัติหน้าที่

เจสสิก้า เลวาซเซอร์ นักศึกษาระดับปริญญาเอก หัวหน้าโครงการวิจัยนี้กล่าวว่าเป็นครั้งแรกในประเภทนี้ที่ใช้สายรัดข้อมือซิลิโคนเหล่านี้เพื่อทดสอบสารเคมี 'PFAS' (Perfluoroalkyl and Polyfluoroalkyl Substances) หรือ 'สารเคมีตลอดกาล' (Forever Chemicals) [ข้อมูลเพิ่มเติม - PFAS เป็นกลุ่มสารเคมีที่ใช้แพร่หลายในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม อาทิ บรรจุภัณฑ์อาหาร และเสื้อผ้า ด้วยเพราะมีความเสถียร ทำให้ค่อยๆ สะสม-คงอยู่ในสภาพแวดล้อมเป็นเวลานานหลักร้อยปี]

"สายรัดข้อมือซิลิโคนจะดูดซับสารประกอบอินทรีย์กึ่งระเหยที่คุณสัมผัสได้ในขณะที่คุณออกไปยังที่ต่างๆ" เลวาซเซอร์ กล่าว

เจ้าหน้าที่ดับเพลิงมักมีแบบแผนการสัมผัสสาร PFAS ที่ค่อนข้างแตกต่างไปจากประชากรทั่วไป การใช้สายรัดข้อมือนี้จึงอาจจะช่วยตอบคำถามค้างคาเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากงานของพวกเขา

"พวกเราส่วนใหญ่ไม่เดินเข้าไปในอาคารที่ถูกเพลิงไหม้" เลวาซเซอร์ กล่าว "ดังนั้น แม้ว่าจะมีสารเคมีที่เราไม่อาจสัมผัสได้ เพราะมันอยู่ในกำแพงที่ไหนสักแห่ง แต่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงก็ต้องสัมผัสกับสารเคมีนั้น"

ในระหว่างการศึกษาเจ้าหน้าที่ดับเพลิง 20 คน จากแผนกดับเพลิงเมืองเดอรัม โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกสวมสายรัดข้อมือขณะทำงาน อีกกลุ่มสวมสานรัดข้อมือในช่วงวันหยุด จากนั้นได้นำสายรัดข้อมือของทั้ง 2 กลุ่มไปทำการทดสอบเพื่อหาสารเคมีต่างๆ ซึ่งรวมทั้ง 'PFAS' และ 'PAH' (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons ซึ่งสารเคมีเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็ง ผลการทดสอบพบว่าสายรัดข้อมือในกลุ่มที่ทำงานมีระดับสารเคมีสูงกว่ากลุ่มที่สวมในช่วงวันหยุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องทำงานผจญเพลิง

เลวาซเซอร์กล่าวว่าข้อค้นพบจากสายรัดข้อมือเหล่านี้เป็นการพัฒนาที่น่าตื่นเต้นในด้านความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน และสักวันหนึ่งอาจช่วยให้คนทำงานในทุกอาชีพมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสี่ยงของพวกเขาในที่ทำงาน

"เราหวังว่าในการทำความเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ดับเพลิงมีความเสี่ยงต่างกันอย่างไรในขณะที่พวกเขาอยู่ในที่ทำงาน จะทำให้เราเข้าใจได้ดีขึ้นว่าทำไมอาชีพของพวกเขาจึงมีความเสี่ยงจากโรคมะเร็ง" เลวาซเซอร์ กล่าว

อย่างไรก็ตามการศึกษาในอนาคตอาจจะต้องขยายจำนวนประชากรที่ทำการทดสอบเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

อนึ่งปัจจุบัน ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้พิจารณาใช้ 'มาตรการป้องกันไว้ก่อน' กล่าวคือการจำกัดการใช้งานสารเคมีที่เป็นอันตราย ออกกฎระเบียบเพื่อแบนการใช้งานสารเคมี PFAS ในทุกกรณี และหาทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยกว่า

โดยแต่ละมลรัฐในสหรัฐฯ ก็ได้เริ่มแบนการใช้สารเคมี PFAS 'ในบางการใช้งาน' ไม่ว่าจะเป็นในผลิตภัณฑ์บรรจุอาหาร และโฟมดับเพลิง ส่วนบางธุรกิจอย่างธุรกิจค้าปลีกอาหารกับแคมเปญ Mind the Store ได้เริ่มเคลื่อนไหวจัดการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการหันมาใช้ทางเลือกอื่นแทนสารเคมี PFAS อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้บรรจุอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่า เช่นเดียวกับที่ร้านค้าปลีก 18 ที่ อาทิ Taco Bell และ McDonald’s ทั่วทั้งสหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นที่จะยุติหรือลดการใช้ลง ทว่ายังจำเป็นต้องผลักดันให้มี 'ระเบียบข้อบังคับของรัฐบาลกลาง' (federal regulations) ที่จะป้องกันการใช้กลุ่มสารเคมี PFAS และสารเคมีอันตรายอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีนี้ที่อาจสะสมในน้ำนมแม่ผ่านสินค้าอุปโภคบริโภครวมถึงในน้ำดื่ม


ที่มา
Firefighters are exposed to higher levels of 'forever-chemical' on the job, study shows (Kelly Kenoyer, WHQR, 31 May 2022)
จำเป็นต้องยกเลิกการใช้สารเคมี PFAS ‘ในทุกกรณี’ เมื่อการศึกษาล่าสุดพบสารเคมี PFAS ในน้ำนมแม่ (Thiraphon Singlor, SDG Move, 12 January 2022) 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net