Skip to main content
sharethis

บริษัทวิจัยด้านความมั่นคงที่ตั้งโดยอดีตเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ ระบุว่า กลุ่มขวาจัดที่เชื่อทฤษฎีสมคบคิดแบบสุดโต่งซึ่งเรียกตัวเองว่าคิวแอนอน (QAnon) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในสหรัฐฯ และอ้างว่ามีกลุ่มคนที่ช่วยเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ในโลกออนไลน์นี้มาจากจีนและรัสเซียที่จนอาจจะกลายเป็นภัยก่อการร้ายในประเทศได้

ผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ บุกเข้าไปในสภาคองเกรสที่วอชิงตัน ดีซี เพื่อขัดขวางการลงมติสนับสนุนโจ ไบเดนเป็นประธานาธิบดี เมื่อ 6 ม.ค.2564 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ถูกระบุในรายงานว่าส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากทฤษฎีสมคบคิดที่มา: Flickr/Tyler Merbler

ยาฮูนิวส์รายงานเมื่อวันที่ 19 เม.ย.2564 ประเด็นนี้ว่าศูนย์ซูฟานซึ่งเป็นองค์กรวิจัยด้านความมั่นคงที่ก่อตั้งโดยอดีตเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ ทำการสำรวจเกี่ยวกับกลุ่มขวาจัดที่เชื่อทฤษฎีสมคบคิดแบบสุดโต่ง 'คิวแอนอน' (QAnon) ได้เปิดเผยรายงานประเด็นนี้ว่ามีผู้แพร่กระจายทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้จากต่างประเทศโดยเฉพาะจากในจีนและรัสเซีย ทางศูนย์พบว่าในช่วงระหว่างเดือน ม.ค. 2563-ก.พ. 2564มีโพสต์บนเฟซบุ๊กที่เกี่ยวข้องกับ QAnon ทั้งหมด 166, 820 โพสต์ โดย1 ใน 5 มาจากนอกสหรัฐฯ

สื่อยาฮูระบุว่ารายงานฉบับนี้ทำให้เกิดปัจจัยใหม่ๆ ต่อการอภิปรายหาแนวทางโต้ตอบทฤษฎีสมคบคิดที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มขวาจัดอย่าง QAnon โดยที่กลุ่มขวาจัดกลุ่มนี้เคยพยายามแพร่กระจายทฤษฎีสมคบคิดว่ารัฐบาลสหรัฐฯ "มีพวกบูชาซาตานคอยควบคุมอยู่เบื้องหลังอย่างลับๆ" และมีส่วนพัวพันกับวงการอาชญากรรมค้ามนุษย์เพื่อบริการทางเพศในระดับโลก

คริสโตเฟอร์ วเรย์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอ กล่าวถึงกลุ่ม QAnon ต่อสภาไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มขวาจัดกลุ่มนี้มีลักษณะสุดโต่งจดนอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงได้ โดยยกตัวอย่างกรณีบุกอาคารรัฐสภาของสหรัฐฯ ในวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา

รายงานจากศูนย์ซูฟานระบุว่า กลุ่มผู้เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดหลุดโลกเหล่านี้ดูจะมีเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมเมื่อเทียบกับงานวิจัยอื่นๆ ก่อนหน้านี้ โดยที่บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลลิมบิค (Limbik) สำรวจกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกัน 9,308 รายพบว่าร้อยละ 20-23 ระบุว่าพวกเขาเป็น QAnon เป็นผู้ที่เชื่อใน QAnon หรือเป็นผู้สนับสนุน QAnon ซึ่งมีจำนวนสูงกว่าการสำรวจก่อนหน้านี้อย่างมาก

เมื่อมีการถามเป็นรายประเด็นที่ QAnon ชอบกล่าวอ้างถึง ผู้คนในสหรัฐฯ ก็เชื่อทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้มากขึ้น เช่น มีคนเชื่อว่า "ชนชั้นนำ, นักการเมือง และ/หรือ ดารา มีส่วนพัวพันกับกลุ่มใคร่เด็ก (Pedophile)ในระดับโลก" มากขึ้นถึง 35.8 เทียบกับการสำรวจก่อนหน้านี้ในเดือน ธ.ค. 2563 ที่มีผู้เชื่อร้อยละ 26.7

กรณีทฤษฎีสมคบคิด "การพัวพันกับกลุ่มใคร่เด็ก" นี้เคยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงฝ่ายขวามาแล้วเมื่อปี 2559 ที่เรียกว่าเหตุการณ์ "พิซซ่าเกท" (Pizzagate) จนทำให้มีคนกราดยิงร้านพิซซ่าที่ชื่อ "โคเมต" ในวอชิงตันดีซีเพราะคิดว่าเป็นสถานที่ใช้แลกเปลี่ยนค้ามนุษย์เด็ก นอกจากนี้ยังมีผู้ข่มขู่คุกคามพนักงานและเจ้าของร้านแห่งนี้จากเรื่องทฤษฎีสมคมคิดลวงๆ แม้ว่าจะมีการพิสูจน์แล้วว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริงแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีการแพร่กระจายในเว็บบอร์ดต่างๆ อย่าง 4chan, 8chan และทวิตเตอร์โดยเฉพาะในหมู่กลุ่มขวาจัดรวมถึงสื่อฝ่ายขวาอื่นๆ

