Skip to main content
sharethis

องค์กรส่งเสริมแรงงานสิ่งทดนานาชาตินำเสนอรายงานวิพากษ์วิจารณ์เสื้อผ้าแบรนด์ดังเอชแอนด์เอ็ม (H&M) ที่ไม่สามารถจ่ายค่าแรงยังชีพให้กับแรงงานของตัวเองได้แบบที่เคยให้สัญญาไว้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในโรงงานการผลิตที่อินเดีย, กัมพูชา, บัลแกเรีย และตุรกี บีบให้แรงงานเหล่านี้ต้องทำงานช่วงเวลาเกินกฎหมายกำหนด ซึ่งเข้าข่ายการบังคับใช้แรงงานตามนิยามของสหประชาชาติ

องค์กรสนับสนุนแรงงานสิ่งทอนานาชาติ 'คลีนโคลธแคมเปญ' (CCC) ตีแผ่เรื่องที่บริษัทเสื้อผ้า เฮนเนส แอนด์ เมาริตซ์ หรือ เอชแอนด์เอ็ม (H&M) จ่ายค่าแรงแรงงานสิ่งทออย่างไม่เป็นธรรม ไม่พอในระดับจะเป็นค่าแรงยังชีพ (living wage) บีบให้แรงงานจำนวนมากถูกบีบให้ต้องทำงานล่วงเวลาหลายชั่วโมงเพื่อความอยู่รอด

CCC รายงานเรื่องนี้จากการเก็บข้อมูลจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าให้เอชแอนด์เอ็มในอินเดีย, กัมพูชา, บัลแกเรีย และตุรกี จากการสัมภาษณ์คนงาน 62 รายพบว่าไม่มีใครเลยที่ได้รับค่าแรงในระดับค่าแรงยังชีพซึ่งหมายถึงค่าแรงที่จะทำให้พวกเขามีพอใช้จ่ายซื้อหาปัจจัยพื้นฐานให้กับครอบครัวตัวเองได้

เอชแอนด์เอ็มเป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากแบรนด์ซารา (Zara) ที่มีเจ้าของคือบริษัทอินดิเท็กซ์ เอชแอนด์เอ็มมีร้านค้ามากกว่า 4,800 สาขา ใน 69 ประเทศทั่วโลก

CCC ระบุว่าทางเอชแอนด์เอ็มไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้จากเดิมที่พวกเขาเคยสัญญาไว้ตั้งแต่ปี 2556 ว่าจะปรับให้แรงงานสายงานการผลิตสิ่งทอนับ 850,000 ชีวิต ได้รับค่าแรงยังชีพภายในปี 2561 โดยที่คนงานในกัมพูชายังคงได้รับค่าแรงน้อยกว่าครึ่งหนึ่งจองค่าแรงยังชีพ ขณะที่แรงงานในอินเดียและตุรกียังคงได้รับค่าแรงแย่ยิ่งกว่าคือต่ำกว่าหนึ่งในสามของค่าแรงยังชีพ

สำหรับกรณีที่แรงงานต้องทำงานล่วงเวลาจนเกินอัตราจำกัดที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ได้ค่าแรงและทำการผลิตได้ตามเป้านั้น ทางสหประชาชาติระบุว่าเข้าข่ายเป็นการบังคับใช้แรงงาน

เบตตินา มิวสิโอเล็ค ตัวแทนจากองค์กร CCC กล่าวว่าเอชแอนด์เอ็มควรจะกระทำการแก้ไขปัญหาอื้อฉาวเกี่ยวกับค่าแรงและการละเมิดสิทธิแรงงานนี้โดยทันที

อย่างไรก็ตามทางเอชแอนด์เอ็มแถลงโต้ว่าพวกเขาใช้ยุทธศาสตร์เข้าถึงค่าแรงยังชีพกับอย่างน้อย 600 โรงงาน และกับคนงานสิ่งทอ 930,000 ชีวิต ในเรื่องค่าแรงยังชีพได้ เอชแอนด์เอ็มยังแสดงความคิดเห็นไม่ตรงกันกับ CCC โดยโฆษกของเอชแอนด์เอ็มอ้างว่า "ไม่มีข้อตกลงในระดับสากลว่าระดับค่าแรงยังชีพคือเท่าใด และระดับค่าแรงควรจะถูกกำหนดและจัดวางโดยกลุ่มที่อยู่ในตลาดแรงงานผ่านการเจรจาที่เป็นธรรมระหว่างตัวแทนของนายจ้างละลูกจ้าง ไม่ใช่กำหนดโดยแบรนด์ตะวันตก"


เรียบเรียงจาก

H&M accused of failing to ensure fair wages for global factory workers, The Independent, 26-09-2018
https://www.independent.co.uk/news/business/news/h-and-m-fair-wages-global-factory-workers-living-wage-employees-pay-bulgaria-turkey-india-cambodia-a8553041.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net