Skip to main content
sharethis

อามัล คลูนีย์ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงและสมาชิกทีมทนายความนานาชาติของเธอแสดงความเป็นห่วงในเรื่องเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการประชุมแถลงข่าวเมื่อไม่นานนี้ โดยพูดถึงว่าควรจะมีการแก้กฎหมายที่เก่าคร่ำครึตั้งแต่สมัยอาณานิคมซึ่งใช้อ้างลิดรอนเสรีภาพ รวมถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในไทยด้วย

อามัล คลูนีย์ เป็นทนายความให้กับ มาเรีย เรสซา ผู้ร่วมก่อตั้งสื่อ The Rappler จากฟิลิปปินส์ที่เพิ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในการต่อสู้คดีความที่ต้องการกล่าวหาเรสซาจากที่เธอเป็นคนที่ออกปากวิจารณ์รัฐบาลในฟิลิปปินส์ คลูนีย์ได้จัดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมาก่อนหน้าการเลือกตั้งฟิลิปปินส์ที่กำลังจะมีขึ้น โดยได้พูดถึงความเป็นห่วงเรื่องเสรีภาพสื่อในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มาเรีย เรสซา (ซ้าย) สัมภาษณ์ อามัล คลูนีย์ (ขวา) จากวิดีโอ CPJ’s 2020 IPFA: Amal Clooney and Maria Ressa Interview

อามัลกล่าวว่ามาเรียเป็นนักข่าวคนหนึ่งที่กล้าออกมาต่อสู้เผชิญหน้า แต่เธอก็เข้าใจว่าเหตุใดนักข่าวอีกจำนวนมากที่ประสบชชะตากรรมแบบเดียวกับเธอเลือกที่จะเงียบในเรื่องนี้ นั่นเพราะสภาพของเสรีภาพสื่อที่ถดถอยลงรวมถึงการที่มี "การคุกคามสื่อในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน" ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะเดียวกันสำหรับคลูนีย์แล้วเธอก็บอกว่านี่เป็นเหตุผลว่าทำไมความกล้าหาญของมาเรียถึง "เป็นตัวอย่างที่ดี"

อามัลยังได้ชี้ให้เห็นว่านับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดี รอดริโก ดูเตอร์เต ขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 2559 เป็นต้นมาก็มีนักข่าว 21 รายที่ถูกสังหารโดยที่ผู้ก่อเหตุยังคงลอยนวลไม่ต้องรับผิด

ทั้งนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าการเกิดโรคระบาด COVID-19 ยิ่งส่งผลให้การปราบปรามเสรีภาพสื่อโดยรัฐบาลอำนาจนิยมหนักข้อขึ้นทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากที่เคยมีกลุ่มสิทธิมนุษยชนเตือนในเรื่องความถดถอยของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกมาก่อน

โรเจอร์ หวง อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแมคควอรี่เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อในเรื่องนี้ว่า หลังจากที่สภาพการณ์ด้านโรคระบาด COVID-19 แย่ลงเรื่อยๆ ในประเทศจำนวนมาก รัฐบาลอำนาจนิยมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีความเหิมเกริมมากขึ้นในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและใช้มาตรการด้านสาธารณสุขในการให้ความชอบธรรมต่อการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

มูลนิธิ 'คลูนีย์เพื่อความยุติธรรม' และองค์กรสิทธิเกาหลีใต้เรียกร้องปล่อยตัว 4 นักกิจกรรม

อามัลยังได้ชี้ให้เห็นว่ากฎหมายที่เก่าแก่คร่ำครึในหลายประเทศยังเป็นตัวการที่ทำให้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนถูกลิดรอน รวมถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในไทยหรือกฎหมายมาตรา 112 ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น พม่านำกฎหมายที่มีมาตั้งแต่ยุคสมัยยังเป็นอาณานิคมซึ่งล้าหลังและโหดเหี้ยมมาใช้ปราบปรามเสรีภาพสื่อในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

อามัลยกตัวอย่างกรณี Wa Lone กับ Kyaw Soe Oo นักข่าวรอยเตอร์ในพม่าที่เธอเป็นทนายความให้ พวกเขาถูกจับกุมและคุมขังอยู่ในคุกพม่าตั้งแต่ปี 2560 ในขณะที่กำลังทำข่าวสืบสวนสอบสวนการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา พวกเขาถูกตั้งข้อหาจากกฎหมายราชการลับซึ่งมีมาตั้งแต่ยุคสมัยอาณานิคม ขณะเดียวกันคลูนีย์ก็แสดงความยินดีในเรื่องที่มีการปล่อยตัวนักข่าวชาวอเมริกัน แดนนี เฟนสเตอร์ ออกจากเรือนจำในพม่าเมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา หลังจากที่เขาถูกคุมขังโดยกองทัพมาตั้งแต่เดือน พ.ค. ภายใต้ข้อหายุยงปลุกปั่นโดยอ้างอิงจากกฎหมายสมัยอาณานิคมอีกฉบับหนึ่งคือกฎหมายว่าด้วยการสมาคมอย่างผิดกฎหมาย

อามัลกล่าวว่า "มันถึงเวลาแล้วที่จะมีการปฏิรูปกฎหมายสมัยอาณานิคมเหล่านี้ที่เป็นใจความหลักๆ ของคดีเหล่านี้ รวมถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและกฎหมายยุยงปลุกปั่น รวมถึงกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาด้วย ... ประเด็นเหล่านี้ข้ามไปถึงหลายประเทศมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในตอนนี้"

อามัลกล่าวว่าเธอเองก็กำลังจับตามองประเทศไทยเป็นพิเศษในเรื่องนี้เช่นกัน จากการที่ทางการไทยดำเนินคดีกลายคดีกับผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล ต่อกลุ่มทนายความและต่อบุคคลอื่นๆ

ทนายความสิทธิมนุษยชนจากอังกฤษอีกรายหนึ่งที่ทำงานร่วมกับอามัลคือ คลีเฟิน แกลลาเกอร์ คิวซี กล่าวว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลฟิลิปปินส์และรัฐบาลอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้อง ทำให้เกิดแบบอย่างที่ดีนำหน้าคนอื่นๆ ในการคุ้มครองผู้สื่อข่าว ไม่ใช่แค่กรณีของมาเรีย เรสซา อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังต่อผู้สื่อข่าวอื่นๆ ที่เผชิญกับการลิดรอนเสรีภาพในรูปแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ด้วย

ก่อนหน้านี้เมื่อ 10 ก.พ.2564 มูลนิธิคลูนีย์เพื่อความยุติธรรม (Clooney Foundation for Justice) ของอามัล คลูนีย์ เคยออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของรัฐบาลไทยที่ตั้งข้อหาดำเนินคดีและคุมขังนักกิจกรรมทั้ง 4 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (หมอลำแบงค์) ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2564 และประกาศว่าจะจับตาดูความเคลื่อนไหวในการพิจารณาคดีของนักกิจกรรมทั้ง 4 คนนี้อย่างใกล้ชิด รวมถึงนักกิจกรรมชาวไทยคนอื่นๆ ที่ถูกรัฐดำเนินคดีเนื่องจากเข้าร่วมการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิไตย และมูลนิธิฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีทั้งหมดกับอานนท์ พริษฐ์ และนักกิจกรรมคนอื่นๆ 

เรียบเรียงจาก

Amal Clooney Protects Journalists. We Asked Her About Asia's Shrinking Press Freedom, Vice, 21-11-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net