Skip to main content
sharethis

คณะกรรมาธิการวิสามัญแก้กฎหมายทำแท้งในกฎหมายอาญามาตรา 301 และ 305 ตั้งข้อสังเกต 10 ข้อที่ควรนำไปปฏิบัติ นักวิชาการและหนึ่งในคณะกรรมาธิการระบุให้มีการให้คำปรึกษาทางเลือกและการดำเนินการต้องเป็นไปอย่างไม่ล่าช้า

วันที่ 20 มกราคม 2564 ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ.... ในมาตราที่เกี่ยวกับการทำแท้งคือมาตรา 301 และมาตรา 305 เข้าสภาผู้แทนราษฎรและผ่านสภาไปแล้ว ซึ่งมุมมองจากองค์กรและภาคประชาชนที่ทำงานเรื่องนี้ยังเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ตั้งต้นจากสิทธิของผู้หญิงและยังคงให้มีบทลงโทษกรณีที่หญิงทำแท้งในอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์

ทั้งนี้ในมาตรา 305 ระบุว่า ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 302 หรือมาตรา 302 เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้กระทำไม่มีความผิด

(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น

(2) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควรเชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติทางกายหรือจิตใจถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง

(3) หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ

(4) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกินสิบสองสัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์

(5) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ แต่ไม่เกินยี่สิบสัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

กฤตยา อาชวนิจกุล (แฟ้มภาพ)

กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและหนึ่งในคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ แสดงความเห็นว่าประเด็นที่ต้องใส่ใจคือกระบวนการตามมาตรา 305 (5) จะต้องไม่เป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งจุดนี้ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญจึงได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ (เนื้อหาข้อสังเกตทั้ง 10 ข้อด้านล่างเนื้อข่าว)

กฤตยาอธิบายว่าการ delay abortion ก็เหมือนกับการ delay justice เพราะการเข้าถึงบริการสุขภาพไม่ว่าด้านใดถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน การทำให้เนิ่นช้าในการเข้าไม่บริการสุขภาพจึงเป็นอันตราย อีกทั้งการทำแท้งไม่เหมือนกับอาการป่วยอื่นๆ ที่ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ เพราะยิ่งอายุครรภ์สูงมากเท่าไหร่ความปลอดภัยก็จะน้อยลงและค่าใช้จ่ายก็จะมากขึ้น โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่าการทำแท้งภายในอายุครรภ์ 24 สัปดาห์สามารถทำได้อย่างปลอดภัย เพราะฉะนั้นการเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพในการทำแท้งจึงเป็นการละเมิดสิทธิ์อย่างหนึ่งหากทำให้กระบวนการชักช้า

“ถ้าเขาควรจะมีสิทธิ์ แล้วคุณไปทำนั่นทำนี่ มีขั้นตอนต่างๆ นานาเยอะแยะก็ยิ่งจะทำให้กระบวนการมันช้า แล้วกระบวนการนั้นก็มักจะไม่ได้เอาความต้องการของผู้หญิงเป็นตัวตั้ง แต่จะเอาความเชื่อและทัศนคติของผู้ให้บริการเป็นตัวตั้ง สิ่งที่เราเห็นในอดีตก็คือการพยายามโน้มน้าวใจให้ผู้หญิงไม่ทำแท้ง”

ทั้งนี้กฤตยาเป็นผู้เขียนข้อสังเกต 7 ข้อจาก 10 โดยข้อ 3 เขียนว่า

‘หลักเกณฑ์และวิธีการ ตลอดจนการปรึกษาทางเลือกตามมาตรา 305 (5) ที่กระทรวงสาธารณสุขจะประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น คือกำหนดมาตรการการบริการและการสื่อสารที่ชัดเจน โดยให้ศูนย์บริการภาครัฐทุกแห่งจัดให้มีบริการปรึกษาทางเลือกและแก้ไขปัญหาอย่างทั่วถึง การยุติหรือไม่ยุติการตั้งครรภ์ ระบบการส่งต่อ และการดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือดูแลผู้หญิงที่มารับบริการให้สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก ผ่านช่องทางที่หลากหลาย มีบริการที่เป็นมิตร ผู้จัดบริการต้องมีความละเอียดอ่อนต่อสถานการณ์ชีวิตของผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม ไม่มีการตีตราและทำให้ผู้หญิงที่ใช้บริการรู้สึกว่าถูกกระทำซ้ำ’

