Skip to main content
sharethis

ผลงานวิจัย สกว. ชี้ 'ป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน' มีความสมบูรณ์มาก มีศักยภาพในการดำเนินการเพื่อสนับสนุนกลไกคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้  เพื่อเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนได้  เนื่องจากมีต้นไม้ที่ยังมีอัตราการเติบโตสูง และมีศักยภาพในการเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอน

29 พ.ค.2561 การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รายงานว่า ปัจจุบันป่านอกจากเป็นแหล่งอาหารและระบบนิเวศแล้ว ยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญ ที่จะช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและลดภาวะโลกร้อนได้ จากความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนบ้านเปร็ดพื้นที่ 12,000 ไร่ ในท้องที่บ้านเปร็ดใน  ม.2 ตำบลห้วยน้ำขาว  อำเภอเมือง  จังหวัดตราด  พบว่า มีศักยภาพเหมาะที่จะใช้ดำเนินการสนับสนุนกลไกคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ โดยเฉพาะ“เรดด์พลัส”เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ โดยข้อค้นพบจากผลการศึกษาวิจัยใน “โครงการฟื้นฟูป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน  เพื่อสนับสนุนกลไกคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้” ที่มี ดร.ลาวัลย์ พวงจิตร จากคณะวนศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ ภายใต้การสนับสนุนของ สกว.บ่งชี้ว่า  ป่าชายเลนบ้านเปร็ดในจัดเป็นป่าชายเลนที่มีระดับความสมบูรณ์มาก โดยจากการประเมินค่าเฉลี่ยการกักเก็บคาร์บอนรวมทุกแหล่งสะสมในพื้นที่ป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน พบว่า เป็นป่าที่มีศักยภาพในการดำเนินการเพื่อสนับสนุนกลไกคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้  เพื่อเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนได้  เนื่องจากมีต้นไม้ที่ยังมีอัตราการเติบโตสูง  และมีศักยภาพในการเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอน

การปลูกป่า

นอกจากนี้ ผลการศึกษาการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการใช้พลังงานทุกประเภทของชุมชน พบว่า มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานรวม 398.33 ตัน CO2/ปี ซึ่งพื้นที่ป่าชายเลนในขนาด 36.28 ไร่สามารถดูดซับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนดังกล่าวได้ ดังนั้น จากพื้นที่ป่าชายเลนบ้านเปร็ดในที่มีอยู่ 12,000 ไร่ (ระหว่างคลอง 1 ถึงคลอง 15) จะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 131,760 ตัน CO2/ไร่/ปี ซึ่งข้อค้นพบนี้ชี้ให้เห็นชัดว่า ป่าชายเลนบ้านเปร็ดในมีศักยภาพเพียงพอในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งของชุมชนโดยรอบและชุมชนใกล้เคียงได้

จากข้อค้นพบดังกล่าวชุมชนบ้านเปร็ดในเล็งเห็นความสำคัญของภาวะโลกร้อน และต้องการนำศักยภาพของป่าชายเลนบ้านเปร็ดในไปมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของโลกร้อน เพื่อนำรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตมาบริหารจัดการรักษาฟื้นฟูป่าชายเลนที่ชุมชนดูแลปกป้องและอนุรักษ์มายาวนาน ให้เป็นป่าชายเลนที่เป็นแหล่งเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ  เพื่อกักเก็บคาร์บอน และเป็นพื้นที่ทำกินของคนในชุมชนต่อไปได้อย่างยั่งยืน

อำพร แพทย์ศาสตร์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนป่าบ้านเปร็ดใน

อำพร แพทย์ศาสตร์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนป่าบ้านเปร็ดใน กล่าวว่า “แม้ขณะนี้รัฐบาลจะยังไม่มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวชัดเจน แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่รัฐบาลมีนโยบายรับซื้อเราก็พร้อมดำเนินการทันที เพราะเรารู้แล้วว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง  มีขั้นตอนกระบวนการจัดเก็บข้อมูลอย่างไร รู้วิธีการสำรวจ และคำนวณ ขนาด ความสูง รวมถึงการกักเก็บคาร์บอน ทำให้เรามีข้อมูลเพียงพอ ซึ่งความรู้เหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากนักวิจัย สกว.นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ ที่ได้เข้ามาถ่ายทอดให้กับนักวิจัยชุมชน ตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งทางนักวิจัยชุมชนเองก็ได้นำความรู้ได้รับไปถ่ายทอดให้กับเยาวชนได้เรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการดูแลปกป้องป่าชายเลนของชุมชนต่อไป” 

สำหรับการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนฯนี้  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นต่อการวางแผนการจัดการ ได้แก่  โครงสร้างป่า พรรณไม้ ปริมาตร ผลผลิตมวลชีวภาพ  และศึกษาศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนตามวิธีการมาตรฐานของ IPCC (2003) เพื่อสนับสนุนกลไกคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้  และจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรป่าชายเลนชุมชน  โดยการศึกษาวิจัยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกขั้นตอน  เริ่มตั้งแต่การกำหนดนักวิจัยชุมชน  การวางแผนการวิจัย  การคัดเลือกพื้นที่ศึกษา  การดำเนินการวิจัย  การนำเสนอผลการวิจัย  รวมถึงการศึกษาดูงานเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนในพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน  เพราะการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมถือเป็นการสร้างองค์ความรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนซึ่งจะก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืน

โดยในการจัดทำฐานข้อมูล มีการจำแนกข้อมูลที่จัดเก็บ อาทิ กิจกรรมการวิจัย พรรณไม้ พื้นที่ป่าชายเลน งานวิจัยด้านนิเวศวิทยาป่าชายเลน และองค์ความรู้การจัดการป่าชายเลน  โดยนักวิจัยและนักวิจัยชุมชนสามารถใช้งานเว็ปไซต์เพื่อการพัฒนาและออกแบบฐานข้อมูลร่วมกันได้  ในด้านโครงสร้างจากการสำรวจ พบว่า ป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน ประกอบด้วยพรรณไม้จำนวน 15 ชนิด จำแนกเป็นไม้ใหญ่ 14 ชนิด ไม้รุ่น 10 ชนิด และกล้าไม้ 4 ชนิด แสดงให้เห็นว่าพรรณไม้ในพื้นที่ป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน  มีศักยภาพในการเจริญทดแทนตามธรรมชาติที่ค่อนข้างต่ำ และในอนาคตมีแนวโน้มว่าความหลากหลายทางชีวภาพจะลดลง  โดยพรรณไม้ที่มีค่าดัชนีความสำคัญสูงมี 2 ชนิด คือ โกงกางใบเล็ก และโปรงแดง  แม้ลักษณะโครงสร้างของต้นไม้ในป่าชายเลนบ้านเปร็ดในส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยมีขนาดไม่ใหญ่  แต่จัดว่าเป็นป่าชายเลนที่มีมวลชีวภาพในระดับความสมบูรณ์มาก  แสดงให้เห็นว่าป่าชายเลนบ้านเปร็ดในมีศักยภาพสูงในการเพิ่มพูนผลผลิต

ผลการศึกษาดังกล่าวได้นำมาจัดการข้อมูลในรูปแบบของ “ระบบฐานข้อมูล” เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนได้อย่างสะดวกต่อไป นอกจากนี้โครงการฯ ยังจัดฝึกอบรมให้ความรู้ความเข้าใจในระบบฐานข้อมูล  และวิธีการจัดเก็บข้อมูลแก่นักวิจัยชุมชน รวมทั้งการจัดทำคู่มือการใช้ฐานข้อมูลให้แก่ชุมชน เพื่อให้ระบบฐานข้อมูลอยู่กับชุมชนตลอดไป  โดยมีการปรับปรุงข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นให้กับชุมชนได้เรียนรู้  และสร้างความเข้าใจถึงกระบวนการการจัดทำเก็บข้อมูลที่เป็นระบบ  แต่ชุมชนยังควรต้องได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ถึงวิธีการวางแผนการเก็บข้อมูล เพื่อป้อนลงฐานข้อมูล  และจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากข้อมูลที่วิเคราะห์ได้เพิ่มอีก เพื่อให้ชุมชนเกิดความมั่นใจในการจัดการป่าและติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรป่าชายเลนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

“ป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน เป็นความภูมิใจของชุมชนในฐานะที่เป็นแหล่งอาหาร เราไม่ต้องไปซื้อหาที่ไหน  หรือใครจะจับขายเป็นรายได้ก็สามารถทำได้เช่นกัน ขายไม่หมดก็นำมาทำอาหารกินกันในครอบครัว แต่การจับนั้นชุมชนมีข้อตกลงร่วมกันกรณีห้ามจับสัตว์น้ำในช่วงที่มีการวางไข่“หยุดจับร้อย ค่อยจับล้าน” ซึ่งทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ดังนั้นเป้าหมายในการฟื้นฟูก็เพื่อต้องการให้ป่าชายเลนของชุมชนเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เพราะหากโลกร้อนขึ้นแม้เพียงหนึ่งองศาก็จะส่งต่อปริมาณสัตว์น้ำได้  หรือกรณีปัญหาน้ำจากต้นน้ำ กลางน้ำ จากภาคเหนือที่จะไหลลงสู่ทะเลผ่านป่าชายเลนของชุมชน  หากมีการปนเปื้อนสารเคมีก็อาจส่งกระทบต่อแหล่งอาหารและสัตว์น้ำได้  ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ชุมชนให้ความสนใจ”

“คนที่เคยอยู่กับป่าชายเลน จะรู้ว่าคุณค่าของป่าชายเลนนั้นมากมายแค่ไหน แม้หาดทรายจะสร้างรายได้มหาศาลจากการท่องเที่ยว  แต่ถ้าวันหนึ่งนักท่องเที่ยวไม่มาเราจะได้อะไรจากหาด  เพราะแหล่งอาหารหรือทรัพยากรสัตว์น้ำ ไม่ได้อยู่ที่หาดทราย แต่อยู่ที่ป่าชายเลน เราไม่ต้องซื้อ เราไม่มีอด นี่คือความภูมิใจในชุมชนของเรา” อำพร กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net