Skip to main content
sharethis

'สฤณี-อธิคม-เอียน แฮดดาว จากบีบีซี' อภิปราย 'สื่อ โลกเสมือน กับความเท่าเทียมในศตวรรษที่ 21' ขณะที่ 'วีรพร-โตมร-คงกฤช' ถกความเหงาจากมุมมองทางปรัชญา 
 

7 ก.ย.2561 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รายงานว่า คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับฝ่ายมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ สกว. จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 12 “อยู่ด้วยกัน : โลก เทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำ และความเป็นอื่น” ระหว่างวันที่ 7 8 กันยายน 2561 ณ อาคารวชิรมงกุฎ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อเป็นพื้นที่ในการนำเสนอผลงานวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ของไทยสู่สาธารณะ และเปิดโอกาสให้นักวิชาการทุกระดับได้ร่วมพิจารณา ถกเถียง สนทนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาประเด็นวิจัยว่าด้วยการอยู่ด้วยกันในพื้นที่ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจนเป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ และสร้างเครือข่ายทางวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสาขาที่เกี่ยวข้องทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง

ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงานว่า สกว.เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสนับสนุนงานวิจัยทางด้านมนุษยศาสตร์ ด้วยตระหนักว่าการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างสมดุลและราบรื่นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องคำนึงถึงคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมและมรดกทางปัญญาของมนุษย์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยปัจจุบันชุดโครงการเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย สกว. พยายามพัฒนาเครือข่ายนักวิจัยสายมนุษยศาสตร์ ให้ร่วมกันตั้งโจทย์วิจัยที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับปัญหาสังคมร่วมสมัย เปิดเวทีวิชาการระดับชาติและนานาชาติสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อีกทั้งวิเคราะห์ ตรวจสอบ สร้างสรรค์แนวการวิเคราะห์และทฤษฎีใหม่ๆ ที่จะช่วยอธิบายและชี้แนวทางการเข้าใจปัญหาสังคมและโจทย์ทางวิชาการที่มีลักษณะสหสาขาวิชาและเป็นประโยชน์ต่อสังคม

ศาสตรจารย์ เทเลอร์ คาร์แมน นักปรัชญาชาวอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

“การประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 12 นี้ ในหัวข้อ “อยู่ด้วยกัน : โลก เทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำ และความเป็นอื่น” เป็นความพยายามครั้งสำคัญที่จะตอบคำถามว่า เราจะอยู่ด้วยกันอย่างไรท่ามกลางความแตกต่างของผู้คนในโลกที่หมุนเร็วยิ่งนี้ คำถามดังกล่าวเชื่อมโยงทั้งมิติทางสังคม ภาษา วัฒนธรรม จริยธรรม และการเมือง ซึ่งรวมเอาประเด็นความเท่าเทียมและความเป็นธรรมไว้ด้วย ประดิษฐกรรมใหม่ อาทิ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือหุ่นยนต์ ฯลฯ ดังนั้นสิ่งที่ท้าทายมนุษยศาสตร์คงมิใช่แค่เพียงการตั้งคำถามเกี่ยวกับการเป็นอยู่ร่วมกันกับประดิษฐกรรมใหม่เหล่านี้ แต่เป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับสิ่งอื่น หรือคนอื่นในพื้นที่ที่มีความแตกต่างหลากหลายและเส้นแบ่งที่คลุมเครือในศตวรรษที่ 21”        สำหรับไฮไลท์ของเวทีในปีนี้ ศาสตรจารย์ เทเลอร์ คาร์แมน นักปรัชญาชาวอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งมีผลงานชิ้นสำคัญได้แก่ หนังสือ Merleau-Ponty ที่ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ Routledge และหนังสือ Heidegger’s Analytic: Interpretation, Discourse, and Authenticity in “Being and Time” ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในนักแสดงในภาพยนตร์สารคดีเชิงปรัชญาเรื่อง Being in the World ผลงานกำกับของ Tao Ruspoli ผู้กำกับชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาเลียน ที่แสดงถึงแนวคิดการดำรงอยู่ในโลกในชีวิตประจำวัน ได้ให้เกียรติปาฐกถานำหัวข้อ “Three Concepts of Community” ซึ่งพิจารณามโนทัศน์ว่าด้วยชุมชนในกรอบคิดของศาสตร์การตีความและปรากฏการณ์วิทยา โดยมี ผศ. ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งคุ้นเคยกับปรัชญาภาคพื้นทวีปเป็นอย่างดี เป็นผู้นำถกและสรุปประเด็น สามารถนำพาผู้ฟังให้เข้าใจในประเด็นการศึกษา Subject และ Object

