Skip to main content
sharethis

ผาสุกอธิบายที่มาและสงครามทางความคิดก่อนลัทธิเสรีนิยมใหม่จะผงาดขึ้นมาเป็นความคิดกระแสนำในโลกทุนนิยม แต่มันมาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น

แนวคิดเสรีนิยมใหม่มุ่งการเปิดเสรีการเงินและการทำกำไรสูงสุด โดยลดส่วนแบ่งค่าจ้างของคนงานและสวัสดิการลง

แนวคิดเสรีนิยมใหม่ยิ่งขยายความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น

 

ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติคือประวัติศาสตร์ของการต่อสู้กันทางความคิด ความคิดต่อปากท้อง และการทำมาหากิน ถึงตอนนี้ดูเหมือนจะเป็นชัยชนะของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ที่มุ่งเน้นการสร้างกำไรสูงสุด แต่สิ่งที่ลัทธินี้สร้างขึ้นคือการขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้กว้างใหญ่ยิ่งกว่าที่เคยเป็น

ผาสุก พงษ์ไพจิตร จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายความเป็นมา การต่อสู้ทางความคิด และผลร้ายที่เป็นดอกผลของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ในงานเสวนาหัวข้อ ‘ความท้าทายที่เสรีนิยมใหม่คิดไม่ถึงกับโลกหลังศตวรรษที่ 21 ในมุมมองเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์’ ที่จัดขึ้นโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา

คลิปอภิปรายของผาสุก พงษ์ไพจิตร

ประวัติศาสตร์มนุษย์คือประวัติศาสตร์สงครามทางความคิด

อาจารย์กุลลดาได้ปูพื้นอย่างครอบคลุมและทำให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และบทบาทของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ รวมทั้งตัวละครที่อยู่เบื้องหลัง เช่น สหรัฐฯ ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ รวมถึงการตอบรับของผู้นำในประเทศไทยด้วย และยังย้อนกลับไปถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ที่มีกระแสแรกๆ ของเสรีนิยมในทางเศรษฐกิจที่เข้ามากับลัทธิล่าอาณานิคม

ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติอาจมองได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางความคิดและอำนาจ ระหว่างคนตัวเล็กและคนตัวใหญ่ และมีการต่อสู้ของทั้งคนตัวเล็กและใหญ่กับอำนาจรัฐและศาสนา และเป็นประวัติศาสตร์ของความคิดเกี่ยวกับการทำมาหากินซึ่งก็คือเรื่องเศรษฐกิจว่าประเทศต่างๆ จะใช้นโยบาย ยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจอะไร แนวไหน และยังมีนักคิด นักปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์ที่ตอบสนองความต้องการด้วยการสร้างแนวคิดขึ้นมาเพื่อชี้นำ

วันนี้ที่เราพูดกันก็เป็นเรื่องการต่อสู้กันของแนวคิดเศรษฐศาสตร์ต่างๆ ว่าแนวคิดไหนจะเป็นกระแสชี้นำแนวนโยบายของประเทศต่างๆ ขณะนี้โลกได้เห็นว่าแนวคิดของเสรีนิยมใหม่ได้กลายเป็นกระแสนำ บางส่วนอาจจะยินดีปรีดา แต่บางส่วนโดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ที่สนใจเรื่องสาธารณะ สวัสดิการ และอีกบางส่วนที่เป็นห่วงกับอนาคตทุนนิยม ก็กำลังถกเถียงกันว่าจะทำอย่างไรกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันเป็นเรื่องของสงครามความคิดทางเศรษฐศาสตร์

วันนี้ผาสุกจะพูดโดยแบ่งเป็น 4 หัวข้อ หนึ่งคือการลงหลักปักฐานของเสรีนิยมใหม่ในทศวรรษ 1980 อย่างที่อาจารย์กุลลดาบอก ลัทธิเสรีนิยมใหม่ก็คือข้อเสนอเชิงอุดมการณ์ที่จะทำให้ทุนนิยมเบ่งบาน แต่มันก็จะเกิดปัญหาที่เรายังไม่คาดคิด สองคือบริบทที่ทำให้แนวคิดนี้พุ่งขึ้นเป็นแนวคิดนำ บริบทในแง่ความคิดของเคนส์และรัฐสวัสดิการกับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ สามคือผลสะเทือนต่อโลก และสี่คือเรื่องความท้าทาย

