Skip to main content
sharethis

ในขณะที่จีนใส่เกียร์เดินหน้าสู่พิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 4 ก.พ. นี้ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ทำงานในจีนได้ออกรายงานเตือนว่าเสรีภาพสื่อในจีนกำลังถดถอยลงอย่างรวดเร็วในระดับอันตราย รวมถึงมีการลิดรอนเสรีภาพประชาชนในด้านต่างๆ ทั้งสั่งแบนเทศกาลตรุษจีนเพื่อเตรียมรับโอลิมปิกฤดูหนาวโดยเฉพาะ และกักขังประชาชนที่เคยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองไว้ในบ้าน พร้อมส่งคนคอยจับตามอง 24 ชม. เพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อย

3 ก.พ. 2565 รายงานประจำปีของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในจีน (FCCC) ระบุว่า ผู้สื่อข่าวต่างประเทศในจีนต้องทำงานในสภาพยากลำบากมาเป็นเวลานานแล้วภายใต้รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ในช่วงที่ผ่านมา พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ อย่างหนักข้อขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมุ่งร้ายต่อสื่อ รวมถึงการข่มขู่คุกคามสื่อที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งถูกสะกดรอยตามทางออนไลน์ ใช้แผนการใส่ร้ายป้ายสี การแฮ็กข้อมูล และการปฏิเสธวีซ่า

รายงานของ FCCC ระบุเพิ่มเติมว่านักข่าวที่ถูกบังคับให้ต้องออกจากประเทศจีนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จนทำให้การทำข่าวเกี่ยวกับประเทศจีนเริ่มกลายเป็นการรายงานข่าวจากระยะไกลมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่าการที่จีนทำทุกอย่างเพื่อโปรโมตภาพลักษณ์ของประเทสในการกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ทำให้ทาง FCCC รู้สึกกังวลว่าเสรีภาพสื่อในจีนนั้นยิ่งถดถอยลงอย่างรวดเร็วในระดับที่อันตราย โดยจากผลสำรวจของ FCCC พบว่าผู้สื่อข่าวต่างประเทศในจีนร้อยละ 99 มองว่าสภาพการรายงานข่าวในจีนนั้นตกต่ำลงกว่ามาตรฐานของนานาชาติ

ข้อกำจัดจากการระบาดหนักของ COVID-19 เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคในการทำงานของนักข่าวต่างชาติในจีน เพราะเจ้าหน้าที่ของทางการจีนมักใช้เป็นข้ออ้างเพื่อยืดระยะเวลาการอนุมัติวีซ่าให้แก่นักข่าว รวมถึงยกเลิกการเดินทางทำข่าวนอกกรุงปักกิ่ง และปฏิเสธการขอสัมภาษณ์ของนักข่าว

ผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ทำงานในจีนมากครึ่งหนึ่งระบุว่าสำนักงานข่าวของพวกเขาขาดคนทำงานเนื่องจากข้อจำกัดการเดินทางจาก COVID-19 และมีนักข่าวมากกว่าครึ่งหนึ่งระบุว่าพวกเขาถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงแหล่งข่าวหรือสถานที่ทำข่าวเนื่องจากมาตรการควบคุมโรคระบาด

FCCC ระบุว่า การทำข่าวในจีนกำลัง “ประสบความยากลำบาก” เพราะการลงพื้นที่จริงเพื่อทำข่าว รวมถึงการไม่ถูกสกัดกั้นและสอดแนมโดยรัฐ เป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้

นักข่าวมากกว่าร้อยละ 60 ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจนี้ระบุว่าพวกเขาถูกสกัดกั้นโดยตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ทางการอื่นๆ ในปี 2564 ขณะที่นักข่าวเกือบทั้งหมดที่เดินทางไปยังเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ พวกเขาถูกเฝ้าสะกดรอยตามอย่างเห็นได้ชัดตลอดการเดินทาง เพราะเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์เป็นพื้นที่ที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่ามีค่ายกักกันและปรับทัศนคติชาวอุยกูร์ จนกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับทางการจีน ทำให้มีการปิดกั้นไม่ให้สื่อลงพื้นที่ทำข่าวได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ นักข่าวในจีนมากกว่าร้อยละ 25 ระบุว่าแหล่งข่าวของพวกเขาถูกคุมขัง ถูกข่มเหงรังแกหรือถูกไต่สวนจากทางการมากกว่า 1 ครั้งหลังจากที่สื่อสัมภาษณ์พวกเขา

