Skip to main content
sharethis

บรรยายพิเศษที่คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร หัวข้อ “คำบอกเล่า คนเดือนตุลา กับปฏิบัติการในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ระหว่าง พ.ศ.2516 – 2525”  โกเมต สูงสุมาลย์ "ลูกชาวนา วิทยาลัยครู เข้าป่า” ภาณุมาศ ภูมิถาวร “นักเขียนหญิงในฐานที่มั่นชนบท” วิเศษ สุจินพรัหม “นักพัฒนา ก่อนและหลังสงครามเย็น” ด้านผู้จัดหวังให้ความทรงจำของสามัญชน “มีเสียง”

เรียบเรียงเนื้อหาจากการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “คำบอกเล่า คนเดือนตุลา กับปฏิบัติการในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ระหว่าง พ.ศ.2516 – 2525” วิทยากรโดยภาณุมาศ ภูมิถาวร วิเศษ สุจินพรัหม และโกเมต สูงสุมาลย์ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล และอาจารย์ ดร.ชัยพงษ์ สำเนียง ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563

โดยวิทยากรซึ่งผ่าน 2 เหตุการณ์คือ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 บอกเล่าความคิดความสนใจในเวลานั้น ไปจนถึงการเข้าไปใช้ชีวิตในป่ากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และบอกเล่าสภาพสังคมช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา กระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย ชีวิตในป่า และสุดท้ายเหตุใดจึงตัดสินใจออกจากป่า และชีวิตหลังจากนั้นต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมข้างนอกอย่างไร

ทำให้ความทรงจำมีเสียง

ช่วงแรก ชัยพงษ์ สำเนียง อธิบายบรรยากาศทางการเมืองของสังคมไทยในช่วงก่อน 14 ตุลา ว่าสังคมไทยหลัง 2500 หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจเป็นสังคมที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการมาอย่างยาวนาน มาจนถึงยุคของจอมพลถนอมถึงแม้จะมีการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2514 ก็ไม่สามารถทำให้เกิดเป็นระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยได้ กล่าวคือไม่ได้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีความต่อเนื่องแต่อยู่ภายใต้ความกดดันของการรัฐประหาร คล้ายกับเราในปัจจุบันที่อยู่ภายใต้รัฐประหาร คสช.มาอย่างยาวนาน ซึ่งทำให้เกิดการปะทุ การพัฒนาภูมิปัญญาหลายอย่าง เช่น การต่อสู้ในเรื่องต่างๆ ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาช่วง 14 ตุลา มีการพัฒนาเศรษฐกิจขนานใหญ่ในช่วงประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงการเริ่มต้นสงครามเย็น

ชัยพงษ์ สำเนียง (ที่มาภาพ เว็บไซต์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร)

ที่สำคัญ เหตุผลในการจัดการบรรยายพิเศษครั้งนี้เพราะสิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปในสังคมไทยคือประวัติศาสตร์จากตัวบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ

"เมื่อเราพูดถึงเหตุการณ์ การต่อสู้ เช่น ความคิดเรื่องพรรคคอมมิวนิสต์ การต่อสู้เรื่องสังคมนิยมในสังคมไทย เรามักจะมองจากโครงสร้างใหญ่ ซึ่งจะทำให้เราเห็นโครงสร้างของพรรค ผู้นำพรรค การแตกแยก ฯลฯ แต่เรามักไม่ได้เห็นในมุมมองคนที่อยู่ในภาคปฏิบัติการ เป็นมวลชน กำลังรบ ทหาร ฯลฯ ซึ่งความทรงจำเหล่านั้นถูกเก็บงำหรือถูกทำให้ไม่มีเสียง นี่คือการเมืองของความทรงจำที่นักประวัติศาสตร์ควรหันมาทำความเข้าใจกับมัน" ชัยพงษ์เสนอ ซึ่งเขาตั้งชื่อว่า “คอมมิวนิสต์จากเบื้องล่าง” หรือ “Communist from below” สำหรับความคิดความทรงจำของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เหล่านี้

 

โกเมต สูงสุมาลย์

ลูกชาวนา วิทยาลัยครู เข้าป่า

 

โกเมต สูงสุมาลย์ อดีตนักศึกษาวิทยาลัยครูพิบูลสงคราม จ.พิษณุโลก ในช่วงก่อน 6 ตุลาคม 2519 เล่าว่า พื้นเพของเขาเกิด ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม และได้ศึกษาต่อที่วิทยาลัยครูพิบูลสงครามแต่ยังไม่ทันจบก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องเข้าไปอยู่ในป่าก่อน

ในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เวลานั้นเรียน ม.3 ก็ได้ร่วมเดินขบวนกับรุ่นพี่วิทยาลัยวิชาการศึกษา ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มหาวิทยาลัยนเรศวรในปัจจุบัน) ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 ขณะศึกษาที่วิทยาลัยครูพิบูลสงครามก็ได้พบรุ่นพี่ที่ศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สังคมและทฤษฎีต่าง ๆ และได้ร่วมเคลื่อนไหวในการขับไล่ฐานทัพอเมริกาในไทย รวมทั้งเคลื่อนไหวร่วมกับชาวนาชาวไร่ สหพันธ์นักศึกษาเสรี และผู้นำชาวนาในสมัยนั้นคือ นายใช่ วังตะกู ก่อนที่จะถูกจับกุมในข้อหาความมั่นคง ที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย

บรรยากาศทางการเมืองในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา จากความทรงจำลูกชาวนา ผมเป็นลูกชาวนา ได้มาเรียนในพิษณุโลกโดยอาศัยอยู่กับวัด ชีวิตของเด็กบ้านนอกมีแรงกดดันหลายอย่าง เช่น เรื่องโอกาสต่าง ๆ ในสังคม หลังจากที่ตนได้ศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างของสังคมทำให้รู้สึกว่าสังคมไม่เอื้อให้กับคนจน ไม่เอื้อให้เกิดความเท่าเทียมกัน ส่งผลให้ตนเองได้ไปร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวหลายอย่าง เช่น การรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น รวมถึงในช่วง 12 - 13 ตุลาคม ปี พ.ศ.2516 ในขณะที่เรียนอยู่ชั้นม.ศ.2 ได้เห็นขบวนนักศึกษาต่อต้านอำนาจเผด็จการของจอมพลถนอมและจอมพลประภาส โดยมีการปราศรัย มีการถือป้ายเดินขบวนจากวิทยาลัยวิชาการศึกษาโดยตนเองและเพื่อนนักเรียนก็ได้เข้าไปร่วมเดินขบวนด้วย ซึ่งในช่วงนั้นผมรู้สึกมีความหวังกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างมาก ในวันที่ 13 ตุลาคม นักศึกษาก็มีการตั้งเวทีปราศรัยที่หน้าสถานีรถไฟ ได้มีนักศึกษาจากธรรมศาสตร์เข้ามาแสดงละครใบ้ รวมถึงแสดงดนตรีเพื่อชีวิต ในขณะที่ทำการแสดงอยู่ได้มีนักดนตรีถูกกระสุนยิงเข้าที่ขาทำให้ฝูงชนเกิดความแตกตื่นวุ่นวาย ถึงแม้จะเกิดเหตุรุนแรงขึ้นแต่ในคืนวันที่ 14 ตุลาคม ก็ยังมีนักศึกษา นักเรียน และประชาชนจำนวนมากเข้ามาร่วมกิจกรรมแม้จะมีจำนวนไม่เยอะเท่าวันที่ 13 ตุลาคมก็ตาม ซึ่งผมคิดว่าที่ผู้คนยังมาอยู่อาจจะเป็นเพราะความคับแค้นใจของผู้คน หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่นักศึกษาได้รับชัยชนะทำให้นักศึกษามีเครดิตในสังคมดีมาก และยังคงมีการรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ต่อต้านการโกง ทุจริต คอร์รัปชั่น ถึงแม้บางครั้งจะมีประเด็นยิบย่อยที่ทำให้เป้าหมายดูไขว้เขวไปบ้าง เช่น การจับตราชั่งไม่ตรงของแม่ค้าในตลาด

ในปี พ.ศ.2518 ผมได้เข้าศึกษาที่วิทยาลัยครู ทำให้ได้เจอรุ่นพี่ที่เคลื่อนไหวมาก่อนในเรื่องการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น และได้เข้ากลุ่มกับรุ่นพี่ที่วิทยาลัยครู อาจารย์ และรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก รวมถึงได้มีการติดต่อกับนักศึกษาที่กรุงเทพฯ อย่างธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์ ผ่านสหพันธ์ต่าง ๆ ของนักศึกษา เช่น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) หรือสหพันธ์นักศึกษาเสรีแห่งประเทศไทย ซึ่งสหพันธ์นักศึกษาเสรีแห่งประเทศไทยนั้นแยกการทำงานออกมาจากศนท.หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา นำโดยเสกสรรค์ ประเสริฐกุล โดยเน้นการทำงานในชนบทเข้าไปสัมพันธ์กับชาวนา ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มเคลื่อนไหวหลายกลุ่มมีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนการสอน เช่น สหพันธ์นักศึกษาครู สหพันธ์นักเรียน มีการชำระวรรณคดี การเผาวรรณคดี ซึ่งการเคลื่อนไหวที่ผุดขึ้นมมาเหล่านี้ตนมองว่าเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาเนื่องจากความไม่เสมอภาค ความไม่เป็นธรรม และความไม่เท่าเทียมในสังคม

