Skip to main content
sharethis

'สุกรรณ์ สังข์วรรณะ' เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ยืนยันจะไม่ส่งมอบสารเคมี 3 ชนิด แม้ประกาศยกเลิกจะมีผลบังคับใช้ 1 ธ.ค. 2562 ด้านภาคเอกชนย้ำเสนอเลื่อนยกเลิก 2 ปี ในขณะที่แผนเยียวยาของ ก.เกษตร ยังไร้ข้อยุติ

23 พ.ย. 2562 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยกล่าวว่า แม้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิก 3 สารมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 เกษตรกรจะไม่ส่งมอบสารให้กรมวิชาการเกษตรเนื่องจากใช้เงินตัวเองซื้อมาในขณะที่เป็นของถูกกฎหมาย และในวันที่ 26 พ.ย. นี้จะแต่งชุดดำแล้วไปรวมตัวกันที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งแต่เช้า โดยหวังว่า จะได้หารือกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายเฉลิมชัยรับฟังความเดือดร้อนของเกษตรกร จากนั้นจะเคลื่อนขบวนไปพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล 

“เกษตรกรแต่งชุดดำนั้นเพื่อไว้อาลัยต่อกฎหมายอยุติธรรม เป็นการรวมตัวกันโดยสงบและใช้หลักอหิงสา ไม่ใช่การก่อม็อบ ส่วนการที่ น.ส. มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า หากมากดดัน ม็อบเสื้อขาวพร้อมสยบม็อบเสื้อดำ นั้นเห็นว่า ไม่สมกับเป็นคำพูดของรัฐมนตรีเกษตรฯ นอกจากไม่ช่วยเกษตรกรแล้ว ยังข่มขู่อีกด้วย พร้อมถามกลับว่า ม็อบเสื้อขาวเป็นคนกลุ่มใด ใช่ม็อบเสื้อกาวน์หรือไม่ หากใช่ถือว่า เป็นกระบวนการจัดตั้งม็อบมาทำร้ายเกษตรกร” นายสุกรรณ์ กล่าว

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ผู้แทนภาคอุตสาหกรรมกล่าวถึง ผลกระทบจากการยกเลิกการใช้สาร 3 ชนิดว่า ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมมี 2 ด้านคือ ผลกระทบต่อการเกษตรกรและอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร การลงมติให้ยกเลิกอย่างกระทันหันจึงทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น  ส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุปทาน (supply) ของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และตลอดจนอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง สมาคมอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ ขอเสนอให้ชะลอการบังคับใช้การยกเลิกสารทั้ง 3 ชนิดออกไปอีกอย่างน้อย 2 ปี โดยระหว่างนั้นให้ดำเนินการตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ศึกษาทบทวนหลักฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการยกเลิกการใช้อย่างละเอียดรอบคอบ พร้อมทั้งศึกษาและพิสูจน์ประสิทธิภาพและต้นทุนของสารหรือวิธีการทดแทน และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ชัดเจน หารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนให้ครบถ้วนและทั่วถึงในวงกว้าง ที่สำคัญคือ อบรมเกษตรกรอย่างทั่วถึงในการส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย (GAP) เพื่อป้องกันดูแลสุขภาพเกษตรกรและผู้บริโภคทั้งประเทศ

“แนวทางดังกล่าวจะลดผลกระทบที่มีต่อเกษตรกรกว่า 2 ล้านครัวเรือนและแรงงานภาคเกษตร 12 ล้านคน ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า 1.715 ล้านล้านบาทซึ่งเป็นผลจากผลผลิตในประเทศลดลง ประกอบกับการที่ไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ อุตสาหกรรมหลายประเภทหยุดชะงัก กระทบต่อ GDP และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ” นายพรศิลป์กล่าว

ด้านนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด วานนี้ (22 พ.ย.) ว่าที่ประชุมได้นำเสนอข้อมูลประกอบการพิจารณาและได้ข้อสรุปว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปคิดโครงการในการช่วยเหลือเกษตรกร อาทิ มาตรการในการเยียวยา โดยให้จัดทำหลักเกณฑ์ การกำหนด กลุ่มเป้าหมาย จำนวนพื้นที่ ที่จะได้รับผลกระทบ อัตราที่จะใช้การเยียวยา, มาตรการจัดการเชิงปฏิวัติในการกำจัดวัชพืชเมื่อมีการยกเลิกการใช้สารเคมี เช่น การใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร หรือการทำเกษตรสมัยใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้จัดตั้งทีม Task Force เพื่อศึกษาวิจัย หาสารชีวภัณฑ์ หรือ จุลินทรีย์ มาทดแทนการใช้สารเคมี ซึ่งในประเด็นดังกล่าวจะมีการนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาต่อไป

