Skip to main content
sharethis

ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วเลือดออกในสมอง-เสียชีวิตได้เงินเยียวยา สปสช. เผยจ่ายแล้ว 162 ราย แนะเตรียมไทม์ไลน์ให้ละเอียดตั้งแต่วันที่ฉีดวัคซีนจนมีอาการไม่พึงประสงค์ ไม่ต้องชี้ชัดว่าเหตุมาจากวัคซีนหรือไม่ จากนั้นกรอกแบบฟอร์มยื่นให้ รพ. ที่ฉีด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานเขตของ สปสช. พิจารณาผลภายใน 5 วัน

4 มิ.ย. 2564 ช่อง 7 เอชดี รายงานว่า กรณีทิศกร พันธ์สำโรง หรือน้ำค้าง อายุ 29 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ห้างสรรพสินค้าใน จ.นครราชสีมา หลังฉีด 2 วัน เกิดอาการผิดปกติ กระทั่งล่าสุดแพทย์ที่ให้การรักษาลงความเห็นว่าอาการของทิศกรเกิดจากความผิดปกติของเส้นเลือดในสมองและขณะนี้ยังรักษาตัวอยู่ในห้อง ICU

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ประชุมร่วมกับครอบครัวผู้ป่วย ทีมแพทย์ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจ และพิจารณาการช่วยเหลือ  เนื่องจากครอบครัวของทิศกร  ยื่นเรื่องขอชดเชยเยียวยาอาการไม่พึงประสงค์จากการรับวัคซีนโควิด-19 ไว้ โดยที่ประชุมมีมติจะช่วยเหลือด้านสังคมเป็นจำนวนเงิน 75,000 บาท พร้อมมีหน่วยงานทางด้านสังคม เข้าช่วยเหลือครอบครัวต่อไป

อย่างไรก็ตาม ไทยรัฐออนไลน์และมติชนออนไลน์ รายงานว่า นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 2 มิ.ย. 2564 คณะผู้เชี่ยวชาญเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน ซึ่งมี ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นประธาน และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือดสมอง พิจารณากรณีหญิงอายุ 29 ปี ชาว จ.นครราชสีมา ที่มีอาการเลือดออกในสมอง โดยมีประวัติรับการฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 วันก่อนเกิดอาการ ขณะนี้รับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาว่า จากรายงานการสอบสวนโรคและภาพถ่ายเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองจากโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา พบผู้ป่วยรายดังกล่าวมีภาวะผิดปกติที่มีกลุ่มหลอดเลือดแดงต่อกับหลอดเลือดดำในสมอง (Arteriovenous malformation) ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติมาแต่กำเนิด

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ มักมาพบแพทย์และตรวจพบเมื่อหลอดเลือดผิดปกติเหล่านี้แตก ซึ่งอาการจะขึ้นกับตำแหน่งที่มีการแตกของหลอดเลือดในสมอง หรืออาจมีอาการชัก ปวดศีรษะ ร่วมด้วยได้ ในคนทั่วไปพบภาวะนี้ได้ประมาณ 10-18 รายต่อประชากรแสนคน และบุคคลที่มีความผิดปกติดังกล่าว มีโอกาสที่จะเกิดเลือดออกในสมองได้ประมาณร้อยละ 2-4 ต่อปี ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการพิการหรือเสียชีวิตในผู้ป่วยกลุ่มนี้

นพ.ทวีทรัพย์ ชี้แจงเพิ่มด้วยว่า สำหรับผู้ป่วยรายนี้ จากผลการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง พบภาวะเลือดออกในสมอง และตรวจพบความผิดปกติที่กลุ่มหลอดเลือดแดงต่อกับหลอดเลือดดำที่สมอง ซึ่งมักเป็นภาวะผิดปกติแต่กำเนิด ความเห็นของคณะผู้เชี่ยวชาญฯ จึงสรุปว่า สาเหตุของการเกิดอาการดังกล่าวเป็นจากรอยโรคเดิมที่เป็นอยู่ทำให้มีเลือดออกในสมอง และไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือการฉีดวัคซีน แต่เป็นเหตุการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญภายหลังการได้รับวัคซีน (Coincidental event)