การเคลื่อนไหวที่มีความเข้มข้นมากคือการเคลื่อนไหวเรื่องขบวนการชาวไร่ชาวนา ความไม่เป็นธรรมจากการขูดรีด ในพิษณุโลกเองก็มีเจ้าที่ดินที่เอาเปรียบชาวนาจากการทำสัญญาจำนองที่ดิน ชาวนาต้องเช่าที่ดินตัวเองทำนา ทำให้ตนมีแรงผลักดันในการศึกษาหรือพูดคุยเรื่องชนชั้นซึ่งเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับสังคมนิยม และคอมมิวนิสต์ โดยจะมีรุ่นพี่มาให้ความรู้และนัดกันไปตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น บ้านเช่า ไร่สวน หรือตามที่สาธารณะ

พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างกับความรุนแรงในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา

ในครั้งที่มีการนัดไปพูดคุยกับกลุ่มกันที่ไร่อ้อยมีข่าวรั่วออกไปทำให้พวกผมถูกตำรวจจับ หลังจากที่ถูกจับครั้งนั้นสันติบาลก็เริ่มติดตามความเคลื่อนไหว จากนั้นก็เริ่มมีฝ่ายที่ต่อต้านฝ่ายนักศึกษาเกิดขึ้นมาจากการจัดตั้งโดยกอ.รมน. ได้แก่ กลุ่มกระทิงแดง ขบวนการนวพล กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน เมื่อมีการจัดเวทีไฮปาร์คจะมีกลุ่มกระทิงแดงเข้ามาทำร้าย ในห้องเรียนมีการนำอาจารย์นวพลมาพูดในห้องเรียนด้วย กลุ่มที่มาต่อต้านส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนวพลกับกลุ่มกระทิงแดง ในช่วงแรกไม่ค่อยมีความมีความรุนแรงมาก แต่เมื่อมีการเคลื่อนไหวกับกลุ่มชาวนาเข้มข้นขึ้น มีการฆ่าชาวนา ฝ่ายนักศึกษาก็เริ่มถูกคุกคามมากขึ้น มีการใช้ความรุนแรงและปลุกปั่นจากกลุ่มดังกล่าวช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา ประมาณ 2 – 3 เดือน พวกผมจึงพยายามไม่เคลื่อนไหวมากแต่หันมาเน้นเก็บตัวศึกษาแนวคิดทฤษฎีของมาร์กซ์แทน ความต้องการจะล้มระบบชนชั้นของกลุ่มในขณะนั้นขัดกันกับความคิดของชนชั้นปกครองเป็นอย่างมากเรียกได้ว่าสวนทางกัน

สถานการณ์เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา มีการใช้อาวุธ เช่น มีด ปืน เข้าไปขู่ถึงในห้องเรียนของตน เมื่อเห็นว่าผิดปกติวิสัยกลุ่มของผมซึ่งมีทั้งหมด 5 คนจึงตัดสินใจออกจากพิษณุโลก โดยตอนนั้นพวกผมยังไม่ทราบข่าวว่ามีการล้อมฆ่ากันในกรุงเทพฯ โดยได้หนีออกจากพิษณุโลกไปที่นครสวรรค์หลังจากนั้นก็เห็นข่าวหนังสือพิมพ์ว่ามีการล้อมปราบนักศึกษาในธรรมศาสตร์ ในพิษณุโลกมีอาจารย์ถูกจับ มีอาจารย์ผู้หญิงถูกตบหน้า ช่วงนั้นมีกฎหมายภัยสังคมห้ามอยู่รวมกันเกิน 5 คน พวกตนจึงแบ่งกลุ่มกัน ภาณุมาศและเพื่อนอีก 2 คนไปภาคกลาง ส่วนตนเองไป จ.อุบลราชธานี เพราะมีอาอยู่ที่นั่น เมื่อไปถึงอาได้เกลี้ยกล่อมให้กลับบ้านแต่เมื่อตนออกจากอุบลราชธานีก็มีการนัดพบกันที่ จ.เพชรบูรณ์ รุ่นพี่ก็พาเข้าป่าโดยขึ้นรถมาลงกลางถนนตอนเที่ยงคืนแล้วเดินลุยเข้าไปในป่าโดยที่ผมเองก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ที่ตนเองตัดสินใจเข้าป่าวันนั้นเพราะรู้สึกหมดหวัง รู้สึกว่าไม่มีที่ยืนสังคม ประเทศนี้ไม่มีความเป็นธรรมอีกแล้ว ประเทศนี้ปกครองด้วยชนชั้นปกครองที่เป็นเผด็จการ และในยุคนั้นตัวผมยึดถือคำขวัญว่า “สันติภาพเกิดขึ้นได้ด้วยการต่อสู้” รวมถึงมีกระแสคำขวัญ “อำนาจรัฐได้มาโดยปลายกระบอกปืน” ทุกคนจึงตัดสินใจต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธจึงเข้าร่วมกับพคท1. อีกทั้งเมื่อครูกับที่บ้านพ่อของผมก็บอกว่าให้อดทนและเรียนให้จบแต่ผมเองมองว่าถึงจะเรียนจบไปเป็นครูก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ปัญหาเดิมก็คงอยู่ เด็กก็ต้องเจอปัญหาแบบที่ผมเจอมา ทำให้คิดว่าอย่างไรก็ต้องสู้เพื่อทำให้ปัญหามันหมดไปและแนวทางแบบคอมมิวนิสต์คือทางออกจึงเป็นอีกเหตุผลที่ตัดสินใจเข้าป่า

เข้าป่า : การงานในสถานการณ์ป่าล้อมเมือง   

ในวันที่ 22 ตุลาคม 2519 พวกผมเดินเท้าขึ้นเขาค้อโดยใช้เส้นทางฝั่งตำบลนางั่วผ่านไปยังบ้านสะเดาะพงเพื่อไปฐานที่มั่นโดยมีทหารปลดแอกเป็นคนนำทาง ซึ่งในช่วงนั้นผมก็ตื่นเต้นที่ได้เจอทหารคนม้งตัวขาว ๆ ใส่หมวกเหมือนในหนังสือจีนที่อ่านและในขณะนั้นก็มีเพื่อนตามขึ้นอีกหลายรอบ เมื่อเดินทางถึงพื้นที่แล้วก็ต้องปรับปรุงพื้นที่นั้นที่มีสภาพเป็นป่าเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเปิดโรงเรียนการเมืองการทหารเขต 30 โดยรวม 2 เขต คือ ร่องกล้า เขต 10 และเขาค้อ เขต 15 ไว้ด้วยกัน โดยจัดเป็นกองร้อยและแบ่งออกเป็น 3 หมวด คือ 1.ชาวนา 2.นักศึกษาและปัญญาชน 3.กรรมกร ใน 1 หมวดแบ่งเป็น 4 หมู่ ใน 1 เป็น 3 หน่วย ส่วนสหายม้งคอยเป็นพี่เลี้ยงหรือหัวหน้าหมู่ ซึ่งโรงเรียนการเมืองการทหารจะเป็นการศึกษาทั้งเรื่องการปฏิวัติความคิด ทฤษฎีมาร์กซ เลนิน แองเกิล เหมาเจ๋อตุง และฝึกภาคทหาร ซึ่งทุกคนที่ปฏิบัติหน้าต่าง ๆ ได้ต้องผ่านการฝึกจากโรงเรียนนี้ก่อน เมื่อฝึกเสร็จแล้วพวกผมก็ไประจำที่กองร้อย 515 ได้ถูกทาง พคท. ไปยังบริเวณเชิงเขาครอบคลุมพื้นที่น้ำตกแก่งโสภาถึงสามแยกวังชมภูเพื่อไปขยายความคิดของ พคท. ให้มวลชนในพื้นที่เพราะมีประสบการณ์การทำงานกับชาวนาชาวไร่และเป็นคนท้องถิ่นสามารถพูดภาษาถิ่นได้