เมื่อเสรีนิยมใหม่ก่อเกิด

เรื่องแรก เสรีนิยมใหม่เป็นชุดความคิดที่ชี้นำทุนนิยมผ่านนโยบายเศรษฐกิจของประเทศทุนนิยมพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสมัยมาร์กาเร็ต แทชเชอร์ ในอังกฤษ ช่วงปี 1979-1990 รับแนวคิดนี้ไป ตามด้วยโรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัย 1981-1989 ประกอบด้วยมาตรการเปิดเสรีต่างๆ ด้านการเงิน เปิดเสรีตลาดแรงงาน แต่เป็นเสรีตลาดแรงงานเฉพาะภายในประเทศ ห้ามข้ามประเทศ ไม่ยอมรับให้แรงงานจากที่อื่นเข้ามาได้เต็มที่ อาจจะเฉพาะแรงงานที่มีทักษะพิเศษที่จะให้เข้ามาได้

 

"ผลสะเทือนที่สุดของเสรีนิยมที่ประเทศโออีซีดีนำไปปรับใช้เกือบทั้งหมดได้รับคือความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาความเครียด ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ในบางประเทศรุนแรงถึงกับตกลงกันไม่ได้ว่าจะร่วมมือพัฒนาประเทศไปในแนวทางไหน คุณคงนึกออกว่าเป็นประเทศไหน"

 

นอกจากการเปิดเสรีแล้ว ก็ยังมีการเพิกถอนกฎเกณฑ์ต่างๆ ทุนนิยมก่อน 1980 เป็นทุนนิยมที่มีการกำกับดูแล แต่หลัง 1980 เสรีนิยมใหม่ก็เพิกถอนกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่พันธนาการทุนนิยม ส่วนสำคัญที่พันธนาการอยู่คือบทบาทของสหภาพแรงงาน ซึ่งมีอำนาจต่อรองค่าแรงทำให้ผลกำไรลดลง ลดระบบสวัสดิการสังคมที่แผ่ขยายในตะวันตก ซึ่งทำให้รัฐบาลเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน ทุนก็มองว่านี่คือภาระ จึงพยายามเพิกถอนยกเลิก

ทั้งอังกฤษและสหรัฐเมื่อสมาทานเสรีนิยมใหม่ แล้วก็พบว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ทำให้จีดีพีโตขึ้นได้ และรวบรวมการสนับสนุนจากกลุ่มทุนได้ค่อนข้างเต็มที่ จึงผลักดันให้แนวคิดเสรีนิยมใหม่เป็นกระแสนำของโลก แล้วสหรัฐฯ ก็มีบทบาทในธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ก็หนุนให้ทั้งสององค์กรนี้รับแนวคิดไปกระจายในประเทศต่างๆ ที่มากู้เงิน รวมทั้งมหาวิทยาลัยต่างๆ ของโลกก็เปิดสอน อีกทั้งนักเศรษฐศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังก็ได้รับรางวัลโนเบล มิลตัน ฟีดแมน (Milton Friedman), ฮาเยค (Friedrich August von Hayek), บูคานัน (James M. Buchanan) ทั้งสามคนนี้มีบทบาทเบื้องอยู่หลังเสรีนิยมใหม่ ซึ่งยิ่งทำให้อุดมการณ์นี้แพร่กระจาย

The Rise of Neoliberalism

ประการที่ 2 ทศวรรษที่ 1930-1970 ทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคงแน่นอน มันพัฒนาและพุ่งขึ้น มันมีปัญหาการขึ้นลงเป็นวัฏจักรเศรษฐกิจและจะต้องมีวิกฤตเป็นระยะๆ มาร์กซ์บอกว่าวิกฤตเศรษฐกิจเป็นธรรมชาติของทุนนิยมเพราะกลไกการทำงานของมันก่อให้เกิดวิกฤตได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อมันขาดการควบคุม เช่น วิกฤตครั้งใหญ่ในปลายทศวรรษ 1920 ถึงต้นทศวรรษ 1930 หรือ Great Depression ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของสงครามโลก

ในบริบทความไม่แน่นอน การเป็นวัฏจักรของทุนนิยม จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) นักเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มีชื่อเสียงขึ้นมาเพราะเสนอแนวคิดที่ทำให้ระบบทุนนิยมมีเสถียรภาพมากขึ้น เพื่อเติบโตยืนยาว ในภาวะที่ลัทธิสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์พุ่งขึ้นเป็นคู่แข่ง ข้อเสนอของเคนส์คือให้รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการลัดวงจรเศรษฐกิจและลดความรุนแรงของวิกฤตเศรษฐกิจ ผ่านการแทรกแซงในรูปนโยบายการคลัง การเงิน ที่เรารู้จักกันคือนโยบายเพิ่มอุปสงค์รวมในช่วงเศรษฐกิจขาลง เพื่อจะลดความรุนแรงของวิกฤตเศรษฐกิจ

ส่วนที่โยงกับเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์และเกิดขึ้นในยุคเดียวกันคือระบบรัฐสวัสดิการ ซึ่งเกิดขึ้นที่เยอรมนีก่อน แล้วต่อมาขยายในอังกฤษช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามมาที่สแกนดิเนเวีย ระบบรัฐสวัสดิการคือการที่รัฐมีบทบาทมากอย่างแน่นหนาในการใช้นโยบายการคลัง คือเก็บภาษีแล้วนำเงินมาสร้างสวัสดิการแก่ประชาชนนก่อให้เกิดการกระจายผลได้ของทุนนิยม แทนที่จะกระจุกอยู่กับนายทุน กระจายออกมาเป็นสวัสดิการต่างๆ เช่น ที่อยู่อาศัย การศึกษา การรักษาพยาบาล แต่ต้องเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าและค่อนข้างสูง ต้องเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดินด้วย เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์และสวัสดิการมีเป้าหมายเพื่อยกระดับการครองชีพและลดความขัดแย้งในระบบทุนนิยม เป็นความขัดแย้งระหว่างผู้มีทุนกับไม่มีทุน ในสมัย 1930-1970 ยกเว้นช่วงสงคราม จึงเป็นสมัยที่ทุนนิยมเฟื่องฟู ถูกเรียกว่าเป็นยุคทองของทุนนิยม

แนวคิดของเคนส์ให้ความสำคัญกับการมีงานทำเต็มที่ ผ่านมาตรการกระตุ้นอุปสงค์รวมและรัฐสวัสดิการผ่านระบบภาษีก้าวหน้าที่ขบวนการสหภาพแรงงานมีบทบาทผลักดันให้เกิดขึ้น และได้เป็นกระแสนำในกลุ่มประเทศโออีซีดี (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ที่มีสหรัฐฯ และอังกฤษเป็นหัวหอก สหรัฐฯ ก็รับนโยบายนี้ไปเป็นนโยบายหลักในช่วงที่เกิด Great Depression กระทั่งเกิดสองเหตุการณ์สำคัญทำให้การสนับสนุนแนวคิดแบบเคนส์อ่อนแรงลง หนึ่งคือวิกฤตราคาน้ำมันพุ่งในทศวรรษ 1970 และการล่มสลายของลัทธิสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ที่ทำให้ทุนนิยมไร้คู่แข่ง จึงเกิดการวิจารณ์ว่าภาวะการมีงานทำเต็มที่ทำให้สัดส่วนของกำไรในรายได้ประชาชาติลดลง เพราะขยับไปฝั่งคนงานมากขึ้น แต่ในช่วงราคาน้ำมันพุ่ง กำไรมันต้องลดลง เพราะต้นทุนสูงขึ้น แต่วิธีคิดของผู้ประสบปัญหากลับคิดว่าเป็นเพราะสหภาพแรงงานแข็งแรงเกินไป รัฐเก็บภาษีสูงเกินไป รัฐสวัสดิการถูกมองว่าเป็นระบบที่ต้นทุนสูง ต้องลดต้นทุนลง