ด้านทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า สถาพร ม่วงวัง บุตรชายของสมชาย ม่วงวัง ชาว จ.ปทุมธานี อายุ 50 ปี ที่เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 เปิดเผยว่า หลังจากกรณีการเสียชีวิตของบิดา ตนยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไปเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 โดยยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี เพราะบิดาเสียชีวิตในพื้นที่จังหวัดนี้ หลังจากรับเรื่องแล้วทาง สปสช. พิจารณาอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาเพียง 1-2 วันก็มีการอนุมัติเงินช่วยเหลือเบื้องต้น โดยโอนเงินเมื่อเช้าวันที่ 4 มิ.ย. 2564 ซึ่งถือว่ารวดเร็วมาก

สถาพร ม่วงวัง

สถาพร ม่วงวัง

สถาพร กล่าวว่า ในตอนแรกตนไม่เคยคิดว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น เพราะแพทย์ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเกิดจากวัคซีนโควิด-19 ได้แต่คิดแค่ว่าคงไม่ได้แน่นอน อย่างไรก็ตาม การพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นของ สปสช. ไม่ได้ต้องการพิสูจน์ความถูกผิด แต่อยากช่วยเหลือครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ และขั้นตอนก็ไม่ยุ่งยาก เพียงเรียบเรียงไทม์ไลน์ให้ละเอียดตั้งแต่วันที่ไปฉีดจนถึงวันที่เสียชีวิต จากนั้นก็กรอกข้อมูลในคำร้องพร้อมกับแนบสำเนาบัตรประชาชนของผู้ยื่น ของผู้เสียชีวิต และสำเนาหน้าบัญชีธนาคารเท่านั้น 

กรณีของสมชาย มีอาการอาการแน่นหน้าอกและเสียชีวิตหลังรับวัคซีนโควิด-19 ได้ 5 วัน ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบยังเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว ทางคณะอนุกรรมการของ สปสช. เขต 4 สระบุรี จึงลงมติเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2564 ให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวน 400,000 บาท

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 2564 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะเริ่มระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน หรือ 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งก็เป็นไปได้ที่จะมีผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่กลุ่มดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชาชนจะได้รับการดูแล และ สปสช. ก็ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์วิธีการการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

อย่างไรก็ตาม ขอทำความเข้าใจกับประชาชนอีกครั้งว่า ระบบดังกล่าวเป็นระบบการชดเชยความเสียหายเบื้องต้น คำว่าเบื้องต้นหมายถึงไม่ต้องถึงขนาดพิสูจน์ถูกผิดจนจบกระบวนการว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ แต่เมื่อใดที่ไปฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการข้างเคียง หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตแต่แพทย์ระบุสาเหตุการเสียชีวิตจากเรื่องอื่น แต่ถ้าสงสัยว่าจะเกี่ยวกับวัคซีน ก็สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเข้ามาได้เลย ไม่ต้องรอผลการชันสูตรอะไรทั้งสิ้น สปสช. จะมีคณะอนุกรรมการทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ ดำเนินการพิจารณาเรื่องเงินเยียวยาให้และจ่ายเงินภายใน 5 วันหลังมีมติ และแม้ต่อมาจะพิสูจน์ได้ว่า การเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยไม่ได้มาจากวัคซีน ก็จะไม่เรียกเงินคืนแต่อย่างใด 

