Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วันที่ 27 มีนาคมนี้จะเป็นวันคล้ายวันเกิดครบ 89 ปี ของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ “ส. ศิวรักษ์”    ผู้มีสมญานาม “ปัญญาชนสยาม หมายเลข 10” ในความคิดผมบทบาทที่แสดงถึงความเป็นปัญญาชนสยามของ ส. ศิวรักษ์ คือการที่เขาแสดงให้เห็นถึงความรอบรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาและสถาบันกษัตริย์ ขณะเดียวกันก็วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาเชิงอุดมการณ์และโครงสร้างของสถาบันดังกล่าว และเสนอทางออกว่าสองสถาบันนั้นควรปรับตัวให้สอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่อย่างไร โดยยังคงรักษาคุณค่าบางอย่างที่มีประโยชน์เอาไว้

แน่นอนว่า ความคิด ข้อเสนอ และบทบาทการเคลื่อนไหวของ ส. ศิวรักษ์อาจมีทั้งคนที่เห็นด้วยและเห็นแย้ง หรือกระทั่ง “ด่า” ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาและถกเถียงกันได้ แต่การเสนอความรู้ ความคิด และการวิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนาและสถาบันกษัตริย์มากว่าครึ่งศตวรรษ ด้วยความหวังที่จะเห็นสถาบันทั้งสองปรับตัวให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย และปรารถนาจะเห็นพุทธธรรมมีคุณค่าต่อชีวิตและสังคมอย่างสมสมัย นับว่าเป็น “เอกลักษณ์ที่โดดเด่น” ของเขาที่ต่างจากปัญญาชนคนอื่นๆ ในบ้านเรา

เฉพาะที่เกี่ยวกับพุทธศาสนานั้น ยากที่จะหาใครในสยามประเทศ ไม่ว่าพระหรือฆราวาส (แม้เคยบวชเรียนมานาน) ที่รอบรู้พุทธศาสนาได้ครอบคลุมทุกมิติเทียบเท่ากับ ส. ศิวรักษ์ ทั้งในแง่คำสอน คัมภีร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม โครงสร้างสถาบันสงฆ์ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา ไปจนถึงเรื่องราวของพระสงฆ์และบุคคลสำคัญทางพุทธศาสนาของสยามตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน รวมทั้งนิกายต่างๆ ของพุทธศาสนา และบุคคลสำคัญทางพุทธศาสนาและต่างศาสนาในระดับนานาชาติ เขาก็รู้จักพระและฆราวาสเหล่านั้นแบบเข้าถึงงาน ความคิด และสัมผัสถึงตัวแบบมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน หาได้ยากที่จะมีผู้ที่รู้และมีบทบาทเกี่ยวกับพุทธศาสนาได้ครอบคลุมขนาดนี้ ส่วนมากจะรู้ หรือเก่งเป็นเรื่องๆ เท่านั้น

หากจะพูดถึงความคิด บทบาท และวิถีชีวิตของ ส. ศิวรักษ์ อาจกล่าวได้ว่าเขาคือ “ปัญญาชนชาวพุทธ” ที่เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ แต่เขากลับไม่เคยปรากฏตัวบนเวทีของงาน “วิสาขบูชาโลก” ในประเทศไทยอันเป็นที่ชุมนุมของบรรดาผู้นำชาวพุทธและปัญญาชนพุทธนานาชาติเลย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า “เจ้าภาพ” คือคณะสงฆ์ และมหาวิทยาลัยสงฆ์มองเขาเป็น “คนนอก” ใช่หรือไม่

อันที่จริง แม้ ส.ศิวรักษ์จะให้ความสำคัญกับพุทธศาสนากระแสรอง แต่ในวิถีชีวิตจริงเขาก็ยังรักษาปฏิสัมพันธ์กับพระสงฆ์ในกระแสหลัก เช่น มักจะมีพระภิกษุแวะเวียนไปสนทนากับเขาที่บ้านบ่อยๆ หรือตัวเขาเองก็มักจะไปพบปะพระสงฆ์ที่เขานับถือ หรือไปทำกิจกรรมทางศาสนาในวัดที่เขาเคยบวชเณรเสมอต้นเสมอปลายมายาวนาน นี่อาจเรียกได้ว่าเขายังรักษาบทบาท “อุบาสก” ตามคติดั้งเดิมเอาไว้ด้วย