แนวทางของ พคท. ตอนนั้นใช้แบบชนบทล้อมเมืองจัดเป็นกองกำลังติดอาวุธโดยแบ่งพื้นที่ส่วนต่าง ๆ มีฐานที่มั่นเป็นศูนย์กลาง เขตจรยุทธ์ เขตสีชมพู เขตสีแดง และเขตที่ขาว ซึ่งเป็นเขตอำนาจของรัฐบาลไทยผนวกกับการวิเคราะห์สังคมในตอนนั้นว่าเป็นสังคมที่มีลักษณะกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา ส่งผลให้งานที่ทำในเชิงพื้นที่ต้องเน้นการขยายเขตสีชมพูและสีแดงเพื่อลดเขตสีขาว และในเชิงอุดมการณ์ต้องการโค้นล้มจักรวรรดินิยมอเมริกากับชนชั้นปกครองและกลุ่มนายทุนต่าง ๆ โดยแนวทางนี้ได้มาจาก “เดินทัพทางไกล” ของเหมาเจ๋อตุง

ซึ่งเขตงานที่ผมได้รับมอบหมายในพื้นที่บริเวณรอบเชิงเขาที่ต้องขยายความคิดของ พคท. และเชื่อมต่อกับมวลเพื่อขยายเขตสีชมพูออกไปนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะหมู่บ้านในบริเวณพื้นนี้ถูกจัดตั้งฝึกการใช้อาวุธพร้อมติดอาวุธจากทางกองทัพไทยเพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ แต่ในบริเวณเขตเชิงเขาก็จะมีชาวบ้านมาหาของป่าและทำไร่อยู่เรื่อย ๆ ผมเองก็ได้อาศัยจุดนี้เข้าไปพูดคุยผูกมิตรเพราะโดยพื้นฐานคนเหล่าถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบอยู่แล้ว เมื่อคุยไปนานวันคนเหล่านี้ก็กลายเป็นเพื่อนเป็นสหายกันคอยช่วยเหลือกันในเรื่องต่าง ๆ เช่น เมื่อลงมาจากฐานที่มั่นพวกผมสามารถนำข้าวและถ่านไฟฉายลงได้จำกัดก็จะฝากชาวบ้านซื้อของมาให้และนอกจากนี้ก็ยังมีการฝากซื้อผงชูรสเนื่องจากต้องนำมาใช้ในการห้ามเลือดเพราะสามารถทำให้เลือดแข็งตัวได้

โดยในปี 2522 บริเวณรอบฐานที่มั่นผงชูรสเป็นสินค้าที่ต้องควบคุมถูกจัดเป็นยุทธภัณฑ์เป็นสินค้าที่ขาดแคลน  ซึ่งการที่ต้องพึ่งพาคนนอกก็จะต้องค่อยประเมินว่าใครมีโอกาสจะเสียลับ หรือการที่ฝ่ายรัฐบาลรู้ว่ามีการติดต่อกับ พคท. เช่น การฝากชาวบ้านซื้อของซึ่งชาวบ้านนั้นดูจน ๆ แต่กลับซื้อของเยอะมากจนอาจผิดสังเกตจนฝั่งตรงข้ามสงสัย ซึ่งในช่วงหลังต้องมีกฎห้ามฝากชาวบ้านซื้อสิ่งของ แต่ใครที่เสี่ยงเสียลับหรือถูกคุกคามก็จะต้องรับเข้ามาอยู่ในฐานที่มั่นของ พคท. โดยในแต่ละปีจะมีครอบครัวที่ย้ายขึ้นไปอยู่ฐานที่มั่นประมาณ 1-2 ครอบครัวต่อหน่วย แต่บางช่วงมีการขาดแคลนสิ่งของอย่างกรณีการนำกองกำลังปิดล้อมหมู่บ้านวังยางในอำเภอเนินมะปรางในช่วงประมาณปี 2522 หรือ 2523 เพื่อซื้อสิ่งของต่าง ๆ และพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อให้เข้าใจคอมมิวนิสต์ว่าไม่ใช้ผู้ร้ายพวกเราก็คือลูก ๆ หลาน ๆ ที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประเทศชาติประชาชนจากการกดขี่ขูดรีด

ความทรงจำถึงมิตรสหายชาวม้ง

ชีวิต 5 ปีในฐานที่มั่นจะไม่พูดถึงไมตรีของสหายม้งเลยก็ไม่ได้ พวกเขาเป็นทั้งพี่น้อง พ่อแม่ สหายร่วมรบและครูที่คอยสอนเราทุกอย่าง

พวกผมไปใหม่ ๆ ใช้ปืนก็ไม่เป็น ใช้มีดก็ไม่เป็น เดินป่าก็ไม่เป็น การใช้ชีวิตในป่าของพวกผมได้สหายคนม้งเป็นคนสอน ซึ่งในช่วงที่คนจากในเมืองขึ้นเยอะ ๆ ข้าวที่พวกเขาปลูกไว้กินเองโดยปกติก็ไม่พอกินอยู่แล้วแต่พวกเขานำข้าวที่อร่อยที่สุดมาให้พวกผมกินและพวกเขาก็กินข้าวโพดที่เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีความแข็งโดยเอาไปบดละเอียดแล้วก็ต้มหลายชั่วโมงจนอ่อนลงจึงค่อยกิน ชีวิตในป่าของพวกเราที่รอดมาได้ก็เพราะพวกเขานี้จึงเป็นสิ่งที่พวกผมจะลืมไม่ได้คือบุญคุณของสหายชาวม้ง

ความขัดแย้งของ พคท. และการคืนเมืองหลัง 66/23

ในช่วงปี พ.ศ. 2522 ทางพวกผมได้รับการติดต่อจากทาง ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการโครงการฝนหลวงฯ ขอติดต่อพบนักศึกษาและตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์โดยเข้ามายังบ้านชมภูเพื่อพบเจอพูดคุยประมาณ 3–4 ครั้ง  โดยผมสรุปความได้ว่ามีผู้ใหญ่สอบถามถึงชีวิตเรื่องราวชีวิตในป่าเป็นอย่างไรบ้าง คนที่เข้าป่าอยากกลับบ้านกันไหม ถ้าอยากจะสร้างเขื่อนเพื่อให้ชาวบ้านมีน้ำใช้จะได้ไหม ฯลฯ โดยหลังจากนั้นก็ได้มีนโยบาย 66/23 ผมเข้าใจว่านโยบายนี้ต้องการให้มีการเลิกรบกันแล้วมาร่วมกันพัฒนาประเทศ

ก่อนเหตุการณ์ที่ต้องออกจากป่ากันก่อนหน้านั้นได้เกิดความขัดแย้งกันภายในทางด้านความคิดจึงต้องกลับมาถกเถียงกันซึ่งแต่เดิมนั้นวิเคราะห์กันว่าสังคมนั้นเป็นสังคมแบบกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาศัตรูคือจักรวรรดินิยมอเมริกา นายทุน ขุนศึกและศักดินาเพราะฉะนั้นต้องโค้นล้มอำนาจรัฐมาเป็นของชนชั้นกรรมมาชีพ

แต่ความขัดแย้งในตอนนั้นมาจากการถกเถียงถึงการวิเคราะห์สังคมที่เคยวิเคราะห์ไว้อาจไม่ถูกต้องเพราะสังคมเปลี่ยนไปเยอะและทุนมีการพัฒนามากขึ้นจึงเกิดคำถามตามมาว่ากลยุทธ์ป่าล้อมเมืองจะได้ผลไหมและการต่อสู้มาหลายปีก็ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งจากภายนอกเนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์จากจีนและเวียดนามจะส่งทัพมาช่วยรบแต่เงื่อนไขจากการส่งกองกำลังมาช่วยรบจะก่อให้เกิดการแบ่งแยกประเทศไทยเป็นเขตภูมิภาคต่าง ๆ โดยทาง พคท. ไม่ยอมรับข้อเสนอจึงเกิดความขัดแย้งจากพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งจีนและเวียดนามส่งผลให้ทาง พคท. ถูกขับออกจากพื้นที่ต่าง ๆ ในเขตประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะที่รัฐบาลไทยได้เปิดศึกยุทธการผาเมืองเผด็จศึกโจมตีแบบฉับพลันที่เขาค้อส่งผลให้สถานการณ์ในตอนนั้นแย่มาก ซึ่งในตอนนั้นพวกเราก็ติดต่อสหายในเมืองไม่ได้จึงต้องลักลอบเข้าเมือง เข้ากรุงเทพฯ เพื่อติดต่อสหายในเมืองและกลับมาอีกครั้งเพื่อพาสหายที่อยู่บนภูเขากลับลงไปเข้าเมือง ช่วงเวลาที่ลงมาเข้าเมืองนั้นคือในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคม ปี 2524

ซึ่งตัวของเขาก็กลับลงมาด้วยในรอบนี้และในคืนเดียวที่เราลงมากันนั้นสหายม้งก็อพยพไปยังเขตร่องกล้าโดยก่อนหน้านั้นทางเขตเขาค้อมีแผนจะย้ายที่มั่นจึงได้ให้เขตร่องกล้าไปเตรียมพื้นบริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่าบ้านน้ำจวง

