Skip to main content
sharethis

"อเมริกากลับมาแล้ว" คือวลีเด่นของโจ ไบเดน ต่อนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการแถลงใหญ่ในเรื่องนี้นับตั้งแต่ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่จะสื่อให้เห็นว่าสหรัฐฯ ส่งสัญญาณอะไรบ้างกับโลกของเรา หนึ่งในนั้นคือการเสนอให้ความสำคัญต่อประชาธิปไตยในฐานะอัตลักษณ์ของความเป็นอเมริกา

 

ภาพโดย Gage Skidmore จากวิกิพีเดีย

8 ก.พ. 2564 เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนล่าสุดของสหรัฐฯ ได้แถลงนโยบายการต่างประเทศครั้งใหญ่ซึ่งถือเป็นเสมือนโครงร่างวิสัยทัศน์นโยบายการต่างประเทศของเขา รวมถึงเป็นการสื่อสารส่งข้อความสำคัญให้กับกลุ่มผู้นำนานาชาติว่าสหรัฐฯ จะทำอะไรบ้างในช่วง 4 ปีถัดจากนี้ นอกจากนี้มีหลายอย่างที่จะเป็นการยกเลิกนโยบายสมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาและไบเดนจะพยายามคืนความเชื่อมั่นของชาวโลกและระเบียบโลกที่สหรัฐฯ เคยสูญเสียไปในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์

ถ้อยแถลงนโยบายของสหรัฐฯ ล่าสุดระบุว่าจะเน้นเรื่องการทูตแบบพหุภาคีและทำงานร่วมกับประเทศอื่นๆ ในเชิงบวกมากขึ้น กระนั้นก็ตามไบเดนบอกว่านี่ไม่ได้ถือเป็นวิธีการแบบอ่อน เขาแค่ต้องการเน้นย้ำว่าวิธีการทางการทูตเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการที่จะทำให้สหรัฐฯ ได้สิ่งที่ต้องการ

นอกจากนี้ถ้อยแถลงของไบเดนยังเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยด้วย ไบเดนเป็นคนที่ประกาศเสมอมาถึงความสำคัญของค่านิยมประชาธิปไตยในฐานะกุญแจสำคัญของอัตลักษณ์ตัวตนสหรัฐฯ และลักษณะพื้นฐานที่ชาวอเมริกันมีร่วมกัน เรื่องนี้เป็นการพาดพิงถึงกรณีการไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ของทรัมป์ที่ส่งผลให้เกิดการจลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ไบเดนบอกว่าการ "ต่อสู้" เพื่อนำมาซึ่งประชาธิปไตยจะกลายเป็นสิ่งที่ลงหลักปักฐานบทบาทของสหรัฐฯ ที่มีต่อโลกในอนาคต

ไบเดนกล่าวเน้นย้ำอีกว่า ค่านิยมนโยบายการต่างประเทศของเขาจะมีการรับข้อมูลจากสิ่งที่รัฐบาลของเขาเรียกว่าเป็นผลประโยขน์ของประชาชนชาวอเมริกันด้วย อย่างไรก็ตามมีนโยบายในประเทศหลายอย่างที่ไบเดนอาจจะต้องเจอแรงต้านจากพวกฝ่ายขวารีพับลิกัน เช่นการเพิ่มเพดานรับผู้อพยพเพิ่มต่อปี กับการส่งเสริมสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

หนึ่งในสิ่งที่ไบเดนพูดถึงในครั้งนี้อีกเรื่องหนึ่งคือความสัมพันธ์กับรัสเซีย เขาประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าจะไม่ยอมไปเกลือกกลั้วกับการรุกล้ำของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียซึ่งเป็นการพาดพิงถึงทรัมป์ในกรณีนี้ ไบเดนกล่าวเน้นย้ำเลยว่ารัสเซียเคยทำการแทรกแซงการเลือกตั้งของพวกเขา เคยโจมตีทางไซเบอร์ และ วางยาประชาชนของตัวเอง ในกรณีหลังสุดนี้เขาพูดถึงเรื่องผู้นำฝ่ายค้าน อเล็กซี นาวาลนี ที่เคยถูกวางยาพิษโดยรัฐบาลรัสเซีย รวมถึงเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขา ถ้อยแถลงของผู้นำสหรัฐฯ ยังประณามรัสเซียในเรื่องการพยายามลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมอย่างสันติในฐานะสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับสหรัฐฯ เองและสำหรับประชาคมโลก