แม้แต่กรณี COVID-19 กลุ่มขวาจัดในสหรัฐฯ ก็สร้างทฤษฎีสมคบคิดขึ้นมาเช่นอ้างว่า COVID-19 เป็นไวรัสที่ถูกสร้างขึ้นในห้องปฏิบัติการ จากการสำรวจในเดือน ก.พ. 2564 พบว่ามีคนเชื่อเรื่องนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30.6 เทียบกับร้อยละ 29.1 ในเดือน ธ.ค. นอกจากนี้พวก QAnon ยังแพร่กระจายความเชื่อเรื่องการโกงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2563 โดยที่กรณีความเชื่อเรื่องนี้เป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่ก่อให้เกิดการจลาจลบุกรุกรัฐสภาสหรัฐฯ ในวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา

จากข้อมูลเหล่านี้ทำให้รายงานของศูนย์ซูฟานสรุปว่าแสดงให้เห็นถึงการที่ประชากรชาวสหรัฐฯ มีฐานคิดที่เปิดให้คนฉวยโอกาส "ทำให้กลายเป็นพวกสุดโต่ง/หัวรุนแรง" จากขบวนการของ QAnon ได้

นอกจากนี้บริษัทลิมบิควิเคราะห์ข้อมูลจากเนื้อหาในโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กยังทำให้พบว่ามีกลุ่มผู้กระทำการจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น จีน, รัสเซีย, ซาอุดิอาระเบีย และอิหร่าน คอยผลิตซ้ำ, ช่วยแพร่กระจาย และตอกย้ำ ทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้เพื่อสร้างความไม่ลงรอยและความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจทางสังคมเกี่ยวกับกระบวนการทางการเมืองของสหรัฐฯ

รายงานอ้างว่าผู้เผยแพร่ข้อมูลใส่ร้ายป้ายสีของ QAnon มากถึงร้อยละ 44 มาจากรัสเซีย อย่างไรก็ตามช่วงต้นปีตั้งแต่มกราคมถึงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมากลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในการเผยแพร่ข้อมูลแบบ Qanon มาจากจีนถึงร้อยละ 58

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าหลังจากที่ยุคสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สิ้นสุดลง ผู้ที่ทำตัวเป็นผู้นำของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Q ได้เงียบไป ปล่อยให้ผู้ติดตามทฤษฎีสมคบคิดจากโพสต์ก่อนหน้านี้เอามาโยงให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น อ้างอย่างหลุดโลกว่าเรือสินค้าที่ไปเกยตื้นขวางคลองสุเอชนั้นเป็นเรือที่ใช้ค้ามนุษย์เด็ก

สำหรับบุคคลลึกลับที่เรียกตัวเองว่า Q นั้นเริ่มโพสต์เนื้อหาในอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ปี 2560 คอยทำนายทายทักเรื่องต่างๆ จนทำให้มีชื่อเสียงในอินเทอร์เน็ต ถึงแม้ว่าคำทำนายใหญ่ๆ จำนวนมากจะไม่เป็นความจริง เช่นคำทำนายที่ว่าจะมี "พายุ" ซึ่งถือถึงความวุ่นวายทางการเมืองหรือการรัฐประหารในวันที่ โจ ไบเดน สาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค. 2564 แต่ในวันนั้นก็ไม่มีการรัฐประหารหรือความวุ่นวายอะไรเกิดขึ้น

นอกจากนี้ยังตั้งมีการข้อสังเกตอีกว่า Q แสดงตัวราวกับเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองระดับสูงที่มีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลลับได้ และมีโพสต์จำนวนมากที่นำเสนอ โดนัลด์ ทรัมป์ ให้ดูราวกับพระผู้มาโปรดผู้ต่อสู้กับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเป็นกลุ่มองค์กรลับที่ควบคุมรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่

เคยมีสารคดีช่องเอชบีโอตั้งสมมุติฐานว่าตัวตนของ Q คือคู่พ่อลูก เจมส์ และ รอน วัตคินส์ ผู้ดำเนินการเว็บบอร์ดพวกขวาจัด 8chan และ 8kun แล้วรอน วัตคินส์ก็เคยเกือบจะยอมรับว่าตัวเองเป็น Q

แม้ว่าส่วนหนึ่งของผู้สนับสนุนและเผยแพร่ข้อความทฤษฎีสมคบคิดหลุดโลกเหล่านี้จะมาจากรัสเซียและจีน แต่ในรายงานระบุว่ายังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเป็นปฏิบัติการของรัฐบาลรัสเซียและจีนโดยตรงหรือไม่ แต่ในความเห็นของเจสัน บลาซาคิส นักวิจัยอาวุโสของลิมบิคมีความเห็นว่าเมื่อพิจารณาจากการที่สองประเทศนี้ควบคุมอินเทอร์เน็ตและโดยเฉพาะในกรณีของจีนที่มีการใช้ไฟร์วอลล์ปิดกั้นเนื้อหาจากนอกประเทศจีนและมีการสอดแนมข้อมูลเข้าออกประเทศของพวกเขาแล้วก็เป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลของทั้งสองประเทศจะรับรู้การกระทำของกลุ่มคนเหล่านี้

รายงานสรุปว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่บริษัทโซเชียลมีเดียเองก็ควรจะจัดการปัญหาเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลเท็จใส่ร้ายป้ายสีบนพื้นที่ของพวกเขาด้วย ไม่ว่าจะโดยวิธีการลดการให้พื้นที่กับผู้เผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้หรือปรับอัลกอริทึมไม่ให้มีการแนะนำ "เนื้อหาของ QAnon ที่น่ารังเกียจ" เหล่านี้


เรียบเรียงจาก

Report: China, Russia fueling QAnon conspiracy theories, Yahoo! News, 19-04-2021

China and Russia played significant role in promoting QAnon conspiracy theory, study claims, The Independent, 20-04-2021

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Pizzagate_conspiracy_theory

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net