“ดิฉันเป็นคนเสนอให้เป็นการปรึกษาทางเลือกหรือ optional counselling เครือข่ายท้องไม่พร้อมได้ทำงานกับกระทรวงสาธารณสุขมานานพอสมควรเกือบ 10 ปีแล้ว ที่พยายามให้ศูนย์พึ่งได้มีบริการให้คำปรึกษาทางเลือกเพราะฉะนั้นกองบริหารงานสาธารณสุขและศูนย์พึ่งได้จึงเข้าใจเรื่องการปรึกษาทางเลือกเราจึงเสนอคำนี้และปรากฏว่ากรรมาธิการทุกคนก็เห็นด้วย

“หลักการให้คำปรึกษาคือต้องรับฟังปัญหาของตัวผู้มีปัญหา แต่การให้คำปรึกษาทางเลือกเพื่อรับบริการยุติการตั้งครรภ์หรือไม่ ชัดเจนว่าผู้หญิงต้องการตัดสินใจว่าจะเลือกยุติหรือไม่เลือกยุติ เราจึงตั้งชื่อมันว่าเป็นการให้คำปรึกษาทางเลือก ในที่นี้ก็คือรับฟังเสียงผู้หญิงอย่างตั้งใจเป็น deep listening ไม่ตัดสินและให้ข้อมูลที่รอบด้านและให้ผู้หญิงตัดสินทางเลือกของตนเองว่าต้องการอย่างไร”

นอกจากนี้ ข้อสังเกตข้อ 5 ยังระบุว่า ‘ระบบการปรึกษาทางเลือกตามมาตรา 305 ต้องเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิที่จะขอรับการปรึกษาทางเลือกและการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาและการจัดสวัสดิการสังคมได้ด้วย ทั้งนี้หน่วยงานที่ให้การปรึกษาทางเลือก หมายรวมถึงองค์กรประชาสังคมที่ทำงานด้านนี้ด้วย’ ซึ่งกฤตยากล่าวว่าเป็นความพยายามสร้างตัวเลือกให้กับผู้หญิงมากขึ้น

การจะไม่ให้เกิด delay abortion ระยะเวลาที่ควรจะเป็นคือเท่าไหร่ กฤตยา กล่าวว่า

“เราก็คิดว่าต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจน ควรมีกำหนดเวลา แล้วมันยังมีเรื่องการส่งต่อด้วย เพราะบางทีไปที่สถานบริการที่หนึ่งแต่ไม่มีผู้ให้บริการก็ต้องมีหลักเกณฑ์ในการส่งต่อว่าต้องทำภายในกี่ชั่วโมง สำหรับเราแล้วต้องเร็วที่สุด ส่งต่อก็เร็วที่สุดควรทำภายใน 24 ชั่วโมง แล้วถ้าผู้หญิงมาเข้ารับบริการ มีการให้การศึกษาทางเลือกก็ต้องให้ทันที เพราะฉะนั้นขั้นตอนทั้งหมดนี้ไม่ควรจะเกิน 1 วันหรือ 2 วัน พอยุติเสร็จแล้วก็จะมีการให้คำปรึกษาหลังการทำแท้งอีก”

ทั้งนี้ในการกำหนดหลักเกณฑ์ตามมาตรา 305 (5) กฤตยาคาดว่าภาคประชาชนจะมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม เนื่องจากการให้คำปรึกษาทางเลือกทางเครือข่ายมีการดำเนินการมาตั้งแต่ต้น โดยนำแนวคิดจากต่างประเทศมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขออกมาแล้ว ไม่ได้หมายความว่าแพทย์ทุกคนจะต้องทำแท้งให้กับผู้ที่มาขอรับบริการ กฤตยายกตัวอย่างประเทศอังกฤษว่าหากแพทย์ด้านสูตินรีเวชที่ไม่ต้องการทำแท้งให้ผู้มาขอบริการไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ก่อนเริ่มงานจะต้องระบุให้ชัดเจนว่าไม่ต้องการให้บริการประเภทนี้และเซ็นชื่อ แต่จะต้องส่งต่อผู้ขอรับบริการเคสไปยังผู้อื่นอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง หากไม่ส่งต่อถือว่ามีความผิด