อภิปราย 'สื่อ โลกเสมือน กับความเท่าเทียมในศตวรรษที่ 21'

ขณะที่การอภิปรายหัวข้อ “สื่อ โลกเสมือน กับความเท่าเทียมในศตวรรษที่ 21" โดย สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล และนักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ในยุคข้อมูลข่าวสารไหลเวียนจำนวนมาก ต้องแยกแยะความจริงกับความคิดเห็น พบว่าสื่อหลายค่ายจรรยาบรรณตกต่ำลงอย่างชัดเจน พื้นที่ในสื่อสังคมออนไลน์ทำข่าวอย่างมักง่าย หยิบสิ่งที่คุยกันมากระจายต่อ หรือลอกมาโดยไม่ตรวจสอบความถูกต้อง ขณะที่ประเทศยังตกอยู่ในห้วงความขัดแย้งทางการเมือง สื่อมีการแบ่งขั้วและเลือกข้าง ทำงานไม่เป็นมืออาชีพ ความสนใจบนไม้บรรทัดหรืออุดมการณ์ไม่เหมือนกัน

สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล และนักวิชาการอิสระ

สื่อที่กำลังจะหายไปคือ สื่อที่ยังพยายามนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและไม่บิดเบือน บางสื่อคิดว่าตัวเองควรมีบทบาทผลักดันข้างที่ตัวเองเลือก ปลุกระดมให้เกิดการเกลียดชัง หวังได้คะแนนนิยมจากคนที่เป็นฐานเสียง จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการหรือเครื่องมือทางการเมืองในการโฆษณาชวนเชื่อมากกว่ารายงานข้อเท็จจริง แต่หลายค่ายก็ใช้โอกาสจากสื่อสังคมออนไลน์เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เกิดความชัดเจนและมีเสน่ห์ โดยเรียบเรียงและประมวลผลข้อมูล ความคิดเห็นต่าง ๆ และสะท้อนออกมาเป็นเนื้อข่าว ทั้งนี้ ตนมองว่าการเสพสื่อสังคมออนไลน์สามารถสร้างความเท่าเทียมทางข้อมูลให้คนธรรมดาเข้าถึงได้ แต่ธรรมชาติของมนุษย์มักจะเข้าข้างสิ่งที่ตัวเองเชื่อและใช้อารมณ์ร่วมมากกว่าเหตุผล

อธิคม คุณาวุฒิ นักเขียนชื่อดัง

เช่นเดียวกับ อธิคม คุณาวุฒิ นักเขียนชื่อดัง ที่มองว่าสื่อปัจจุบันมักให้ความเห็นและใส่น้ำเสียงในข่าวมากกว่าการรายงานข่าวแบบเดิม แต่ในความเป็นจริงเราต้องไม่ลืมว่าสื่อเป็นธุรกิจแขนงหนึ่ง สุดท้ายแล้วองค์กรธุรกิจจะต้องตอบโจทย์เบื้องต้นให้ได้ นั่นคือ ‘ความอยู่รอด’ จึงจะเข้าใจได้ว่าเหตุใดสื่อจึงมีพฤติกรรมหลายอย่างที่เรารังเกียจ สิ่งที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ คือ คลื่นความเปลี่ยนแปลงตลอดในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมามีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในพื้นที่ของสังคมไทยขึ้นมา 3 ลูกใหญ่ อย่างแรกคือการเปลี่ยนโฉมหน้าของการสื่อสาร การเผชิญหน้ากับความขัดแย้งทางการเมืองที่เปิดเปลือยให้เห็นว่าแต่ละคนมีจุดยืนและความคิดอ่านเช่นไร ซึ่งนำมาสู่คลื่นที่สำคัญที่สุดคือ สังคมไทยไม่ได้มีพื้นความคิดอ่านที่เป็นหลักการแม้แต่น้อย หากแต่ถกเถียงกันภายใต้ความเชื่อ ความศรัทธา ก่อให้คนทำสื่ออย่างเราทำงานยากลำบากมากขึ้น และต้องระมัดระวังท่วงทำนองท่าทีในการสื่อสารเพื่อรักษาคนฟังคนดูให้ยังอยู่กับเราจน ไม่กลายเป็นสื่อสุดขั้วจนไม่มีใครฟัง ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้สื่อล้าหลังมากเพราะไม่มีหลักคิด จุดยืน หรือใช้ความรู้ ความคิดเดิมในการอธิบายความขัดแย้ง แต่การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขควรอยู่บนหลักความเสมอภาค การเคารพผู้อื่น