ในบริบทที่เปลี่ยนไปนี้ นักปรัชญาสังคมและนักเศรษฐศาสตร์ที่ชิคคาโก เช่น ฟรีดแมน ฮาเย็ค ซึ่งเป็นนักคิดตลาดเสรี และบูคานัน แนวคิดของพวกนี้ก็พุ่งขึ้นมา มีคนให้ความสนใจ รวมทั้งแนวคิดของบูคานันที่เวอร์จิเนียที่นำข้อสมมติฐานของเสรีนิยมใหม่มาปรับใช้กับการเมืองว่า ข้าราชการและนักการเมืองก็เหมือนปัจเจกบุคคลทั่วไปที่มีแรงจูงใจจะรักษาผลประโยชน์ของตนเป็นหลัก เมื่อเข้าไปเป็นนักการเมืองก็จะดำเนินการที่เป็นเพื่อประโยชน์ของตนมากกว่าของสาธารณะ การวิเคราะห์แบบนี้ยิ่งทำให้เห็นว่าการให้รัฐแทรกแซงเศรษฐกิจจะทำให้ตลาดผันผวน เพราะไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะ แต่จริงๆ แล้วความคิดแบบนี้ค่อนข้างจะสุดโต่ง คนก็เริ่มพูดถึงว่าเสรีนิยมใหม่มีข้อสมมติฐานที่สุดขั้วและได้ผลออกมาเป็นการมองโลกในแง่ร้าย

หัวใจของนักคิดตลาดเสรีคือทุนนิยมจะเติบโตต่อไปได้ ต้องให้เสรีภาพแก่ทุนนิยม ด้วยการยกเลิกกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่พันธนาการระบบอยู่ ลดบทบาทรัฐให้เหลือน้อยที่สุด แต่เวลาพูดถึงการเปิดเสรีตลาดทุน จะไม่พูดถึงการเสรีตลาดแรงงานข้ามชาติ การเปิดเสรีการเงินเป็นข้อเสนอสำคัญของเสรีนิยมใหม่ นโยบายเหล่านี้จะทำให้ทุนนิยมเบ่งบานด้วยการทำลายที่สร้างสรรค์ ข้อเสนอเหล่านี้ดึงดูดใจนักธุรกิจเพราะจะทำให้สัดส่วนของค่าจ้างลดลง แต่กำไรเพิ่มขึ้น การเปิดเสรีตลาดแรงงานจะทำให้กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กำกับตลาดแรงงานลง เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ การให้สิทธิกับสหภาพที่จะเจรจาต่อรองกับนายจ้าง ซึ่งเสรีนิยมใหม่ไม่ชอบการเจรจาต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น ค่าจ้างต้องถูกกำหนดโดยดีมานด์ซัพพลาย ต้นทศวรรษ 1980 เสรีนิยมใหม่ที่พุ่งขึ้นมาจึงดึงดูดความสนใจ

ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น

ประการที่ 3 ผลสะเทือนที่สุดของเสรีนิยมที่ประเทศโออีซีดีนำไปปรับใช้เกือบทั้งหมดได้รับคือความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาความเครียด ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ในบางประเทศรุนแรงถึงกับตกลงกันไม่ได้ว่าจะร่วมมือพัฒนาประเทศไปในแนวทางไหน คุณคงนึกออกว่าเป็นประเทศไหน

เรื่องช่องว่างรายได้ที่ถ่างขึ้นระหว่างคนกลุ่มต่างๆ มันเป็นเรื่องจริง เพราะว่าโออีซีดีเพิ่งทำการศึกษาไปเมื่อปี 2014 ศึกษาประสบการณ์การใช้แนวคิดเสรีนิยมใหม่ใน 35 ประเทศสมาชิกจากช่วงปี 1980-2000 พบว่า ค่าจีนี (ตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำมีค่าระหว่าง 0-1 ยิ่งเข้าใกล้ 1 แสดงว่าความเหลื่อมล้ำยิ่งสูง) เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยจาก 0.29 ในปี 1980 เป็น 0.32 ในปี 2000 และยังพบว่าจีดีพีเติบโตในอัตราช้าลง และได้ประมาณการต่อไปว่าในอนาคตจีดีพีของโออีซีดีทั้งกลุ่มจะลดลงต่อไปปีละ 0.35 เปอร์เซ็นต์ และในปีสุดท้ายจีดีพีจะหดตัว 10 เปอร์เซ็นต์ มันจะเป็นอย่างนี้ไปอีก 25 ปี เพราะเขาพบว่าความเหลื่อมล้ำมีการตกทอดจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูก ขณะที่ของประเทศไทยค่าจีนีอยู่ที่ 0.41 กว่าๆ และสมัยที่ความเหลื่อมล้ำของเราสูงมากๆ คือ 0.456 เมื่อปี 1992 แต่เราก็ยังสูงอยู่