"คณะอนุกรรมการจะพิจารณาโดยใช้ความเชี่ยวชาญของความเป็นแพทย์ ดูจากประวัติ จากข้อมูลต่างๆ บางครั้งจะเห็นว่าผู้ป่วยมีโรคประจำตัว ไปฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต เป็นไปได้ว่าวัคซีนไปทำให้โรคประจำตัวกำเริบได้ ดังนั้นทุกกรณีที่สงสัย ขอให้ส่งเรื่องมายังอนุกรรมการ การที่แพทย์บอกว่าไม่เกี่ยวกับวัคซีน ไม่ได้เป็นการตัดสินว่าจะไม่จ่ายเงินชดเชย เพราะคณะอนุกรรมการเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจจ่ายเงินชดเชย ไม่ใช่คุณหมอหน้างานหรือใครก็ตามที่พูด รวมทั้งกรณีการเจ็บป่วยต่อเนื่องต่างๆ อย่าเพิ่งไปวินิจฉัยหรือตัดสินเอาเองว่าจะได้หรือไม่ได้ ถ้าสงสัยว่าเกี่ยวกับวัคซีนให้ยื่นเรื่องเข้ามาตามกระบวนการก่อน" นพ.จเด็จ กล่าว 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การยื่นขอรับเงินเยียวยาเมื่อมีอาการไม่พึงประสงค์เป็นเรื่องสำคัญมาก นอกจากจะเป็นการดูแลผู้ได้รับผลกระทบแล้ว ยังทำให้ทราบข้อมูลว่ามีผลข้างเคียงอะไรที่ต้องระวังหรือต้องวางแผนรับมือเมื่อมีการฉีดในจำนวนที่มากขึ้น ซึ่งขั้นตอนการขอรับเงินเยียวยาก็ไม่ยุ่งยาก เพียงกรอกแบบฟอร์มแล้วยื่นให้ที่โรงพยาบาลที่ไปฉีด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานเขตของ สปสช. คณะอนุกรรมการจะพิจารณาผลให้และจ่ายเงินให้ภายใน 5 วันหลังมีมติ และเพื่อให้ประชาชนสะดวกมากขึ้น สปสช.ยังได้ประสานเครือข่ายอื่นๆ เช่น อสม. หรือ หน่วย 50(5) เป็นผู้แนะนำและรับคำขอให้อีกทางหนึ่งด้วย 

"ตอนนี้มียื่นเรื่องเข้ามาแล้ว 260 ราย จ่ายเยียวยาไปแล้ว 162 ราย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องอาการชาเป็นหลัก ฉีดแล้วชา เราก็จ่ายให้ถือว่าท่านได้รับความเสียหาย บางคนชา 1 วัน บางคนชาเป็นเดือนก็มี ระยะเวลาที่ต่างกันออกไปจะมีผลต่อการชดเชยที่ต่างกันออกไป ส่วนกรณีเสียชีวิตมียื่นเรื่องเข้ามา 6 รายทั่วประเทศ เพิ่งอนุมัติจ่าย 400,000 บาทไป 1 ราย ที่พื้นที่ สปสช.เขต 4 สระบุรี ส่วนอีกรายที่ยื่นเข้ามาที่ กทม. คณะอนุกรรมการได้พิจารณาว่าไม่เกี่ยวข้อง ก็จะเหลืออีก 4 รายที่กำลังพิจารณาอยู่" นพ.จเด็จ กล่าว 

นพ.จเด็จ ย้ำอีกครั้งว่า กระบวนการชดเชยความเสียหายจากวัคซีนเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ดังนั้นก็ต้องเวลาระบบได้ปรับตัวด้วย ที่ผ่านมา ถ้าติดตามข่าวจะเห็นว่าเป็นการตีความหรือวินิจฉัยผ่านสื่อหรือโซเชียลมีเดียกันเอง ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการอย่างเป็นทางการ ดังนั้นขอย้ำว่าอย่าเพิ่งตัดสินเอง ขอให้ส่งเรื่องมาให้ สปสช. ไม่ว่าแพทย์จะบอกว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ก็ถือเป็นเรื่องทางการแพทย์ แต่คณะอนุกรรมการของ สปสช.จะพิจารณาการช่วยเหลือเบื้องต้นให้ 

ทั้งนี้ หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามแผนงานโครงการที่รัฐจัดให้ฟรี สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ที่ โรงพยาบาลที่ฉีด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือที่สำนักงาน สปสช. สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. โทร. 1330

หลักเกณฑ์การเยียวยากรณีมีอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน

หลักเกณฑ์การเยียวยากรณีมีอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net