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2562 สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทยได้แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่าสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย กลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรม สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และอุตสาหกรรมสิ่งทอ สงสัยการทำงานของ 3 พรรคกระทรวงใหญ่ เหตุใดเร่งรีบ แบน 3 สารเคมีเกษตร พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส แถมจัดเต็มงบประมาณซื้อเครื่องจักร งบทำลายสารเคมีเกษตร เอื้อกลุ่มทุนสารเคมีทดแทน เผยเศรษฐกิจไทยเตรียมพบ 4 วิบัติจากผลพวงวิกฤตการเกษตร

นายภมร ศรีประเสริฐ อุปนายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า การแบนสารกำจัดวัชพืชจะกระทบกับอุตสาหกรรมมันสำปะหลังเป็นมูลค่า 5.8 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านมา ไทยส่งออกมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด สร้างรายได้เข้าประเทศนับแสนล้านบาท และเป็นที่ยอมรับจากประเทศคู่ค้าไม่เคยพบปัญหาสารตกค้าง จึงมองว่ารัฐควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจทำอะไร ล่าสุด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้นำภาคธุรกิจมันสำปะหลังไปทำข้อตกลงเปิดตลาดส่งออกซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ตอนนี้กังวลว่าจะผลิตมันสำปะหลังส่งออกให้กับตลาดเหล่านี้ได้อย่างไร มันสำปะหลังมีความจำเป็นต้องใช้สารกำจัดวัชพืช เครื่องจักรกลไม่สามารถใช้ได้ ปัจจุบัน มันสำปะหลังใช้เป็นวัตถุดิบในอาหารสัตว์ หากต้นทุนสูงขึ้น จะเป็นการเปิดโอกาสและสนับสนุนการนำเข้าวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำกว่าเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และส่งผลกระทบต่อเกษตรกรกว่า 1.5 ล้านคน และอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง

ดร.กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอันดับที่ 5 และส่งออกน้ำตาลอันดับที่ 2 ของโลก ด้วยพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 11 ล้านไร่ ผลผลิตอ้อยรวมประมาณ 134 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ การแบนสารเคมีเกษตร คาดการณ์ผลผลิตจะลดลง 20%-50% หากไม่ใช้สารพาราควอตในช่วงอ้อยย่างปล้อง จะทำให้อ้อยหายไปสูงสุดถึง 67 ล้านตันต่อปี ซึ่งมีมูลค่าถึง 1.5 แสนล้านบาท เกษตรกรสูญรายได้ไปกว่า 5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังสะเทือนมูลค่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลโดยรวมทั้งหมด 3 แสนล้านบาท ทำให้เกษตรกร 1.2 ล้านคน และโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 57 โรงงาน อาจถึงขั้นเลิกทำอาชีพการเกษตร และโรงงานอาจมีการเลิกจ้างงานในที่สุด

“มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 1.7 ล้านล้านบาทต่อปี หายไปแน่นอนจากการแบน 3 สารเคมีเกษตร” นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย อธิบายว่า เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย แรงงานภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบ 12 ล้านคน อุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมน้ำมันถั่วเหลือง อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ อุตสาหกรรมปศุสัตว์ 1,100,000 ล้านบาทต่อปี อุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาลและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง 300,000 ล้านบาทต่อปี อุตสาหกรรมมันสำปะหลังและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง 300,000 ล้านบาทต่อปี อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ 15,000 ล้านบาทต่อปี