“ผมมองว่าสื่อเป็นผลผลิตทางสังคม ยกตัวอย่างเช่นการรายงานข่าวถ้ำหลวง ประเด็นที่คนพูดถึงกันน้อยท่ามกลางความพยายามในการทำงานของสื่อรุ่นใหม่และสื่อดิจิทัลจำนวนมาก แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติระดับชาติ ความต้องการแรกคือ ความน่าเชื่อถือ เราจึงตรวจสอบจากสถานีข่าวที่น่าเชื่อถือที่สุด เพราะต้นทุนที่สำคัญที่สุดของสื่อ คือ “ความน่าเชื่อถือ” คนในสังคมให้บทเรียนในนาทีที่คนสามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อ ทำให้สื่อต้องปรับตัวและสร้างมาตรฐาน อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือ ขนาดของทุน ส่งผลต่อการนำคนและเครื่องมือไปรายงานข่าว พื้นที่สื่อจึงมีทั้งความแตกต่างและเหลื่อมซ้อนกัน” อธิคม กล่าว

เอียน แฮดดาว จากสำนักข่าวบีบีซี

ขณะที่ เอียน แฮดดาว จากสำนักข่าวบีบีซี ระบุว่าสิ่งที่บีบีซีเน้นมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง คือ เสรีภาพในการพูด เพราะสิ่งที่จะตามมาคือการเชื่อมั่นในข้อมูลที่พูดมา ดังนั้นการมีเสรีภาพและเชื่อมั่นต่อสิ่งที่ได้ยินและกลั่นกรองจะกลายเป็นความจริง ปัจจุบันมีการแปลเป็นภาษาต่างประเทศกว่า 40 ภาษา และอยู่บนหลักการของสิทธิมนุษยชน จึงทำให้ประเทศแถบเอเชียมีเสรีภาพด้านสื่อค่อนข้างดี แต่บีบีซีก็ถูกโจมตีว่าอ่อนไหวทางวัฒนธรรม “บีบีซีพยายามยึดมั่นในการเสนอข่าวที่เป็นความจริง ไม่ใช่เรื่องแต่ง ใช้เทคโนโลยีในการทำงานตรวจสอบข้อมูลในทุกวันให้เกิด ‘ความโปร่งใส’ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ยังใช้ปัญญาประดิษฐ์ เอื้อให้สามารถเข้าใจ ตั้งคำถามได้ ให้คำอธิบายที่สามารถตีความได้”

วงถก 'ฉัน เธอ เขา เราต่างเหงาด้วยกัน'

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาหัวข้อ “ฉัน เธอ เขา เราต่างเหงาด้วยกัน” โดย วีรพร นิติประภา, โตมร ศุขปรีชา และอาจารย์คงกฤช ไตรยวงค์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มาร่วมพูดถึงความเหงาจากมุมมองทางปรัชญา ซึ่งในแง่ประวัติของคำ ‘lonely’ ในภาษาอังกฤษปรากฏครั้งแรกในงานชื่อ Coriolanus ของวิลเลียม เชกสเปียร์ ในความหมายของการอยู่ตามลำพัง แต่การระบุว่าความเหงาเกิดขึ้นในช่วงใดของประวัติศาสตร์ดูจะตอบได้ยากยิ่งกว่าอารมณ์ความรู้สึกอื่น ๆ อย่างความเบื่อที่เราพอจะบอกได้ว่าเป็นอาการของสมัยใหม่ คำว่า ‘boredom’ หรือความเบื่อปรากฏครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 18 ก่อนหน้านี้  ‘Langeweile’ ในภาษาเยอรมันก็ไม่ได้ไม่ถึงความเบื่อ แต่หมายถึงเพียงช่วงเวลาที่ยาวนานเท่านั้น การสืบย้อนไปดูคำศัพท์พอจะระบุช่วงเวลาที่เป็นจุดกำเนิดความเบื่ออย่างที่เราเข้าใจ แต่ความเหงากลับไม่เป็นเช่นนั้น ดูเหมือนอารมณ์เหงาและญาติในเครือเดียวกันจะมีอายุนานกว่าอารมณ์อื่น ๆ

