Skip to main content
sharethis

สกว.จัดเวทีเสวนาเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับนักเทษขันทีสมัยกรุงศรีอยุธยา ระบุชัดไม่มีขันทีชายไทยต้องนำเข้าจากต่างชาติแต่ไม่ใช่จีน ชี้บทบาทชาวเปอร์เซียเริ่มจาก “พ่อค้า” ก่อนเข้ามารับราชการในราชสำนัก เพราะพระมหากษัตริย์หวังรายได้จากการค้าขายและต้องการผู้มีความรู้เฉพาะด้านเข้ามาทำงาน

ภาพวงเสวนา “นักเทษขันทีและชาวเปอร์เซียในประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา”

14 พ.ค. 2561 รศ.ณัฐมา พงศ์ไพโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านมนุษยศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดการเสวนา “นักเทษขันทีและชาวเปอร์เซียในประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา” ณ ห้องประชุม สกว. เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับนักเทษขันทีและชาวเปอร์เซียในประวัติศาสตร์ไทยซึ่งมีบทบาทในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยา อันจะเป็นการกระตุ้นให้คนไทยสนใจเรียนรู้ประวัติศาสตร์มากขึ้น

รศ.ธีรวัต  ณ ป้อมเพชร ผู้ทรงคุณวุฒิ สกว. กล่าวถึงชาวเปอร์เซียในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่าเริ่มมีบทบาทในฐานะ “พ่อค้า” ที่เข้ามาค้าขายในคาบมหาสมุทรอินเดีย ทำรายได้มหาศาล ขายต่อสินค้าจากจีนและญี่ปุ่นผ่านไปสู่เอเชียตะวันตก ทั้งดีบุก ผ้าไหม ม้า น้ำหอม ฯลฯ สิ่งที่เรามักมองข้ามไปคือ การเดินทางเข้ามาผ่านทางอินเดีย ชาวเปอร์เซียค้าขายเก่ง มีวิชาการปฏิบัติตนในราชสำนักและมีวัฒนธรรมสูง มีชุมชนชาวเปอร์เซียกระจัดกระจายไปทั่วเอเชียรวมถึงไทย การค้าที่สำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยาคือ การค้าชายฝั่งทางส่วนใต้ของทวีปอินเดีย (จุลมณฑล) ตั้งแต่สมัยคริสตวรรษที่ 16 และเป็นใหญ่เป็นโตในสมัยคริสตวรรษที่ 17 ขณะที่สยามชอบดึงเศรษฐีต่างชาติเข้ามารับราชการในวัง ได้รับตำแหน่งเป็นที่โปรดปรานจนมีบทบาทขึ้นมา เนื่องจากพระมหากษัตริย์ไทยต้องการรายได้จากการค้าขายกับต่างประเทศ อีกทั้งยังมีความรู้ในการเดินเรือ การตลาด มีสินค้าที่เป็นที่ต้องการ มีเครือญาติที่อยู่ในเมืองท่าต่าง ๆ ที่สะดวกต่อการติดต่อ ซึ่งนอกจากเปอร์เซียแล้วยังมีตุรกีและชาวตะวันตกด้วย โดยใช้ภาษาโปรตุเกสในการติดต่อสื่อสารกับชาติต่าง ๆ เนื่องจากเข้ามาอยู่นาน รวมถึงภาษาจีน

นอกจากนี้ยังมีการนำเข้ากองทหารม้า ใช้ม้าในงานพระราชพิธีต่าง ๆ เพราะม้าจากยุโรปสวยงาม ทหารม้ามีรูปร่างสูงใหญ่ จึงเป็นที่โปรดปรานของพระมหากษัตริย์ไทย รวมถึงมีนักเดินเรือ ผู้มีความสามารถความชำนาญเฉพาะด้าน ผู้มีความรู้ เทคโนโลยี เช่น แพทย์จีน แต่ไม่ปรากฏกระบวนการนำเข้าในเอกสารชั้นต้น เพราะคนไทยชอบอะไรที่สำเร็จรูป โดยเฉพาะในยุคสมัยแห่งการค้าที่กว้างขวางและมีการติดต่อกับต่างชาติจำนวนมาก

ภาพขันทีชาวเปอร์เซีย

ด้าน วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. กล่าวว่า การแบ่งฝ่ายในราชสำนักแบ่งเป็นส่วนราชการซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร กับฝ่ายในซึ่งเป็นเขตพระราชฐาน ห้ามบุรุษล่วงล้ำเข้าไปในราชสำนัก โดยการแบ่งหน่วยงานราชการรับอิทธิพลจากจีนที่แบ่งเป็นฝ่ายซ้ายฝ่ายขวาเพื่อคานอำนาจกันระหว่างขุนนาง ส่วนความสนใจเรื่อง “ขันที” นั้นเริ่มจากการอ่านหนังสือเกี่ยวกับขันทีจีนเพราะคนไทยชื่นชมภาพยนตร์จีนกำลังภายในกันมาก จึงได้มีโอกาสแปลหนังสือและศึกษาเรื่อยมา ซึ่งพบว่าขันทีในราชวงศ์ชิงของจีนมีนับแสนคน ขณะที่ฝั่งตะวันตกอย่างอิตาลีมีนักร้องประสานเสียงในโบสถ์ที่ตัดอวัยวะเพศชายจำนวนมากประมาณ 7,000 คนต่อปี เพราะเชื่อว่าเมื่อตัดอวัยวะเพศทิ้งจะทำให้มีฮอร์โมนเพศหญิงมากขึ้นและมีเสียงสูงคล้ายผู้หญิง

