Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) จนนำไปสู่โรคโควิด-19 (COVID-19) ทำให้ผู้คนหวาดกลัวกันทั้งบ้านทั้งเมือง แม้สถานการณ์ในประเทศไทยจะดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่นโยบายและแนวโน้มทางสังคมบางอย่างกลับดูแย่ลง หนึ่งในนั้นคือการเลื่อนเปิดเทอมและปิดโรงเรียน ซึ่งมีกระแสจะให้ขยายระยะเวลาปิดโรงเรียนนานขึ้นด้วย บทความนี้จึงอยากขอให้หน่วยงานรัฐผู้วางแผนนโยบาย พ่อแม่ผู้ปกครอง ตลอดจนผู้อ่านทั้งหลาย ช่วยพิจารณาและตอบคำถามด้านล่างนี้ก่อนตัดสินใจชี้นำอนาคตบุตรหลานของตนเอง เลิกใช้ความกลัวตัดสินแก้ปัญหาหนึ่งจนนำไปสู่ปัญหาใหม่เป็นลูกโซ่ต่อกัน โดยที่ปัญหาเดิมก็ยังคาราคาซังไม่รู้ว่าจะแก้ไขได้เมื่อใด

 

คำถามที่หนึ่ง การปิดโรงเรียนรวมทั้งสถาบันการศึกษาต่าง ๆ โดยไม่มีมาตรการเชิงรูปธรรมใด ๆ รองรับ ถือเป็นการ “ลอยเท้งเต้ง” เด็กในวัยเรียน นิสิต และนักศึกษาทั่วประเทศทั้งหมดอยู่หรือไม่ ทำให้พวกเขาเคว้งคว้างไม่รู้จะใช้ชีวิตประจำวันในทางสังคมอย่างไรหรือเปล่า

 

คำถามที่สอง แม้กระทรวงศึกษาธิการจะบอกว่ามีโปรแกรมการเรียนออนไลน์มากมายให้เด็กเลือกเรียนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (คือเรียนฟรี) ในช่วงปิดโรงเรียนสู้ภัยโควิด-19 แต่การปิดโรงเรียนยืดยาวก็ไม่ได้ทำให้พ่อ แม่ หรือผู้ปกครองได้รับสิทธิ์ไม่ต้องไปทำงาน หรือสามารถทำงานจากที่บ้านโดยเจียดเวลาบางส่วนมาดูแลการเรียนของเด็กได้ด้วย ในทางตรงข้าม เวลานี้พ่อ แม่ และผู้ปกครองจำนวนมากกลับต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจประคับประคองการอยู่รอดขององค์กรหรือบริษัทอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้ตนเองถูกปลด ไล่ออก หรือลดเงินเดือนตามสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน พ่อแม่บางส่วนต้องแบ่งเวลาไปหารายได้เพิ่มให้แก่ครอบครัวเช่นขายของออนไลน์มากขึ้น ในสภาพการณ์เช่นนี้ ใคร จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลการเรียนออนไลน์ของเด็ก

 

คำถามที่สาม แม้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะพยายามโฆษณาถึงแต่ข้อดีของการเรียนทางออนไลน์โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการศึกษา หรือเน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากกว่าการเรียนในห้องที่โรงเรียน แต่การส่งคอมพิวเตอร์หรือมือถือให้เด็กทดลองเลือกโปรแกรมเรียนอย่างอิสระโดยลำพังนั้น เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเด็กจะไม่ใช้เวลาส่วนใหญ่ของพวกเขาไปในทางฝึกฝนเล่นเกม โดยเฉพาะเกมสร้างความรุนแรงประเภท “ยิงทะลุจอ” ให้แม่นยำคล่องแคล่วขึ้น เพราะสำหรับเด็กจำนวนมากแล้ว การเล่นเกมออนไลน์ถือเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ซ้ำเป็นการเรียนรู้ที่สร้างความเพลิดเพลินพอใจอย่างยิ่งด้วย

หากพ่อแม่ต้องทำงานหาเงิน ส่วนญาติผู้ใหญ่วัยเกษียณที่แม้ช่วยรับอาสาช่วยดูแลบุตรหลาน แต่ก็อาจไม่คุ้นเคยรู้ทันโลกของเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่นนี้แล้ว ใคร จะเป็นผู้ที่ช่วยฝึกวินัย อบรมให้เด็กรู้จักความสำคัญของเวลา อีกทั้งสั่งสอนให้เด็กรู้จักความหมายของการเรียนรู้ที่ถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุด

 

คำถามที่สี่ การปิดโรงเรียนเพียงเพราะกลัวเด็กติดเชื้อ ทั้งที่อัตราการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่และเสียชีวิตของเด็กวัยเรียนตลอดทั้งเดือนที่ผ่านมาไม่ได้สูงไปกว่าอัตราการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในแต่ละวันเลย มันเหมือนกับเรากำลังใช้ตรรกะบอกลูกหลานว่า ข้างนอกอันตรายจงอยู่แต่ในบ้าน หรือเมื่อถนนข้างนอกไม่ปลอดภัยก็ห้ามออกไปเดินบนท้องถนนเป็นอันขาด เราคิดว่าตรรกะแบบนี้จะสนับสนุนให้เด็กวัยเรียนได้เติบโต มีความกล้าหาญเข้มแข็ง มีพัฒนาการทางความคิด หรือมีการพัฒนาบุคลิกภาพในทางสังคม ได้หรือไม่ เรากำลังตื่นกลัวพวกเขาจะตาย “ในวันหน้า” จนทำให้พวกเขาขลาดเขลา “ในวันนี้” อยู่หรือเปล่า

 

คำถามที่ห้า ถ้าเด็กกลับไปเรียนที่โรงเรียนแล้วปรากฏว่ามีการติดเชื้อไวรัสตัวนี้ขึ้นมาก็นับว่าเป็นเรื่องน่าตกใจ แต่เราก็น่าจะที่แก้ไขรับมือได้เพราะประเทศไทยผ่านช่วงเวลาแห่งการเตรียมความพร้อมมาแล้วพอสมควร หากข้อกังวลนี้เกิดขึ้นจริงก็แสดงว่าการปิดโรงเรียนนานกว่าสามเดือน (ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงปลายเดือนพฤษภาคม) รวมทั้งการปิดประเทศนานกว่าหนึ่งเดือนมีจุดบกพร่องบางอย่างจากภายนอกหรือไม่ ซึ่งเราจะแก้ปัญหาที่มาจากภายนอกด้วยการกักขังเด็กให้อยู่แต่ภายในหรือ  

ยิ่งกว่านั้น การเลื่อนเปิดเทอมไปอีกหนึ่งหรือสองเดือนก็ไม่ได้ให้หลักประกันใด ๆ เช่นเดียวกันว่าการติดเชื้อจะเกิดขึ้นอีกไม่ได้ ตราบที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ยังอาศัยอยู่ในโลกใบนี้ร่วมกับมนุษย์และสัตว์อื่นอย่างเสรี  

 

คำถามที่หก จริงอยู่ว่าการปิดโรงเรียนยาวมีประโยชน์หลายประการ พ่อ แม่ ผู้ปกครองไม่ต้องเป็นห่วงกังวลต่อสุขภาพกายของลูกหลาน ไม่ต้องตื่นเช้าขับรถพาลูกไปส่งโรงเรียนให้ทันเคารพธงชาติ รถไม่ติด แต่ประโยชน์ตรงนั้นมีค่าเหนือกว่าสุขภาพจิตของเด็กหรือไม่ พัฒนาการทางความคิดและชีวิตทางสังคมของเด็กในอนาคตมีความสำคัญน้อยกว่าสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันของผู้ใหญ่หรือ เวลาชีวิตของเด็กมีคุณค่าและความหมายน้อยกว่าเวลาชีวิตของผู้ใหญ่หรือไม่ ผู้ใหญ่ลอยคว้างชีวิตทางสังคมของเด็ก ๆ เพราะรักและต้องการปกป้องเด็กจริงหรือ

 

คำถามที่เจ็ด รัฐมีความพยายามที่จะช่วยธุรกิจ ร้านค้า ตลอดจนผู้ประกอบการในสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมากใช้บริการ เช่นห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ฯลฯ ทำให้ผู้ประกอบการกลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด แต่รัฐ (รวมทั้งนักการเมืองบางส่วน) กลับชะลอการเปิดโรงเรียนให้เนิ่นช้าที่สุด

แทนที่จะให้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาในฐานะเป็นชุมชนหน่วยย่อยต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการวางแผนและหาวิธีสร้างระยะห่างทางสังคม (social distancing) ภายในแต่ละชุมชนนั้นอย่างยั่งยืน แทนที่จะให้สถาบันการศึกษามีส่วนร่วมในการหาความสมดุลระหว่างการรักษาระยะห่างกับการมีกิจกรรมทางสังคม เรากลับยินยอมที่จะให้ลูกหลานของเราถูกปิดกั้นทางสังคมอย่างสิ้นเชิง (social shutting/ closing) นี่คือทางออกที่เราคิดว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับลูกหลานของเราในยามนี้ อย่างนั้นหรือ