อย่างไรก็ตามไบเดนก็กล่าวเน้นย้ำว่าเขายินดีที่จะทำงานร่วมกับปูตินในแง่ของการจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ โดยบอกว่าทั้งสองประเทศได้เริ่มขยายสนธิสัญญาร่วมกันแล้วในการที่จะลดคลังอาวุธนิวเคลียร์ของทั้งสองประเทศภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งนี่ก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แตกต่างจากวิธีการของทรัมป์อย่างมาก เพราะทรัมป์เลยยกเลิกสนธิสัญญาเกี่ยวกับการจำกัดอาวุธนิวเคลียร์มาก่อนทั้งข้อตกลงไอเอ็นเอฟ (ข้อตกลงว่าด้วยอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง) และข้อตกลงโอเพนสกาย

สำหรับประเทศจีนนั้น ไบเดนบอกว่าจีนเป็น "คู่แข่งรายสำคัญที่สุดของพวกเรา" และให้สัญญาว่าจะ "โต้ตอบการที่จีนละเมิดสิทธิมนุษยชน ทรัพย์สินส่วนบุคคล และธรรมาภิบาลในระดับโลก" แต่ในขณะเดียวกันไบเดนก็บอกว่าเขาพร้อมจะร่วมมือกับจีนถ้าหากมัน "เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ"

อีกประเทศหนึ่งที่มีความบาดหมางกับสหรัฐฯและเกิดรอยร้าวมากขึ้นในช่วงสมัยทรัมป์คือประเทศอิหร่าน ในการแถลงล่าสุดพวกเขาไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับอิหร่านโดยตรง แต่ก็มีการพาดพิงถึงกรณีสงครามตัวแทน (proxy war) ที่มีคู่ขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียกับอิหร่านที่ส่งอิทธิพลต่อสงครามกลางเมืองในเยเมน ท่าทีล่าสุดของไบเดนก็ขัดกับท่าทีของทรัมป์เช่นกัน คือการประกาศว่าสหรัฐฯ จะยกเลิกการสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสงครามเยเมน

นอกจากนี้แล้วรัฐมนตรีประทรวงการต่างประเทศคนใหม่ของสหรัฐฯ แอนโธนี บลิงเคน ยังเคยเป็นผู้ที่จัดตั้งผู้แทนพิเศษร่วมกันองค์การสหประชาชาติและกลุ่มอื่นๆ เพื่อหยุดยั้งความขัดแย้งในเยเมนด้วย

มีการวิเคราะห์จาก มิชา เคทเชล บรรณาธิการสื่อเดอะคอนเวอร์เซชันว่าถ้อยแถลงของไบเดนเป็นการแสดงให้โลกเห็นว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ชุดนี้จะดำเนินการแตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน จากการที่ไบเดนเปิดฉากวิพากษ์วิจารณ์และยกเลิกนโยบายต่างประเทศสมัยทรัมป์ทั้งหมดอีกทั้งยังกล่าวโจมตีอุดมการณ์เบื้องหลังของรัฐบาลทรัมป์ที่เป็นต้นกำเนิดทำให้เกิดนโยบายเหล่านี้ด้วย จุดยืนของไบเดนกลายเป็นการพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ และริเริ่มปฏิสัมพันธ์ใหม่กับโลก

อีกจุดหนึ่งที่ไบเดนแสดงให้เห็นคือเขาแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่ายุคสมัยเดิมที่สหรัฐฯ ทำตัวแบบคาดเดาอะไรไม่ได้นั้นได้จบลงไปแล้ว เขาพยายามจะทำให้สหรัฐฯ กลับมามีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและหวังจะกลับมาสร้างเสถียรภาพให้กับความสัมพันธืกับประชาคมโลกได้

ในขณะเดียวกันก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า ถึงแม้ไบเดนจะแสดงให้ทั้งมิตรและศัตรูของสหรัฐฯ เห็นอย่างชัดเจนว่าสหรัฐฯ มีจุดยืนอย่างไร แต่ถ้อยแถลงของเขาก็ไม่ได้พูดถึงยุโรปหรือเหตุการณ์เบร็กซิตที่อังกฤษออกจากสมาชิกภาพยุโรปเลย นั่นรวมถึงการที่ไม่มีการพูดถึงว่าเบร็กซิตจะส่งผลต่อข้อตกลงสันติภาพสหราชอาณาจักรกับไอร์แลนด์เหนือที่ชื่อว่า "ข้อตกลงกูดฟรายเดย์" อย่างไรบ้าง
 

เรียบเรียงจาก

 

Joe Biden’s first foreign policy speech – an expert explains what it means for the world, The Conversation, 06-02-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net