งานศึกษานี้สอดคล้องกับงานศึกษาที่อเมริกาที่พบว่า ระหว่างปี 1976-2011 สัดส่วนรายได้ของผู้มั่งคั่งที่สุดร้อยละ 1 และกลุ่มร้อยละ 10 ของประเทศของหลายประเทศหลักๆ ในกลุ่มประเทศโออีซีดีได้ทะยานขึ้น และส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำของประเทศสูงขึ้น

ของประเทศแถบเราไม่มีการศึกษาเป็นระบบเท่ากับของโออีซีดี แต่เรารู้ว่าประเทศแถบเรามีความเหลื่อมล้ำ ในประเทศแถบอาเซียนทุกประเทศค่าจีนีสูงขึ้น ทุกประเทศมีปัญหาคล้ายๆ กัน นอกจากปัญหาความเหลื่อมล้ำแล้ว เมื่อเสรีนิยมใหม่ขยายไปยังประเทศอื่นๆ จะเกิดภาวะคล้ายๆ กัน อาจมีการเติบโต แต่ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น ไม่สามารถแก้ปัญหาความยกจนได้อย่างเต็มที่ ความแตกต่างด้านรายได้ระหว่าประเทศต่างๆ จึงมีอยู่สูง ประเทศกลุ่มโออีซีดีถึงจะมีปัญหา แต่ก็มีรายได้สูงกว่าโดยเฉลี่ยและมีมาตรฐานการครองชีพที่สูงกว่า และการที่เสรีนิยมใหม่เสนอให้ทุนเคลื่อนย้ายไปที่ไหนก็ได้เพื่อไปแสวงหากำไรในประเทศต่างๆ ผ่านการเปิดเสรีทางการเงิน แล้วก็สร้างความเหลื่อมล้ำในประเทศนั้นๆ แต่กลับไม่ยอมให้มีการเคลื่อนย้ายเสรีแรงงาน มันก็เกิดวิกฤตแรงงานอพยพจากประเทศที่มีปัญหาที่อยู่ใกล้ๆ ยุโรป เป็นวิกฤตที่โออีซีดีต้องตอบรับ

ความท้าทาย

ประการที่ 4 เสรีนิยมใหม่ทำให้ทุนนิยมเบ่งบานได้ในบางระดับ พร้อมกับมีวิกฤตต่างๆ และอาจจะกำลังก่อตัวอีก แต่ที่เบ่งบานมากๆ คือท็อป 1 และท็อป 10 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ เพราะฉะนั้นก็สรุปได้ว่าทุนนิยมนี้ไม่ได้เพิ่มรายได้และขยายการครองชีพของคนส่วนใหญ่ของประเทศทุนนิยมเหล่านี้อย่างเต็มที่ และตรงนี้อาจจะเป็นอย่างที่มาร์กซ์ทำนายไว้ว่า ถ้าทุนไม่มีดีมานด์มาสนองรับการผลิตของพวกมัน แล้วทุนนิยมจะก้าวไปได้อย่างไร ซึ่งจะก่อให้เกิดวิกฤตของทุนนิยมในตัวมันเอง อาจารย์คิดว่าเขาไม่คาดคิดว่าความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น มันย้อนกลับมาเป็นผลร้ายกับทุนนิยมเอง

ในเรื่องความท้าทาย แทนที่จะลดบทบาทของรัฐ รัฐบาลของประเทศทุนนิยมต่างๆ อาจต้องยิ่งร่วมมือกันแทรกแซงเศรษฐกิจในระดับโลกเพื่อควบคุมแนวโน้มสู่วิกฤตเศรษฐกิจและลดทอนแนวโน้มสู่ความเหลื่อมล้ำสูง

ประการต่อมาอาจต้องยอมรับว่า ปัญหาแรงงานอพยพข้ามชาติเป็นเรื่องจริงและเป็นวิกฤตของประเทศทุนนิยมเหล่านี้ เพราะมันเป็นผลพวงของความไม่สมดุลที่เกิดจากเศรษฐกิจที่ดำเนินตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่ และประเทศต่างๆ ต้องร่วมมือกันรับมือแบบมีมนุษยธรรมมากกว่านี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net