บ้านน้ำจวงจึงถูกเรียกว่าเขาค้อ 2 จนกระทั่งปลายปี 2524 หน่วยสุดท้ายในเขตเขาค้อก็ย้ายไปยังเขตภูหินร่องกล้าและบางส่วนก็ย้ายไปยังเขตในจังหวัดอุตรดิตถ์กับจังหวัดน่านโดยสิ้นสุดการต่อสู้ด้วยกองกำลังในปี 2527

หลังจากเหตุการณ์ต่าง ๆ กับ พคท. ผมรู้สึกเหมือนอกหักว่าทำไมหลอกกันได้เพราะการลอกทฤษฎีจากเหมาเจ๋อตุงแบบตรงตัวมาใช้อาจเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้

แต่ผมว่าเขาอาจจะไม่ได้คิดหลอกพวกผมหรอก เขาอาจเชื่อว่าทฤษฎีนี้มันถูกต้องซึ่งอาจเป็นเพราะเราวิเคราะห์สังคมผิดพลาดว่าใครเป็นมิตรหรือศัตรูการเอาทฤษฎีของเหมาเจ๋อตุงมาใช้มันจึงผิดพลาด โดยคนใน พคท. เชื่อในลัทธิมาร์กซ์เหมือนเชื่อในพระเจ้าใครไม่สามารถขัดแย้งได้

ตอนหลังผมได้พบหนังสือของท่านพุทธทาส (พระธรรมโกศาจารย์) ที่พูดถึงการใช้ชีวิตเพราะอย่างน้อยธรรมก็ทำให้สุขได้ผมจึงได้เริ่มศึกษาแนวคิดที่เน้นความสุขที่เป็นปัจเจกเป็นความสุขที่มาจากภายใน จนถึงเมื่อประมาณปี 2529 มีรุ่นที่เข้าป่าไปด้วยกันชวนไปทำงานเป็น NGO ในคลองเตยซึ่งเป็นสลัมที่ต้องเผชิญกับการพัฒนาเมืองซึ่งทำงานได้ประมาณ 15 ปี จนมีปัญหาด้านความคิดกันจึงลาออกมาเป็นไกด์และก็ได้กลับมางาน NGO เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์กับองค์กรระหว่างประเทศ

ภาณุมาศ ภูมิถาวร

นักเขียนหญิงในฐานที่มั่นชนบท

ผู้อภิปรายอีกท่านหนึ่งแนะนำตัวในชื่อ ‘ภาณุมาศ ภูมิถาวร' โดยเป็นชื่อทางงานเขียน ชื่อปัจจุบันคือภาจิรา เปลวจันทร์ เกิดที่ ตำบลบ้านไร่ อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย เล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ถูกผลักดันเข้าไปใช้ชีวิตในป่ากับพรรคคอมมิวนิสต์ และมีสหายที่จะช่วยบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับประสบการณ์ในป่าในครั้งนั้น ภาณุมาศมีประสบการณ์ด้านงานเขียนจำนวนมาก โดยหลังออกจากป่าได้ทดลองเขียนเรื่องแรกชื่อ “ชั่วหน่อตัว” ในนามปากกา นกพญาไฟ ตีพิมพ์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ราวปี พ.ศ.2532 และมีผลงานมากมาย เช่น หนังสือรวมเรื่องสั้นเรื่องแรก “สงกรานที่บ้านเกิด” ในปี พ.ศ.2534 นวนิยายเยาวชน “ไม่สิ้นเสียงไพร” “ไหมแม” “แสงทองเหนือขอบฟ้า”หรือสาระนิยายที่สำคัญอ้างอิงประสบการณ์ที่เข้าไปใช้ชีวิตในป่าเรื่อง “ศึกเขาค้อ” โดยเธอเล่าประสบการณ์ช่วงเป็นนักเรียนนักศึกษาดังนี้

ภาคเหนือตอนล่างก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา จากความทรงจำนักเรียนหญิง

ตัวฉันเองมีพื้นเพอยู่ในพื้นที่ชนบทมีพ่อเป็นข้าราชการจึงไม่ได้ลำบากมาก แต่ฉันรู้สึกว่าชนบทที่อยู่ไม่ได้สวยงามเหมือนในงานเขียน เนื่องจากฉันได้เห็นความลำบากของชาวนาชาวไร่ที่มาจากการขูดรีดของนายทุนในหมู่บ้าน จุดสำคัญที่ทำให้สนใจด้านการเมืองเกิดจากที่เป็นนักอ่านทำให้ได้อ่านหนังสือรวมถึงฟังจากแม่ในเรื่องกรณีสวรรคตของ ร.8 จุดนี้ทำให้ฉันเริ่มสนใจการเมือง เมื่อได้ไปเรียนที่โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรีก็เกิดความคับข้องใจกับความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นในโรงเรียนทำให้ฉันเริ่มตั้งคำถามกับความเป็นธรรม

หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา พี่ชายที่เป็นนักศึกษาจากกรุงเทพฯ ก็ได้กลับมาบ้านและนำหนังสือมาให้ฉันจึงได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการเมืองมากมาย รวมถึงหนังสือต้องห้ามด้วย เช่น โฉมหน้าศักดินาไทย ของจิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อกำลังศึกษาอยู่ชั้น ม.4 อิทธิพลจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้สังคมเกิดการปะทุขึ้น มีการประท้วงขึ้นตามโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งที่โรงเรียนเฉลิมขวัญเองสตรีก็มีรุ่นพี่ที่อยู่ ม.5 ได้ปราศรัยและเชิญฉันขึ้นไปพูดเกี่ยวกับปัญหาของหอพักในโรงเรียนด้วย

หลังจากนั้นเมื่อเลื่อนชั้นไปอยู่ระดับ ม.5 ประมาณปี พ.ศ.2517 ก็ได้มีการเลือกตั้งประธานนักเรียนและก็ได้รับการสนับสนุนจากคุณครูรุ่นใหม่ที่มาฝึกสอนให้ลงสมัครและได้รับตำแหน่งประธานนักเรียน แต่เมื่อทำการร่างธรรมนูญโรงเรียนกลับเจออำนาจเผด็จการในโรงเรียนที่ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่ฉันได้ทำมาทั้งหมดไม่มีความหมายเพราะในบทเฉพาะกาลได้ให้อำนาจในการยุบสภานักเรียนได้ตามความเห็นชอบของอาจารย์ ฉันจึงเห็นว่าจริงๆ แล้วการบ่มเพาะอำนาจเผด็จการเริ่มขึ้นตั้งแต่ในโรงเรียนนั่นเอง

เมื่อสหพันธ์นักศึกษาเสรีจากกรุงเทพเข้ามาติดต่อให้ไปร่วมกิจกรรมบ่มเพาะประชาธิปไตยตามโรงเรียนต่าง ๆ โดยการไปฝึกใช้ชีวิตในชนบท เช่น อ.พรหมพิราม และ ต.บ้านกร่าง อ.เมือง ในช่วงปิดเทอม ทำได้เข้าไปพบเจอกับชาวบ้าน ได้เห็นปัญหาที่ชาวบ้านประสบหรือเข้ามาร้องเรียนให้นักศึกษาช่วยเหลือ เช่น ที่ดินถูกยึด เป็นต้น หลังจากนั้นก็เข้าไปเรียนวิทยาลัยครู จากที่ฉันมีเครือข่ายกับนักศึกษารุ่นพี่ตั้งแต่สมัยที่อยู่มัธยมแล้วจึงได้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่บ่อย ๆ บรรยากาศในขณะนั้นก็มีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ มีชาวนาและผู้นำชาวนาถูกฆ่าตายเพิ่มมากขึ้น และฝ่ายที่ตามก่อกวนก็มีความเข้มข้นขึ้นเช่นกัน

จากเมืองพิษณุโลกสู่ป่าเขาค้อ

หลังจากที่ฉันถูกจับในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2519 ในข้อหากบฏภายในราชอาณาจักร หลังได้ประกันตัวมาและต้องต่อสู้ในชั้นศาล เป็นช่วงที่เป็นนักศึกษาครูที่ต้องออกไปฝึกสอนเด็กด้วย โดยฉันจะใช้วันเสาร์ – อาทิตย์กลับมาที่เมืองเพื่อทำงานเคลื่อนไหว ในโรงเรียนที่ไปฝึกสอนนั้นจะมีการให้เด็กร้องเพลงหนักแผ่นดินทุกวัน ซึ่งฉันก็รู้สึกเกลียดเพลงนี้มากและได้รับความกดดันจากการที่ทุกคนรู้ว่าฉันนั้นมีคดีติดตัวอยู่ จนเมื่อเริ่มมีการปราบขบวนการฝ่ายนักศึกษาอย่างจริงจังฉันก็ได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกับแม่ไว้ก่อนหน้าแล้วว่าอาจจะเข้าป่าไปอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์ถึงแม้ยังไม่ทราบว่าสถานที่ที่จะต้องไปคือที่ไหน