“จริงๆ เขาจะไม่ให้มีการปฏิเสธ แต่เขาบังคับหมอไม่ได้ เขาจึงมีกฎเกณฑ์นี้ไว้ แต่บ้านเราไม่มี ทำไม่ได้ เพราะบังคับหมอไม่ได้”

จึงเป็นที่มาของข้อสังเกตข้อที่ 4 ที่ว่า ‘กระทรวงสาธารณสุขควรกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาบริการสุขภาพด้านอนามัยเจริญพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์ของผู้หญิงอย่างปลอดภัยให้มีความชัดเจนและรอบด้านตามมาตรา 301 และมาตรา 305 โดยจัดให้มีศูนย์บริการในโรงพยาบาลของรัฐ อย่างน้อยจังหวัดละหนึ่งแห่ง กำหนดให้มีการประชาสัมพันธ์นโยบายและมาตรการนี้อย่างกว้างขวาง และจัดให้มีสายด่วนให้บริการข้อมูลเรื่องตั้งครรภ์ไม่พร้อมนี้ โดยมีข้อมูลสถานบริการสาธารณสุขและสังคมที่เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ เน้นการรักษาความลับอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความไว้วางใจจากผู้รับบริการ’

ข้อที่กฤตยากังวลก็คือมาตรา 305 ระบุให้แพทยสภาเป็นผู้วางหลักเกณฑ์ โดยเฉพาะใน (1) ถึง (4)

“มันตลกมาก นักกฎหมายหลายคนก็บอกว่าแปลกที่กฤษฎีกาทำแบบนี้ เพราะเวลาจะออกกฎหมายต้องผ่านนั่นผ่านนี่ ต้องโหวต เสร็จแล้วในเนื้อกฎหมายไปยกอำนาจให้กับคณะกรรมการแพทยสภา 60 คน ดิฉันจึงสงวนญัตตินี้ว่าจะแก้เพราะดิฉันเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขทำ ไม่ได้เสนอให้แพทยสภาเป็นคนทำ เพราะดิฉันไว้ใจกระทรวงสาธารณสุขมากกว่าแพทยสภา”

ทั้งนี้สภาผู้แทนราษฎรได้ยอมรับข้อสังเกตทั้ง 10 ข้อของคณะกรรมาธิการไว้ด้วย

หลังจากนี้ต้องติดตามต่อไปว่า เมื่อกฎหมายไปถึงวุฒิสภาแล้วจะมีการแก้ไขอีกหรือไม่

 

ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญ

คณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เริ่มตั้งแต่ชื่อร่างพระราชบัญญัติ คำปรารภ แล้วพิจารณาตามลำดับมาตราจนจบร่างแล้วเห็นว่า มีข้อสังเกตท้ายรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณา ดังนี้

1.คณะกรรมาธิการเห็นควรเสนอให้มีการปรับถ้อยคำเพื่อให้สอดรับกับคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาปรับถ้อยคำในส่วนของเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติในตอนท้ายของเหตุผล บรรทัดที่ 2 จากล่าง ดังนี้ “รวมทั้งเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดฐานทำให้แท้งลูกตามมาตรา 305 ให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

2.ตามที่ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์มาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563) สามารถนำมาใช้บังคับได้บางส่วน จึงเห็นสมควรให้แพทยสภามีการปรับปรุงข้อบังคับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของมาตรา 301 และมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่มีการแก้ไขโดยเร่งด่วน นอกจากนี้ แพทยสภาควรประสานกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 305 (5)