อีกหนึ่งปัญหาที่สื่อต่างชาติในจีนต้องเผชิญคือการใช้กฎหมายคุกคามนักข่าว และในหลายๆ กรณี ผู้ฟ้องร้องมักจะเป็นแหล่งข่าวที่นักข่าวต่างประเทศเข้าไป แม้ว่าพวกเขาตกลงอย่างชัดเจนว่ายินดีให้สัมภาษณ์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักพักใหญ่ๆ พวกเขาก็อาจจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับนักข่าว

นอกจากนี้ยังมีกรณีการโจมตี “ที่ได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาล(จีน)” จากกลุ่มเกรียนอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะการมุ่งโจมตีนักข่าวต่างประเทศที่เกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้ง แผนของทางการจีนได้บ่มเพาะให้ประชาชนชาวจีนมองว่าสื่อต่างชาติเป็นศัตรูและส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง รวมถึงการคุกคามนักข่าวภาคสนาม ทำให้นักข่าวจำนวนมากต้องออกจากประเทศจีนเพื่อปกป้องตัวเองและครอบครัว

ในช่วงก่อนการจัดโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ทางการจีนได้เพิ่มความเข้มงวดในมาตรการป้องกัน COVID-19 ในพื้นที่กรุงปักกิ่ง นครเทียนจิน และเมืองหางโจว หลังจากที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลายสิบรายในพื้นที่เหล่านี้ โดยทางการจีนอ้างว่าพวกเขาจะยึดนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” จนกว่าจะถึงการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว

ผู้อาศัยในกรุงปักกิ่งรายหนึ่งชื่อ Guo Li ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) ว่าสถานการณ์ในกรุงปักกิ่งย่ำแย่ ผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อจะถูกสั่งให้กักตัวและถูกสอดส่องจนกว่าผลการตรวจ PCR จะเป็นลบ นอกจากนี้ คนที่ออกจากกรุงปักกิ่งจะไม่สามารถกลับเข้าเมืองได้จนกว่าโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-20 ก.พ. จะสิ้นสุดลง

มาตรการสกัดกั้นการระบาดของ COVID-19 ยังทำให้มณฑลเหอเป่ยที่อยู่ใกล้เคียงถูกทำให้กลายเป็นเสมือน ‘เมืองกันชน’ เพื่อคุ้มครองกรุงปักกิ่ง จึงเป็นเรื่องยากขึ้นที่จะเดินทางจากมณฑลเหอเป่ยเข้ากรุงปักกิ่ง ผู้ที่ต้องการเดินทางออกจากกรุงปักกกิ่งต้องได้รับใบรับรองและต้องรอการแจ้งเตือน อีกทั้งยังมีคำสั่งให้งดรวมตัวกันเป็นจำนวนมากเพื่อฉลองเทศกาลตรุษจีน หรือบางแห่งถึงขั้นสั่งห้ามจัดงานตรุษจีนโดยเด็ดขาด

ทั้งนี้ กลุ่มคนที่เคยเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อรัฐบาลจีนมาโดยตลอดก็ถูกคุมขังอยู่ภายในบ้านโดยเจ้าหน้าที่ทางการส่วนท้องถิ่นในบ้านเกิดของบุคคลเหล่านั้น หนึ่งในนักกิจกรรมบอกว่ากลุ่มนักกิจกรรมถูกคุมขังภายในบ้านเพื่อ “รักษาเสถียรภาพ” และมีเจ้าหน้าที่ 3-5 คนคอยเฝ้าดูพวกเขาตลอด 24 ชั่วโมง บุคคลเหล่านี้ส่วนหนึ่งถูกเฝ้าจับตาอยู่ในกรุงปักกิ่ง และส่วนใหญ่ถูกห้ามไม่ให้ออกจากบ้านเกิดตัวเอง นอกจากการกักตัวในบ้านแล้ว นักเคลื่อนไหวบางส่วนถูกส่งตัวไปอยู่ที่วิทยาลัยศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในกรุงปักกิ่ง

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net