ซึ่งช่วงก่อนที่จะเข้าป่าฉันและเพื่อนได้วนเวียนอยู่ในหลายจังหวัด เช่น สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี โดยเช่าโรงแรมนอนจังหวัดละ 1 – 2 คืน จนกระทั่งได้รับการติดต่อจากสายงานในเมืองจึงเดินทางไปเข้าป่า โดยได้รับคำสั่งให้ขึ้นรถไปลงที่อ.หล่มสัก และให้ไปดูหนังเรื่อง “เมียเสือ” ที่โรงหนัง หลังจากนั้นให้ไปนั่งกินซ่าหริ่ม ในขณะที่นั่งกินซ่าหริ่มอยู่นั้นก็มีผู้หญิงคนหนึ่งเดินมาที่โต๊ะแล้วหิ้วกระเป๋าของเพื่อนฉันไปโดยไม่พูดอะไร พวกฉันจึงลุกเดินตามไปนั่งบนรถ หลังจากนั้นรถก็วิ่งไปประมาณ 30 นาที แล้วก็ให้ลงที่บ้านท่าพล จ.เพชรบูรณ์

ก็มี ทปท. หรือทหารป่า 4 คนพร้อมอาวุธเดินออกมาบอกว่า “สหายลงไป” (ภาณุมาศเล่าเพิ่มเติมว่า คำว่าสหายได้ถูกใช้โจมตีพวกตนตั้งแต่วิทยาลัยครู โดยเป็นใบปลิวโจมตีว่าพวกนี้เป็นคนไทยไม่รักชาติเป็นสหายพร้อมตามด้วยชื่อของพวกตน เช่น สหายภาณุมาศ)

การตัดสินใจเข้าป่าของฉันคิดว่าเป็นตัดสินใจถูกแล้วที่เข้าป่าในวันนั้นเนื่องจากมีประวัติการถูกดำเนินคดีติดตัวจึงคิดว่าน่าจะต้องถูกตามจับกุมแน่ ๆ และหลังจากนั้น 40 ปีต่อมาฉันเองได้ติดต่อกับเพื่อนที่ไม่ได้เข้าป่าไปด้วยกันและถูกจับกุม ซึ่งเพื่อนคนนั้นมีร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกาย เช่น ถูกบุหรี่จี้ และมีร่องรอยกรามหักเพราะถูกซ้อม รวมถึงจากการที่พี่ชายของตนที่ถึงแม้จะไม่ได้เป็นฝ่ายซ้ายหัวรุนแรงก็ยังถูกนายอำเภอเรียกเข้าพบและถูกข่มขู่ด้วย

ความทรงจำ 5 ปีของชีวิตในฐานที่มั่น

การใช้ชีวิตในช่วง 3 เดือนแรกเมื่อเข้าป่าก็มีผื่นขึ้นและมีอาการคันตัวแล้วสหายที่เป็นหมอบอกเป็นเพราะฉันไม่อาบน้ำซึ่งจริง ๆ พวกฉันอาบน้ำบ่อยแต่พวกผู้ชายต่างหากที่ 3–4 วัน อาบครั้ง แต่เป็นเพราะฉันแพ้อากาศต่างหาก เมื่อฉันมีอาการแพ้อากาศจึงต้องกินยาแก้แพ้ที่ส่งผลให้รู้สึกง่วงโดยในตอนนั้นฉันต้องลงไปเข้าเวรในเขตจรยุทธ์มันเป็นอะไรที่อันตรายน่ากลัวเพราะจะเผลอหลับฉันจึงไปแจ้งหัวหน้าหน่วยเรื่องนี้

หลังจากนั้นฉันได้เข้าเวรแค่บริเวณฐานที่มั่นซึ่งปลอดภัยมากกว่า นอกจากนี้ในฤดูฝนพวกฉันก็ต้องไปช่วยกันทำนาข้าวเพื่อเก็บไว้กินและแจกจ่ายไปตามหน่วยต่าง ๆ การทำนั้นจะมีสหายจากภาคอีสานมาช่วยสอนเรื่องการดำนา เพราะสหายม้งไม่ได้ทำแบบคนพื้นราบ ซึ่งในป่านั้นข้าวเป็นสิ่งของที่ขาดแคลนจะส่งไปให้คนที่อยู่ในแนวหน้าและคนป่วยกินเป็นหลักส่วนคนในแนวหลังกินข้าวโพดหรือข้าวโพดผสมข้าวแต่ก่อนจะเข้าป่ารุ่นพี่บอกว่าพวกเราจะต้องกินข้าวโพดกันซึ่งฉันก็คิดว่าเป็นแบบข้าวโพดต้มข้าวโพดเทียนก็ดีใจ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เพราะเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แข็ง ๆ ที่ต้องไปสีเป็นเมล็ดแล้วก็บดละเอียดจึงค่อยเอามาต้มเวลากินก็จะฝืดคอมาก แต่ของอย่างข้าวโพดในช่วงหลัง ๆ นอกจากจะนำไปบดไว้ต้มกินก็มีสหายบางคนแอบเอาข้าวโพดไปให้กลุ่มเภสัชที่ปกติจะต้องทำแอลกอฮอล์ไว้ใช้ล้างแผลทำเหล้าข้าวโพดไว้กิน

งานหลังจากที่จบโรงเรียนการเมืองการทหารแล้วคืองานในหน่วยงานมวลชนโดยตอนนั้นงานแรกที่ทำคือการลงไปซื้อสิ่งของ ซึ่ง พคท. ก็มีกฎ 10 ข้อ หนึ่งในนั้นคือซื้อของต้องเท่าเทียมเมื่อเวลาซื้อสิ่งของก็ใช้ระเบิดที่พกติดเป็นตราชังวัดน้ำหนักเพื่อความเที่ยงตรงโดยระเบิดหนึ่งลูกหนัก 0.5 กิโลกรัม ในตอนที่ฉันไปซื้อเผอิญเกิดไส้ติ่งแตกแต่ฉันสงสารเพื่อนมากที่ต้องหามกลับ ในระหว่างที่หามทางกลับที่ฐานที่มั่นเจอลุงคนม้งเขาที่เห็นฉันเจ็บปวดเขาก็เขามาดูด้วยความเป็นห่วงสีหน้าเหมือนจะร้องไห้ที่ฉันเจ็บปวดแล้วก็เอากล้วยจากในตะกร้ามาให้กิน นี้เป็นสิ่งที่เป็นความประทับใจต่อคนม้งเหมือนที่โกเมตเล่าว่าเราอยู่กับคนม้งเหมือนเราเป็นลูกหลานของเขา

ทุกปีในงานปีใหม่ม้งของ 9 หมู่บ้านจะมีการรับสมัครทหารใหม่เข้ากอง แต่ในหมู่บ้านปกติก็จะมีทหารบ้านประจำในหมู่บ้านเป็นเหมือนทหารกองหนุนแต่หากฝ่ายรัฐบาลไทยเปิดยุทธการก็จะต้องช่วยรบกันไป ส่วนในด้านสาธารณสุขก็จะมีหมอบ้านที่มีทักษะฉีดยา ฝังเข็มและปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งโรงพยาบาลจะเน้นไปที่ผู้ป่วยอาการหนักโดยหมอที่รักษาก็ส่งไปเรียนหมอที่จีน

ในช่วงท้าย ๆ ก่อนที่ฐานที่มั่นจะแตกฉันได้ไปช่วยกันต้มเกลือซึ่งเป็นงานที่หนักรองจากการทำงานในแนวหน้า เพราะจะต้องต้มเกลือช่วงฤดูร้อนที่น้ำในลำธารแห้งขอด และจะต้องปิดป่าไม่ให้ใครเข้ามาเพราะกลัวจะเสียลับ ซึ่งการต้มเกลือจะจับกันเป็นคู่ลงไปตักน้ำขึ้นมาเพื่อต้ม โดยการขนน้ำจะใส่น้ำในกระบอกไม้ไผ่ยาวประมาน 2 เมตร มีการผลัดเวรกันไปตักน้ำคู่ละ 2 ชม. จะมีการตักและต้มน้ำเกลือตลอด 24 ชม. ซึ่งความยากของงานคือการที่ต้องแบกน้ำจากลำธารเดินขึ้นเขาและน้ำก็มักจะหกโดนตัวโดนเท้าและด้วยความที่ต้องใส่รองเท้าที่ทำจากยางของล้อรถทำให้เวลาเดินจะแสบเท้าแสบตัวจากรองเท้าและน้ำเกลือกัดผนวกกับอากาศที่ร้อนมาก กว่าจะได้เกลือมันทรมานมากหลังจากผลัดเวรพวกฉันจึงต้องรีบไปล้างตัวในน้ำจืดกัน

