Skip to main content
sharethis

18 ส.ค. 2563 ศาลจังหวัดพัทยาพิพากษาคดีที่ ‘บุปผา’ (นามสมมติ) ผู้ป่วยจิตเภท ถูกฟ้องฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และบรมวงศานุวงศ์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวม 13 ข้อความ โดยศาลไม่ลงโทษในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนื่องจากจำเลยป่วยทางจิต ขาดเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท แต่ลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำคุกข้อความละ 6 เดือน รวมเป็น 78 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 3 ปี และรักษาอาการป่วยอย่างต่อเนื่อง

เดิมคดีนี้ถูกฟ้องในศาลมณฑลทหารบกที่ 14 จ.ชลบุรี ช่วงกลางปี 2559 'บุปผา' ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำระหว่างรอการพิจารณาคดีในศาลทหารถึง 2 ปี กว่าจะได้รับการประกันตัว ก่อนคดีจะถูกโอนมายังศาลจังหวัดพัทยาเมื่อปี 2562 โดยพิจารณาคดีลับทั้งที่ศาลทหารชลบุรีและศาลจังหวัดพัทยา

ห้องพิจารณาคดีที่ 14 ศาลจังหวัดพัทยา ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีและเริ่มอ่านคำพิพากษาประมาณ 09.50 น. โดยชี้แจงว่า คำพิพากษาคดีนี้ผ่านการตรวจจากอธิบดีผู้พิพากษาภาคแล้ว

สรุปคำพิพากษา

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า วันและเวลาระหว่างปี 2558-2559 มีผู้โพสต์ข้อความและรูปภาพตามฟ้อง จำนวน 13 ข้อความ ส่วนจำเลยเคยเข้ารักษาอาการทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ หลังถูกจับกุม เป็นเวลา 131 วัน โดยแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง มีอาการหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์

คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นบุคคลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ ศาลเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองแค่พระมหากษัตริย์ พระราชินี แต่คุ้มครองไปถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ได้แก่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี, ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา, และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ความเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์นอกจากจะหมายถึงพระมหากษัตริย์และพระราชินีแล้ว ย่อมหมายถึงพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ หากละเมิดย่อมมีความผิดตามกฎหมายภายใต้หลักนิติธรรม

มาตรา 112 มีไว้เพื่อดำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ให้ถูกล่วงละเมิดด้วยถ้อยคำใดๆ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม คำว่ารัชทายาทตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึงผู้สืบราชสมบัติ แต่ไม่ได้ระบุถึงสิทธิในการสืบราชสมบัติแต่อย่างใด รัชทายาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงไม่ได้หมายความถึงพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง

ประมวลกฎหมายอาญาได้แยกความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท ออกจากกันโดยชัดแจ้ง มีความผิดฐานดูหมิ่นบุคคลธรรมดา หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ดูหมิ่นศาล ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ซึ่งอยู่คนละหมวด และมีความผิดฐานดูหมิ่นประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ แต่มาตรา 112 อยู่ในหมวดความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ เพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงหมายความว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี, ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา, และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ อยู่ในความหมายของรัชทายาท แต่ไม่ก้าวล่วงไปวินิจฉัยพระรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาล

การตีความเป็นอำนาจของศาล ไม่ควรตีความเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา โดยศาลตีความตามหลักนิติธรรม และราชประเพณี

คดีนี้ มีผู้แจ้งความเมื่อ 21 พ.ค. 2559 พร้อมมอบหลักฐานเป็นเอกสาร 13 แผ่น ให้แก่พนักงานสอบสวน พยานโจทก์คนหนึ่งเบิกความว่า เมื่ออ่านข้อความแล้วเห็นว่า เป็นการโพสต์ถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีด้วยความหวังดี แต่ใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม

นอกจากนี้ ศาลเห็นว่า คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนที่รับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความ โดยเชื่อว่าตนเป็นผู้อารักขาพระราชวงศ์ทุกพระองค์ น่าเชื่อถือกว่าคำให้การในชั้นศาลที่บอกว่าตนไม่ได้เป็นผู้โพสต์ ศาลเชื่อว่าเป็นเพราะจำเลยรับประทานยารักษาอาการทางจิตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเวลาผ่านมาหลายปี อาจทำให้หลงลืม จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง

การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะเป็นความผิดต่อเมื่อกระทำโดยเจตนาเท่านั้น เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2558 และ 20 ม.ค. 2559 พบว่าจำเลยนำสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ตั้งเป็นภาพประจำตัวบนเฟซบุ๊ก ต่อมาก็ได้ใช้ภาพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา, และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เป็นภาพประจำตัวด้วย ซึ่งพี่สาวของจำเลยเบิกความว่า จำเลยเคยนำพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศนุวงศ์ตั้งเป็นภาพประจำตัวบนแอปพลิเคชันไลน์และเฟซบุ๊ก บุคคลที่จะนำภาพของบุคคลอื่นเป็นภาพประจำตัวจะต้องรู้สึกชื่นชมหรือชื่นชอบบุคลนั้น ระหว่างถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด จำเลยนำพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร ตั้งเป็นภาพประจำตัวหลายครั้ง และแชร์ภาพจากเพจอื่น แสดงถึงความจงรักภักดี ส่วนข้อความอื่นๆ ที่เป็นเชิงตำหนิการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ หรือพระจริยวัตร วิญญูชนย่อมไม่เชื่อตามที่จำเลยโพสต์ เพราะย่อมเห็นแล้วว่าพระบรมวงศานุวงศ์ต่างปฏิบัติพระราชกรณียกิจ โดยปราศจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง มีพระจริยวัตรงดงาม เป็นศูนย์รวมพลังความสามัคคีของคนในชาติ

พี่สาวของจำเลยเบิกความว่า เมื่อไปเยี่ยมจำเลยระหว่างถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงชลบุรี จำเลยเชื่อว่าตนเองเป็นสายลับของราชวงศ์ เห็นว่าจำเลยไม่ปกติ จึงขอให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เจือสมกับข้อเท็จจริงที่จิตแพทย์รายงานว่า จำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภท ชนิดหวาดระแวง (paranoid schizophrenia continuous) มีความหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เมื่อโอนคดีจากศาลทหารมายังศาลนี้ แพทย์ก็ยังเบิกความว่า จำเลยเป็นโรคจิตเภท ชนิดหวาดระแวง มีอาการหลงผิด บิดเบือนไปจากความเป็นจริง คิดว่าตนเองเป็นทายาทของรัชกาลที่ 5 และสามารถติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีได้

จากคำให้การของแพทย์ เชื่อได้ว่า จำเลยเริ่มป่วยตั้งแต่ปี 2557 และอาการรุนแรงในปี 2559 สอดคล้องกับช่วงเวลาการโพสต์ แม้แพทย์จะเป็นพยานจำเลย แต่ก็เป็นพยานคนกลาง ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับคู่ความฝ่ายใด เช่นเดียวกับที่พนักงานสอบสวนเบิกความว่า จากการสอบคำให้การจำเลย จำเลยรับสารภาพว่าเป็นผู้โพสต์ แต่ทำไปเพราะเป็นผู้อารักขาพระราชวงศ์ น่าเชื่อว่าจำเลยโพสต์ข้อความเพราะอาการป่วยทางจิต จึงตำหนิด้วยความประสงค์ดี แต่ใช้คำไม่เหมาะสม ไม่มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท ขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59

สำหรับข้อหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เห็นว่า จำเลยเป็นผู้นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ แต่ไม่ทราบว่าเป็นข้อมูลเท็จ คนอ่านย่อมไม่เชื่อว่าเป็นไปตามที่จำเลยโพสต์ จึงไม่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก แต่เป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในหมวดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามมาตรา 14 (3)

แพทย์เบิกความว่า จำเลยมีอาการหลงผิด ไม่อาจควบคุมการกระทำของตนเอง มีความผิดปกติในความคิดและความรับรู้เกี่ยวกับราชวงศ์ แต่ยังพอควบคุมตนเองในเรื่องทั่วไปได้ จำเลยมีความรู้ผิดชอบชั่วดีอยู่บ้าง จึงต้องรับผิดสำหรับการกระทำนั้น แม้ระหว่างการพิจารณา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีการแก้ไขใหม่ แต่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย

พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) หลายกรรม ลงโทษจำคุกทุกกรรม กรรมละ 6 เดือน รวม 13 กรรม เป็นเวลา 78 เดือน แต่จำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 3 ปี และรายงานตัวคุมประพฤติ 6 ครั้ง เป็นเวลา 2 ปี และให้รักษาอาการทางจิตอย่างต่อเนื่อง โทรศัพท์และซิมที่ใช้กระทำความผิดให้ริบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net