Skip to main content
sharethis

31 ต.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาในพื้นที่ ต.โนนสวรรค์ และ ต.สระบัว อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ได้เดินทาไปยังที่ว่ากา อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อเตรียมเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 2 ของโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ของบริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด โดยเมื่อวันที่ 29 ได้มีการจัดเวทีในส่วนของโรงงานน้ำตาลไปแล้ว ซึ่งในครั้งนั้นได้มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนมาสกัดกั้นไม่ให้ทางกลุ่มได้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น ส่วนในวันนี้เป็นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในส่วนของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งสถานการณ์ยังเป็นเช่นเดิม

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำของเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาฯ ได้ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า ประชาชนในเครือข่ายจำนวนหนึ่งได้เดินทางมาถึงบริเวณหน้าที่ว่าการ อ.ปทุมรัตต์ ตั้งแต่ตี 4 โดยได้เข้าไปรื้อเต๊นท์ที่จัดเตรียมไว้เพื่อเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยให้เหตุผลของการกระทำนี้ว่าต้องการแสดงอารยะขัดขืน เนื่องจากเวทีที่ถูกจัดขึ้นนี้ไม่มีความชอบ เพราะเป็นคัดกรองเฉพาะผู้ที่จะไม่แสดงความไม่เห็นด้วยกับทางบริษัท เข้าไปร่วมในเวทีเท่านั้น อีกทั้งมีประชาชนร้อยกว่าคน ซึ่งอยู่ในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรที่อาจจะได้รับผลกระทบจากโครงการไม่มีโอกาสเข้าร่วมเวที

แต่ปรากฎว่า การจัดเวทีแสดงความคิดเห็นก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ เลิศศักดิ์  ระบุด้วยว่า ระหว่างที่การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นนั้น ทางบริษัทได้ประกาศให้ตัวแทนกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการส่งตัวแทน 5 คน เข้ามาร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น แต่ทางกลุ่มเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอที่ “น่ารังเกียจ” เกินกว่าจะรับได้ ด้วยเหตุที่ว่า ภายในเวทีดังกล่าว มีผู้ที่เห็นด้วยกับโครงการอยู่ราว 500 คน การเชิญให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยไปร่วมเพียง 5 คน ถือว่ามีสัดส่วนห่างกันถึง 1 ต่อ 100 จึงไม่ตอบรับข้อเสนอของทางบริษัท และปักหลักชุมนุมคัดค้านอยู่รอบนอกเวที

ต่อมาในเวลา 09.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปทุมรัตน์ ได้นำหนังสือเข้ามาแจ้งต่อเลิศศักดิ์ว่า การรวมตัวของเเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาฯ เป็นการชุมนุมสาธารณะที่ผ่าฝืนกฎหมาย เนื่องจากไม่มีการแจ้งการชุมนุมก่อน 24 ชั่วโมง โดยภายในหนังสือระบุว่า ให้ยกเลิก หรือยุติการชุมนุมภายในเวลา 09.00 น. นอกจากนี้ยังมีหนังสืออีกฉบับส่งถึงเลิศศักดิ์ ซึ่งเป็นหนังสือรับแจ้งการชุมนุมในวันนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ณัฐพล อาจหาญ แกนนำพรรคสามัญชน ระบุว่า ก่อนหน้านี้ไม่มีใครไปยื่นแจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะสงสัยว่า หรือรับแจ้งการชุมนุมนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ส่วนสาเหตุที่ไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะนั้น เพราะเห็นว่า การเดินทางไปเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นนั้นเป็นการใช้สิทธิตามปกติจึงไม่จำเป็นต้องแจ้งการชุมนุม แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือทางกลุ่มไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าร่วมเวที จึงต้องรวมตัวกันอยู่บริเวณโดยรอบ

ทั้งนี้เลิศศักดิ์ ให้ความเห็นด้วยว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำหนังสือสั่งให้ยุติการชุมนุมในเวลา 09.00 น. มาแจ้งในเวลา 09.30 น. ถือเป็นลักษณะของความจงใจที่จะกลั่นแกล้งไม่ให้ทางกลุ่มสามารถปฏิบัติตามเงือนไขได้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า จากนั้นจะมีการแจ้งความดำเนินคดีกับประชาชน หรือ แกนนำเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาฯ หรือไม่

หัวหน้าพรรคสามัญชน เปิดเผยต่อว่า สถานการณ์ของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในช่วงวันที่ 29 และ 31 ต.ค. นี้ แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างยิ่งของบริษัทที่จะเร่งดำเนินการให้การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผ่านไปโดยเร็ว โดยไม่มีการเจรจาต่อรอง และรับฟังความเห็นอย่างแท้จริง ประกอบกับบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเองก็มีลักษณะที่เอื้อต่อการดำเนินการของบริษัทมากกว่าที่จะการดูแลให้ เวทีรับฟังความคิดเห็นมีความเห็นที่หลากหลาย แต่เป็นการกีดกั้นผู้ที่ไม่เห็นด้วยไม่ให้ร่วมเวที จากนี้ทางบริษัทคงจะรีบนำรายงานการรับฟังความคิดเห็นไปประกอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA เพื่อส่งพิจารณา ส่วนเส้นทางการต่อสู้ของภาคประชาชนตอนนี้ที่ยังเหลืออยู่คือ การดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมผ่านศาลปกครอง ซึ่งเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ทางเครือข่ายได้เดินทางไปยื่นให้ศาลปกครองพิจารณาสั่งยุติการดำเนินการจัดเวทีรับความคิดเห็นครั้งที่ 1 ซึ่งจัดไปเมื่อเดือน ม.ค. 2562 แล้ว โดยมีเหตุผลว่า เวทีดังกล่าวมีลักษณะของการกีดกันไม่ให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการเข้าไปมีส่วนร่วม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net