ความรับรู้ก่อนออกจากป่า

มีสัญญาณก่อนหน้านั้นว่าการสู้รบจะแพ้แน่ ๆ พวกฉันในเขตเขาค้อสู้รบหนักมากและข้อมูลข่าวต่าง ๆ ก็ไม่ค่อยได้รับรู้จนมีสหายลงไปในเมืองได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ และได้นำมาบอกว่าตอนนี้ พคท. กำลังมีปัญหาประกอบกับมีการขัดแย้งภายในและฐานที่แตกเป็นสองเสียงถ้าอยู่ต่อไปอาจต้องสูญเสียมากว่านี้จึงได้ตัดสินใจออกจากป่าไปเข้าเมือง แต่เรื่องที่  ม.ร.ว.เทพฤทธิ์  ติดต่อพวกนักศึกษา ฉันก็พึ่งรู้วันนี้จากที่โกเมตเล่า

ความตายในป่า: ความทรงจำที่ยังคงตามหา

ในทุกครั้งที่มีความตายในป่าจะเป็นบรรยากาศวังเวง เศร้า แค้น และอย่างไรพวกเราก็ไม่หยุดเดินพวกเราไม่กลัว โดยสหายเสียชีวิตพวกเขาต้องใส่เสื้อผ้าครบชุดใส่หมวกดาวแดงและคลุมธงแดง  ซึ่งพวกเราจะใส่เสื้อผ้าเท่าที่มีอยู่ขาดก็ต้องปะใส่ แต่สหายที่เสียชีวิตจะมีเสื้อผ้าใหม่เพื่อเป็นเกียรติแก่พวกเขา

สำหรับธงแดงนั้น พื้นธงสีแดง ตรงกลางมีดาวสีแดงทับบนดาวสีเหลือง สีเหลืองหมายถึงสีของทปท. และสีแดงหมายถึง พคท. สาเหตุที่สีแดงอยู่บนสีเหลืองเพราะว่าพรรคคอมมิวนิสต์ฯ ใหญ่กว่ากองทัพฯซึ่งต่างจากรัฐบาลไทยที่กองทัพใหญ่กว่าพรรค

 

เพลง วีรชน – ประชาชน

ร่างนอนนั้นคลุ่มธงแดงลมหายใจสิ้นสุดตัวแข็งเลือดแดงหลั่งลงรินไหล

หมวกดาวเหลืองแดงปิดคอแดงสีแดงเหมือนใจกางมุ้งกั้นคลุ่มกายให้แนบกายเนื้อเตียงนิ่งนอน

พ่อแม่พี่น้องนองน้ำตาครวญร้องไห้เศร้าโศกหนักหนาสหายต่างพาอาวรณ์

สุดแสนเสียดายสหายร่วมตายมาก่อนเหลือเพียงร่างนิ่งนอนสั่งสอนให้เรารุดไป

ทะนงทายท้าพลิกดินคว่ำฟ้าว่าตัวเรานี้วางวาย

ถือพรรคประชาเถิดมาไว้เหนือดวงใจต่อหน้าศัตรูหากตายก็ไม่เสียดายชีวา

ต่อสหายดีแสนดีความรักชนชั้นไพร่นายนี้ร่วมสามัคคีกันมา

สมแล้วเน้อชื่อเรียกขานวีระประชาร่างล้มแต่ดวงใจกล้าเหลือหน้าเราผู้ยัง

จะตามทวงแค้นลบรอยเลือดนั้นว่าตัวเรานี้วายวาง

ขอเดินตามรอยเลือดนั้นไม่มีวันจากคงมั่นหยัดยืนหนทางไม่ห่างเหินพรรคนำ

กลบร่างกลั่นน้ำตาฝากสหายไว้กับพนาชั่วดินและฟ้าทุกยาม

เหลือเรายังอยู่จะขอต่อสู้อธรรมสร้างสรรค์ถิ่นไทยงดงามจวบหามร่างลงพื้นดิน

เพลงนี้ร้องถึงรุ่นพี่คนหนึ่งที่เสียชีวิตจากศึกสงครามที่ค่ายรักไทย (หมู่บ้านรักไทย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ในปัจจุบัน) โดยหลังจากป่าทุกคนต่างก็แยกย้ายก็ไปและวันแม่ของพี่รุ่นพี่คนนี้มาหาเราที่บ้านที่อำเภอศรีสำโรงทั้งที่ไม่เคยมาแต่ก็พยายามจนมาถูกแต่ไม่ได้เจอฉันเพราะตอนนั้นฉันไปทำงานที่กรุงเทพฯ ซึ่งแม่ของรุ่นพี่มาเพื่อถามคำเดียวว่าลูกชายตายอย่างทรมานหรือไม่และหลังจากนั้น 20 ปีผ่านไปพวกฉันก็กลับมาหาหลุมศพแต่ก็ไม่เจออาจเป็นเพราะพื้นที่บริเวณนั้นรัฐเปิดให้ประชาชนที่อาสาสู้รบกับคอมมิวนิสต์เข้ามาจองทำกิน เรื่องของการพวกฉันที่ยังไม่สามารถหาหลุมศพรุ่นพี่คนนี้เจอก็ยังคงเป็นเรื่องที่ค้างคาใจฉันจนถึงทุกวันนี้

หลังจากออกจากป่ามาแล้วครูก็ให้กลับไปเรียนหนังสือแต่ก็ไม่ได้กลับไปเรียนเพราะรู้สึกว่ายังปรับตัวเข้ากับเมืองไม่ได้ยังคงมีความรู้สึกเจ็บปวดความรู้สึกที่ทำอะไรไม่สำเร็จ แต่ฉันเป็นคนอ่านและเขียนจึงใช้การเขียนจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเยียวยาเพื่อจะบอกความรู้สึกและสิ่งที่ฉันได้ผ่านมาอย่างโชกโชนแต่แทบไม่มีอะไรสักอย่างที่อยากจดจำแต่ก็ไม่เคยลืมบางเรื่องจนได้เป็นนิยายออกมา 2–3 เล่ม จากนั้นชีวิตก็ดำเนินมาเรื่อย ๆ แต่งงานมีครอบครัวเหมือนคนทั่วไปแต่ลึก ๆ ในใจก็ยังไม่เคยลืมเรื่องตอนที่ในป่า 4–5 ปี ทั้งชีวิตยาวนานมาหลาย 10 ปี แล้ว เป็นยังคงรู้สึกเศร้ากับเรื่องเหล่านี้ไม่สามารถก้าวความรู้สึกเหล่านี้ได้ฉันถือว่าฉันเป็นคนล้มเหลวคนหนึ่งสังคมไทย

 

วิเศษ สุจินพรัหม

นักพัฒนา ก่อนและหลังสงครามเย็น

วิทยากรคนที่สามคือวิเศษ สุจินพรัหม เขาสำเร็จการศึกษาเศรษฐศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง สำเร็จการศึกษาปริญญาโทในสาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บทบาทในช่วงตุลา 2516 – 2519 เป็นนิสิตนักศึกษาที่เคลื่อนไหวในชนบท เรื่องชุมชนสัมพันธ์ ทำงานในกลุ่มชมรมโดยเฉพาะการออกค่ายฝึกกำลังพลซึ่งเป็นค่ายอาสาพัฒนาแนวใหม่ที่เน้นการพัฒนาคน การสร้างคนให้ออกไปเป็นนักเคลื่อนไหว

วิเศษระบุว่าเขามีแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดของโกมล คีมทอง ซึ่งเป็นกลุ่มแกนนำในการเคลื่อนไหวในยุคนั้น หลังจากเรียนจบท่านได้ทำงานด้านพัฒนาสังคม เป็น NGO ในเขตพื้นที่วังทรายพูน จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นเขตพื้นที่สีชมพู หรือ Sensitive Area ที่เชื่อมโยง 3 จังหวัดคือ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ หลังจากนั้นได้ย้ายไปทำงานพัฒนาในหลาย ๆ ที่ ในปัจจุบันได้ตั้งฐานพัฒนาที่จังหวัดลำพูน โดยเน้นในเรื่องของการสร้างแนวคิดเพื่อส่วนรวม การเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน รวมทั้งมีความสนใจเฉพาะด้านในเรื่องของเพศ (Gender) คือสัมพันธภาพเชิงอำนาจของบทบาทชายและหญิง

ก่อน 6 ตุลา จากมุมมองของเด็กต่างจังหวัด

วิเศษเริ่มต้นบรรยายว่าจะจำกัดการเล่าเพียงสองเหตุการณ์ คือ 14 ตุลา 16 กับ 6 ตุลา 19 แต่ต้องเข้าใจว่าการอุบัติขึ้นของสองเหตุการณ์นี้ไม่ได้อุบัติขึ้นโดยตัวมันเอง มันเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่ปะทุขึ้นมาจากการสะสมพลังการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเราควรจะต้องไปสืบค้นเพิ่มเติมว่าเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์มีการเชื่อมร้อยกันอยู่มากกว่าแค่สองเหตุการณ์นี้ที่เชื่อมร้อยเป็นขบวนการตั้งแต่ พ.ศ.2475