 

คำถามที่แปด แม้จะมีข้อโจมตีหลักสูตร ความรู้ และสถาบันการศึกษาแบบเดิม ๆ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีการนำเสนอข่าวลบเกี่ยวกับโรงเรียนและครูออกมาเป็นระยะ ซึ่งนั่นอาจทำให้ความสำคัญของสถาบันการศึกษาลดน้อยไปบ้าง แต่เรามาถึงยุคที่จะสามารถบอกได้ว่าโรงเรียนและสถาบันการศึกษาไม่มีความจำเป็นต่อสังคมแล้วหรือ


การที่สถาบันการศึกษาถูกลดความสำคัญลงเรื่อย ๆ นั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยของโลก เช่นเดียวกับการที่สถาบันครอบครัว สถาบันทางศาสนา หรือสถาบันทางวัฒนธรรมอื่น ต่างก็ได้รับความสำคัญน้อยลงเรื่อย ๆ ในปัจจุบันเช่นกัน แต่การที่สิ่ง ๆ หนึ่งสูญเสียความสำคัญไปตามกาลเวลา “ไม่ได้” แปลว่ามันไม่จำเป็นต้องมีอีกต่อไปแล้ว

การเน้นย้ำให้เด็กเรียนทางออนไลน์โดยไม่สนใจโรงเรียน เกิดจากความสับสนที่เราแยกไม่ออกระหว่าง “ความสำคัญ” กับ “ความจำเป็น” อยู่หรือไม่ หากเราเชื่อว่าโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาไม่มีความจำเป็นต่อสังคมอีกต่อไป ก็ควรให้ชุมชนและชาวบ้านเป็นผู้ตัดสินใจไม่ใช่หรือ การปิดโรงเรียนโดยเน้นสอนเฉพาะทางออนไลน์กลับยิ่งทำให้ตระหนักว่า การมีกิจกรรมในโรงเรียนยัง “จำเป็น” ต่อพัฒนาการของชีวิตเด็กโดยภาพรวม เพียงแต่เราอาจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของโรงเรียนให้ยืดหยุ่นและสอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

โดยผ่านคำถามข้างต้นเหล่านี้ ตราบที่เรายังตอบได้ไม่ชัดว่าโรงเรียนและสถาบันการศึกษาเป็นสิ่งไม่จำเป็นสำหรับสังคมปัจจุบัน ตราบที่เรายังตอบไม่ได้ว่าสำหรับเด็กส่วนใหญ่แล้ว การเรียนออนไลน์ผ่านเทคโนโลยีสามารถกระทำได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพกว่าการเรียนในห้อง ตราบที่เรายังไม่ทราบว่าจะให้ใครเป็นผู้ดูแล ตรวจวัด และประเมินผลการเรียนออนไลน์แทนพ่อแม่ได้ดีไปกว่าครูอาจารย์ ตราบที่เรายังไม่แน่ใจว่าลูกหลานของเรามีวินัยในตัวเองเพียงพอที่จะรับผิดชอบการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเป็นอิสระ และตราบที่เรายังเห็นเวลาชีวิตของเด็กวัยเรียนมีค่าเท่ากับเวลาชีวิตของผู้ใหญ่ ตราบนั้นการตัดสินใจชี้นำชีวิตของพวกเขาด้วยความกลัวอย่างไร้เหตุผล อาจนำมาซึ่งปัญหาและความเจ็บปวดที่ผู้ใหญ่ในวันนี้ก่อให้แก่เด็กที่กำลังจะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้าก็ได้

ท้ายที่สุดแล้ว ขอให้ทุก ๆ การตัดสินใจของผู้มีอำนาจเกิดขึ้นจากการใช้สติพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเห็นแก่ประโยชน์ของเด็กเป็นที่ตั้ง โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่อยู่กับเรานานเพียงไรก็ไม่ยืนยาว แต่สุขภาพทางจิตและอนาคตของบุตรหลานจะเป็นตัวสะท้อนความสำเร็จ (หรือความล้มเหลว) ของวงศ์ตระกูลและประเทศชาติต่อไปอย่างยั่งยืน

  

 

 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net