Skip to main content
sharethis

กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดศรีสะเกษ จี้ผู้ว่าฯ ทบทวนเวทีรับฟังความคิดเห็นโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล ชี้ชาวบ้านไม่เคยรับรู้ข้อมูลมาแต่เริ่มต้น ขอผู้ว่าตั้งคณะกรรมการประเมินยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม

26 ก.ค. 2562 เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 62 เวลาประมาณ 10.30 น. ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ ตัวแทนกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด จ.ศรีสะเกษ อ.ไพรบึง อ.ขุนหาญ ประมาณ 200 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อคัดค้านเวทีรับฟังความคิดเห็นของโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 40 เมกะวัตต์ และเสนอให้ผู้ว่าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินยุทธศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเมินศักยภาพของพื้นที่ให้ชัดเจน และแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 โรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด  40 เมกะวัตต์ โดยมีทรงพล ใจกริ่ม รองผู้ว่าฯ รับหนังสือจากทางกลุ่มฯ และเปิดโต๊ะพูดคุย โดยมีอุตสาหกรรมจังหวัดศรีสะเกษ พลังงานงานจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดศรีสะเกษ เข้าร่วมพูดคุย

ทองแดง พิมูลชาติ อายุ 41 ปี กรรมการกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า วันนี้พี่น้องกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด จ.ศรีสะเกษ ประกอบด้วย บ้านตาจวน บ้านชำแระ บ้านหัวช้าง ตำบลสำโรงพลัน อำเภอไพรบึง บ้านโคกพยอม บ้านโพธิ์กระสังข์ ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ประมาณ 200 คน ได้เดินทางมาศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านเวทีรับฟังความคิดเห็นของโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 40 เมกะวัตต์ ที่จัดผ่านมาแล้ว 2 ครั้ง โดยชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมในรัศมี 5 กิโลเมตร ไม่เคยรับรู้ข้อมูลข่าวสารเลย ดังนั้นทางกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ จึงมีข้อเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ

1.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษทบทวนเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านทั้ง 2 ครั้ง

2.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินยุทธศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเมินศักยภาพของพื้นที่ให้ชัดเจนโดยให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วม

3.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในกระบวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านโดยชาวบ้านมองว่าคนในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรที่อาจจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่ได้มีส่วนร่วมและไม่เคยรับรู้ข้อมูลข่าวสารมาก่อน

4.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทำหนังสือถึงบริษัทเพื่อให้ชะลอกระบวนการศึกษาไว้ก่อน

ด้านเอกลักษณ์ โพธิสาร อายุ 34 ปี กรรมการกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า วันนี้กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด จ.ศรีสะเกษ หลายหมู่บ้านที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ทางเรายืนยันที่จะคัดค้านเพื่อไม่ให้โรงงานเกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรอินทรีย์ พื้นที่ทำนา  และพี่น้องจะออกมาปกป้องชุมชนร่วมกัน เนื่องจากพื้นที่เราไม่มีเกษตรกรที่จะปลูกอ้อยเลย โรงงานจะมาสร้างในพื้นที่บ้านเราได้อย่างไร ทั้งใกล้ชุมชน ขัดกับนโยบายจังหวัดและพื้นที่ ตลอดจนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาทั้ง 2 ครั้ง ชาวบ้านก็ไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารมาก่อนเลย  โดยผมมองว่าหน่วยงานราชการควรที่จะลงพื้นที่มาให้ข้อมูลข่าวสารกับชาวบ้านก่อนที่จะมีเวทีรับฟังความคิดเห็น อย่างเช่น การมีส่วนร่วมในระดับให้ข้อมูลข่าวสาร ที่ภาครัฐจะทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูล ให้ภาคประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ครบถ้วน เพียงพอต่อการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล การมีส่วนร่วมในระดับหารือ คือ ระดับที่ภาคประชาชนจะเป็นฝ่ายให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจของภาครัฐด้วยเป็นต้น

ด้านทรงพล ใจกริ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ข้อเสนอที่ทางกลุ่มเรียกร้องมาทางจังหวัดพึ่งรับทราบและจะนำเรียนท่านผู้ว่าราชการจังหวัดต่อไป

"จังหวัดฯ จะยืนอยู่บนความถูกต้อง อยู่กับประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก ถ้าประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ มีแนวทางความคิดเห็นไปในแนวไหน จังหวัดฯ จะไปในแนวนั้น ขอยืนยันกับพวกเราแบบนี้ฯ"  ทรงพล กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net