เมื่อพูดถึงเหตุการณ์เดือนตุลาฯ มันไม่ได้เกิดขึ้นแบบทันทีทันใดเหมือนที่อ่านหนังสือที่หลายคนเขียน ก่อนหน้านั้นมีเหตุการณ์ที่อาจจะไม่เห็นในงานเขียนประวัติศาสตร์ ผมจึงจะบอกเล่าเหตุการณ์ส่วนนี้ที่มาจากประสบการณ์ตรง

โดยจะเริ่มจากการเกริ่นก่อนว่าตัวเองเป็นเป็นคนชอบไว้ผมยาว เนื่องจากอิทธิพลของยุคฮิปปี้ ในช่วงของสงครามเวียดนาม หลังจากช่วงที่จอมพลถนอมปฏิวัติตัวเองในปี พ.ศ.2514 ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่ตัวเขาตอนนี้เรียนอยู่โรงเรียนประจำในจังหวัดศรีสะเกษ ได้มีคำสั่งให้นักเรียนทุกคนตัดผมสั้นแต่ตนเองไม่ตัดเพราะมองว่าความรู้ไม่เกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอก ทำให้ถูกคุณครูประจานและให้พิจารณาตนเอง จึงรู้สึกต่อต้านสังคมที่เป็นอยู่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เมื่อผมเรียนจบและได้มาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ได้มองเห็นวัฒนธรรมที่เป็นวัฒนธรรมแบบเผด็จการที่แทรกซึมลงไปในการใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ เช่น นักเรียนจากโรงเรียนบุตรข้าราชการกองทัพบกหรือโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรีในปัจจุบัน เมื่อถูกจับเพราะมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับโรงเรียนอื่นตำรวจก็จะปล่อยตัวเพราะมีพ่อเป็นทหาร หรืออย่างที่เกิดการต่อต้านในมหาวิทยาลัย ที่นักเรียน จปร. (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) จะมีโควตาไปเรียนต่อแพทย์ทุกมหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องสอบเอนทรานซ์ ก็จะถูกนักเรียนแพทย์คนอื่นต่อต้านเพราะความเป็นอภิสิทธิ์ชน ตอนนั้นทหารจะมีอภิสิทธิ์ในสังคมอย่างมาก ซึ่งผมคิดว่าการซึมซับเรื่องเหล่านี้ในสังคมไทยทำให้คนในสังคมมองว่าเป็นเรื่องปกติ หรือที่เรียกว่า Normalization ส่งผลให้อำนาจเผด็จการซึมลงไปในชีวิตประจำวันจนไม่มีใครขัดขืนหรือต่อต้านได้ และระบบโซตัสหรือการรับน้องในมหาลัยก็แฝงด้วยอำนาจเผด็จการชนิดนี้ด้วย

ปรากฎการณ์สำคัญที่เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงในขบวนนักศึกษาคือ ในปี พ.ศ.2512 “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” ถูกตั้งขึ้นมาและเข้าไปมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์เลือกตั้ง เป็นปรากฏการณ์ที่นักศึกษาออกจากรั้วมหาลัยเข้าไปสู่สังคม เป็นการเรียนรู้ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งโดยตรง

ในสมัยที่ธีรยุทธ บุญมีเป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเขาจัดการรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ซึ่งการรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายเพราะว่าเป็นการรณรงค์ที่ไม่ด้านต่อต้านอำนาจรัฐเผด็จการโดยตรง การเคลื่อนไหวนี้เป็นการสร้างเครดิตให้ขบวนการนักศึกษาซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญมาก

ต่อมามีเรื่อง “การเสียชีวิตของโกมล คีมทอง” ซึ่งอยู่ในกลุ่มของ “ยุวชนสยาม” (วิเศษให้ข้อมูลว่า กลุ่มยุวชนสยามเป็นกลุ่มเดียวที่มีแบบแผนวิธีคิดที่ไม่ไปในทางเผด็จการและเป็นหน่ออ่อนที่ทำให้เกิดขบวนการนักศึกษาต่อมา) โกมลเป็นครูอยู่ที่สุราษฎร์ธานีและถูกยิงเสียชีวิต การตายของเขาเกิดอิทธิพลเป็นแนวคิดเรื่องบัณฑิตออกไปสู่ชนบท ไปช่วยชาวบ้าน ซึ่งแพร่หลายในกลุ่มนักศึกษาเป็นอย่างมาก ค่ายอาสาของเขาจะเน้นเรื่องการพัฒนาตนเอง ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาหลายคนผันตัวเองเข้าไปทำงานในชนบท โดยส่วนหนึ่งที่ผมเข้าไปทำค่ายฝึกกำลังพลก็มาจากอิทธิพลความคิดของโกมลเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้มีแนวคิดว่านักศึกษาที่จะออกไปขับเคลื่อนสังคมจะต้องมีการพัฒนาตนเองก่อน

สุดท้ายอิทธิพลจาก “ภาพยนตร์เรื่องเขาชื่อกานต์” ซึ่งกำกับโดยท่านมุ้ย (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) สร้างจากงานเขียนนวนิยายของสุวรรณี สุคนธา ที่สำคัญคือฉากของหนังอยู่ที่ จ.พิษณุโลก แถว อ.บางกระทุ่ม – อ.บางระกำ

ภาพยนตร์เรื่องนี้แม้จะมีฉากอยู่ที่พิษณุโลกแต่เนื้อหาของหนังสะท้อนถึงอำนาจนิยมในระบบราชการทั้งหมดซึ่งเชื่อมโยงกับระบอบเผด็จการ หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ผมคิดว่าเป็นหนังเชิงสร้างอุดมคติให้กับคนดูโดยเฉพาะนักศึกษา เนื่องจากพระเอกที่เป็นนักเรียนแพทย์ถูกยิงตายเพราะไปขัดแย้งกับฝ่ายปกครอง หากได้ทบทวนหนังเรื่องนี้เห็นสภาพชนบทที่มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ฝ่ายปกครองกระทำต่อชาวบ้านโดยเฉพาะในพื้นที่พิษณุโลก ที่จริงแล้วก็เป็นภาพสะท้อนของความสัมพันธ์เชิงอำนาจทั่วไปในขณะนั้นด้วย

นอกจากนั้นในช่วงปี พ.ศ.2518 ผมได้มีโอกาสมาที่ภาคเหนือตอนล่างจากการที่เพื่อนชวนไปที่บ้านในอำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ ทำให้ผมได้เห็นสภาพของเพชรบูรณ์ในตอนนั้น ชาวนาที่นั่นให้ผมซึ่งเป็นนักศึกษาในขณะนั้นนั่งไปกับรถสิบล้อที่จะขนส่งข้าวไปขายที่กรุงเทพฯ เพื่อให้ตำรวจปล่อยให้ผ่านด่านตรวจซึ่งเป็นด่านรีดไถไปได้ ตำรวจเมื่อเห็นว่ามีนักศึกษานั่งมาด้วยก็จะปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่เสียค่าปรับ จะเห็นว่าบรรยากาศสังคมในขณะนั้นมีการใช้อำนาจรัฐตั้งด่านรีดไถ และในขณะนั้นผมเองได้เห็นถึงการขยายตัวด้านความสัมพันธ์ทางการผลิตว่าได้ขยายตัวมาถึงพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างแล้ว จากการที่คนอีสานจะอพยพเข้ามาอยู่ในภาคเหนือตอนล่างจำนวนมาก และมีการเปลี่ยนแปลงจากโรงเลื่อยไปเป็นโรงสี แล้วก็พัฒนาไปเป็นการส่งออก ซึ่งเส้นทางการติดต่อสินค้าในสมัยนั้นของชนแดนจะมีจุดพักของผู้อพยพจากภาคอีสาน และจากจุดนี้จะมีการเข้าไปในป่าเพื่อบุกเบิกพื้นที่ป่ายาวต่อไปจนถึงเขาค้อ

ซึ่งเรื่องของการอพยพเหล่านี้เป็นสถานการณ์ที่ตนเห็นว่าในประวัติศาสตร์ของเรายังไม่ได้มีการบันทึกไว้ การอพยพมีสองระยะคือ “หนึ่งเป็นคนอีสานจริง ๆ” และ “สองเป็นแบบจัดตั้งจากการขยายตัวของพรรคคอมมิวนิสต์” ที่มีมวลชนขยายเข้าไปประชิดเขาค้อเพื่อทำให้ป่าในเขาค้อและภูหินร่องกล้าเชื่อมกับเมืองเนื่องจากสภาพจำกัดของป่าคือไม่มีอาหาร