3.หลักเกณฑ์และวิธีการ ตลอดจนการปรึกษาทางเลือกตามมาตรา 305 (5) ที่กระทรวงสาธารณสุขจะประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น คือกำหนดมาตรการการบริการและการสื่อสารที่ชัดเจน โดยให้ศูนย์บริการภาครัฐทุกแห่งจัดให้มีบริการปรึกษาทางเลือกและแก้ไขปัญหาอย่างทั่วถึง การยุติหรือไม่ยุติการตั้งครรภ์ ระบบการส่งต่อ และการดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือดูแลผู้หญิงที่มารับบริการให้สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก ผ่านช่องทางที่หลากหลาย มีบริการที่เป็นมิตร ผู้จัดบริการต้องมีความละเอียดอ่อนต่อสถานการณ์ชีวิตของผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม ไม่มีการตีตราและทำให้ผู้หญิงที่ใช้บริการรู้สึกว่าถูกกระทำซ้ำ

4.กระทรวงสาธารณสุขควรกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาบริการสุขภาพด้านอนามัยเจริญพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์ของผู้หญิงอย่างปลอดภัยให้มีความชัดเจนและรอบด้านตามมาตรา 301 และมาตรา 305 โดยจัดให้มีศูนย์บริการในโรงพยาบาลของรัฐอย่างน้อยจังหวัดละหนึ่งแห่ง กำหนดให้มีการประชาสัมพันธ์นโยบายและมาตรการนี้อย่างกว้างขวาง และจัดให้มีสายด่วนให้บริการข้อมูลเรื่องตั้งครรภ์ไม่พร้อมนี้ โดยมีข้อมูลสถานบริการสาธารณสุขและสังคมที่เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ เน้นการรักษาความลับอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความไว้วางใจจากผู้รับบริการ

5.ระบบการปรึกษาทางเลือกตามมาตรา 305 ต้องเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิที่จะขอรับการปรึกษาทางเลือกและการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาและการจัดสวัสดิการสังคมได้ด้วย ทั้งนี้หน่วยงานที่ให้การปรึกษาทางเลือกหมายรวมถึงองค์กรประชาสังคมที่ทำงานด้านนี้ด้วย

6.รัฐบาลควรดำเนินการโดยองค์รวมซึ่งครอบคลุมถึงการจัดสรรงบประมาณสนับสนุน ช่วยเหลือดูแลผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมและตัดสินใจตั้งครรภ์ต่อ ตั้งแต่การฝากครรภ์ การคลอด การดูแลหลังคลอด การเลี้ยงดูทารกให้เติบโตและได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศ

7.มาตรา 301 ไม่เอาผิดกับหญิงซึ่งทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ขณะมีอายุครรภ์ไม่เกินสิบสองสัปดาห์โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ หญิงจึงอาจทำให้ตนเองแท้งลูกด้วยวิธีการใดๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลรักษาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ อันอาจเป็นช่องทางให้มีการซื้อยาที่ผิดกฎหมายมาใช้เองหรือทำแท้งเถื่อน ดังนั้น หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจึงสมควรกำหนดมาตรการควบคุมการจำหน่ายยาที่ผิดกฎหมายและดำเนินการกับหมอเถื่อนหรือคลินิกเถื่อนอย่างจริงจัง ในขณะเดียวกัน ควรส่งเสริมให้หญิงเข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุขและอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงยาที่มีคุณภาพ เพื่อให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นไปอย่างปลอดภัย และควรมีการเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบด้วย

8.การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาในครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมด้วยการยุติการตั้งครรภ์ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงควรร่วมมือกันอย่างแข็งขันด้วยการดูแลเอาใจใส่บุคคลในครอบครัวและให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษารอบด้านในสถานศึกษา จัดให้มีการคุมกำเนิดอย่างจริงจังและทั่วถึง อันเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุและลดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมอย่างแท้จริง

9.รัฐบาลควรกำหนดให้มีการจัดทำรายงานติดตามและประเมินผลการดำเนินงานทุกปี ตามข้อสังเกตแนบท้ายรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอต่อคณะกรรมการที่กระทรวงสาธารณสุขจะจัดตั้งขึ้น ตามคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดดัชนีชี้วัดความสำเร็จให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

10.คณะกรรมาธิการสามัญที่เกี่ยวข้องในสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคณะควรมีการติดตามผลการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อสังเกตแนบท้ายรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net