ความเป็นปัญญาชนพุทธหรืออุบาสกที่ชัดเจนอีกอย่างคือ ส. ศิวรักษ์เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดและนิพพาน เขาเชื่อว่ามนุษย์สามารถฝึกตนเพื่อเปลี่ยนความโลภให้เป็นความเสียสละแบ่งปัน เปลี่ยนความโกรธให้เป็นความเมตตากรุณา และเปลี่ยนความหลงหรืออวิชชาให้เป็นปัญญาได้ ขณะเดียวกันเขาก็มองการถือพุทธศาสนาอย่างวิพากษ์ 

เช่น เขาชวนคิดว่าไม่จำเป็นต้องเชื่อทุกสิ่งที่คัมภีร์บอกว่าเป็นคำสอนพุทธะก็ได้ หรือไม่จำเป็นต้องนับถือพุทธะเลยก็ได้ หากเราเข้าใจ “ความเป็นมนุษย์” และรู้วิธีฝึกจิตหรือภาวนาให้สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับโลกด้วยปัญญา ขณะเดียวกันเราควรมีใจเปิดกว้าง อดกลั้น หรือมีขันติธรรมต่อความแตกต่างทางศาสนา และความเชื่อแบบไม่มีศาสนาด้วย 

ส่วนการวิจารณ์บทบาทพระสงฆ์, สถาบันสงฆ์หรือมหาเถรสมาคม และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาของ ส. ศิวรักษ์ ก็เป็นการวิจารณ์เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นมากกว่าที่จะต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน เช่น เขาไม่เคยเสนอให้ “แยกศาสนาจากรัฐ” ตามแนวทางการเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางการเมือง (political secularization) และการเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางสังคม (social secularization) อย่างชัดเจน พูดอีกอย่าง แนวทางดังกล่าวไม่ใช่ “จุดยืน” ในการวิพากษ์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาของเขา แม้ว่าการให้ความสำคัญต่อพุทธศาสนากระแสรองของเขาจะมีนัยสำคัญสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางสังคมก็ตาม อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่เคยปฏิเสธความคิดเรื่องแยกศาสนากับรัฐอย่างชัดเจนเช่นกัน 

พูดให้ชัดคือ ส. ศิวรักษ์มองว่า สถาบันสงฆ์หรือมหาเถรสมาคมมีโครงสร้างอำนาจแบบเผด็จการ และเป็นเครื่องมือตอบสนองอุดมการณ์ทางการเมืองของชนชั้นปกครองฝ่ายกษัตริย์นิยมมายาวนาน ซึ่งขัดกับรูปแบบและวัฒนธรรมของสังฆะตามที่บรรยายไว้ในคัมภีร์ ที่มีมิติของเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ และการเคารพเสียงข้างมากที่ไปกันได้กับประชาธิปไตยมากกว่า มุมมองนี้เขาอ้างอิงการตีความของ ดร. อัมเบดการ์ ประธานร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอินเดียที่ตีความพุทธศาสนาสนับสนุนความเท่าเทียม และประชาธิปไตย

ความคิดของ ส. ศิวรักษ์จะหมดอายุไปตามวัยหรือไม่? คงไม่ใช่เรื่องที่จะตอบได้ง่ายๆ กว่าครึ่งศตวรรษที่เขาชี้ให้เห็นปัญหาของสถาบันสงฆ์ และสถาบันกษัตริย์ว่ามีส่วนไหนบ้างที่ขัดกับประชาธิปไตย และควรปรับปรุงให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยอย่างไรบ้าง ยิ่งวันเวลาผ่านไป เราก็ยิ่งได้เห็น “ความจริง” ของปัญหาตามที่เขาพูดต่อเนื่องมายาวนานชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ เพราะแทนที่สองสถาบันจะปรับตัวตามข้อเสนอของเขา กลับปรับตัวไปในทางย้อนยุคมากขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดข้อเสนอ “ยกเลิก 112” และ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” โดยคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน

จริงที่ว่า ส. ศิวรักษ์ถูกวิจารณ์และด่าเรื่องจุดยืนในความคิดทางการเมืองมากเป็นพิเศษ ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 จนถึงปัจจุบัน เพราะขณะที่เขายืนยัน “ประชาธิปไตย” เขากลับยอมรับรัฐประหาร และใช้วาทกรรม “เผด็จการโดยธรรม” เป็นทางออกในสถานการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งในแง่นี้ เขาไม่ต่างจากปัญญาชนพุทธที่เป็นพระสงฆ์และฆราวาสที่ใช้หลักศีลธรรมพุทธมาเป็นเหตุผลในการตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งมักจะเกิดปัญหาความไม่คงเส้นคงวาในการยืนยันหลักการและวิถีทางประชาธิปไตย

แต่ในแง่ “เสรีภาพ” ทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก ชัดเจนว่า ส. ศิวรักษ์สนับสนุนเสรีภาพดังกล่าวของทุกคน ทุกฝ่าย ไม่ว่าเขาจะเห็นด้วยกับความคิดของบุคคลหรือฝ่ายต่างๆ เหล่านั้นหรือไม่ก็ตาม เช่น ข้อเสนอเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์, ยกเลิก 112, แยกศาสนาจากรัฐ แม้เขาอาจไม่เห็นด้วยกับความคิดของบุคคลหรือกลุ่มที่เสนอเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด แต่เขาก็สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างคงเส้นคงวาตลอดมา อย่างไรก็ตาม เสรีภาพดังกล่าวจะยังคงมีได้ หรือเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อเรายืนยันหลักการและวิถีทางประชาธิปไตยอย่างคงเส้นคงวาด้วย

สิ่งที่ชัดเจนอีกอย่างคือ  “ความเป็นครู” แบบ ส. ศิวรักษ์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายพุทธะและโสเครตีส ในแง่ที่เขามีความสุขกับการใช้ชีวิตที่แวดล้อมด้วยบรรดาสานุศิษย์ที่มีความคิดแตกต่างกัน หลายคนเป็นครูในระบบการศึกษาแบบทางการ แต่หายากมากที่ใครจะมีลูกศิษย์หลากหลายวัยและไปมาหาสู่อย่างสม่ำเสมอแบบ ส.ศิวรักษ์ซึ่งเป็นครูนอกระบบ 

เวลาเราเห็น ส. ศิวรักษ์ วิพากษ์สังคม เรารู้สึกว่าเขาดุดัน ดูเหมือนจะเป็นบุคคลที่เข้าถึงยาก ต่างอย่างสิ้นเชิงกับบทบาทความเป็นครูที่แสดงออกแบบหยิบยื่นไมตรี มิตรภาพ ความเอื้ออาทร และความง่ายที่จะเข้าถึงต่อคนอื่นๆ ไม่ว่ากับคนวัยไหน เขาจึงมีลูกศิษย์ตั้งแม่มัธยมไปจนถึงวัยเกษียณ บางครั้งในความสัมพันธ์กับลูกศิษย์ ก็อาจมีการถกเถียงโต้แย้งแบบตรงๆ ได้อย่างไม่โกรธกัน หรือมีเรื่องให้โกรธกันแล้วกลับมาดีกันใหม่ คือมันเป็น “ความสัมพันธ์แบบมนุษย์กับมนุษย์” ที่ไม่ใช่ “ความสัมพันธ์แบบทางการ” ซึ่งยากมากที่ครูอาจารย์ในยุคนี้จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ และสร้างเครือข่ายกับลูกศิษย์ลูกหาได้ในแบบที่เป็นวิถีชีวิตอย่างที่ ส. ศิวรักษ์ทำมาตลอด

อีกอย่าง “ความจำที่ดีเยี่ยม” ของชายวัย 89 ปี ยังมีเรื่องราว “ประวัติศาสตร์กระซิบ” หรือประวัติศาสตร์นอกตำราเกี่ยวกับเรื่องพระ เรื่องเจ้ามาเล่าให้เราได้ความรู้และแง่คิดต่างๆ อยู่เสมอในยูทูป และยิ่งเรื่องเล่าเหล่านั้นสะท้อนความจริงของปัญหามากเท่าใด ก็ยิ่งสะท้อนความโรยราของพุทธศาสนาไทย และสถาบันกษัตริย์ ในแง่ของการปรับตัวไม่สอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ชัดเจนยิ่งขึ้น   
 

ที่มาภาพ: https://adaymagazine.com/yesterday-suluck-siwaluck

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net