โดยในพิจิตรที่ตนไปทำงานอยู่ในช่วงปี พ.ศ.2525 จะมีแถบอำเภอวังทรายพูน - สากเหล็ก เป็นช่องทางในการขนส่งอาหารให้คนในพื้นที่เขาค้อ และการเข้าไปทำงานของผมในปีนั้นหน้าที่จริง ๆ คือการเชื่อมกับคนในป่า ส่วนงาน NGO เป็นเพียงงานที่ใช้บังหน้าเท่านั้น

ความรุนแรงทางการเมืองในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา จากความทรงจำของนักศึกษารามคำแหง

ความรุนแรงเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการเติบโตของขบวนการเคลื่อนไหวที่มีสหภาพต่าง ๆ จากนักศึกษา กรรมกร และชาวนาเกิดขึ้นมากมาย มีชื่อเรียกว่า “ขบวนการสามประสาน” ซึ่งมีความเข้มแข็งและกระทบต่ออำนาจของรัฐอย่างมาก ความหวาดกลัวของฝ่ายรัฐและความต้องการทำให้สามประสานแตกตัวทำให้ต้องตั้งขบวนการต่อต้านขึ้นมา ตัวอย่างการเกิดขึ้นของขบวนการกรรมกรคือ กรณีกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าฮาร่า ในปี พ.ศ.2518 มีการประท้วงเรื่องสวัสดิภาพค่าแรงแต่เจ้าของโรงงานไม่ยอมทำให้กรรมกรที่เป็นผู้หญิงเกือบทั้งหมดจึงทำการยึดโรงงาน แล้วตั้งระบบคอมมูนขึ้นมา คือผลิตและจัดจำหน่ายเอง นักศึกษาจึงต้องเข้าไปช่วยเรื่องการตลาดและเข้าไปจัดตั้งขบวนการ

ซึ่งหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา กรรมกรทั้งหมดก็ได้เข้าป่ากับพรรคคอมมิวนิสต์ ต่อมาคือขบวนการชาวนาที่มีนายใช่ วังตะกูเป็นผู้นำ ซึ่งจะเติบโตมากในภาคเหนือตอนบน ฝ่ายรัฐได้มีการจับกุมนักศึกษาและชาวนาที่ภาคเหนือทำให้ฝ่ายศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาและชาวนาจัดชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม ในส่วนของขบวนการนักศึกษาจะมีนักศึกษารามคำแหงที่เป็นฝ่ายปฏิบัติการโดยส่วนใหญ่มักจะเผชิญหน้ากับความรุนแรง จะมีกลุ่มจัดตั้งที่ชื่อว่า “รามทักษิณ” ที่จะคอยปะทะกับกลุ่มกระทิงแดง ส่วนของผมเองเป็นส่วนของการจัดตั้งน้องรุ่นใหม่ที่เข้ามาโดยจะมีการเก็บประวัติของแต่ละคนถ้าหากมีคนที่มาจากศูนย์นักเรียนจะถูกยกระดับให้เป็นฝ่ายปฏิบัติการทันทีโดยไม่ต้องเรียนเพิ่มเติมแต่ตนจะเข้าไปเสริมความคิดแทน โดยหนังสือที่มักจะนำไปใช้ในการเสริมความคิดคือ “ปรัชญาชาวบ้าน” “ใครสร้างใครทำ” นอกนั้นก็จะมีวิทยาศาสตร์สังคม แนวคิดทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการทางสังคม โดยเน้นแนวคิดทฤษฎีของมาร์กซ์  ในส่วนของการลงพื้นที่ชนบทเพื่อเรียนรู้ชีวิตของชาวบ้านตนได้ลงไปปฏิบัติพื้นที่อยู่ใน อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นเขตรอยต่อกับพื้นที่เขาค้อ ตนได้ไปทำงานร่วมกับพ่อใหญ่ทรอด ธานี ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เป็นแกนนำคัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำชี สุดท้ายพ่อใหญ่ทรอดก็ถูกยิงเสียชีวิต

ในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา นักศึกษาจะเน้นเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการและจักวรรดิอเมริกาเป็นหลัก เนื่องจากการเผยแพร่วัฒนธรรมที่มาจากอเมริกา หรือการเข้ามาของยาเสพติด เมื่อนักศึกษาคัดค้านก็มีการจัดตั้งกลุ่มต่อต้าน เช่น นวพล หรือพระกิตติวุฑโฒ เจ้าของวลี “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” แต่ในขบวนการคัดค้านการจับกุมนักศึกษาและชาวนาก็จะมีฝ่ายที่เรียกว่า “ยุวสงฆ์” ซึ่งสุดท้ายแกนนำก็ลาสิกขาและเข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ในการทำสงครามสื่อ สื่อหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือพิมพ์ของฝ่ายขวา ในส่วนของวิทยุสื่อสารจะเป็นวิทยุของทหาร นำโดยวิทยุยานเกราะซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาและระดมคนเข้าไปตัดการนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาด้วย มีการนำระเบิดลูกเกลี้ยงขว้างไปที่กลางพื้นที่ชุมนุมทำให้นักศึกษาเสียชีวิต 4 คน และมีคนบาดเจ็บจำนวนมาก ความรุนแรงสมัยในสมัยนี้เทียบไม่ได้กับตอนนั้น สมัยนั้นคิดจะเอาเป็นเอาตายกันเลย

ไม่เข้าป่า ไปเป็น NGO

ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519  ผมอยู่ในหน่วยจัดระเบียบเพื่อลดการสูญเสียของนักศึกษาและประชาชนที่ธรรมศาสตร์ในตอนนั้น จะมีการระบายนักศึกษาและประชาชนออกทางท่าพระจันทร์และหวังว่าจะมีเรือมารับจากท่าพระจันทร์ข้ามไปฝั่งทางโรงพยาบาลศิริราช แต่ปรากฏว่ามีการปิดล้อมไปทุกด้านซึ่งผมถูกกลุ่มกระทิงแดงปีนขึ้นฝั่งด้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติใช้ปืนยิงสกัดไม่ให้เราหนีออกจากทางท่าพระจันทร์ และมี ตชด.ยึดฝั่งสนามฟุตบอลยิงสกัดเราไว้เพราะฉะนั้นพวกเราจึงถูกต้องไปอยู่ตรงตึกคณะสื่อสารมวลชน

ในขณะนั้นมีพวกเราหลายคนมีอาการตื่นกลัวโดยเฉพาะคนที่เป็นนักเรียนนอก และยังมีคนเจ็บผมจึงปรึกษากับเพื่อนว่าเราไม่ไหวแล้วสุดท้ายพวกเราจึงต้องยอมแพ้ โดยให้การ์ดที่มีอาวุธนำอาวุธไปซ่อนและใช้เสื้อขาวยื่นออกไปนอกหน้าต่างเพื่อส่งสัญญาณว่าเรายอมแล้ว โดยหลังจากนั้นพวกเราก็ถูกต้อนลงไปที่สนามพร้อมมีการทำร้ายร่างกายพวกเราและถูกพาไปที่โรงเรียนตำรวจชลบุรีจนพ่อแม่มาประกันตัว หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ผมจึงเป็นนักศึกษาที่ถูกจับที่ธรรมศาสตร์จึงไม่ได้เข้าป่า เมื่อไม่ได้เข้าป่าหลังจากนั้นผมก็ทำงานอยู่ใน ม.รามคำแหง โดยเป็นคนโปรยใบปลิวเป็นหลัก หลังจากนั้นผมเรียนจบได้สมัครเป็น NGO

ชีวิตผมไม่ได้อกหักจาก พคท. เหมือนเพื่อน ๆ หลังจากนั้นสิ่งที่ผมทำคือเดินหาเส้นทางใหม่ในฐานะ NGO ซึ่งไปเจอสังคมแห่งความเป็นจริงที่เป็นสังคมอุปถัมภ์ของกลุ่มคนที่มีทุนซึ่งพวกนี้ก็ผันตัวไปเป็นนายทุนใหญ่โดยพวกเราโดยพวกเราปะทะกับระบบอุปถัมภ์จากการทำธนาคารข้าวแต่สุดท้ายผมก็อยู่ได้ไม่นานก็ต้องจากพื้นที่ไปส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะชาวบ้านไม่มั่นใจว่า NGO จะมาแทนระบบอุปถัมภ์ได้ไหม

หลังจากนั้นผมก็ได้ไปเรียนในระดับปริญญาโทเกี่ยวกับแนวคิดมาร์กซจึงได้ทบทวนว่าแนวคิดมาร์กซใน พคท. กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กันอย่างไร และหลังจากนั้นผมก็ได้ไปศึกษาเรื่องป่าชุมชนซึ่งมันอาจไม่เป็นชุมชนในอุดมคติแบบลัทธิมาร์กซแต่มันเป็นชุมชนที่เป็นไปได้ดั่งนั้นชุมชนในอุดมคติที่ผมเจอที่ผมพอใจคือชุมชนที่ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดชีวิตตนเองไม่ใช่ NGO กำหนดให้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net