Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศศิพิมล ผู้ต้องขังในคดี ม.112 และอดีตพนักงานโรงแรมใน จ.เชียงใหม่ ว่าเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้รับการปล่อยตัวออกจากทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่แล้ว หลังจากได้ลดวันต้องโทษจำคุก และมีการออก พรฎ.พระราชทานอภัยโทษ โดยถูกคุมขังมากว่า 5 ปี 7 เดือน

17 ก.ย.2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ได้รับแจ้งจากญาติของศศิพิมล (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และอดีตพนักงานโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ ว่าเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา ศศิพิมลได้รับการปล่อยตัวออกจากทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่แล้ว ภายหลังจากได้ลดวันต้องโทษจำคุก และมีการออก พรฎ.พระราชทานอภัยโทษ โดยเธอถูกคุมขังในเรือนจำมากว่า 5 ปี 7 เดือน

ญาติของศศิพิมลเปิดเผยว่าก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม ในขณะที่ทางเรือนจำยังไม่ได้เปิดให้เยี่ยมญาติ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เธอได้เขียนจดหมายถึงครอบครัวว่าตนจะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 11 ต.ค. 63 เนื่องจากได้รับการลดวันต้องโทษจำคุก ทำให้จะได้รับการปล่อยตัวเร็วขึ้นจากกำหนดเดิมในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2564 (การลดวันต้องโทษจำคุก คือการได้รับการหักวันต้องโทษจำคุกสะสมไปตามระยะเวลาที่ถูกคุมขังไปแล้ว ทำให้ได้รับการปล่อยตัวเร็วขึ้นจากกำหนดพ้นโทษ โดยไม่ได้เป็นสิทธิของผู้ต้องขัง แต่เป็นประโยชน์ที่ทางราชการให้แก่นักโทษเด็ดขาดที่มีความประพฤติดี)

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ส.ค. ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2563 ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 ก.ค. 63 ซึ่งศศิพิมลเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการลดโทษตาม พรฎ. ฉบับนี้ ทำให้เธอจะพ้นกำหนดโทษในทันที โดยทางเรือนจำแจ้งญาติว่าจะมีการอบรมโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” ให้กับผู้ต้องขังที่จะพ้นโทษก่อนได้รับการปล่อยตัวเป็นระยะเวลาประมาณ 14 วัน

หลังจากนั้น ครอบครัวได้รับแจ้งจากทัณฑสถานหญิงว่าจะมีการปล่อยตัวศศิพิมลวันที่ 15 ก.ย. และได้เดินทางไปรับเธอกลับบ้านในที่สุด

สำหรับกรณีของศศิพิมล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ รายงานข้อมูลเบื้องต้นไว้ด้วยว่า เธอถูกกล่าวหาและดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการโพสต์ข้อความ 7 ข้อความในเฟซบุ๊ก ที่ไม่ได้ใช้ชื่อของเธอเอง และตัวเธอยืนยันว่ามิได้เป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง แต่ได้ยินยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ในภาวะแวดล้อมของความผิดมาตรานี้หลังการรัฐประหาร 2557 ศศิพิมลถูกควบคุมตัวและคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัวมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 ก่อนถูกศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ พิพากษาจำคุก 56 ปี แต่ลดโทษให้เหลือ 28 ปี เนื่องจากให้การรับสารภาพ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2558

ระหว่างถูกคุมขังศศิพิมลเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม และผ่านการได้รับการลดหย่อนโทษจากการมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในโอกาสสำคัญของบ้านเมืองรวม 4 ครั้ง จนได้รับการปล่อยตัว รวมระยะเวลาการถูกคุมขังในเรือนจำของศศิพิมลทั้งสิ้น 5 ปี 7 เดือน 2 วัน

ทั้งนี้เมื่อช่วงปลายปี 2562 เธอไม่ได้รับอนุญาตให้พักการลงโทษ คือได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด ภายใต้เงื่อนไขคุมประพฤติที่กำหนด โดยเหตุว่าเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงและความผิดต่อสถาบันกษัตริย์

ปัจจุบันศศิพิมล อายุ 35 ปี เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวของลูกสาวสองคน วัย 15 ปี และ 12 ปี ตามลำดับ ระหว่างเธอถูกคุมขัง ลูกทั้งสองคนอยู่ในการดูแลของผู้เป็นยาย เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามข้อมูล กรณีของศศิพิมล นับเป็นผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ที่ถูกลงโทษด้วยอัตราโทษที่สูงที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net