ความเหงาแตกต่างจากการอยู่คนเดียวลำพัง หรือ ‘alone’ ซึ่งมีนัยเชิงกายภาพและเชิงจำนวน แต่ไม่ได้หมายความว่าคนอยู่ลำพังจะเหงา และคนเหงาก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ตามลำพัง อย่างที่เรามักจะได้ยินกันว่า เหงาท่ามกลางผู้คนมากมาย ในอดีตการถูกผลักไสให้อยู่ตามลำพังหรือถูกโดดเดี่ยวถือเป็นบทลงโทษที่ฉกาจฉกรรจ์พอ ๆ กับโทษตาย เพราะยังความทุกข์ทนทั้งกายใจ นักปรัชญาพูดถึงความเหงาว่าอย่างไรบ้าง เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ นักปรัชญานามอุโฆษชาวอังกฤษ ได้เขียนไว้ในอัตชีวประวัติว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเหงา และความเหงาเองก็เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เราอยากสัมพันธ์กับคนอื่น ขณะที่ อดัม สมิธ นักเศรษฐศาสตร์และนักปรัชญาคนสำคัญ มองว่าการอยู่โดดเดี่ยวลำพังทำให้เราตัดสินหรือประเมินตัวเองผิดพลาด เนื่องจากเขาเห็นว่าคนเรารู้จักตัวเองผ่านการอยู่ร่วมกับคนอื่นนั่นเอง ส่วน เอ็ดมันด์ เบิร์ค เห็นว่าความเหงาเป็นความเจ็บปวดเกินประมาณ เพราะขัดแย้งกับเป้าหมายของชีวิตมนุษย์ และเดวิด ฮิวม์ นักปรัชญาชาวสก็อตมองว่าการที่พระหรือนักบวชยกย่องความโดดเดี่ยวนั้นถือว่าขัดแย้งกับธรรมชาติของคนอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนความโดดเดี่ยวจะมีนัยทางบวกมากกว่าความเหงา คริสเตียน การ์เฟอ นักปรัชญายุคแสงสว่างทางปัญญาชาวเยอรมันเขียนไว้ในหนังสือ Über Gesellschaft und Einsamkeit ว่าด้วยสังคมกับความโดดเดี่ยว คนเหงารู้สึกเจ็บปวด ส่วนความโดดเดี่ยวไม่อาจจะโยงกับอารมณ์หนึ่งโดยเฉพาะ บางทีก็เป็นอารมณ์ด้านบวก นั่นคือความสงบ ด้านโยฮันน์ เก-ออร์ก ซิมเมอร์มัน เห็นว่าแม้ความโดดเดี่ยวจะมีคุณแต่คนเราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นด้วย ไม่น่าแปลกใจที่กวีและนักปรัชญาจำนวนไม่น้อยเห็นคุณค่าของสังคม ขณะเดียวกันก็เห็นว่าความโดดเดี่ยวทำให้เรามีอิสระและสามารถทุ่มเทกับการทำงานบางอย่างได้

ย้อนไปถึงยุคเรอเนสซองส์ เปตรากเขียนงานชื่อ De Vita Solitaria ชี้ให้เห็นว่าคนเราพึงหาที่สงบในชนบทเพื่อเลือกวิถีชีวิตตนเอง ในแง่นี้ความโดดเดี่ยวคืออิสรภาพจากผู้คน ถึงกระนั้นปราชญ์ผู้นี้ก็เห็นว่าความโดดเดี่ยวที่ปราศจากหนังสือก็คือทัณฑ์ทรมานดี ๆ นี่เอง ส่วนนักปรัชญาฝรั่งเศสอย่าง มิแชล เดอ มงตาญ เห็นว่าความโดดเดี่ยวเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะในเมือง ผู้เฒ่าควรอยู่ตามลำพังหลังจากวัยหนุ่มได้ทำเพื่อคนอื่นมามาก และควรให้เวลาว่างกับตัวเอง ไม่ใช่เกียรติยศชื่อเสียง

อาจกล่าวได้ว่า ‘ความเหงาเป็นอาการของคนที่ไม่อาจจะสานความสัมพันธ์กับคนอื่นได้’ ซึ่งเกิดขึ้นได้แม้ท่ามกลางฝูงชน ส่วนความโดดเดี่ยวไม่ได้ยึดโยงกับอารมณ์ใดเป็นการเฉพาะ บางครั้งก็นำมาซึ่งความสงบ แต่บ้างครั้งก็ทำให้เหงา เศร้า เจ็บ นอกจากนี้ความโดดเดี่ยวยังมีนัยของความเข้าใจตนเอง เนื่องจากมีเวลาให้กับการครุ่นคำนึง ขณะที่ความเหงาอาจจะนำไปสู่ความฟุ้งซ่าน และบางทีการพยายามหาวิธีคลายเหงากลับจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ยิ่งกว่าเดิม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net