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า หลังมติการแบนสารดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2562  นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันโอชา ให้ตั้งคณะทำงาน 2 ชุด ภายใต้กระทรวงเกษตร และอุตสาหกรรม เพื่อดูผลกระทบเกษตรกร จนบัดนี้ ยังไม่มีความคืบหน้า สมาพันธ์ฯ พยายามนัดหมายหลายครั้งก็บ่ายเบี่ยงตลอดมา ทุกวันนี้ รู้แต่ว่าหลังวันที่ 1 ธันวาคม จะโดนทั้งปรับและจำคุก พรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การดำเนินงานของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังคงทำตัวเป็นหลุมดำที่ไม่มีข้อสรุป หรือกลัวกระทบหุ้นส่วนนามสกุลเดียวกันที่มีความเชื่อมโยงกับบริษัทรายเดียวที่ได้รับการผูกขาดให้รับผิดชอบทำลายสารเคมีเกษตรมูลค่ารวมกว่า 2 พันล้านบาท ขณะเดียวกัน พรรคภูมิใจไทย ภายใต้การดำเนินงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศแบนสารเคมีเกษตรและเร่งรีบดำเนินการ โดยไม่มีมาตรการ สิ่งทดแทน และเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกร รวมทั้ง อาจเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนสารเคมีเกษตรรายใหม่ มูลค่านับหมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับ พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การดำเนินงานของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เอาใจเกษตรกรด้วยนโยบายแจกเงิน แต่ก็เตรียมของบประมาณชุดใหญ่จัดหาเครื่องจักรกลให้แก่เกษตรกร

นอกจากนี้ ข้อเสนอแบบสองมาตรฐานของทั้งองค์กรอิสระ และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดโอกาสให้นำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศที่เพาะปลูกโดยใช้สารเคมีเกษตรทั้งสามชนิดมาไทยได้ แต่ห้ามเกษตรกรไทยใช้ เท่ากับเป็นการ “ฆ่าเกษตรกร” ถึง 2 รอบ ครั้งแรก ไม่ให้ใช้สารเคมีฯ ไปหาวิธีการอื่นเพิ่มต้นทุน จนไร้กำไร และครั้งที่ 2 สนับสนุนการนำเข้าวัตถุดิบเกษตรจากต่างประเทศซึ่งมีราคาที่ต่ำกว่า และมีการใช้สามสารเคมี “เกษตรกรตายยกประเทศ” โดยเฉพาะ สภาหอการค้าฯ หากยังมองไม่เห็นถึงผลกระทบและความเสียหายกับประเทศชาติยังไง ก็ไม่ควรมานั่งดูเรื่องการค้า เป็นที่พึ่งพาของภาคอุตสาหกรรมไม่ได้    

“ท้ายที่สุด ปีหน้า ไทยคงหนีไม่พ้น 4 วิบัติทางเศรษฐกิจ เป็นผลจากวิกฤตเกษตร ได้แก่ 1) เกษตรกรเปลี่ยนการเพาะปลูกไปยังพืชชนิดอื่น เกษตรกรชาวไร่คงต้องเลิกปลูกอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง เพราะไม่มีพาราควอต 2) ผลผลิตในประเทศลด หันไปนำเข้าจากต่างประเทศแทน การส่งออกแข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้  3) ต้นทุนภาคการเกษตรสูงขึ้น รัฐบาลต้องนำเงินมาช่วยเหลือมากขึ้น ดึงเงินจากส่วนต่าง ๆ มาใช้ในนโยบายประชานิยม เกิดการจ่ายเงินเกินตัวของรัฐ 4) GDP ภาคการเกษตรลดลง ส่งผล GDP ประเทศสูญหาย การส่งออกตกต่ำสุดในประวัติการณ์ ดังนั้น จึงอยากให้รัฐทบทวนทางออกที่เหมาะสม คือ มาตรการจำกัดการใช้ 3 สารเคมีเกษตร แทนการยกเลิก ทบทวนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง ดำเนินการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครบถ้วนและทั่วถึง มีหลายคนบอกว่า มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเปลี่ยนไม่ได้ ผมขอถามว่า แล้วเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมาทำไมจึงมีการเปลี่ยนมติจาก 2 ครั้งแรกได้ และใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเปลี่ยนมติเดิม เพราะฉะนั้นอย่ามาบอกผมว่าเปลี่ยนไม่ได้ รัฐมนตรี นักการเมือง โดยเฉพาะข้าราชการ ที่เป็นข้าของแผ่นดิน ต้องตั้งสติคิดให้ได้ว่าท่านจะพาประเทศชาติไปทางไหน” นายสุกรรณ์ กล่าวสรุป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net