เดิมนั้นตนเคยคิดว่าขันทีน่าจะมากจากภาษาอาหรับว่า “ขะซี” แต่เมื่อพิจารณานามของศิขัณฑินหนึ่งในตัวละครสำคัญในมหาภารตยุทธ์จึงค้นคว้าใหม่ พบว่าคำว่า ขณฺฑ (ภาษาสันสกฤต) แปลว่า ทำลาย จึงพอจะทำให้ลากไปได้ว่า ไม่สมบูรณ์ ขาดหายไป ทำลายหรือตัดเป็นชิ้น สันนิษฐานว่าขันทีเป็นการเขียนแบบไทย ส่วน “นักเทษ” มาจากคำว่า นักปรเทษ หมายถึงท่านที่มาจากที่อื่น มาจากตะวันออกกลาง เช่น เปอร์เซีย ตุรกี มีการกล่าวถึงบรรดารัฐต่าง ๆ ทั้งเวียดนามและเกาหลีก็มีการส่งขันทีไปถวายจักรพรรดิจีนด้วย แต่กฎหมายของจีนในสมัยนั้นห้ามคนออกนอกประเทศ จึงคิดว่าขันทีในไทยไม่ได้มาจากเมืองจีน และตามความเชื่อของศาสนาพุทธการตัดสมบัติความเป็นชายทิ้งถือเป็นบาปกรรม จึงไม่มีขันทีชายไทยแต่นำเข้าจากต่างชาติ

ทั้งนี้ขันทีจีนมีมาตั้งแต่กว่า 1,300 ปีสมัยก่อนคริสตกาลในสมัยราชวงศ์ซาง การลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการตัดสมบัติของความเป็นชายถือเป็นเรื่องน่าอับอายมาก เพราะการมีลูกเป็นเรื่องสำคัญมากในประเทศจีน ถ้าถูกตอนก็จะมีครอบครัวสืบลูกสืบหลานไม่ได้ ต่อมาตั้งแต่ราชวงศ์ถังเป็นต้นมามีคนสมัครใจเข้าไปรับใช้ในราชสำนักกันมากขึ้นโดยหวังให้เข้าถึงส่วนในมากที่สุด และมีการแบ่งขั้วกับฝ่ายในเพื่อเพ็ดทูลความดีความชอบ ขันทีจึงมีบทบาทมาก

“สมัยกรุงศรีอยุธยานั้นไม่แน่ใจว่าเป็นเชิงสัญลักษณ์หรือไม่ แต่ระบบราชการไทยฝ่ายในมีกรมนักเทษและกรมขันทีทำหน้าที่เป็นองครักษ์ของฝ่ายใน เป็นผู้จำทูลพระราชสาส์น พนักงานพิธีกรรม จัดขบวนแห่ โดยแบ่งหน้าที่ให้ขันทีเป่าสังข์ นักเทษตีกลับ ทำให้สันนิษฐานว่าขันทีรับวัฒนธรรมเปอร์เซียที่ใกล้ชิดกับพราหมณ์ ทั้งนี้ขันทีในสายตาของคริสต์ศาสนามี 3 จำพวก พวกหนึ่งเป็นขันทีเพราะธรรมชาติบันดาล อีกพวกเกิดเป็นชายแต่ถูกทำให้เป็นขันที และพวกที่ 3 พอใจอุทิศตัวเป็นขันทีเพื่อพระเจ้าหรือเพื่อประโยชน์แห่งศาสนา เช่น สมัครใจตัดสมบัติตนเองทิ้งเพื่อไม่เปิดโอกาสให้เกิดกามราคะและรักษาพรหมจรรย์ รวมถึงรับใช้พระเจ้า อย่างไรก็ตาม ขันทีมักคุ้นหูโดยเฉพาะผู้ชอบเรื่องจีน แต่คำนี้มิใช่คำจีนที่เรียกขันทีว่า “ไท้ก่ำ” สังคมสมัยก่อนทั้งในยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และประเทศสุดบูรพาทิศ (จีน เกาหลี และเวียดนาม ยกเว้นญี่ปุ่น) ต่างใช้ขันทีในราชสำนักทั้งสิ้น โดยมีหลักฐานเกี่ยวกับการตอนขันทีอยู่ที่เมืองกาลาซในวัฒนธรรมสุเมเรียนย้อนหลังไปถึง 2,000 ปีก่อนคริสตกาล”

จากหลักฐานพบว่าไทยมีขันทีตั้งแต่สมัยศรีอโยธยาจนถึงสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 เพราะในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าเอกทัศในขบวนแห่ฝ่ายใน (พระสนมกำนัล) มีขันทีสองคนชื่อราขาร และสังขสุรินทรเป็นผู้กำกับขบวนด้วย ซึ่ง ดร.วินัยได้ตรวจดูพบว่าอาณาจักรเพื่อนบ้านสมัยโบราณก็ล้วนมีขันทีทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น อาระกัน (ยะไข่) พม่า อินเดีย เวียดนาม และชวา แม้แต่ในภาษามมอญก็มีคำเรียกขันทีว่า กมฺนุย (ก็อมนอย) ที่แปลโดยศัพท์ว่า ชายที่ปราศจากความรู้สึกทางเพศ และดูเหมือนว่ากรมขันทีและกรมนักเทษจะเลิกไปสมัยเสียกรุงศรีอยุธยา เพราะในโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี ตอนหนึ่งกล่าวถึงการเฉลิมราชมณเฑียรที่ระบุถึงสนมนางในโดยไม่ได้กล่าวถึงขันทีและนักเทษ แต่ก็ยังมีความทรงจำเกี่ยวกับขันทีอยู่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นดังปรากฏในวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net